'พระบรมราชชนนีพันปีหลวง'พระมารดาแห่งผ้าไทย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ พร้อมกับตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ออกเยี่ยมราษฎรทุกภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2498 ท่ามกลางความทุรกันดารของชนบทเมื่อ 70 ปีก่อน ระหว่างเสด็จเยี่ยมราษฎร ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้ ทรงได้พบกับความงดงามของผ้าไทย ที่ถักทอโดยภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านที่สืบทอดส่งต่อความรู้ต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงตระหนักว่าความวิจิตรงดงามของผ้าไทย จะไม่เป็นที่รู้จักหากไม่ได้รับการส่งเสริม และอนุรักษ์ และมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไปตามกาลเวลา ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า


” …ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปพบราษฎรมาทั่วประเทศ เพราะได้มีโอกาสตามเสด็จพระราชดำเนินทุกหนแห่ง จึงได้พบความจริงที่ว่า คนไทยเรานั้นแม้อยู่ห่างไกลความเจริญของเมืองหลวง ก็มีความสามารถทางด้านศิลปะเป็นอย่างสูง เช่น ผ้าไหมไทย ผ้าไทยต่างๆ ที่เห็นมีสีและลวดลายที่สวยงามนั้นเกิดมาจากความสามารถของชาวบ้านเองแท้ๆ ไม่ต้องให้ใครไปออกแบบลวดลายและสีสันให้คนไทย เหล่านี้เองที่ข้าพเจ้าขอยกย่องว่า เป็นผู้สืบทอดศิลปะให้แก่ชาติบ้านเมืองของเขาจริง แม้แต่ผู้ที่ไม่เคยมีความรู้ทางหัตถกรรมใดๆ เลย ก็ต้องนับว่ามีสายเลือดทางศิลปะอยู่ในตัวแล้ว ….


ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้วว่า ประชาชนไทยของเราเปรียบเสมือนคลังเก็บรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างแท้จริง เพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสแสดงออกในคุณค่าของเขาเท่านั้น…”


ขณะที่งานวิจัยเรื่อง”ผ้าทอกับชีวิตคนไทย” โดย ศ.เกียรติคุณ วัฒนะ จูฑะวิภาค จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ให้เห็นว่าผ้าทอของไทยมีโอกาสสูญหาย เนื่องจากการใช้ผ้าทอในชีวิตประจำวันของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อประเทศไทยมีการติดต่อกับตะวันตก และรับรูปแบบของตะวันตกมาไว้ในสังคมไทย การแต่งกายก็เปลี่ยนแปลงไปนิยมแบบตะวันตกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าที่ใช้เครื่องจักรผลิตผ้าได้จำนวนมากขึ้น รวดเร็ว สีไม่ตก และราคาย่อมเยา คนไทยหันไปให้ความนิยมกับผ้าเหล่านี้ แทนที่ผ้าทอด้วยมือ ประกอบกับความแร้นแค้นในอาชีพเกษตรกรรม จึงเป็นสาเหตุทำให้คนไทยในชนบทละทิ้งถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในโรงงานอุตสาหกรรมตามเมืองใหญ่ๆ และเมืองหลวง เป็นเหตุให้งานหัตถกรรมในชนบทของไทยถูกละทิ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทอผ้า


“หากมิได้พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเห็นความสำคัญของผ้าทอที่ผลิตขึ้นจากฝีมือ และภูมิปัญญาที่แท้จริงของชาวบ้านถ่ายทอด และสั่งสมกรรมวิธีในการผลิตจากชนรุ่นหนึ่งมาสู่ชนอีกรุ่นหนึ่ง เท่ากับเป็นการสืบสานงานศิลป์เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป จึงทรงหันมาให้ความสนพระทัยที่จะอนุรักษ์ และพัฒนาผ้าทอประเภทต่างๆ ของไทย ทำให้ผ้าทอของไทยกลับฟื้นคืนชีวิตมาได้ ทั้งที่เกือบจะสูญสลายไปจากสังคมไทยแล้ว โครงการศิลปาชีพถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรู้จักและตระหนักในคุณค่าของผ้าทอที่เกิดจากฝีมือของคนไทย เป็นการแสดงให้ชาวโลกประจักษ์ว่าคนไทยเป็นชาติหนึ่งที่มีวัฒนธรรมสูงส่งไม่ด้อยไปกว่าชาติใดในโลก”


ความวิริยะของสมเด็จพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ที่จะส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าไทยมีมาโดยตลอด มีคำบอกเล่าจากชาวบ้านที่เป็นชุมชนคนทอผ้าว่า เมื่อทรงทราบข่าวว่าชุมชนแห่งใดมีการทอผ้าลวดลายสวยงาม ก็จะส่งคณะทำงานไปบอกกล่าวกับชุมชนแห่งนั้นว่า จะมีการจัดการประกวดผ้าทอในจังหวัดขึ้น รางวัลชนะเลิศจะได้เป็นเงินรางวัลนับแสนบาท ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อสมัย 40-50 ปีก่อน หรือบางคนที่ได้รางวัลรองๆ ก็จะได้ทองคำหลายบาทกลับไป ซึ่งการประกวดดังกล่าวนับเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านที่ทอผ้าเป็นอย่างมาก จากแต่ก่อนคิดเพียงว่า ผ้าที่ตนเองทอนั้น ใช้สอยนุ่งห่มกันแค่ในครัวเรือนไม่สามารถขายได้ กลายเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของผู้คนมากมาย สร้างรายได้และฐานะครอบครัวให้มั่นคงได้ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ นักทอผ้าบางคนยังได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวาย ผลงานที่ทรงรับซื้ออีกด้วย


ใน พ.ศ.2506 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงฝึกอาชีพทอผ้าบ้านเขาเต่า ณ หมู่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประตวบคีรีขันธ์ เป็นสถานที่ส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมทอผ้าเป็นแห่งแรก ต่อมาใน พ.ศ.2519 ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกล เพื่อให้ผ้าไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเพื่อพัฒนางานศิลปหัตถกรรมทอผ้าที่มีคุณค่าแสดงเอกลักษณ์ของชาติ ที่สำคัญเพื่อเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยทรงนำผ้าทอที่ซื้อจากชาวบ้านมาออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ ที่สวยงามและทันสมัยสวมใส่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในวาระต่างๆ ทั้งฉลองพระองค์ทรงงาน ฉลองพระองค์ชุดราตรีสั้น ฉลองพระองค์ชุดราตรียาว ตลอดจนพระมาลา ฉลองพระบาท และกระเป๋าเดินทางที่ทำจากผ้าไทย เพื่อเป็นแบบอย่าง ดึงความงามอันทรงคุณค่าของผ้าไทย ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

ชุดฉลองพระองค์ราตรีที่เป็นผ้าไทย จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


ในโอกาสเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม พ.ศ.2565 และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจส่งเสริมเรื่องผ้าไทย จากสิ่งทอท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหายไปให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ประกอบกับ ครม.มีมติให้วันที่ 12 สิงหาคมทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมของจังหวัดคัดเลือกผ้าไทยลายอัตลักษณ์ที่สะท้อนถึงมรดกภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีและประวัติศาสตร์อันโดดเด่นของแต่ละจังหวัดเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวง

อัตลักษณ์ผ้าทอ79จังหวัด (ภาพจาก e-book ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ผ้าไทย ของกระทรวงวัฒนธรรม)


นับเป็นครั้งแรกที่ “ผ้าไทย” ซึ่งลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ทั้งลายโบราณและลายที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ถูกรวบรวม และนำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมและสัมผัสในงาน“ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” วันที่ 11-14 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 5 รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน โดยภายในนิทรรศการแบ่งออกเป็นผ้าไทย 4 ภูมิภาค สะท้อนให้เห็นศักยภาพ ความ “รุ่มรวย” ในเชิงศิลป์และเชิงช่างในการทอผ้าของประเทศไทย ที่มีทั้งลวดลายที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมได้รับการสืบสอดมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ และลายที่ประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย แต่ไม่ทิ้งอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ มาจัดแสดงไว้ในงานนิทรรศการแห่งนี้ แบ่งตามภาคต่างๆ


ภาคเหนือ อาทิ ผ้าทอลายดอกปีบจังหวัดพิษณุโลก ซึ่ง “ปีบ” เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิษณุโลกได้รับพระราชทาน “กล้าไม้ปีบ” จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากนั้นจังหวัดพิษณุโลกรณรงค์ให้มีการทอผ้าลวดลายประจำจังหวัดอย่างต่อเนื่อง

ผ้าลายดอกบีป จ.พิษณุโลก


ภาคกลาง อาทิ ผ้าซิ่นตีนจกลายปลาสังคโลก (ลายปลาคู่)จังหวัดสุโขทัย เป็นการผสมผสานลายจกที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวผสมกับการคิดค้นลายสังคโลกที่นำเอาลายปลาคู่และลายดอกมาดัดแปลงเป็นลายจกบนผืนผ้า มีความหมายว่าความอุดมสมบูรณ์ ความรุ่งเรือง ร่มเย็น และการมีคู่ครองที่มั่นคง

ผ้าซิ่นตีนจกลายปลาสังคโลก จ.สุโขทัย


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ผ้าลายแคนแก่นคูน (KAN-KAEN-KOON) จังหวัดขอนแก่น มีความหมาย คือ แคน (KAN) คือ King Of Music ของคนขอนแก่น, แก่น (KAEN) คือ King Of Esan หมายถึงมหานครขอนแก่นอันเป็นเมืองหลวงของภาคอีสาน, คูน (KOON) คือ King Of Tree and Flower หมายถึงต้นไม้ของพระราชา ดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น

ผ้าลายแคนแก่นคูน (KAN-KAEN-KOON) จ.ขอนแก่น


และภาคใต้ อาทิ ผ้าลายแก้วชิงดวง จังหวัดตรัง เป็นวงกลมเกี่ยวร้อยทับกันเปรียบเสมือนการสร้างความสัมพันธ์ ความรักสามัคคีและเป็นศูนย์รวมใจของสมาชิกกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีในชุมชนจังหวัดตรัง เป็นต้น

ผ้าลายแก้วชิงดวง จ.ตรัง


ในนิทรรศการยังได้แสดงให้เห็นว่า ผ้าไทยสามารถสวมใส่ระดับสากลได้ โดยเชื้อเชิญให้ 4 ดีไซเนอร์ชื่อดัง นำผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค มาออกแบบตัดเย็บผ้าไทย ให้เป็นชุดร่วมสมัยใส่ในโอกาสต่างๆ ได้ ซึ่งแฝงไว้ด้วยความหรูหรา สะท้อนความงดงามของเนื้อผ้า และการทอที่ประณีต


4 ดีไซเนอร์นี้ ได้แก่ 1.พิจิตราบุณยรัตพันธุ์ ดีไซเนอร์แห่งแบรนด์ PICHITA ที่เลือกใช้ผ้าของภาคเหนือ เช่นลายศิลาล้อมเพชรจาก จ.กำแพงเพชร ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาตินำมาออกแบบให้มีความทันสมัยเข้ากับยุคสมัยใหม่และผ้าซิ่นตีนจกลายปลาสังคโลก (ลายปลาคู่) จาก จ.สุโขทัยเป็นผ้าฝ้ายจกด้วยมือ นำมาทำเป็นเสื้อคลุม สวมใส่ได้ง่ายขึ้น, ศิริชัย ทหรานนท์ ดีไซเนอร์แบรนด์ THEATRE เลือกใช้ผ้าของภาคกลาง ลายโบสถ์หลวงพ่อโสธร จาก จ.ฉะเชิงเทรา นำมาตัดเย็บแบบ zero west มีคู่สีทันสมัย เหมาะสำหรับคนยุคใหม่
อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ ดีไซเนอร์แบรนด์ SURFACE เลือกใช้ผ้าของภาคอีสานผ้าขิดสลับหมี่ จาก จ.หนองบัวลำภู และผ้ามัดหมี่ย้อมคราม ทอมือ ลายสะเก็ดธรรม จาก จ.สกลนคร ออกแบบชุดด้วยแรงบันดาลใจจากลายผ้าที่มีความสนุกสนานในตัวเอง และหิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล ดีไซเนอร์แบรนด์ SANTI SUK SPACE ที่ใช้ผ้าของภาคใต้ที่มีสีสันสนุกสนานออกแบบเป็นเครื่องแต่งกายในแบบตอนใต้ของอิตาลี-สเปน มาชมผลงานต่อยอดผ้าไทยลายอัตลักษณ์จากเหล่าดีไซเนอร์ชั้นนำ

ผ้าแพรวา


ในงานยังมีการนำผลงานแฟชั่นผ้าร่วมสมัยสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ชักชวนดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงร่วมออกแบบ ทั้งธีระ ฉันทสวัสดิ์ แห่งแบรนด์ T-RA และเอก ทองประเสริฐ จากแบรนด์เอก ทองประเสริฐ ลงพื้นที่พัฒนาลวดลายและเทคนิคสร้างสรรค์ผ้าพื้นถิ่นให้โกอินเตอร์เปิดตลาดใหม่ๆ มากขึ้น


ย้อนไปในอดีต ในการเสด็จพระราชดำเนินพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเคยเน้นย้ำในการราษฎรให้ภาคภูมิใจในความเป็นไทย และทรงโปรดฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนาชุมชนโดยไม่ละทิ้งอัตลักษณ์ท้องถิ่น และในคราวเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ผลงานผ้าของสามจังหวัดจึงนำมาจัดแสดงด้วย

ผ้าจากนครศรีธรรมราช


พระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยอย่างล้นเหลือ ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำหนังสือเผยแพร่ความรู้ เพิ่มเนื้อหาผ้าโบราณศิลปินแห่งชาติ ด้านการทอผ้าและออกแบบแฟชั่น เพื่อเก็บรวบรวมและบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ผ้าไทยไว้ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นครั้งแรก พร้อมจัดทำในรูปแบบ E-book เพื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ สนใจเข้าชมได้ที่ https://www.m-culture.go.th/adminli/ebook/B0188/#p=1


งาน “ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่จัดยิ่งใหญ่นี้ ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯลายศิลป์แห่งเส้นไหม : มรดกไทยสู่สากล The Art of Thai Silk: Thai Heritage to the World จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีโซนตามรอยพระยุคลบาทเสด็จพระราชดำเนินต่างแดนและราชศิลป์พัสตราภรณ์เพื่อให้นานาชาติรู้จักศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยผ่านฉลองพระองค์ โซนหุ่นชุดไทยพระราชนิยม เช่น ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรี ชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยจักรพรรดิ

ส่วนหนึ่งนิทรรศการภูษาศิลป์


นิทรรศการวันผ้าแห่งชาติยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวันผ้าแห่งชาติของประเทศต่างๆ, นิทรรศการศิลปินแห่งชาติ ซึ่งนายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2564 ทายาทบ้านคำปุน จ.อุบลราชธานี ซึ่งทำโรงงานทอผ้าและเปิดบ้านถ่ายทอดความรู้การทอผ้ากาบบัวไม่ให้สูญหายเพื่อสร้างอาชีพให้ชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี และทั่วอีสานจัดแสดงผลงานผ้าทอที่หาชมได้ยาก จำลองบรรยายบ้านคำปุนแหล่งผลิตผ้าไหมทอมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากบ้านคำปุนเป็นโรงงานผ้าที่ได้รับใช้สมเด็จพระพันปีหลวง โดยทำเสื้อผ้าให้ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเรื่องสุริโยไท

ผ้าไทลื้อ จ.น่าน


งานภูษาศิลป์ฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมจัดนิทรรศการสาธิต และออกร้านจำหน่ายผ้าไทยและผลิตภัณฑ์จากผ้า อาทิ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัดและกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมประชาสัมพันธ์การจัดงานฯไปยังสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลต่างประเทศในประเทศไทย

ลายดอกสัก จ.แพร่


นอกจากนี้ ตามจังหวัดต่างๆ อาทิ ทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ เปิดพื้นที่เพื่อเรียนรู้พระราชกรณียกิจ ผ่านนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ; ๙๐ วัสสา ผืนป่าห่มหล้าผืนผ้าห่มเมือง จังหวัดในภาคเหนืออื่นๆ จัดนิทรรศการสืบสานงานสมเด็จพระพันปีหลวงสืบสานภูมิปัญญาล้ำค่า แสดงลายผ้าอัตลักษณ์ 5 จังหวัดภาคเหนือ อาทิ ลายหงส์ในโคม จ.เชียงใหม่, ผ้ายก ลายดอกพิกุล จ.ลำพูน, ลายเชียงแสนหงส์ดำ จ.เชียงราย, ลายเอื้องแซะราชินีกล้วยไม้หอมแห่งเมืองสามหมอก จ.แม่ฮ่องสอน และลายละกอนไส้หมู จ.ลำปาง เข้าชมได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 ส.ค.

ผ้าลายสาเกด จ.ร้อยเอ็ด

กล่าวได้ว่า “สมเด็จพระพันปีหลวงเปรียบเหมือนแม่ผู้ให้กำเนิดชีวิตผ้าไทยฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง” อนาคตผ้าไทยจะเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับคนไทยจะร่วมสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระพันปีหลวงได้แค่ไหน เพื่อให้ผ้าไทยยั่งยืนต่อไปตราบนานเท่านาน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯอิ๊งค์ สวมเสื้อ 'คุณหญิงพจมาน' ผ้าจากโครงการแม่ฟ้าหลวง ร่วมประชุมอาเซียน

ภารกิจการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

สวธ.เทิดพระเกียรติ ‘พระพันปีหลวง’ ต่อยอดผ้าไทยในงาน EM DISTRICT SENSE OF THAI เผยแพร่พระอัจฉริยภาพเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

วันที่ 16 ก.ค.2567 นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) สนับสนุนการจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ EM DISTRICT

สวธ.จัดเสวนาต่อยอดผ้าไทยสู่สากล สร้างรายได้ชุมชน-ผู้ประกอบการภาคเหนือ นศ.อัพเดทแฟชั่นผ่านเทรนด์บุ๊ก

วันที่ 3 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม  จัดเสวนาวิชาการ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2567“ โดยนายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์

วธ.ส่งเสริมภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ลุยเผยแพร่เทรนด์บุ๊กออกแบบผ้าไทยที่ภาคเหนือ ดึงดีไซเนอร์ดังหนุนฉีกกรอบ

วันที่ 28 มิ.ย.2567 นางสาวสุดาวรรณ  หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ดำเนินงานโครงการเสวนาวิชาการ

หนุนผ้าไทยบนเวทีแฟชั่นโลก ชวนนักออกแบบชื่อดังสัญจรสู่ใต้ แนะเทคนิคพัฒนาหัตถกรรมไทย โชว์เทรนด์บุ๊กสุดฮอต

วงการแฟชั่นต้องอัพเดทเทรนด์ทุกฤดูกาล สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ “ผ้าไทย’ งานฝีมือที่คนไทยคุ้นเคยกันดี มีบทบาทโลดแล่นอยู่ในรันเวย์ต่างประเทศ

'แอนโทเนีย' นางมโหธรเทวี กับชุดลายสร้อยบุษบาบรรณ ที่ทำนานกว่า 6 เดือน

สวยสมกับการเป็นนางงามจริงๆ สำหรับ “แอนโทเนีย โพซิ้ว” ที่ล่าสุดมาในชุดไทยนางสงกรานต์ ในการแสดงตำนานนางสงกรานต์ (Maha Songkran World Water Festival) ณ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่