ถ้าไปจ.ตราด หลายก็คงมุ่งหน้าสู่ท้องทะเลอันสวยงาม แต่จะบอกว่า ตราดไม่ได้มีแค่ทะเลเท่านั้น ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเก่าแก่อีกด้วย ที่จะพาไปรู้จักวันนี้ก็คือ วัดบุปผาราม ที่อยู่คู่กับเมืองตราดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยวัดบุปผารามตั้งอยู่ บ้านปลายคลอง ถ.พัฒนาการปลายคลอง ต.วังกระแจะ อ.เมืองตราด วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุด จากหลักฐานที่ปรากฎว่าได้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ดังเห็นได้จากสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมต่างๆ
วัดบุปผาราม ในอดีตเรียกว่าวัดปลายคลอง ซึ่งมีการเรียกตามลักษณะภูมิศาสตร์เพราะวัดอยู่ปลายคลองบางพระ หรือมีอีกชื่อที่ชาวบ้านเรียกก็คือ วัดเนินหย่อง เพราะพื้นที่มีเนินเล็กๆ ส่วนหย่องก็คือชื่อต้นไม้แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ส่วนชื่อวัดบุปผารามที่ใช้จวบจนมาถึงทุกวันนี้ สันนิษฐานว่าเพราะบริเวณมีสวนดอกไม้ป่าจำนวนมาก ผู้คนผ่านไปมาต่างก็ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ จึงได้นำมาตั้งชื่อวัด
ส่วนตัวโบสถ์หรืออาคารต่างๆ ภายในวัดก็ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์แต่ยังคงโครงสร้างและอนุรักษ์ส่วนของเดิมศิลปะอยุธยาที่ยังสามารถรักษาไว้ได้ ทำให้มีความทับซ้อนกันของศิลปะทั้งในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ โดยวัดแห่งนี้เริ่มต้นสร้างขึ้นในสัยพระเจ้าปราสาททอง ต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมามีการบูรณะต่ออีกในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ จิตรกรรมฝาผนังของวัด เป็นฝีมือของช่างฝีมือพื้นถิ่นที่เป็นชาวจีน ที่ได้โล้เรือสำเภามาตั้งรกราก อยู่อาศัยทำมาค้าขายอยู่ที่จังหวัดตราด ซึ่งเป็นเมืองท่า งานจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมจึงอันงดงามตามคติความเชื่อ สะท้อนกลิ่นอายความเป็นจีน ที่หาชมได้ยาก
เราเริ่มต้นกันที่ พิพิธภัณฑ์วัดบุปผารามจังหวัดตราด ซึ่งมีกฎเข้มงวดคือห้ามถ่ายภาพ ด้วยเหตุผลความปลอดภัยของทรัพย์สินในพิพิธภัณฑ์ หรือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ไม่แน่ชัด แต่หากผู้อ่านมีโอกาสน่าจะไปเยือนให้ได้สักครั้งเพราะคุ้มค่าอย่างมาก ภายในเต็มไปด้วยวัตถุโบราณหายากที่ชาวบ้านได้นำมาถวายให้อดีตเจ้าอาวาสพระครูสารพิสุทธ หรือหลวงพ่อโห จึงได้สะสมเรื่อยมา ทางกรมศิลปากรจึงได้จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม เปิดประตูเข้าไป ถึงกับต้องอุทานในใจว่างดงามมาก เพราะมีทั้งพระเก่าแก่ตั้งแต่ยุคสุโขทัยที่เก่าที่สุด 2 องค์ อยู่ด้านข้างพระประธาน สังเกตได้จากใบหน้าจะเรียวเป็นรูปไข่ แย้มพระโอษฐ์
ถัดมาด้านหน้าพระประธานองค์ตรงกลางคือพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้เคยถูกขโมยไป จนเมื่อปี 2538 องค์พระได้ปรากฎขึ้นที่ห้างสยามพารากอน ต่อมามีชาวฮ่องกงได้เช่านำไปไว้ที่บ้าน หลังจากนั้นเกิดอาการเจ็บป่วย ธุรกิจล้มละลายโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงได้นำกลับคืนมาไว้ที่ประเทศไทย โดยมีตัวแทนนำมาไว้ที่วัดบุปผาราม ในวันที่ 11 ธันวาคม 2560
นอกจากนี้ ในตู้กระจกยังได้เก็บพระที่ทำได้ช่างฝีมือพื้นถิ่น ซึ่งจะมีขนาดองค์ต่างๆ ส่วนตรงกลางจะเป็นเครื่องเบญจรงค์ในสมัยอยธุยา-รัตนโกสินทร์ที่มีการส่งแบบไปที่จีนเผา จึงทำให้ลวดลายเป็นฝีมือของช่างจีน เทวดาจึงลักษณะคล้ายกับชาวจีนมีความสวยน่ารักไปอีกแบบ
ได้เวลาท่องประวัติศาสตร์ในวิหารที่ตั้งเชื่อมต่อกันภายในระเบียงคต ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมการสร้างวิหารหลังคาทรงวิรันดา สังเกตได้จากเชิงชายยื่นออกมาคล้ายกับปีกนก นิยมสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งทั้งหลังคาและตัวอาคารได้มีการบูรณะโดยกรมศิลปากรแล้วเสร็จไปเมื่อ 2562 ภายในระเบียงคดนี้เป็นที่ตั้งของโบสถ์หลวงพ่อโต มีความสูงอยู่ที่ 2.50 เมตร มีรูปแบบในการปั้นคือศิลปะอยุธยา จากฝีมือช่างพื้นถิ่นของตราด ทำให้เราได้เห็นวิวัฒนาการของช่างฝีมือที่มีการพัฒนาการปั้นพระ เพราะมีพระเศียร์ใหญ่สมดุลกับองค์พระ ซึ่งคาดว่าช่างพื้นถิ่นชาวจีนก็มีส่วนในการบูรณะด้วย เนื่องจาก มีการนำเปลือกหอยมาประดับไว้ที่พระเนตร เล็บพระหัตถ์และพระบาท เพื่อเปรียบว่าพระพุทธเจ้ามีชีวิตจริงๆ
ส่วนที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของโบสถ์แห่งนี้ คือ จิตรกรรมผนังวัด ซึ่งแตกต่างจากวัดอื่นๆในภาคตะวันออก ย้อนกลับไปที่การสร้างวัดครั้งแรกในสมัยพระเจ้าปราสาททอง แน่นอนกาลเวลาผ่านไปหลายร้อยปีย่อมต้องมีการชำรุดทรุดโทรม จึงได้เริ่มการซ่อมแซมในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งบรรยากาศบ้านเมืองในตอนนั้นก็มีชาวจีนล่องเรือมาทำการค้าขาย ทำให้วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะโดยคหบดีชาวจีน โดยฝีมือช่างพื้นถิ่นชาวจีนได้เป็นผู้สร้างงานจิตรกรรมบนผนังโบสถ์แห่งนี้ ตามหลักคติพุทธมหายาน มีพระพุทธเจ้าเป็นแกนกลาง ด้านหลังหลวงพ่อโตคือจิตรกรรมลายดอกโบตั๋นในกรอบสีเหลี่ยม หากสังเกตจะมีความพริ้วของผ้าม่าน ซึ่งผ้าม่านได้ถูกวาดครอบบานช่องหน้าต่างทุกบานประดับด้วยลายผ้าต่างๆไม่ซ้ำกัน ด้านข้างคือกิเลนและสิงห์คาบคัมภีร์
ผนังทั้งสองด้านถูกวาดตกแต่งด้วยรูปทรงเรขาคณิตหกเหลี่ยม ภายในช่องเติมสีครามไล่ระดับสีลงมา แทนท้องท้องฟ้าหรือสวรรค์ หากมองอีกมุมก็คือลักษณ์ของอินฟินิตี้ หมายถึง การไม่มีจุดสิ้นสุดของพระพุทธเจ้า แต่งเติมความสวยงามด้วยดอกโบตั๋น ส่วนด้านล่างถัดลงมาคือภาพของชาวจีนด้วยเครื่องแต่งกายอย่างที่เราเห็นซีรีย์จีนย้อนยุค เล่าเรื่องราวตามสุภาษิต การต่อสู้ เปรียบเปรยการแบ่งชั้นระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ ฝั่งเบื้องหน้าหลวงพ่อโต เหนือบานประตูคือสัตว์มงคลตามความเชื่อจีน คือภาพของหงส์คู่ที่มีสัตว์ 5 ชนิดรวมอยู่ในตัวเดียว หัวเหมือนนกแก้ว คือเหมือนห่าน ตัวเหมือนไก่ ขาเหมือนอินทรี หางเหมือนนกยูง มีต้นโบตั๋นอยู่ตรงกลางออกดอกแตกกิ่งก้านสาขางดงาม
ถัดมาที่ช่องระหว่างบานประตู จิตรกรได้เขียนภาพโต๊ะบูชาตามแบบจีน ที่มีรายละเอียดปราณีตตามจิตนาการ เพดานก็ยังถูกประดับลวดลายมงคลไม่แพ้กับผนังเลยทีเดียว แถมยังซ้อนภาพให้ผู้ชมได้ลองค้นหาค้างคาวอีกสัตว์มงคลที่ถูกวาดประดับระหว่างคานไม้ อาจจะสังเกตยากหน่อยเพราะภาพวาดทั้งหมดนี้ไม่มีการวางแบบ ทุกการวาดเส้นลงสีเป็นไปตามความคิดสร้างสรรค์ของช่างอย่างอิสระและในปัจจุบันถือเป็นงานศิลป์ที่งดงามจริงๆ
โบสถ์ใกล้ๆกัน คือที่ประดิษฐานพระปางไสยาสน์ ที่สันนิษฐานว่าบูรณะพร้อมกับหลวงพ่อโต เพราะที่พระเนตรมีการประดับด้วยเปลือกหอยด้วยเช่นกัน ส่วนจิตรกรรมผนังและเพดานมีลายผลไม้มงคล นกคาบดอกโบตั๋น ล้อมรอบด้วยดอกโบตั๋นอีกที อาจจะไม่มากเท่าโบสถ์หลักแรก เพราะกาลเวลาทำให้ภาพเลือนลางหรือหายไปไม่น้อย
ด้านหลังโบสถ์จะเป็นพระมณฑปพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ฐานเป็นศิลาแลง ปัจจุบันเรียกมณฑปหลวงพ่อโห เพราะท่านได้มาบูรณะในจำนวนเงิน 800 บาท มีจิตรกรรมภาพเขียนสีในสมัยรัชกาลที่ 3 สร้างขึ้นในปี 2442
อีกโบสถ์ที่สำคัญ ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าหลังแรกของวัดบุปผาราม ภายในจะมีฐานประดิษฐานพระประธานค่อนข้างใหญ่ โดยเป็นพระประธานที่สร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3 ลดหลั่นลงมาเป็นฐานสำหรับว่างพระพุทธรูปจำนวนมาก ซึ่งบางองค์ก็ชำรุด สภาพจิตรกรรมบนเพดานก็เพียงเค้าโครงของภาพเท่านั้น ในบริเวณวัดยังมีกุฏิสงฆ์ ที่สร้างขึ้นในราวปีพ.ศ. 2370-2375 จากไม้เนื้อแข็ง เป็นกุฏิขนาดเล็กประมาณกว้าง 2 เมตร ยาว 4.50 เมตร 1 หลังจึงจำวัตรได้เพียง 1รูป ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก มีทั้งหมด 11 หลัง โดยได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 ได้กล่าวไว้ว่าเป็นการสร้างที่ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาติ ในพระธรรมวินัย ทุกวันนี้แทบไม่มีให้เห็นแล้ว
วัด สถานที่ที่มีความเชื่อในเรื่องของการสร้างบุญ ละบาปแล้ว ยังเป็นแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปะที่น่าสนใจ งดงาม และมีคุณค่าทางจิตใจด้วย
————————-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เก็บอัฐิ 'สรพงศ์' ตั้งในวิหารหลวงพ่อโต สีคิ้ว ภรรยาพร้อมสืบสานดูแลวัด-มูลนิธิ
น.ส.ดวงเดือน จิไธสงค์ ภรรยา พร้อมลูกชาย ลูกสาว พี่สาวของสรพงศ์ รวมถึงกัลยาณมิตร แฟนหนัง แฟนละครเข้าร่วมพิธีเก็บอัฐิในครั้งนี้ โดยอัฐิเถ้ากระดูกของสรพงศ์ ได้ถูกเก็บรวบรวมไว้บนผืนผ้าสีขาว
ชาวโคราชอาลัย 'สรพงศ์' สานเจตนารมณ์ดัน 'วัดหลวงพ่อโต' แหล่งท่องเที่ยว
บรรยากาศที่มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ริมถนนมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดสรพงศ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ สรพงศ์ ชาตรี เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น