ถ้าไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น หนึ่งจุดในโปรแกรมทัวร์ที่ขาดไม่ได้ ก็คือ การพาไปไหว้พระตามวัดต่างๆ  เช่น วัดอาซากุสะ ในกรุงโตเกียว ที่หลายคนคุ้นหูรู้จักกันดี     แต่เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีโอกาสไปวัดพระธาตุดอยพระฌาน หรือเรียกย่อๆว่า วัดพระฌาน ซึ่งตั้งอยู่ตำบลป่าตัน  อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง  ซึ่งให้บรรยากาศแบบเดียวกับวัดที่ญี่ปุ่น โดยที่เราไม่ต้องบินไปประเทศญี่ปุ่น

วัดพระฌาน  มีทั้งส่วนที่เป็นสไตล์ญี่ปุ่น และส่วนวัดไทยสไตล์ล้านหน้าที่อยู่คนละด้าน พอเดินเข้าวัดมา ถ้าไปด้านซ้าย อย่างแรกที่เห็นคือ องค์พระขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้ในระยะไกล  ที่ทำการด้านหน้าก็ตกแต่งในสไตล์ญี่ปุ่นด้วย  มีโคมสีแดงห้อยแขวนด้านหน้า มีแนวแผงไม้กั้นมีต้นไม้ประดับประดา  เดินเข้ามาด้านหลังอีกนิด ก็จะเจอกับลานหน้าบันไดขนาดกว้างใหญ่ ก่อนเเดินขึ้นไปสักการะองค์พระใหญ่ไดบุตสึ พระอมิตาภพุทธะ ขนาดหน้าตัก 14 เมตร .ซึ่งทางวัดพระฌาน ได้จำลองจากวัดโคโตคุ เมืองคามุระ ของญี่ปุ่น  

บันไดทอดยาว เพื่อไปสักการะพระไดบุตสึ

แต่ก่อนที่จะขึ้นบันไดไปสักการะองค์พระ ก็จะพบกับแนวระฆังอธิษฐานที่ห้อยเต็มไปหมด ท่ามกลางอากาศยามเช้า เพราะฝนเพิ่งโปรยไปช่วงเช้ามืด เมื่อมองไปรอบตัว ทั้งหมดให้อารมณ์ความรู้สึกว่า ที่นี่เป็นวัดญี่ปุ่นชัดๆ  โดยระฆังพวกนี้ ทางวัดจัดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ที่ไปกราบไหว้ สักการะขอพรจากองค์พระไดบุตสึ  ตรงปลายกระดิ่งของระฆังทำเป็นกระดาษ สามารถเขียนข้อความขอพร หรือคำอธิษฐานอะไรก็ได้   นอกจากนี้ ลวดลายของระฆัง ก็ยังแยกประเภทของพรที่อยากขอ เช่น ถ้าเป็นลายกุหลาบ ก็เป็นการขอพรเรื่องความรัก ถ้าเป็นรูปไก่ ก็เป็นเรื่องสุขภาพ การงาน ครอบครัว  หรือรูปช้างก็จะเป็นเรื่องความสำเร็จ เป็นต้น

บรรยากาศแบบญี่ปุ่น ด้านหน้าที่ทำการของวัด ก่อนไปลานบันได ขององค์พระใหญ่ฯ

ตามประวัติของวัดพระธาตุดอยพระฌาน ที่เป็นวัดเก่าแก่  แต่เดิมบนยอดเขามีเพียงซากอิฐปรักหักพังมานานหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เต็มไปด้วยเรื่องราวลี้ลับ ต่อมาใน พ.ศ.2445 ได้มีการสร้างองค์พระธาตุขึ้นบนยอดเขา เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในแถบนั้นสืบมา ต่อมาพ.ศ.2496 พระครูปัญญาวุฒิคุณ (หลวงพ่อปัญญา คนฺธิโย) อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคตหลวง เป็นผู้นำพระสงฆ์ สามเณรและพระพุทธศาสนิกชน ขึ้นมาบูรณะองค์พระธาตุ รวมทั้งปรับปรุงสถานที่โดยรอบให้สะดวกแก่การประกอบพิธีบูชาพระธาตุ จนเกิดเป็นประเพณีขึ้นดอยพระฌานบูชาพระธาตุปีละครั้ง แต่ระหว่างนั้นก็ยังไม่มีพระสงฆ์ขึ้นมาจำพรรษาและยังไม่มีสิ่งก่อสร้างใดเพิ่มเติม

แผงไม้ ที่มีไว้สำหรับแขวนระฆังอธิษฐาน

จนปี2551 พระอาจารย์พรชัย อคฺควํโส เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยพระฌาน ได้ขึ้นมาสำรวจบนดอยพระฌานเป็นครั้งแรก ได้พบองค์พระธาตุสีขาว ยอดพระธาตุบุแผ่นทองจังโก้ มีบ่อน้ำและศาลาบำเพ็ญกุศลหลังเล็กสองหลัง และหลังจากนั้นในปี 2552 จึงได้มีการบูรณะก่อสร้างวัดพระธาตุดอยพระฌานครั้งใหญ่จนสำเร็จงดงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนคำถามว่าว่าทำไมองค์พระต้องเป็นพระไดบุตสึ มีเรื่องเล่ากันว่า เกิดจากพวกลูกศิษย์ไปเห็นพระอาจารย์พรชัย ขณะนั่งปฎิบัติได้นั่งอยู่ในท่าเดียวกับพระไดบุตสึ การสร้างองค์พระจึงออกมาในรูปแบบดังกล่าว   ส่วนระฆังอธิษฐานนั้น เป็นส่วนช่วยเสริมบรรยากาศความเป็นวัดญี่ปุ่นให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น

อีกมุมจุดที่แขวนระฆังอธิษฐาน
ระฆังอธิษฐานลายเป็นรูปไก่ ที่เป็นสัญลักษณ์จังหวัดลำปาง ผลิตโดยครอบครัวที่ทำเซรามิกมายาวนาน

ขอเล่าเกี่ยวกับระฆังอธิษฐานอีกนิด พอดีว่าคนที่ชวนไปเยือนวัด คือหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (บพท.)ที่สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เจตนาของ บพท. คือ ต้องการให้ไปดูโครงการพัฒนาเซรามิกลำปาง ของมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง (มรภ.ลำปาง)ซึ่งบพท.ให้การสนับสนุนการวิจัย ซึ่งการที่มรภ.เข้าไปพัฒนาเซรามิกลำปาง ก็เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซรามิกลำปางตกต่ำลงอย่างมาก ดินลำปางที่ถือว่ามีคุณลักษณะพิเศษกว่าดินแห่งอื่นในประเทศไทยเมื่อนำไปเผาความร้อนสูงแล้ว ยังให้สีที่เป็นสีขาว ถูกนำไปผลิตแค่จาน ชาม หรือสินค้าเซรามิกอื่นๆในรูปแบบเก่าๆ ที่ขายแล้วไม่ได้ราคา ขณะที่ ผู้ผลิตเซรามิกลำปาง ไม่ได้มีแค่กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ยังมีผู้ผลิตระดับครัวเรือน ที่สืบทอดอาชีพมาหลายชั่วอายุคนด้วย   ด้วยเหตุนี้ ทางมรภ.ลำปาง ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ นำโดย อ.รศ.ธิติมา คุณยศยิ่ง  หัวหน้า’โครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อรักษาคุณค่าสู่การยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของเซรามิก จ.ลำปาง " ได้บุกเบิกนำความเชื่อดั้งเดิมที่เป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นลำปาง มาผนวกกับวัดพระฌาน และองค์พระไดบุตสึ  และความเป็นดินแดนผลิตเซรามิกแห่งใหญ่ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง มาหลอมรวมเข้าด้วยกัน และมีระฆังอธิษฐานเป็นตัวเชื่อมทำให้วัดออกมาเป็นรูปแบบวัดญี่ปุ่นได้อย่างไมแปลกปลอมขัดเขิน

รศ.ธิติมา คุณยศยิ่ง    จากมรภ.ลำปาง หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาเซรามิกลำปาง ผู้จับมือกับทางวัดพระฌาน พัฒนาระฆังเซรามิก ที่ขายกันดาษดื่นในท้องตลาด กลายมาเป็นระฆังอธิษฐาน

แต่กว่าจะกลายเป็นระฆังอธิษฐานได้นั้น รศ.ธิติมา บอกว่าได้ผ่านการสังเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน แล้วนำมาวิเคราะห์ออกแบบแผนการทำงาน จากจุดเริ่มที่มองถึงเรื่องความอยู่รอดของโรงงานเซรามิกระดับครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อน ทั้งจากอุตสาหกรรมเซรามิกลำปางที่อยู่ในสภาพตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์โควิดระบาด ก็ทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่เข้าไปอีก ส่งผลทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายต้องเลิกกิจการไป  ผลผลิตหายไปกว่า  33% และการจ้างงานก็หดตัวไปกว่า 28% จึงเป็นที่มาของการคิดวิจัยที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรม และพัฒนาสินค้าที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ที่อยู่บนพื้นฐานอัตลักษณ์ทุนทางวัฒนธรรมล้านนาจังหวัดลำปาง มาใช้ให้เกิดประโยชน์

กระถางธูป ที่ตั้งวางก่อนขึ้นบันไดไปกราบองค์พระใหญ่ ก็มาในรูปทรงสไตล์วัดในญี่ปุ่น

" ก่อนมาเป็นระฆังอธิษฐานเราทำงานร่วมกับวัดมาตลอด แม้แต่ครอบครัวที่ทำเซรามิก เราก็มีวิธีการเลือก ซึ่งมีพื้นฐานเรื่องความเชื่อความเป็นมงคลประกอบด้วยกัน ผลของการปรับเปลี่ยนนี้ ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดี ครอบครัวชาวบ้านที่ทำเซรามิกเป็นอาชีพ เขาก็มีรายได้ดีขึ้น ถือว่าทั้งวัดและชุมชน มีส่วนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการใช้ทุนทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของจังหวัดให้เป็นประโยชน์ ถือว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอีกทางหนึ่งด้วย"

อาจารย์ธิติมา ยังบอกอีกว่า โครงการวิจัยที่ทำไม่ได้มีแต่ระฆังอธิษฐานเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาเซรามิกลำปาง อย่างครบวงจรอีกด้วย ทีมวิจัยได้ช่วยคิด วิเคราะห์ พัฒนาสินค้าเซรามิกอื่นๆ ทั้งการออกแบบชนิดสินค้า ลวดลาย ดีไซน์  ให้มีความหลากหลายมากขึ้น  และนำศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด มาใช้ในตัวงาน เช่น นำลวดลายของวัดพระธาตุลำปางหลวง จิตรกรรมฝาผนัง หรือการละเล่นของจังหวัดลำปาง มาสร้างสรรค์ในผลิตภัณฑ์เซรามิก

ด้านข้างของวิาหารน้อย

ที่วัดพระธาตุดอยพระฌาน ไม่ได้มีแต่องค์พระไดบุตสึ  จากปากทางเข้าวัดถ้าเดินไปทางขวา ก็จะเป็นทางไปวิหารของวัดที่สร้างแบบสไตล์ล้านนา   อย่างที่บอกว่าที่ตั้งของวัดเป็นยอดดอย เมื่อเดินไปถึงพระวิหารแล้วก็จะพบกับวิว 360 องศา บนลานด้านหน้าวิหาร เป็นจุดที่ผู้คนมักมายืนถ่ายรูปโดยมีวิวเป็นฉากหลัง  จากลานด้านหน้ามีบันไดนาคที่ทอดตัวขึ้นไปยังพระวิหารพระพุทธเจ้าองค์ปฐม วิหารหลังเล็ก ซึ่งสมส่วนงดงามมาก

ด้านหลังของพระวิหาร ทำเป็นสระมองเผินๆเหมือนลอยบนฟ้า

ภายในพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป  “สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพลญาณ พิชิตมารวิกรม ปฐมสัมมาสัมโพธิญาณ ศรีพระฌานบรรพต”  ภายในวิหารยังประดับด้วยงานแกะสลักปิดทองที่งดงามอ่อนช้อย โดยเฉพาะชิ้นงานแกะสลักเหนือบานประตูฝั่งตรง กับข้ามกับพระประธานที่เป็นรูปพญานาคกระหวัดเกี่ยวรอบองค์พระธาตุสีขาว หรือองค์พระธาตุดอยพระฌานที่มีมาแต่ดั้งเดิมนั่นเอง ที่มีความวิจิตรงดงาม

พระวิาหารน้อยที่วิจิตรงดงาม

หน้าหนาวที่ใกล้มาถึง ถ้ามาเที่ยวภาคเหนือ แวะมาจังหวัดลำปาง และอย่าลืมมาสักการะพระธาตุดอยพระฌานเป็นจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองลำปาง ไปเพียง 30-40 นาที เราก็จะได้สัมผัสวัดสไตล์ญี่ปุ่นบนแผ่นดินไทย

ด้านหลังองค์พระวิหาร ที่ตั้งบนยอดดอย มองไปเห็นวิว 360องศา หลังประตูในภาพ เป็นทางลงบันไดที่สวยงามมาก
ทางลงบันไดหลังพระวิหารน้อย

 

เพิ่มเพื่อน