หลักสูตร 'ชลกร' ห้องเรียนปั้นนักบริหารจัดการน้ำชุมชน

น้ำเป็นปัจจัยหลักในการทำการเกษตร แต่ช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตเกี่ยวกับน้ำซ้ำซากทุกปี   และปัญหาสำคัญก็คือ ในช่วงหน้าแล้ง บางพื้นที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งตามสถิติประเทศไทยมีน้ำฝนพอเพียงกับการทำเกษตร แต่กลับไม่สามารถกักเก็บน้ำฝน ไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งได้อย่างเพียงพอ  ยกตัวอย่างง่ายๆ ประเทศไทยมีฝนตก 100 หยด แต่เราเก็บได้เพียง 5.5 หยด ส่วนในภาคอีสานเก็บได้เพียง 3.5 หยด ซึ่งถือว่าเป็นการทิ้งน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ  โดยกระทรวงศึกษาธิการ เปรียบเสมือนแผนที่ไขทางออกอุดรอยรั่วของปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่มีการทำเกษตร  ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาอาจจะต้องเริ่มต้นจากการมีองค์ความรู้ บ่มเพาะตั้งแต่ในโรงเรียน หรือวิทยาลัย โดยใช้กลไกของอาชีวะเกษตรในการขับเคลื่อนโครงการนี้ ผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ที่จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ภายใต้หลักสูตร “ชลกร” เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

โดยหลักสูตรชลกรมีการเปิดสอนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ใน 5 วิทยาลัยเกษตรภาคอีสานนำร่อง  ปีการศึกษา 2564 ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี และยโสธร ในระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาช่างกลเกษตร สาขางาน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (ชลกร) แบ่งย่อยเป็น 6 วิชา ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ วิชาอุตุนิยมวิทยา วิชาการจัดการน้ำผิวดิน วิชาธนาคารน้ำใต้ดิน วิชาการจัดการน้ำเสียชุมชน วิชาการจัดการดินและน้ำ และวิชาศาสตร์พระราชา ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2565 อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครหลักสูตรชลกร รุ่นที่ 2 โดยจะขยายไปสู่อีก 7 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จากทั้ง 4 ภาค ได้แก่ นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ขอนแก่น, อุดรธานี, ชัยภูมิ, สระแก้ว และสุโขทัย รวมทั้งสิ้น 12 วิทยาลัยฯ

ภาพรวมสถานการณ์น้ำประเทศไทยในมุมของ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า น้ำฝนที่ตกลงมาในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ปริมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งไทยมีพื้นที่กว่า 5 แสนตารางกิโลเมตร แปลค่าเป็นมวลน้ำเฉลี่ย 7.5 แสนล้านลูกบาศก์เมตร จากการประเมินพบว่าฝนจะกลายเป็นน้ำหลากไม่ไหลลงดินประมาณ 2.6 แสนล้านลูกบาศก์เมตร  และไหลลงอ่างเก็บน้ำประมาณ 4.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร โดยความต้องการใช้น้ำมีถึง 1.5 แสนล้านลูกบาศก์เมตร  แม้ว่าจะมีอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และกลางที่จุน้ำได้ 7.6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถจุน้ำได้เต็มที่เพียง 5.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร  จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการน้ำที่ไม่ถูกักเก็บ คือ การจัดการน้ำชุมชน เช่น วิธีการใช้น้ำซ้ำ อย่างภาคเกษตรที่ใช้น้ำเฉลี่ยกว่า 1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร หากมีการใช้น้ำซ้ำ 2 ครั้ง ก็เท่ากับจะเหลือน้ำใช้อีกกว่า 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร อาจจะเริ่มจากชุมชนบริเวณรอบป่า พื้นที่ชุมชนเกษตร พื้นที่ชลประทาน พื้นที่เมือง และพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยไม่รอเพียงรัฐบาล ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และประชาชน

ถอดบทเรียนการจัดการน้ำชุมชนสู่หลักสูตรชลกร ศุภวิทย์ ภาษิตนิรันดร์ คณะกรรมการและผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กล่าวว่า เพราะต้นทุนน้ำในประเทศไทยมาจากน้ำฝน ที่มีปริมาณไม่จำกัด ทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำฝนที่อาจจะยังครอบคลุม หลักสูตรชลกร ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้คนไทยได้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำนอกเขตชลประทาน ซึ่งการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อประกอบเป็นหลักสูตร ทั้งชุมชนต้นแบบ ที่มีการจัดการน้ำตามแนวทางศาสตร์พระราชามากว่า 10 ปี คือ หมู่บ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (American Groundwater Solution : AGS) และศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี   เพื่อให้นักเรียนได้มีความรู้พื้นฐานที่สามารถลงพื้นที่ปฏิบัติได้จริง มีหลักพื้นฐานตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ 1. หาที่ให้น้ำอยู่ (บ่อ,สระพวง,แก้มลิง)  2. หาที่ให้น้ำไหลไปรวมกัน(เส้นทางให้น้ำไหล) 3. เก็บน้ำไว้ใต้ดิน สามารถทำตามได้ง่าย เพื่อให้น้ำคงอยู่ตลอดทั้งปี องค์ความรู้เหล่านี้จะรวมอยู่ใน 6 วิชาย่อยภายในหลักสูตรชลกร ในอนาคตคาดว่าจะมีการขยายไปสู่ระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

ด้าน ธเนศ นะธิศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน สถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (American Groundwater Solution : AGS)  เล่าถึงแนวทางการบูรณาการหลักสูตรชลกรว่า บริบทในการบริหารจัดการน้ำของสหรัฐอเมริกา มีการสร้างจิตใจสำนึกและปลูกฝั่งการจัดการน้ำให้แก่ประชาชน เริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กระดับโรงเรียนไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่มีหลักสูตรเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ส่งผลให้ประชาชนมีพื้นฐานและเข้าใจหากเกิดปัญหาเรื่องน้ำ ส่วนประเทศไทยอาจจะยังไม่มีการปลูกฝังเกี่ยวการจัดการน้ำ แม้ว่าชาวบ้านจะมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ แต่ยังไม่เป็นระบบ หากเกิดปัญหาก็ต้องรอรัฐหรือท้องถิ่นเข้ามาช่วย ซึ่งไทยมีผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้เกี่ยวกับจัดการน้ำมานาน เพียงแต่ยังไม่ถูกบูรณาการร่วมกัน

“ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรชลกร ถือเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน อย่างในวิชาธนาคารน้ำใต้ดิน เช่น ซึ่งในภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ไม่สามารถสร้างเขื่อนได้ ทำให้เกิดปัญหาแล้งหนักกว่าภาคอื่น และมีเกษตรเยอะ การนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจึงสำคัญด้วยการทำแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อให้ธรรมชาติมีส่วนช่วยเหลือ โดยจะมีการเปิดหน้าดินไปจนถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้หน้าแล้งมีน้ำใช้ เมื่อฝนตกก็สามารถเก็บน้ำไว้ในดินได้ ซึ่งการเรียนรู้จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีทักษะพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำและต่อยอดไปถึงคนในชุมชนได้” ธเนศ กล่าว

ทั้งนี้เมื่อนักศึกษาเรียนจบหลักสูตรชลกร แล้วสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ในสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร, สาขาวิศวกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, สาขาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรอัตโนมัติ และสามารถสมัครเข้าทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ถือเป็นการพลิกโฉมการศึกษาอาชีวะเกษตรของไทย .

สถิติปริฒาณน้ำฝนในประเทศไทย


เพิ่มเพื่อน