“หมอโสภณ”ชี้ช่วยประหยัดงบได้อื้อ เหมาะกับสถานการณ์เปิดประเทศ ต้องตรวจผู้เดินทางเข้าไทย
2 พ.ย.2564 -ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวมอบ “ชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ RNA (Viral RNA Extraction Kit)” ให้แก่ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมราชทัณฑ์ รวมจำนวน 82,000 ชุด มูลค่า 8.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อใช้ต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) เป็นแผนงานส่วนหนึ่งภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564-2569 ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในวาระที่นำเสนอในการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในปี 2565 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และขณะนี้ประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน 2 ชนิด จาก 7 ชนิด และวัคซีนอีก 5 ชนิด กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นเป้าหมายของกระทรวง อว. และกระทรวงสาธารณสุข
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ชุดสกัด RNA (Viral RNA Extraction Kit) ของศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ที่ได้รับเงินกู้ฉุกเฉินภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยสามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย 1 แสนชุด เบื้องต้นจะมีการส่งมอบให้กับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค 50,000 ชุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 12,000 ชุด และกรมราชทัณฑ์อีก 20,000 ชุด รวมจำนวน 82,000 ชุด ได้นำไปใช้สกัดอาร์เอ็นเอ ก่อนส่งตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งชุดสกัดอาร์เอ็นเอนี้มีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างน้อย 2 เท่า คาดว่าราคาจะอยู่ที่ประมาณ 70-80 บาทต่อชุด ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าชุดสกัด ช่วยให้ประเทศมีความพร้อมในการรับมือต่อการระบาดของโรคอุบัติใหม่อีกด้วย
ด้านดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผอ.ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า วิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จากตัวอย่างแบบง่าย โดยใช้อนุภาคแม่เหล็ก (Magnetic bead) จับกับสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอของไวรัส ซึ่งอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งวิธีในการสกัดสารพันธุกรรมมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การทำให้เซลล์แตกตัวแล้วปล่อยสารพันธุกรรมออกมา 2.การเข้าจับสารพันธุกรรมและทำความสะอาดสารพันธุกรรม และ 3.การละลายสารพันธุกรรมบริสุทธิ์นั้นออกมาจากตัวจับ และทำความสะอาดสารพันธุกรรมที่อยู่ในตัวอย่าง ซึ่งสามารถทำการสกัดได้เร็ว ราคาถูก ที่สำคัญยังปรับวิธีให้ใช้ได้กับเครื่องสกัดอัตโนมัติที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ค่อนข้างง่าย
“ทั้งนี้วิธีสกัดอาร์เอ็นเอดังกล่าว ยังสามารถนำไปใช้ในการสกัดสารพันธุกรรม ในสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้ ไม่จำกัดเพียงไวรัสก่อโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงไวรัสก่อโรคในพืช สัตว์และมนุษย์ถือเป็นวิธีที่ง่ายสามารถใช้งานกับสารเคมีและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการด้านพันธุกรรม ซึ่งทีมนักวิจัยฯ ได้มีการนำไปทดสอบใช้งานจริงพบว่าให้ผลไม่แตกต่างจากการใช้ชุดสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท After Lab และ Bioentist เป็นผู้รับอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์เพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายทางการค้าครั้งแรกในไทย”
ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รอง ผอ.สวทช. กล่าวถึงวิธีการใช้ชุดสกัดอาร์เอ็นเอว่า เมื่อมีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพรงจมูกของผู้ที่สงวัยว่าติดเชื้อโควิดจะถูกนำมาละลายและนำมาใส่ในเพลท โดย 1 เพลทสามารถใส่ตัวอย่างได้ 16 ตัวอย่าง ซึ่งภายในเพลทจะสารที่สกัดอาร์เอ็นเอหรือสารพันธุกรรม และมีผงแม่เหล็กสามารถจับตัวกับสารไวรัสได้แม่นยำ จากนั้นนำเข้าเครื่องใช้เวลา 10 นาที ก็ได้สารพันธุกรรมตัวอย่างไวรัส ที่สามารถนำไปใช้ได้กับเทคนิค RT-PCR อีกครั้ง ซึ่งผลที่ได้มีความแม่นยำเทียบเท่ากับชุดสกัดอาร์เอ็นเอที่นำเข้าจากต่างประเทศ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากมีการเปิดประเทศเมื่อวานนี้มีผู้เดินทางเข้าประเทศ เฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 2,500 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะหลักหมื่น- แสนคนในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งทางกรมฯ ก็มีห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR ประมาณ 20 แห่งในการรองรับทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาคในเขตสุขภาพ 12 เขต โดยในปี 2563 มีการตรวจคัดกรองโควิดด้วยวิธี RT-PCR กว่า 15 ล้านเทสต์ หรือ 1 ล้านเทสต่อเดือน โดยเป็นการใช้ชุดสกัดอาร์เอ็นเอจากต่างประเทศ แยกเป็นส่วนที่กรมฯ ตรวจประมาณ 1.5 ล้านเทสต์ หรือ 10% เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนเทส ต์
“ดังนั้นหากคำนวนเฉพาะในช่วงนี้ที่ทางกรมฯ ต้องจ่ายเงินค่าตรวจ PCR อยู่ที่ 3,000 เทสต์ต่อวัน เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 60,000 บาท ดังนั้นการที่มีชุดสกัดอาร์เอ็นเอที่ผลิตได้ในไทย จากที่ต้องนำเข้าชุดละ 120 บาท เหลือประมาณชุดละ 70-80 บาท ก็สามารถช่วยลดการใช้จ่ายลงไปได้มาก ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้อาจจะมีการตรวจคัดกรองด้วย PCR น้อยลง เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมโควิดดีขึ้น แต่ก็ต้องนำมาใช้ตรวจผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ เพื่อคัดกรองให้ปลอดภัย การตรวจ PCR จึงยังมีความจำเป็น” นพ.โสภณ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นาโนเทค สวทช.-สภาเภสัชกรรม-สปสช. ร่วมนำร่องผลักดันชุดตรวจคัดกรองโรคไตในร้านยา
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม
ย้อนดู 5 ปี 'โควิด 19' ความสับสนของข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬา โพสต์เฟซบุ๊กว่า
ปักหมุด แชร์ข้อมูล สร้าง'เมืองใจดี'
เป็นคำถามที่ค้างคาและสงสัยอยู่ในสังคมมาตลอด ที่จอดรถ ทางลาด ห้องน้ำ ทางลาดเลื่อน ลิฟต์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา รวมไปถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ