ตามรอยเส้นทางธรรม 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' จ.อุดรธานี

องค์หลวงปู่มั่น ภายในกุฏิวัดป่าโนนนิเวศน์

ช่วงนี้หลายคนคงหัวหมุนและจิตใจห่อเหี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ  ปัญหาต่างๆที่รุมเร้า การได้ออกเดินทางไปท่องเที่ยวนับว่าเยี่ยวยาจิตใจได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะการเดินทางเที่ยวสายบุญ ที่นอกจากจะได้ทำบุญ ทำจิตใจให้สงบ ลบาย ยังได้ขอพรเป็นมงคลให้ตัวเองได้อีกด้วย ซึ่งเราขอนำเสนอเส้นทางเที่ยวที่ จ.อุดรธานี ที่ได้ชื่อเป็นอีกหนึ่งสถานที่จุดกำเนิดพระเกจิชื่อดังมากมาย ทำให้มีวัดสำคัญที่เหล่าลูกศิษย์หรือผู้มีศรัทธาต้องเดินทางมาเยือนสักครั้ง

โดยการเดินทางมายังจ.อุดรธานี ในครั้งนี้เป็นทริป ตามรอยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็น 1 ใน 12 จังหวัด ภายใต้ “โครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ของบริษัท ไทยเบฟ เวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อถวายเป็นอาจาริยบูชาแด่องค์หลวงปู่มั่น ในโอกาสที่ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ. 2563-2564 และยังเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี ชาตกาลหลวงปู่มั่น โดยมีพี่อ๋า ประสงค์ จารุรัตนพงศ์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้หลวงปู่มั่น 2018 เป็นไกด์ประจำทริปนี้ด้วย

กุฏิวัดป่าโนนนิเวศน์

ขอเกริ่นประวัติคร่าวๆของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเกิดวันที่ 20 มกราคม 2413  ที่บ้านคำบง ต.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี  เมื่ออายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร และสึกออกมาด้วยเหตุจำเป็น จนอายุได้ 22 ปี ได้กลับไปบวชอีกครั้ง ซึ่งท่านเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและการภาวนาเจริญสมาธิ และได้อาศัยอยู่ตามป่าตามเขาและเดินธุดงไปในหลายจังหวัดตลอด 57 ปีของการบรรพชา ท่านจึงมีบทบาททั้งผู้นำในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในยุคกึ่งพุทธกาล  เป็นครูที่ได้สั่งสอนศิษย์จำนวนมาก มีความมักน้อย สันโดษ ยินดีในสิ่งที่ได้มา รักษาผู้คนทั้งทางกาย ด้วยสมุนไพรง่าย และการรักษาทางใจด้วยกรรมฐาน การแบ่งปันสู่ผู้ที่ขาดแคลน เป็นต้น

โบสถ์กลางน้ำวัดป่าสาระวารี

จวบจนในช่วงระยะ 5 ปีที่ย่างเข้าวัยชรา จึงได้พำนักเป็นหลักแหล่ง ณ วัดป่าหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งช่วงนั้นท่านได้สั่งสอนอบรมศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ชื่อเสียงล่ำลือไปทั่วมีประชาชนนับถือทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จนกระทั่งท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ วันที่  11 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2492 สิริรวมอายุได้ 80 ปี

กุฏิหลวงปู่มั่นที่วัดป่าสาระวารี  อนุรักษ์ไว้ด้วยการสร้างศาลาครอบไว้

ส่วนที่จ.อุดรธานีนั้น หลวงปู่มั่นก็ได้ธุดงมาจำพรรษา และเผยแพร่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ในหลายวัด อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่ท่านได้อบรมสอนศิษย์รุ่นสุดท้ายอีกด้วย  เอาหล่ะ…มาเริ่นต้นตามรอยหลวงปู่มั่นที่ วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู เพราะห่างจากตัวเมืองอุดรไม่มากนัก แม้วัดแห่งนี้จะไม่ใช่วัดที่จำพรรษาของหลวงปู่มั่น แต่ได้สร้างขึ้นโดยหลวงปู่ขาว อนาลโย ศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นแรก ความเรียบง่ายของท่านได้สะท้อนให้เห็นผ่านสถานที่สำคัญที่วัดยังคงอนุรักษ์ไว้ คือ กุฏิของหลวงปู่ขาว ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยไม้หลังเล็กๆ ยกสูงจากพื้นดินใต้ถุนโล่ง มีห้องสำหรับจำวัด และชานระเบียงยื่นออกมาเล็กน้อย ด้านข้างเป็นจุดที่ท่านเดินจงกรมทำสมาธิ ที่น้อยนักจะเห็นได้ในปัจจุบัน เดินอ้อมไปด้านหลังกฏิก็จะเป็นทางเนินเขาขึ้นไปสักการะเจดีย์หลวงปู่ขาว ที่ด้านในบรรจุอัฐิของท่าน

พระพุทธจริยนุสรณ์ หรือหลวงพ่อหิน ที่สร้างขึ้นโดยหลวงปู่มั่น

ในโอกาสอันเป็นมงคลคณะได้เข้ารับฟังเทศน์ที่ศาลาเอนกประสงค์วัดถ้ำกลองเพลจาก หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย และรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล  โดยท่านเป็นศิษย์ของหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ, หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น เรานั่งฟังเทศน์เรื่องเล่าต่างๆของหลวงปู่มั่น และการตัดสินใจบวชของท่านที่มีความเลื่อมใสและศรัทธาในการปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ระหว่างนั้นเราได้นั่งครุ่นคิดถึงการใช้ชีวิต แม้จะไม่ตัดกิเลสทางโลกไม่ได้ ก็ให้อยู่ในศีลในธรรมที่ทำได้ดีก็พอ

ภายในโบสถ์กลางน้ำวัดป่าสาระวารี

เดินทางเข้าสู่จ.อุดรธานี ไปที่ วัดป่าสาระวารี ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ  เดิมชื่อวัดป่าดงมะไฟ วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในผืนป่า ที่ห่างไกลสังคมอันวุ่นวาย  ไม่มีสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ ทำให้เราที่ได้เข้าไปก็จิตใจสงบลงไปด้วย วัดแห่งนี้หลวงปู่มั่นได้มาจำพรรษา 2 พรรษา คือในปีพ.ศ.2462 และ 2467  ภายในวัดปัจจุบันยังคงมีกุฏิที่หลวงปู่มั่น ที่คล้ายกับบ้านคนสมัยก่อน สร้างด้วยไม้มีเพียง 1 ห้องสำหรับจำวัด มีชานระเบียงนั่งด้านหน้า ซึ่งทางวัดได้อนุรักษ์ไว้โดยมีการสร้างศาลาครอบเพื่อป้องกันการชำรุด

ถ้ำที่หลวงปู่มั่นจำวัด ที่ผาแดง

จากตรงกุฏิเดินไม่ไกลไปที่ โบสถ์กลางน้ำ ซึ่งประดิษฐานพระพุทธจริยนุสรณ์ หรือชาวบ้านเรียกหลวงพ่อหิน องค์ขนาดกลาง  มีอายุราว 102 ปี เป็นองค์พระที่หลวงปู่มั่นได้แกะสลักเองด้วยหินทรายแดง องค์พระและใบหน้าเป็นไปตามจินตนารการของท่าน เป็นหินที่นำมาจากอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เชื่อว่าในระหว่างที่ท่านทำหลวงพ่อหินนั้นได้อธิฐานความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ในชาตินี้

 หลวงพ่ออินทร์ถวาย เทศน์ธรรมให้แก่คณะเดินทาง

ณ วัดแห่งนี้ท่านได้สร้างลูกศิษย์รุ่นใหญ่ที่มาศึกษาธรรม หรือเรียกได้ว่าเป็นกองทัพธรรมพระกรรมฐาน ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม, หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล, หลวงปู่เทสก์ เทสรงฺสี, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นต้น

กุฏิหลวงปู่ขาว หลังเก่า

เดินทางต่อมายังอุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม  ต.นายูง อ.นายูง ที่อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีไฮไลท์คือจุดชมวิวผาแดง ซึ่งต้องเดินเท้าขึ้นไปประมาณ  2,000 เมตร ภายในบริเวณผาแดงมีถ้ำเล็กที่หลวงปู่มั่นได้วิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อฝึกจิตใจ และไม่กลัวต่อสิ่งที่มองเห็น จึงนำมาสอนชาวบ้านให้ดำรงอยู่ตามแนวทางพระพุทธศาสนา

เจดีย์หลวงปู่ขาว

มาอีกหนึ่งวัด ที่ วัดป่าโนนนิเวศน์ ต.บ้านเลื่อม อ.เมือง หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้มาพำนักและเทศนาสอนธรรมเมื่อ พ.ศ.2482-2483  เป็นเวลา 2  พรรษา ที่วัดแห่งนี้เป็นช่วงสุดท้ายที่ท่านได้ทุ่มเทอบรมธรรมะและเป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดสร้างศิษยานุศิษย์ในรุ่นสุดท้ายป็นระยะเวลาราว 10 ปี ได้แก่ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, หลวงพ่อชา สุภทฺโธ เป็นต้น ภายในวัดมีอาคารวิหารหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ภูมี ฐิตธัมโม ได้จัดสร้างขึ้นในยุคหลังเมื่อ ปี2543 เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาอัฐิธาตุ รวมทั้งเก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่มั่นฯ บางส่วนครั้งที่ท่านได้มาพำนักที่แห่งนี้ และเก็บรักษาอัฐิธาตุของหลวงปู่ภูมี ฐิตธัมโม หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อให้ลูกศิษย์และพุทธศาสนิกชนเข้ามากราบไหว้บูชา

พิพิธภัณฑ์ จัดแสดงพระธาตุกว่า 400 องค์

ปิดท้ายทริปด้วยการชมพิพิธภัณฑ์ พระธาตุ พระอริยสงฆ์ไทย ของคุณฆรณี แสงมณี ที่ได้นำพระธาตุที่เก็บสะสมส่วนตัวมาตั้งแต่ปี 2540 มาจัดแสดง ซึ่งมีพระธาตุพระอริยสงฆ์ทั้งที่ละสังขารไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่กว่า 400 องค์  เช่น หลวงปู่เสาร์  หลวงปู่มั่น หลวงพ่ออินทร์ถวาย และหลวงตามหาบัว ที่เจ้าของพิพิธภัณฑ์มีความเสื่อมใสศรัทธาส่วนตัวจึงมีทั้ง โลหิต อัฐิ เส้นเกศา ที่แปรเป็นพระธาตุ รวมไปถึงเครื่องอัฐบริขาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีองค์พระพุทธรูปต่างๆ และลายมือพระดังๆมากมาย

พระธาตุหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ภายในพิพิธภัณฑ์การจัดแสดงพระธาตุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กมธ.ที่ดิน ลงพื้นที่ภูผาเหล็ก ยังไร้ข้อยุติความขัดแย้งชุมชน-อุทยานฯ

คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายอภิชาติ ศิริสุนทร ได้มาลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ชาวบ้านผลกระทบจากป่าสงวนแห่งชาติภูผาเหล็กทับซ้อนที่ดินทำกิน

ปิดฉาก OTOP Midyear 2024 ยอดจำหน่ายทะลุเป้า กว่า 700 ล้านบาท

วันนี้ (17 มิถุนายน 67 ) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จัดงาน OTOP

'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต'บันทึก 7 รอบนักษัตร'สุเมธ ตันติเวชกุล'

ครั้งแรกของการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รวบรวมไว้ในหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ”

'ชาวหนองวัวซอ' ยื่นผู้ว่าฯอุดรธานี ขอให้กรมธนารักษ์พิสูจน์สิทธิในที่ดินทับซ้อน

ชาวบ้านอำเภอหนองวัวซอกว่า 100 คนได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเพื่อยื่นขอพิสูจน์สิทธิ์พื้นที่ทับซ้อนระหว่างค่ายทหาร มทบ.24 กรมธนารักษ์และชาวบ้าน ทั้งนี้ชาวบ้านอำเภอหนองวัวซอยืนยัน

'เศรษฐา' แจงภาพโค้งคล้ายจูบมือ 'อุ๊งอิ๊ง' ทำในฐานะสมาชิกพท. ยันไม่ได้ถูกครอบงำ

“เศรษฐา” แจง ภาพโค้งคล้ายจูบมือ “อุ๊งอิ๊ง” ถอดหัวโขนไปในนามสมาชิกพท. ผูกพันกันมานาน ต่อสู้หาเสียงมาด้วยกัน ยัน ไม่ได้ถูกครอบงำ