หลังจากที่โครงการ “บลู สกาย”โครงการความร่วมมือเพื่อช่วยบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นที่มาของโครงการ “บ้านสู้ฝุ่น” ซึ่งริเริ่มโดยสภาลมหายใจเชียงใหม่บริษัท บ๊อช ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนตัวแทนครัวเรือนอาสาสมัครในชุมชนหมื่นสาร จ.เชียง ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการ โดยการปลูกพรรณไม้เพื่อลดปริมาณฝุ่น ล่าสุดโครงการ ได้มีผลสรุปเบื้องต้น ว่าการปลูกพรรณไม้สู้ฝุ่นจะลดปริมาณฝุ่นละอองมากน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาพอากาศ กิจกรรมในชีวิตประจำวันของครัวเรือนอาสาสมัคร ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนพรรณไม้ที่นำมาปลูกว่ามากน้อยแค่ไหน ตลอดจนตำแหน่งการจัดวางพรรณไม้ ซึ่งมีผลปริมาณฝุ่นในอากาศ
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 บ๊อชได้ริเริ่มโครงการ “บลู สกาย”ดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก(air quality monitoring box) ในบริเวณชุมชนหมื่นสารและร่วมมือกับศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในโครงการ “บ้านสู้ฝุ่น”สนับสนุนการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ Dust Boyในครัวเรือนอาสาสมัคร โดยใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ประสิทธิภาพสูงจากบ๊อช เก็บข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ทั้งข้อมูลปริมาณฝุ่น PM2.5 ในบริเวณพื้นที่รอบชุมชนหมื่นสาร มาเปรียบเทียบกับข้อมูลคุณภาพอากาศ กับเครื่อง DustBoy เครื่องวัดคุณภาพอากาศของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ติดตั้งในบ้านอาสาสมัครชุมชนหมื่นสารที่เข้าร่วมโครงการ“บ้านสู้ฝุ่น” ซึ่งแต่ละบ้านที่เข้าร่วม จะได้รับการสนับสนุนการแจกพรรณไม้สู้ฝุ่น ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือPM2.5 ซึ่งจากงานวิจัยของ ผศ.ดร. เยาวนิตย์ ธาราฉาย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่าพรรณไม้บางชนิดสามารถลดปริมาณฝุ่นได้
“เทคโนโลยีจากบ๊อชมีส่วนช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์จากการประมวลผลด้วยเซนเซอร์ประสิทธิภาพสูง ข้อมูลเชิงลึก เช่นส่วนประกอบก๊าซประเภทต่างๆในอากาศเป็นข้อมูลสำคัญที่ต่อยอดไปสู่ความเข้าใจในสาเหตุการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกันและบรรเทามลภาวะทางอากาศ เช่นการจัดการฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาทางการเกษตรหรือมลภาวะจากการจราจรบนท้องถนน เป็นต้น “รศ.ดร. สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
รศ.ดร.สมพร กล่าวอีกว่า เชียงใหม่ เผชิญปัญหาฝุ่นมาเป็นเวลานับ 10ปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.ของทุกปี ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และระดับมลภาวะทางอากาศสูงมาก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพของประชาชนชาวเชียงใหม่อย่างรุนแรง ก่อนที่จะมีเครื่องมืดวัดปริมาณฝุ่น ชาวเชียงใหม่จะใช้สภาพหมอกควันที่ดอยสุเทพ เป็นตัวชี้วัด ถ้ามองไปเห็นหมอกควันมาก เป็นที่รู้กันว่าวันนั้นจะมีฝุ่นควันมาก ไม่ควรไปไหน แต่พอปี2554 มีการติดตั้ง สถานีวัดปริมาณฝุ่นpm 2.5 ก็ใช้เป็นตัวชี้วัด ซึ่งในปี2558 ปริมาณฝุ่นสูงมาก ระดับ 250 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทั้งที่มาตรฐานความปลอดภัยกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ เชียงใหม่ยังมีฝุ่นจากการเผาพื้นที่เกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา ลอยมาสมทบอีกด้วย ทำให้สภาพอากาศย่ำแย่หนักเข้าไปอีก จนมีผลกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างมาก
ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.สมพร ได้ทำการศึกษาหัวข้อ”การประเมินแหล่งกำเนิดและกลไกการเกิดฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิ ในภาคเหนือของประเทศไทย” โดยเก็บตัวอย่างฝุ่นในเชียงใหม่ จากสถานีวัดค่าฝุ่นแยกรินคำ ซึ่งเป็นสถานีใหญ่ ผลการศึกษาพบว่า ในช่วงหมอกควันพบว่าต้นทางของฝุ่นมาจาก การจราจร 9 %ถนน 15% การเผาชีวมวลในที่โล่ง 48% และที่เหลือเป็นฝุ่นจากทุติยภูมิ ส่วนช่วงหน้าฝน เป็นสัดส่วนฝุ่นจราจร 69% ถนน 24 % เผาชีวมวลในที่โล่ง 6% และฝุ่นทุติยภูมิ 1%
ด้าน รศ.ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่าผลสรุปโครงการ “บลู สกาย” ว่า เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองของบ๊อชนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนแนวความคิดของโครงการ“บ้านสู้ฝุ่น”เพราะการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของดัชนีคุณภาพอากาศและค่าฝุ่นละอองได้อย่างสะดวกและรวดเร็วเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการจัดการปัญหาฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
“มีงานวิจัยของมช.ใช้โมเดลข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา วิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ เปรียบเทียบแต่ละช่วง ซึ่งพบว่าหากช่วงไหนเชียงใหม่มีค่าฝุ่นPM2.5 สูง ก็จะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดพายุลูกเห็บ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นหมอกควัน ที่มีอนุภาคเล็กมาก เป็นตัวกระตุ้นการเกิดลูกเห็บหลายพื้นที่ และมีผลต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องมีการเก็บข้อมูลในระยะยาวต่อไป”รศ.ดร.เศรษฐ์กล่าว
ผลของการปลูกพรรณไม้ ในโครงการบ้านสู้ฝุ่น รศ.ดร.เศรษฐ์กล่าวว่า มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนพ.ย.2564-พ.ค.2565 บ้านในโครงการ 5หลัง พบว่าบางหลังลดปริมาณฝุ่นได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ เพราะปีที่แล้วปริมาณฝนมาก ฝุ่นจึงลดลง แต่บ้านบางหลังฝุ่นยังลดได้ไม่มาก โดยเฉพาะพื้นที่ภายในบ้าน อาจเป็นเพราะการไหลของอากาศยังไม่ดี ส่วนค่าฝุ่นที่วัดได้อยู่ที่ 20 หรือมากกว่า30 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าปริ่มๆ ค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ข้อมูลนี้เหล่านี้ จะทำให้ชาวบ้านนำไปปรับตัวสภาพปัญหาของเขาได้เอง ลดกำเนิดการเกิดฝุ่น ชุมชนห่างไกล ที่มีการเผา ทั้งการทำอาหาร โดยอาจเพิ่มพรรณไม้เพื่อช่วยดักฝุ่นมากขึ้น
” ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถสรุปผลได้อย่างมีนัยสำคัญว่าพรรณไม้ที่ปลูกเพิ่มในครัวเรือนของอาสาสมัครในโครงการช่วยลดฝุ่นควันในอากาศได้มากน้อยเพียงใด แต่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในครัวเรือน รวมไปถึงในพื้นที่สาธารณะย่อมมีส่วนช่วยลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ แต่ถือว่า โครงการ บลู สกาย เป็นความคิดริเริ่มที่สำคัญในการสะท้อนความพยายามองหลายภาคส่วนที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการสร้างพื้นที่สีเขียว “
ส่วนการสนับสนุนโครงการของบ๊อช รศ.ดร.เศรษฐ์กล่าวว่ามีส่วนช่วยอย่างมาก เพราะเครื่องมือบ๊อช มีความแม่นยำ ระดับ 70-85% เป็นดัชนีชี้วัดถึงสภาพอากาศแต่ละวัน บางวันอาจมลภาวะมาก ในเมืองอากาศปิด เพราะการจราจรคับคั่ง ข้อมูลเครื่องของบ๊อชก็สามารถบอกได้ รวมทั้ง ยังบอกถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในวันนั้นว่ามากน้อยแค่ไหน หรือบางวันสภาพอากาศปลอดโปร่ง มีโอโซนมาก เครื่องของบ๊อชก็จะให้บอกได้ ดังนั้น เครื่องวัดของบีอช จึงให้มิติของข้อมูลที่มากกว่าเครื่องวัดของกรมควบคุมมลพิษ ที่จะแสดงผลแค่PM 2.5หรือ PM 10 เท่านั้น
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่าปัญหามลภาวะในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีมาอย่างยาวนาน ช่วงหน้าแล้งมีการเผาในที่โล่งเยอะขึ้น แต่จากข้อมูลอาจารย์สมพร ก็บ่งบอกว่าหน้าฝนเชียงใหม่ก็มีปัญหามลภาวะอากาศ จากการจราจรสูง ดังนั้น สรุปได้ว่าเชียงใหม่มีปีญหาฝุ่นตลอดทั้งปี ส่วนปัจจัยว่าจะปัญหาหนักมากน้อยแค่ไหน ยังมีตัวแปรจากการพัดพาของลม การยกตัวของอากาศ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้คน เมื่อเราเข้าใจที่มาของฝุ่น ซึ่งบางส่วนมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อันเป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้ คือ ลดการปล่อยมลพิษมากที่สุด รณรงค์การใช้รถน้อยลง ขณะเดียวกันช่วงวิกฤติฝุ่นเยอะ ก็ใช้ต้นไม้มาช่วย ซึ่งมีข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ว่า ไม้หลายชนิดสามารถลดปริมาณฝุ่นได้ จึงเป็นที่มาโครงการสภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อให้คนเชียงใหม่จัดการปัญหาฝุ่นด้วยตนเอง โดยสภาลมหายใจฯ เข้าไปกระตุ้นประชาชน และหาเครื่องมือวัดฝุ่น แบบเรียลไทม์เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อม เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศรอบตัวมากขึ้น และเห็นว่าเรื่องฝุ่นเป็นปัญหาระดับวิกฤตจริงๆ ต่อมาจึงเป็นการหาพรรณไม้ให้เขาปลูก เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่น
“การดำเนินการเรื่องปลูกพรรณไม้ต่างๆ เรายังไม่สามารถฟันธงได้ว่าลดค่าฝุ่นได้ชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความโครงการล้มเหลว แต่เป็นการกระตุ้นให้คนได้ตระหนักปัญหาฝุ่น แต่เราจะการเดินหน้าต่อไปคือเพิ่มชนิดพรรณธุ์ไม้ ที่นำมาปลูก และขยายโครงการบ้านสู้ฝุ่น ไปยังพื้นที่เทศบาลอื่นๆ ต่อไป”
สนิท บุญแลน ตัวแทนชุมชนหมื่นสาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงโครงการว่า ในฐานะคนในพื้นที่โครงการ กล่าวว่า มลภาวะทางอากาศในเชียงใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ โดยเฉพาะในแถบชุมชนหมื่นสาร มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นกระทบการท่องเที่ยวมาก ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป จนกระทบกับรายได้ของคนในชุมชน ส่วนสาเหตุหลักของปัญหานี้ ก็มาจากฝุ่นควันจากการเดินทางการก่อสร้างการเผาพืชผลทางการเกษตรตามฤดูกาลที่สะสมมายาวนานหากมีการร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐและเอกชนรวมถึงการมีส่วนร่วมของครัวเรือนในการช่วยลดมลภาวะทางอากาศก็จะส่งผลให้ประชาชนชาวเชียงใหม่สามารถใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งยังช่วยให้นักท่องเที่ยวกลับคืนมายังจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง
โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย และประเทศลาวกล่าวว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีเสน่ห์เหมาะกับการท่องเที่ยวอย่างมาก แต่จากสถานการณ์มลภาวะทางอากาศในจังหวัด และภาคเหนือได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน และการท่องเที่ยว ในฐานะที่บ๊อช มีนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่สอดคล้องไปกับทิศทางการขยายตัวของสังคมเมือง ซึ่งเทคโนโลยีนี้ จะมีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ ยกระดับคุณภาพชีวิต บ๊อชจึงสนับสนุนผ่านโครงการBlue Sky ติดตั้งเครื่องตรวจวัดเทคโนโลยีคุณภาพสูง ที่เรียกว่า Air quality monitoring box ตรวจวัดสภาพอากาศเชียงใหม่ ณ ชุมชนหมื่นสาร ซึ่งเครื่องนี้มีประสิทธิภาพสูง ไม่ได้วัดเพียงค่าฝุ่นPM2.5 เท่านั้น แต่ยังสามารถจำแนกประเภทของฝุ่น และสภาพอากาศได้ โดยสามารถวัดได้ว่าเป็นฝุ่น PM2.5 , PM10 หรือ โอโซน ส่วนชนิดของก๊าซสามารถแยกแยะได้ว่าเป็น ก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ หรือไนโตรเจนไดออกไซด์ หรือ NOx ที่เป็นสารก่อมะเร็งได้อีกด้วย
“เราหวังว่าข้อมูลจากAir quality monitoring box ที่มีความแม่นยำสูง จะเป็นประโยชน์ ในการแก้กระตุ้น และจุดประกายการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของเชียงใหม่ หรือพื้นที่อื่นๆของไทย และมีส่วนนำไปสู่การกำหนดนโยบาย หรือการตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้ในอนาคต” โจเซฟ ฮง กล่าว.