ถ้าได้รับชวนให้ไปเที่ยว จังหวัดอุบลราชธานี อย่างแรกที่นึกถึงก็คืออุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่อื่นๆอาจไม่ค่อยรู้จัก ยิ่งบ้านผาชัน อาจเคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ว่าที่นี่มีอะไรบ้าง แต่เมื่อเร็วๆนี้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ชวนไปเปิดหูเปิดตา เพื่อให้รู้ว่า อุบลฯ มีแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าที่เคยรู้จัก หรือเคยได้ยิน
เหตุที่ อพท.พาไปอุบลฯ ก็เพราะนโยบายปี65 มุ่งเน้นไปที่โครงการสร้างรายได้จาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ผ่านตลาดมูลค่าสูง และ”บ้านผาชัน” ที่ตั้งต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี นับเป็นชุมชนริมโขงที่มีมูลค่าของปลาสูง ซึ่งภายใต้อาชีพประมงมีเรื่องราวที่น่าสนใจแอบแฝงอยู่ ด้วยวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำหลายชั่วอายุคน คนส่วนใหญ่ของที่นี่ จึงมีอาชีพประมงสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีความเชี่ยวชาญในการหาปลา จนทำให้ผาชัน พัฒนากลายเป็นแหล่งขายปลา(น้ำจืด)ที่ใหญ่ที่สุดในอีสานใต้ จนในปี 2548 ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งกองทุนปลาบ้านผาชันในรูปแบบสหกรณ์ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรับซื้อ ขายปลา ป้องกันการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง
ที่เกริ่นไปแล้วว่า ภายใต้อาชีพประมงของคนผาชีนนั้น มีสิ่งที่น่าสนใจอันเป็นเอกลักษณ์เด่นของที่นี่ ที่ไม่เหมือนแห่งอื่น นั้นก็คือ บริเวณผาสูงชัน จะมีเชือกผูกบนหน้าผาไว้ เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่หาปลา หรือเรียกว่า “ลวง” ที่แสดงถึงการจับจองโซนหาปลา ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ และส่งต่อมาถึงลูกหลาน คนอื่นที่ไม่ใช่คนในตระกูล ไม่สามารถมาหาปลาในเขตสัญลักษณ์นี้ได้ หากไม่ได้รับอนุญาต
ชาวบ้านที่นี่ พาไปดูบริเวณผาชัน จุดที่ผูกเชือกบนหน้าผา แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่หาปลา ก่อนจะถึงริมโขง เราต้องเดินผ่านลานหินกว้างขนาดใหญ่ ระยะทางประมาณ 100-200 เมตร ไม่น่าเชื่อว่าลานหินแห่งนี้ มีความงดงามไม่แพ้สามบันโบก ต่างกันเพียงแต่ว่า ลานหินที่นี่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูง แต่สามพันโบก อยู่ติดกับลำน้ำโขง วันที่ไปไม่ได้เห็น”ลวง”หรือเชือกที่ผูกไว้เป็นสัญลักษณ์ เจ้าของพื้นที่หาปลาแบบชัดๆ ซึ่งคิดว่าถ้ามองจากลำน้ำโขง จะเห็นชัดเจนกว่า แต่คนบ้านผาชันบอกว่าทุกวันนี้ ยังใช้ “ลวง”เป็นเครื่องหมายแบ่งพื้นที่หาปลากันอยู่ จะได้ไม่เกิดความขัดแย้ง
วันที่ไปเหมือนดินฟ้าอากาศเป็นใจ วันนั้นมีเมฆครึ้มๆ มาบังแสงแดด ทำให้ได้โอกาสยืนขมวิวทิวทัศน์อยู่บนลานหินแบบไม่ร้อน แถมยังมีลมแรงพัดโชยมาตลอดเวลา มองไปเบื้องล่าง จะเห็นแม่น้ำโขง เห็นเรือแจวคนหาปลาลำไม่ใหญ่ ลอยอยู่กลางน้ำโขง แต่เมื่อมองจากลานหินที่่อยู่บนผาสูง เรือลำที่เห็นจึงเล็กกระจิดริด เมื่อทอดสายตามองไปทางซ้ายหรือขวา ก็จะเห็นความคดโค้งลำน้ำโขงทอดยาวสุดสายตา
ขาเดินกลับเพิ่งก้มมองไปที่พื้นหิน สังเกตุเห็นว่าหินพวกนี้ มีลวดลายที่สวยงามมากๆ ลวดลายพวกนี้คงเกิดจากแรงลมและการกัดเซาะของน้ำ ซึ่งบางปีมีน้ำมาก ชาวบ้านบอกว่า บางปีน้ำท่วมสูงถึงผา แรงไหลวนของน้ำ น่าจะทำให้หินถูกกัดเซาะ จนกลายเป็นลวดลายธรรมชาติ ซึ่งในสภาพอากาศที่โปร่งโล่ง ลมแรง จะรออะไร เรารีบถอดหน้ากากอนามัย สูดอากาศผาชันเข้าไปในปอด เพราะพอเดินพ้นลานไปแล้ว กลับไปนั่งบนรถก็ต้องกลับมาใส่หน้ากากเหมือนเดิมกันแล้ว
กลับจากชมลานหินบ้านผาชัน ไปต่อที่”เสาเฉลียงยักษ์” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ถือว่าเป็นสถานที่แหล่งท่องเที่ยว ทางประวัติศาสตร์ยอดนิยมของอุบลราชธานีเลยก็ว่าได้ แต่ละเสาสูงประมาณ 20 เมตร มีเสาตั้งขนาดใหญ่รับน้ำหนักหินก้อนใหญ่ทรงแบนรูปทรงคล้ายดอกเห็ด เหมือนสโตนเฮ้นช์ ของอังกฤษ ต่างกันเพียง เสาเฉลียง เป็นเสาเดี่ยวๆ ไม่ได้ล้อมเป็นวง เหมือนสโตนเฮ้นช์ แต่ถึงอย่างนั้น การที่มีหินก้อนใหญ่ไปตั้งบนเสานี้ได้ ก็สร้างความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็นไม่น้อยว่า ซึ่งทั้งขนาดของเสาตัวตั้ง ช่างรับน้ำหนักหินด้านบนได้พอดิบพอดี ยืนท้าลมฝนมาหลายล้านปี มีนักธรณีวิทยา ประเมินว่าเสาเฉลียงซึ่งเป็นหินทราย 2 ยุค คือ หินทรายยุคครีเตเซียส ที่มีอายุประมาณ 130 ล้านปี เป็นส่วนของหินแบนบางคนบอกว่าเป็นรูปดอกเห็ด ส่วนตัวเสาเป็น หินทรายยุคไดโนเสาร์ อายุประมาณ 180 ล้านปี หินทั้งสองส่วนผ่านการถูกชะล้างพังทลายลง จากสภาพอากาศ ฝน และลมพายุ เป็นเวลาหลายล้านปี
ถ้ามีแรงปีนไต่ ก็แนะนำว่าควรใช้ความสามารถทางร่างกายเล็กน้อย ในการปีนขึ้นไปลานด้านบนด้านหลังที่ตั้งของเสาเฉลียง ก็จะพบลานหินขนาดขนาด ด้านหนึ่งมีป้ายชี้ว่าเป็นทางไป”ถ้ำโลง” จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่อพท.บอกว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านมีการค้นพบโลงโบราณ พร้อมกับโครงกระดูกมนุษย์ อายุไม่ต่ำกว่า 2พันปีภายในถ้ำ ตัวโลงทำด้วยต้นไม้ทั้งต้นขุดทำเป็นโลง ชาวบ้านที่นี่ ให้ความเคารพสถานที่แห่งนี้มาก เชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ของบรรพบุรุษ ทุกปีจะมีการทำพิธีบรวงสรวงกราบไหว้ และไม่มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม ด้วยเหตุผลเพื่อไม่ให้รบกวนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ยังมีการสันนิษฐานว่า ลานด้านหลังเสาเฉลียงแห่งนี้ น่าจะเป็นสถานที่ ทำพิธีกรรมของมนุษย์เมื่อสองพันปีที่แล้วอีกด้วย
ช่วงเย็นได้มีโอกาสไป”ร้านป้าติ๋ว”ที่เป็นตัวแทนกลุ่มผ้าฝ้ายแท้ทอมือ ที่อยู่ในอ.เขมราฐ กลุ่มคนที่ร่วมกันฟื้นฟูและสืบสานศิลปะผ้าทอมัดหมี่เขมราฐที่เคยสูญหายไปแล้วให้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มนี้มีประวัติ คุณยายอัญญา วงศ์ปัดสา ได้มอบมรดกเป็นหีบใบเก่าที่ไม่มีใครกล้าเปิดดู จนทายาทของท่านลองเปิดดูก็พบผ้าซิ่นมัดหมี่ลายสวยมากมาย ป้าติ๋ว ธนิษฐา วงศ์ปัดสา ปราชญ์ด้านการทอผ้าของ อ. เขมราฐปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มฝ้ายแท้ทอมือ เห็นแล้วชอบมากจึงนำมาหัดมัดลายตามที่ท่านเคยทำไว้ เป็นลายมัดหมี่ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และทุกผืนนั้นมีประวัติความเป็นมาของลายเขียนไว้หมด
เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า คือ ลวดลายที่ช่างทอผ้านำมามัดหมี่เป็นลายบนผ้าซิ่นนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ธรรมชาติรอบตัว ตลอดจนความเชื่อหรือแม้แต่นิทาน ลายที่เป็นนางเอกของ อ. เขมราฐ ก็คือ “ลายนาคน้อย” ป้าติ๋วเล่าว่า เป็นลายที่พญานาคมาดลใจให้คุณยายอัญญา ทำผ้ามัดหมี่ลายนี้ขึ้น โดยพญานาคได้แปลงร่างเป็นหญิงสาวสองคนมายืมฟืมของคุณยาย เมื่อเอาฟืมมาคืนก็ได้ให้ลายานี้ไว้ ใครที่ได้สวมใส่จะเป็นมงคลและมีแต่เรื่องดี ๆ เกิดขึ้น
ในร้านมีผ้ามากมาย ที่ลายแตกต่างกันแขวนเรียงราย “ป้าติ๋ว” จะให้คนที่มาเยี่ยมชมร้าน” เลือก” ว่าชอบผ้าผืนไหน หลังจากนั้นป้าติ๋ว จะทำนายเกี่ยวกับคนๆนั้น ไม่น่าเชื่อว่าคำทำนาย จะตรงกับเรื่องราว ลักษณะนิสัยของผู้เลือกผ้า เพราะมีสองคนในกรุ๊ปทัวร์ครั้งนี้ บอกว่าคำทำนายตรงกับนิสัยตัวเองมาก ราวกับว่า “ผ้าเลือกคน คนเลือกผ้า” อย่างไรอย่างนั้น
วันรุ่งขึ้นพวกเราเดินทางไปยัง “พิพิธภัณฑ์วัดถ้ำพระศิลาทอง “ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านนาหนองเชือก ต.เจียด อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี แหล่งรวบรวมอารยธรรมมนุษย์โบราณ และแหล่งเครื่องใช้ที่ขุดพบในพืนที่อายุกว่า 2,000 พันปี หลักฐานทางโบราณวัตถุที่สำคัญ คือการค้นพบ“หม้อฝังศพ” อายุกว่า 2,000 ปี โดยกรมศิลปากร สันนิษฐานว่าที่นี่ เคยเป็นชุมชนโบราณที่อยู่ยุคโลหะ หรือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อกับยุคหัวเลี้ยวต่อประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,300-1,500 ปีมาแล้ว เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ภาชนะดินเผาที่บรรจุศพ มีลักษณะทรงกรมคล้ายหม้อดินขนาดใหญ่ มีฝาปิด ข้างในมีโครงกระดูกมนุษย์ บรรจุ อยู่พร้อมกับเครื่องประดับเป็นสร้อยคอลูกปัดแก้ว สีแดง เขียว ส้ม ลูกปัดขนาดเล็กสีน้ำตาลเข้ม กำไลสำริด ขวานสำริดรูปรองเท้าบูธ เครื่องใช้เป็นเครื่องปั้นดินเผาขนาดต่างๆ โดยโครงกระดูกที่พบยังมีสภาพสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์บอกว่า เป็นโครงกระดูกผู้หญิง ที่น่าจะเป็นผู้มีฐานะทางสังคม เพราะมีเครื่องประดับมากมายที่ติดที่ฝังศพ โดยเฉพาะกำไลข้อมือทำด้วยแก้วสีฟ้า ที่แยกนำมาจัดแสดงต่างหาก น่าจะมาจากอินเดีย เพราะแถบนี้ไม่มีวัตถุดิบที่เป็นแก้วมาทำกำไรรูปแบบนี้ได้ สะท้อนว่าผู้คนสมัยนั้น มีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันแล้ว
นอกจากนี้ ตรงจุดที่สร้างพิพิธภัณฑ์ ยังเป็นพื้นที่มีมีการขุดพบหลุมฝังศพโบราณดังกล่าว ดังนั้น ภายในพิพิธภัณฑ์ จึงมีการแบ่งพื้นที่แสดงจุดที่ขุดพบหลุมศพโบราณไว้ให้ชมอีกด้วย
ก่อนกลับ คนอพท.ในพื้นที่ ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ต้องไปหาดหงส์ ทะเลทรายเมืองไทย ที่ จังหวัดอุบลฯนี้ให้ได้ เราก็เลยเสิร์ชหาข้อมูล ดูจากภาพ ดูสวยมาก เหมือนมีทะเลทรายมาตั้งกลางอีสานจริงๆ บางคนเปรียบเทียบที่นี่ว่าเป็นทะเลทรายซาฮาร่า หรือ มุยเน่ กันเลย แต่จริงๆแล้วเนินหาดทรายนี้ เป็นเนินทรายแม่น้ำโขงขนาดมหึมา ซึ่งเกิดจากการพัดพาของน้ำ และนำตะกอนทรายมาทับถมกันจนเป็นพื้นทรายกว้างใหญ่ แถมยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งติดกับสามพันโบก วันที่จะได้รูปชิลๆ มาโชว์ ราวกับว่าไปทะเลทรายจริง ๆ ก็คือต้องเป็นช่วงที่น้ำกำลังลง เนินทรายก็จะกว้างขึ้น โดยด้านบนซึ่งทรายกองท่วมสูง จะเป็นมุมไอไลท์ ถ่ายออกมาแล้วภาพจะได้ฟิลล์ ไปยืน นั่ง หรือกระโดดบนทะเลทรายมาก
ที่อุบลฯ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย เช่น ทุ่งดอกไม้ดงนาทาม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ผาชนะได ภาพเขียนโบราณ และอีกมากมาย เรียกได้ว่า ไปครั้งเดียว ได้ไปเที่ยวหลายที่ เหมือนกำไร แต่จะเก็บสถานที่ท่องเที่ยวได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเวลาที่มี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อพท.เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักสูตรบริหารจัดการท่องเที่ยวยั่งยืน
การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นแนวทางสำคัญที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมถอดบทเรียนแนวทางการส่ง
อพท. ผนึก 5 มหาวิทยาลัย ปั้นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสู่มาตรฐานสากล
อพท. จับมือ 5 สถาบันการศึกษา ร่วมหนุนเสริมการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 4 ปี หวังยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่สู่เกณฑ์มาตรฐานสากล