มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดผลสำรวจความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ อันดับแรกหวังรัฐบาลจัดสรรวัคซีนโควิดกระจายทั่วถึงทั้งประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว
31 ต.ค. 2564 – ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนตุลาคม (40.20) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน (39.70) เดือนสิงหาคม (39.40) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุว่า โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลได้แก่ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด -19 เดือนตุลาคม มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดือนกันยายนส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดบางส่วน เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และในเดือนพฤศจิกายน สถานที่ท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาเปิดทำการเพื่อตอบรับนโยบายภาครัฐในการเปิดประเทศโดยมีเป้าหมายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว (สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) รวมถึงจะมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในประเทศต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุด้วยว่า ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์การได้รับวัคซีนมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี การส่งมอบและการจัดหาวัคซีนเป็นไปตามแผนการของภาครัฐ แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะยังมีการกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เสี่ยง แต่เริ่มมีการจัดสรรไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดอัตราการฉีดวัคซีนของไทยเข็มแรกครอบคลุม 58 % และเข็มที่สองครอบคลุม 42 % ของจำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มทรงตัวและอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าส่งผลให้ภาครัฐอนุมัติมาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย และการปรับระดับพื้นที่จังหวัดความเสี่ยง เพื่อรองรับการเปิดประเทศ
ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุว่า นอกจากนี้ รายได้ภาคการเกษตรของพืชเศรษฐกิจภาคใต้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการบริโภคทั่วโลกที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น สร้างรายได้และเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจภาคใต้ได้อย่างมาก ซึ่งได้แก่ ราคายางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 50 บาทต่อกิโลกรัมและยังทรงตัวในช่วงราคานี้ตลอดเดือนตุลาคม อีกทั้ง ราคาผลไม้ภาคใต้ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาปาล์มน้ำมันได้มีการปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตลอดเดือนตุลาคม ล่าสุดกิโลกรัมละ 9 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้ชาวสวนเป็นอย่างดี ทำให้ชาวสวนต้องเพิ่มการเฝ้าระวัง ป้องกัน เนื่องจากมีคนร้ายเข้าขโมยตัดผลปาล์มเป็นจำนวนมาก
“โดยราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ ซึ่งเป็นผลจากตลาดโลกมีความต้องการปาล์มมากขึ้น รวมทั้งสหภาพยุโรปที่นำเข้าปาล์มไปผลิตไบโอดีเซล ขณะที่ประเทศผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมีผลผลิตลดลงโดยเฉพาะบราซิลประสบภัยแล้ง ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในต่างประเทศขยับขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 42 บาท และในประเทศไทยขยับขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 44 บาท “ ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุ
ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้ 1.การฉีดวัคซีนแล้วของจำนวนประชากรยังไม่ถึงเป้า 70% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ เสนอให้รัฐบาลจัดทำแผนการฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ และกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศโดยเร็ว อันจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
2. ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวนั้น ในช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย อาจจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไม่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ดังนั้น ภาครัฐควรจะสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย โดยการเพิ่มสิทธิ์ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และเพิ่มสิทธิ์ให้แก่ประชาชนที่ใช้สิทธิ์ครบแล้ว เพื่อจูงใจให้คนไทยท่องเที่ยวและใช้จ่ายในช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 มากขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการที่รัดกุมและเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวกระทำการทุจริตได้
ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุว่า 3. ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น จึงเสนอให้ภาครัฐกำหนดมาตรการควบคุมราคาพลังงาน และควบคุมราคาสินค้าต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ค่าครองชีพสูงขึ้นจนทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน 4. ประชาชนส่วนหนึ่งเสนอให้ภาครัฐทบทวนการเปิดสถานบันเทิงในเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนยังไม่ครอบคลุมจนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ อีกทั้ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอก 1 ถึงระลอก 4 ล้วนมาจากสถานบันเทิงแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะสถานบันเทิงที่ขายแอลกอฮอล์
“โดยประชาชนมีความกังวลว่า สถานบันเทิงอาจจะเป็นคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อีก และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอื่น ๆ ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องถูกสั่งปิดกิจการอีก โดยประชาชนส่วนหนึ่งกล่าวว่า หากภาครัฐยังยืนยันจะเปิดสถานบันเทิง และเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ภาครัฐจะต้องชดเชยรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด” ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าว
ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุด้วยว่า ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 31.70 และ 34.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.70 และ 33.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.80 , 38.60 และ 32.40 ตามลำดับ
“ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็นร้อยละ 27.40 รองลงมา คือ มาตรการควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจ และค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 21.30 และ17.60 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ มาตรการรองรับการเปิดประเทศ รองลงมา คือ การปรับมาตรการให้ธุรกิจดำเนินงานได้ปกติ การพักหนี้ของประชาชน และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตามลำดับ” ผศ.ดร.วิวัฒน์ ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ชวน' ชี้การเมืองปี 68 สภาแข็งโป๊กไม่มีล่ม เตือนรบ.อย่าประมาทนักร้อง ระวังซ้ำรอยเศรษฐา
'ชวน' ชี้การเมืองปี 68 เสียงรัฐบาลในสภาแข็งเป๊กไม่มีล่ม ใครโดดประชุมโดนหักเงินครั้งละ2หมื่น เตือนอย่าประมาทนักร้องเรียน ยอมรับ ‘ปชป.’ มีทั้งเป๋-ไม่เป๋ เผยไม่มีกำหนดวางมือ ปัดตอบลง สส.สมัยหน้าต่อ
"วราวุธ" ย้ำ พม. ห่วงใย เหตุน้ำท่วมใต้ กำชับเยียวยากลุ่มเปราะบาง
วันที่ 21 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวง พม. ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ส่งมอบความช่วย สู่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดปัตตานี
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ส่งมอบอาหารแห้งและขนมขบเคี้ยวกว่า 100 ลังใหญ่ ให้กับชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ประกาศฉบับสุดท้าย เตือนฝนถล่ม 8 จังหวัดใต้ เรือเล็กงดออกจากฝั่ง
เมื่อเวลา 05.00 น. ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ออกประกาศฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย ในวันที่ 16 ธันวาคม 2567 โดยมีใจความว่า
'อิ๊งค์' ร่อนข้ามน้ำท่วมใต้ ยกครม.เยือนมาเลย์
นายกฯ เกาะติดน้ำท่วมใต้ ยืนยันลงพื้นที่แต่เป็นช่วงฟื้นฟู นำรมต.เยือนมาเลเซีย 15-16 ธ.ค. กระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ
กรมอุตุฯออกประกาศ ฉ.13 ตอนบนอากาศลด 1-3 องศาฯ 12 จว.ใต้ฝนตกหนัก มีผล 16 ธ.ค.
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 13 เรื่อง อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย