ช่วงหน้ามรสุมในตอนนี้ มีฝนสลับกับแดดร้อนอบอ้าว หลายคนคงพับแผนเที่ยว นอนอยู่บ้านดีกว่า แต่หน้าไฮซีซั่นแบบนี้ แม้มีอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศบ้างก็เป็นประสบการณ์อีกมุมหนึ่ง ที่ควรไปสัมผัส เพราะจะได้รสชาติอีกแบบ ในบรรยากาศที่แตกต่างไปจากหน้าร้อนหรือหน้าหนาว ว่าแล้วก็เตรียมเก็บกระเป๋าไปเที่ยวทะเลหน้าฝนกัน วันนี้ขอนำเสนอเส้นทางเที่ยว 3 เกาะ ได้แก่ เกาะหมาก เกาะกระดาด เกาะขายหัวเราะ ที่เป็นหมู่เกาะในพื้นที่ จังหวัดตราดแห่งเดียวล้วนๆ เหล่าหมู่เกาะนี้ จะสร้างความประทับใจ ให้ต้องหาเวลาเดินทางกลับมาอีกแน่นอน
เราเดินทางมาถึง จ.ตราด ช่วงสายๆ พร้อมกับสายฝนที่ตกมาเป็นระยะๆ เหมือนการต้อนรับ หรือจะบอกว่านี่หน้าฝนนะจ๊ะ ระหว่างทางแวะจุดชมวิวแหลมงอบ ซึ่งตั้งอยู่สุดเขตดินแดนตะวันออก ในบรรยากาศหลังฝนตก ทำให้ทิวเขาเบื้องหน้าปกคลุมไปด้วยหมอกบางๆ อารมณ์เดียวเหมือนได้เที่ยวเขาช่วงหน้าหนาว มีจุดสักการะพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 5 และประภาคารสูงเด่นตระหง่าน ที่นี่ยังเคยเป็นจุดลงเรือข้ามไปเกาะช้าง แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว แถมยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยมากอีกด้วย
จวนได้เวลาต้องนั่งเรือปาหนัน สปีดโบ๊ทข้ามไปยังเกาะหมาก ที่ไกลอยู่ ใช้เวลานั่งเรือประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มาถึงจุดหมาย นับว่าโชคดีที่ท้องฟ้าเปิดสว่าง ได้เห็นน้ำทะเลสีใสๆ รับลมทะเลเย็นสบาย สูดโอโซนเข้าไปให้เต็มปอด เพราะอยู่กรุงเทพ เราต้องใส่หน้ากาก ที่นี่ ถ้าอยู่ที่โล่งคนเดียว เปิดหน้ากากได้ ที่เกาะหมาก มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ป่าไม้ และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ช่วยกันดูแลเกาะ ทำให้มีการพัฒนาและส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Low Carbon Tourism ซึ่งนักท่องเที่ยวก็จะได้ซึมซับวิถีการลดคาร์บอนร่วมกับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดใช้พลังงาน ไม่สร้างขยะ ไม่มีผับบาร์ มีร้านสะดวกซื้อของชาวบ้านเท่านั้น กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้จึงมีความน่าสนใจ
เราเลือกกิจกรรมย้อมผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติที่ Roja Studio of Art ร้านศิลปะประจำพื้นที่ โดยมีพี่โรจน์-โรจมาน ศิริรัตน์ เจ้าของร้านเป็นผู้สาธิตและสอนมัดย้อม เป็นวิทยากร บรรยายให้ความรู้การย้อมผ้าสีธรรมชาติว่า สีที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะหมาก คือ สีส้ม ซึ่งมาจากดินในเกาะ เพราะดินที่นี่มีธาตุเหล็กสูงมาก จึงให้สีแดง เมื่อนำมาทำเป็นวัตถุดิบในการย้อม ผ้าที่ออกมาจะมีสีส้ม ซึ่งหาได้ยากในธรรมชาติทั่วไป และต้องใช้เวลาในการย้อมเย็นประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อทำครบทุกขั้นตอนแล้ว ก็จะได้ผ้าสีส้มที่เข้มและสวยมาก จึงได้รับรางวัลในการประกวดประเภทผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ระดับจังหวัดด้วย
แต่ด้วยเวลาที่จำกัดคณะเราจึงได้เรียนรู้การย้อมคราม ซึ่งในภาคตะวันออกยังหาซื้อไม่ได้ ทำให้ต้องมีการนำเข้ามาจากจังหวัดอื่น จากขั้นตอนแรกเราก็ต้องเรียนรู้เรื่องเส้นใยของผ้า การมัดผ้าให้เกิดลวดลายต่างๆ ก่อนเข้าสู่กระบวนการย้อมกับคราม ซึ่งกระบวนการตรงนี้ใช้เวลาพอสมควร จากนั้นเราก็นำไปตากรอแห้ง พอเห็น ก็ต้องอมยิ้มให้กับฝีมือการมัดย้อมของเราที่สวยไม่ซ้ำใคร
บนเกาะหมากยังมีพื้นที่เกษตรสีเขียวที่ใส่ใจธรรมชาติ ชื่อว่า เกาะหมากออร์แกนิกฟาร์ม ถึงฟาร์มปุ๊บ ก็พักทานกล้วยบวชชีก่อนเลย อิ่มพร้อมลุย พี่เล้ง-วิริศรา อริยวงศ์ปรีชา เจ้าของสวน เล่าประวัติคราวๆให้ฟังว่า เจ้าของพื้นที่คือ เกาะหมาก รีสอร์ท และ ซีวานา รีสอร์ท เกาะหมาก มีความตั้งใจที่อยากให้มีการนำผักปลอดสารพิษที่ปลูกในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร พี่เล้ง จึงได้รับโอกาสในการเข้ามาดูแลและบริหารจัดการสวนผักออร์แกนิก 15 ไร่ ที่ใช้เวลาเตรียมพื้นที่กว่า 1 ปี ในการวางระบบน้ำ ระบบไฟ แบบแปลง การเตรียมดิน การควบคุมต้นทุน ชนิดผักที่ปลูกให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และอากาศ เช่น เสาวรส มันหวาน ใบสาระแหน่ หน่อกระทือ กระวาน ลูกหม่อน ใบแมงรลัก ตะไคร้ มะเขือพ่วง ถั่วฝักยาว มะเขือยาว แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว ผักสลัดต่างๆ แต่ช่วงนี้เป็นระยะของการพักสวน อาจจะไม่ได้เห็นผักเต็มแปลง ถ้าให้ดีต้องมาในช่วงเดือนกันยายน แต่ก็ยังมีกิจกรรมให้ทำ อย่างเราก็ลงมือทำปลูกผักวอเตอร์เครสง่ายๆใส่ดินพร้อมต้นกล้า นำกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้
มื้อเย็นที่ร้าน เกาะหมากซีฟู้ด ห้ามพลาดกับเมนู ซาชิมิปลาย่ำสวาท ปลาท้องถิ่นประจำจ.ตราด ปลาย่ำสวาท ชื่อฟังแล้วออกจะดูเซ็กซี่ แต่ปลาชนิดนี้มีอีกชื่อ คือ ปลากะรังจุดฟ้า หรือปลากุดสลาด มีการเลี้ยงในกระชังธรรมชาติในพื้นที่เกาะช้าง เกาะกูด และเกาะหมาก ถ้าได้ลองทานครั้งแรกก็สมกับคำล่ำลือที่ยกให้เป็นปลาเนื้อดี เนื้อจะใสอมชมพูอ่อนๆ ราคาแพง เมื่อนำมาแล่ตามวิถีชาวบ้านจะได้ความกรึบหนึบของเอ็นปลา ไม่มีกลิ่นคาว จิ้มกับซอลสโชยุผสมกับน้ำจิ้มซีฟู้ด คือ ปังไม่ไหว ส่วนหัวก็นำไปทำต้มยำซดร้อนๆ ได้เพิ่มอีก 1 เมนูเลย
จากเกาะหมากเรายังเที่ยวเชื่อมไปยังเกาะกระดาด อีกหนึ่งเกาะที่สวย เนื้อที่บนเกาะมีราวๆ 1,200 ไร่ ตัวเกาะมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ อีกทั้งยังถือเป็นเกาะเดียวในประเทศไทย ที่มีโฉนดแสดงว่ามีเจ้าของที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 มีข้อพิพาทระหว่างฝรั่งเศสที่ได้เข้ามาล่าอาณานิคมในไทย เกาะดาดจึงถูกยกให้คนในบังคับของฝรั่งเศสชาวเขมร ทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยซื้อเกาะนี้ให้พระโอรสองค์ที่ 17 ในราคาสมัยนั้นจำนวน 2,000 บาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ออกโฉนดที่ดินของเกาะขึ้น ปัจจุบันผู้เป็นเจ้าของคือตระกูล กาญจนพาสน์
ภายในเกาะยังมีเหล่าฝูงกวางที่อาศัยในเกาะมานานแล้ว แถมบางตัวยังมีความเป็นมิตรเข้าหาคน เราสามารถนั่งรถแต๊กๆ ชมเกาะแห่งนี้ที่อุดมไปด้วยต้นมะพร้าวกะทิเรียงราย ให้เหมือนอยู่ฮาวาย แวะไปถ่ายรูปกับต้นมะพร้าวที่เอนเอียงต้นมาเป็นตัวแอล
จากนั้นเรานั่งรถต่อไปที่เกาะนกใน-นกนอก เดินผ่าน 2 เกาะนี้เชื่อมไปยัง”เกาะขายหัวเราะ” เกาะเล็กๆ เล็กจริงๆนะ แต่โดดเด่นท่ามกลางท้องทะเล อีกจุดอันซีนที่เดิมแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกาะนกนอก แต่เพราะมีความเหมือนกับภาพปกในหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ เพียงแต่ต้นไม้ที่อยู่บนเกาะแห่งนี้ไม่ใช่ต้นมะพร้าว แต่เป็นต้นตะบัน จึงเป็นไอเดียในการกระตุ้นการท่องเที่ยวของ ททท.สำนักตราด เรียกเกาะแห่งนี้ว่า “เกาะขายหัวเราะ” หามุมภาพดีๆ แล้วกดรัวๆ เป็นเกาะที่จิ๋วแต่แจ๋วมากบอกเลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าเป็นกระต่ายตื่นตูม! 'อนุทิน' เผยมีประชาชนกังวล MOU 44 ยกเลิกเที่ยวเกาะกูด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ได้พบปะกับนักท่องเที่ยว ที่มาท่องเที่ยว เกาะกูด จังหวัดตราด ก่อนเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะกูด
ผู้ประกอบการเรือโดยสาร เผยนักท่องเที่ยวไทยกังวลสถานการณ์เกาะกูด
ผู้ประกอบการเรือโดยสาร เผยนักท่องเที่ยวไทยกังวลเรื่องปัญหาเกาะกูด ห่วงเสี่ยงภัยหรือไม่ ส่วนการเดินทางมาของ 2 รองนายกรัฐมนตรี หวังสร้างความเชื่อมั่นกลับมาสู่เกาะกูดอีกครั้ง ยายวัย 80 ปี ยันเกาะกูดเป็นของไทย
รถทะลักเกาะช้าง แห่เที่ยวช่วงหยุดยาว 3 วัน ท่าเรือเฟอร์รี่ใช้เรือ 5 ลำให้บริการ
ที่ท่าเรือเฟอร์รี่ บริษัท เกาะช้างเฟอร์รี่ จำกัด บ้านธรรมชาติ ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด รถยนต์กว่า 300 คัน รวมทั้งรถทัวร์ท่องเที่ยว 5-6 คันและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศกว่า 100 คน
แห่เที่ยวชมแมงกะพรุนหลากสี บ้านคลองสน จ.ตราด ช่วยเสริมรายได้ชุมชนชาวประมง
หลังจากข่าวการเกิดแมงกระพรุนหลากสีเผยแพร่ออกไปตามสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดตราดและนอกจังหวัดตราด เดินทางเข้ามาชมแมงกระพรุนสีจำนวนมากโดยผ่านการติดต่อโดยตรงกับกลุ่มชาวบ้านหมู่ 6