เที่ยวพระนคร ล้วงความลับ ชุมชนชาวจีนย่านตลาดน้อย

บ้านเลขที่1 ณ ตรอกกัปตันบุช สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกแบบพาลาเดียม

ชื่อว่าแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 240 ปี  ยังมีอีกหลายแห่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยไป หรือมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่ไม่เคยรู้มาก่อน บางเรื่องซุกซ่อนไว้ตามสถานที่ต่างๆในกรุงเทพ และแม้ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องลับ แต่การที่คนรุ่นหลังๆ รู้เรื่องเหล่านี้ น้อยลง ก็ทำให้กลายเป็นความลับขึ้นมาได้ 


และ”ความลับ”นี้ เคทีซี บัตรเครดิตเลื่องชื่อ จะนำมาเปิดเผยในทริปท่องเที่ยว ที่ตั้งชื่อหัวข้อว่า “The Secret of พระนคร” ตอน หลากหลายเรื่องลับ ฉบับไชน่าทาวน์  งานนี้มีวิทยากรมาบรรยายเรื่องราวต่างๆ คือ อ.นัท-ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ ที่จะพาพวกเราลัดเลาะล้วงความลับสัมผัสความเป็นจีนในย่านตลาดน้อย

จุดหมายแรก มุ่งหน้าสู่ย่านตลาดน้อยไปยังวัดอุภัยราชบำรุง หรือวัดญวนตลาดน้อย ชื่อภาษาเวียดนามเดิมว่า “คั้น เยิง ตื่อ “เป็นหนึ่งในวัดญวนแรกๆในสยาม ศาสนาพุทธนิกายอันนัม สวดด้วยภาษาเวียดนาม ในกรุงเทพฯ มีเพียง 7 วัดเท่านั้น วัดแรกเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3  สร้างโดยชาวเวียดนาม ต่อมาในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงได้ยกสถานะให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปฏิสังขรณ์ และได้พระราชทานสมณศักดิ์องฮึง เจ้าอาวาสวัด เป็นที่พระครูคณานัมสมณาจารย์ เป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอนัมนิกายในประเทศไทยด้วย

วัดอุภัยราชบำรุง วัดญวนในย่าตลาดน้อย

ด้านหนังที่ตั้งพระอุโบสถ สถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้ มีการผสมผสานระหว่างจีนและเวียดนาม ที่เด่นชัดคือ ชายหลังคาเชิดแบบจีน เนื่องจากคนจีนมาบริจาคเงินในการบูรณะวัด ส่วนสิ่งที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของเวียดนามคือ ด้านในมีพระประธานองค์ใหญ่เด่นตระหง่านในอุโบสถเพียงองค์เดียว  และการสร้างพระจะสร้าง ยอดพระเศียรเป็นดอกบัว พระพักตร์ใหญ่กลม  พระเนตรเล็ก พระนาสิกกว้าง พระศอเป็นปล่อง ดูคล้ายกับใบหน้าของคนเวียดนาม  จีวรมีลวดลาย ไม่มีพระถัน เพื่อให้ดูสำรวม ส่วนที่แตกต่างจากฝ่ายเถรวาท คือพระอัครสาวก 2 องค์ พระอานนท์จะใบหน้าปกติ แต่ พระมหากัสสปะจะมีใบหน้าชรา เพราะชอบธุดง ต่อไปเข้าวัดเราต้องหัดสังเกตบ่อยๆแล้ว

ส่วนด้านหลังพระอุโบสถคือ วิหารด้านบนได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์มีประวัติวัดและพระครูคณานัมสมณาจารย์ (องฮึง) โซนตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานสังขารไม่เน่าเปลื่อยของพระครูคณานัมสมณาจารย์ (โผซ้าย) เจ้าอาวาสองค์ที่ 4 ของวัดนี้ เรายังได้ชมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอย่างใกล้ชิด

ไม่ไกลมากนักเราสามารถเดินต่อไปที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดสำเพ็ง ซึ่งสร้างตั้งแต่ในสมัยราชอาณาจักรอยุธยา มีหลักฐานที่บ่งบอกคือ พระพุทธรูปศิลปะอยูธยาที่อยู่ในพระอุโบสถหลังเดิม โดยคติการสร้างพระแบบอยุธยา คือ ใช้ลักษณะฐานเดียวกัน ไล่ลำดับลงมา พระพุทธรูปมีความเป็นพิมพ์นิยม หน้าผากจะมีเส้นลายพระศกหรือลูกผมสั้นๆ โลกุตระปลายเป็นเปลวเพลิง เส้นพระเกศาเป็นหนังขนุนเล็กๆ พระเนตรเปลือกตาจะลึกเหลือบต่ำ ยิ้มน้อย ชายจีวรอยู่ใต้ราวนม  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

พระครูคณานัมสมณาจารย์ (โผซ้าย) สังขารไม่เน่าเปื่อย

พระอุโบสถอีกด้านประดิษฐาน พระพุทธมหาชนก ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ที่พระราชทานนามโดยรัชกาลที่ 9 มีเพียง 3 วัดเท่านั้น คือ วัดตลิ่งชัน วัดนางรองวรวิหาร และวัดนี้ ความลับที่ซ้อนอยู่อีกอย่างคือระเบียงพระอุโบสถเป็นที่เก็บอัฐของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ และไม่อยากเชื่อว่าเราจะได้มาเห็นหินที่มีขนาดใหญ่เท่ากับคนในอดีต ซึ่งใช้เป็นแท่นประหารสำเร็จโทษเจ้านายโดยองค์สุดท้ายคือ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ตอนนี้แผ่นหินเต็มไปด้วยแผ่นปิดทองจากการกราบไหว้ของผู้คน

พระประธานในพระอุโบสถวัดอุภัยราชบำรุง มีลักษณะแบบพระเวียดนาม

เดินต่อไปชิวๆ กับแดดที่แสนจะร้อนอบอ้าวของเดือนเมษาฯ  สู่ย่านชุมชนคนจีน ส่วนใหญ่คือชาวจีนฮกเกี้ยนในตลาดน้อย ระแวกนี้บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ คาดว่าน่าจะเคยเป็นโกดังสินค้า หรือร้านขายของโดยเฉพาะอะไหล่รถยนต์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เชียงกง” บ้างก็ปรับปรุงตามยุคสมัยแล้ว 

ฮงเชียงกงคาเฟ่ สีน้ำเงินโดดเด่นอยู่ในซอย


เดินในย่านนี้ ข้อที่ควรระวังคือ ต้องหลบรถที่วิ่งไปมาดีๆ เนื่องจาก ซอยค่อนข้างแคบ เมื่อมาถึงจุดหมาย  ที่ร้าน ฮงเชียงกงคาเฟ่ สีน้ำเงินเด่นสุดในซอย อาคารแห่งนี้มีอายุกว่า 100 ปี “คุณปุ่น-เกศรินทร์ แซ่แบ้ “เจ้าของร้านได้เล่าความเป็นมาของอาคารแห่งนี้ว่า เจ้าของเดิมคือ ตระกูลธรรมจรีย์ จากนั้นก็ผลัดกันเป็นเจ้าของต่อมาอีก 2  รุ่น จนมาถึงครอบครัวตนที่ได้เข้ามาซื้อเป็นเจ้าของ   หลังเข้าครอบครองได้มีการรีโนเวทใหม่ แต่ยังคงโครงสร้างดั้งเดิม มีส่วนที่เป็นคาเฟ่ ด้านบนเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเฟอร์นิเจอร์ไม้ แต่ส่วนที่มีเสน่ห์คือ Hong House  เป็นตึกที่เก่าที่สุดอายุประมาณ 150-200 ปี ที่มีการจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ไม้แก่โบราณ อาทิ คำอวยพรมงคล  แผ่นประตูไม้สูงถึง 3 เมตรที่บ่งบอกได้ว่ามีสถานะสูง ชุดโต๊ะช่างจีนในเวียดที่มีนำศิลปะฝรั่งมาประยุกต์ ซึ่งแต่ละชิ้นมีมูลค่าทางศิลปะที่งดงามอย่างมาก

โบราณวัตถุที่จัดแสดงตรงกลางชุดโต๊ะเฟอร์นิเจอร์ไม้แก่ ด้านซ้ายคือแผ่นไม่ประตูบ้านสูงกว่า 3 เมตร
Hong House อายุกว่า 150 ปี

ถัดจากคาเฟ่ไปห้าสิบเมตร เพื่อเสริมมงคลให้ชีวิตเราได้เข้าไปสักการะ”ศาลเจ้าโจวซือกง” ซึ่งเป็นศาลเจ้าของชาวฮกเกี้ยน โดยมีเทพประธานคือ  พระหมอ หรือ หลวงปู่เซ็งจุ้ยโจวซือกง ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ พระหมอเมีลักษณะเด่น ตรงที่ใบหน้าและร่างกายมีสีดำ  และอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของฮกเกี้ยนที่สังเกตง่ายๆคือ สิงโตด้านหน้าทางเข้าจะมีการการแกะสลักด้วยศิลปะชั้นสูง  เพราะมีความพริ้วไหว รูปร่างบอบบาง อ่อนช้อย แสดงถึงความกำยำ คนมักนิยมมาขอ สุขภาพ อยู่เย็นเป็นสุข โชคลาภ หลายคนอาจจะไม่รู้ที่นี้มีการทำป๋ออุ่ง ตามคติจีน คือการให้พระหมอคุ้มครองดวง ไม่เกี่ยวกับปีชง ซึ่งจะเผาทุก 1 ปีหลังจากเทศกาลกินเจ

ศาลเจ้าโจวซือกง ด้านมีมังกรลักษณะการแกะสลักอ่อนช้อย แต่กำยำ สัญลักษณ์ของจีนฮกเกี้ยน
พระหมอ เทพประธานในศาลเจ้า

ไปกันต่อที่ร้านเก่าแก่ตั้งแต่รัชกาลที่5 “ร้านเฮงเส็ง” ปัจจุบันเป็นร้านรับทำหมอน เบาะไหว้เจ้า แห่งตลาดน้อย ชื่อร้านนี้ใครต้องรู้จัก เพราะในประเทศไทย อาจจะมีเหลือเพียงเจ้าเดียว ที่ยังคงทำธุรกิจเป็นแบบครอบครัว และสินค้าทุกชิ้นล้วนทำด้วยมือของทายาทอากง “คุณเจี๊ยบ-วิมล เหลืองอรุณ “ทายาทรุ่นที่ 3 บอกว่า นับเป็นความภูมิใจที่ได้สืบทอดฝีมือการทำเบาะ หมอนมาจากบรรพชน ซึ่งปัจจุบันอาอี๋ ที่แม้ว่าจะอายุ 87 ปี แล้วก็ยังเย็บเบาะได้   ซึ่งก็มีคนในครอบครัวมาช่วยกันทำ จากเดิมรุ่นอากงที่ทำมุ้ง  เบาะกลมและสี่เหลี่ยมเพื่อวางเกาอี้หวายซึ่งในอดีตบูมมาก เพราะมีความแข็งแรง ไม่บุบง่าย สวยงาม แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็ต้องมีการออกแบบเพิ่มเติม เน้นดอกโบตั๋น ซึ่งเป็นดอกไม้มงคลของคนจีน  มีทั้งการปักและพิมพ์ลาย ปัจจุบันก็วางขายในเฟซบุ๊ค ไอคอนสยาม และสยามดิสคัฟเวอรี่

พี่เจี๊ยบ เจ้าของร้านเฮงเส็ง ร้่านรับทำเบาะรองนั่งทำมือ ลายดอกโบตั๋นที่หลงเหลือแห่งเดียวในประเทศไทย

ปิดทริปเดินข้ามมายังฝั่งเจริญกรุง กับเรื่องราวของบ้านเลขที่ 1 ที่ไม่ใช่ของกรุงเทพฯ เป็นบ้านในตรอกกัปตันบุช หรือปัจจุบันคือ ซอยเจริญกรุง 30 แต่ก็ไม่ใช่บ้านของกัปตันบุช ซึ่งได้ตั้งตามชื่อกัปตัน จอห์น บุช อธิบดีกรมเจ้าท่าคนแรก ซึ่งบ้านเลขที่ 1 เดิมเป็นที่ดินของรัชกาลที่ 5 แบ่งเป็น 2 แปลง คือพระราชทานให้พระอัครชายาเธอในพระองค์ และให้พระคลังข้างที่จัดให้เช่า เมื่อเป็นที่ดินของพระคลังข้างที่ จึงมีการให้เกียรติ ให้เป็นอาคารหมายเลขที่ 1 ซึ่งผู้เช่ารายแรก คือ โรงกลั่นสุราฝรั่งเศส


บ้านเลขที่1 เป็นอาคาร 2 ชั้น มีสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกแบบพาลาเดียม คือ ชั้นที่1 และชั้นที่2  มีหลังคาทรงปั้นหยาจั่วกลางด้านหน้า ตกแต่งอาคารด้วยช่อดอกไม้แบบยุโรป แต่มีการปล่อยร้าง ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตร์ได้มีการฟื้นฟู บูรณะยึดสีเดิมของอาคารคือ สีเหลือง หน้าต่างขอบเขียวช่อมะกอก เปิดทำการเป็นสถานที่รับจัดงานเลี้ยงต่างๆ เแม้ว่าครั้งนี้จะได้ชมความงดงามอยู่ด้านนอก แต่หากมีโอกาสเราจะพลาด

บรรยากาศเดินในตรอกย่านตลาดน้อย อากาศร้อนแต่ความรู้อัดแน่น

เพิ่มเพื่อน