รู้จักเรื่องการชาร์ตไฟ ก่อนซื้อรถยนต์อีวี


เพิ่มเพื่อน    

เทรนด์ของการใช้งานรถพลังงานไฟฟ้า หรือ รถอีวีในประเทศไทยเริ่มกระจายขึ้นเรื่อย ๆ จากความมุ่งมั่นของภาครัฐที่เห็นถึงกระแสของเทคโนโลยีว่าจำเป็นต้องมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นจนทำให้เกิดการตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี) ขึ้นมาเพื่อกำหนดทิศทางการผลักดันนโยบายสนับสนุนรถอีวีในประเทศไทย โดยจากการประชุมครั้งล่าสุด ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 

ก็ทำให้แนวทางการพัฒนานโยบายดังกล่าวชัดเจนมากขึ้น โดยที่ประชุมได้มีการกำหนดเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน  

ทั้งนี้ที่ประชุมยังวางนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการระยะเร่งด่วนและมาตรการระยะ 1- 5 ปี ไว้อีกด้วยดังนี้ 1.มาตรการกระตุ้นการใช้รถอีวีระยะเร่งด่วน โดยจะมุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทสองล้อ สามล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า โดยวางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นและ 2.มาตรการกระตุ้นระยะ 1-5 ปี ดำเนินการส่งเสริมการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การเตรียมการด้านการบริหารจัดการซากรถยนต์แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้วย 

 

อัตราค่าไฟสำหรับการชาร์จรถอีวี 


การวางเป้าหมายตามนโยบายของบอร์ดอีวีนั้นส่งผลให้แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวของกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝั่งเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจเองเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ กลุ่มผู้ให้บริการ ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ภายในรถ อุปกรณ์ชาร์จไฟ หรือแม้แต่ผู้ให้บริการด้านไฟฟ้าเองด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศกำกับอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า(ปั๊มชาร์จอีวี) ระหว่างปี 63-64 ไว้แล้ว  

โดยกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับปั๊มชาร์จ (ขายส่ง) อยู่ที่ 2.63 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นชั่วคราว ที่ทดลองใช้ 2 ปี และอัตราดังกล่าวถือว่าเป็นราคาที่ถูกลงจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ 3 บาทกว่าต่อหน่วยอีกด้วย เนื่องจากหักค่าพลังงานไฟฟ้า(ดีมานด์ ชาร์จ) หรือ ค่าลงทุนโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ออกจากสูตรค่าไฟฟ้าฐานที่คิดสำหรับอีวีแล้ว เพื่อต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (ชาร์จจิ้ง สเตชั่น) ประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (ควิก ชาร์จ) กระจายในต่างจังหวัดมากขึ้น และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น         

ด้วยอัตราดังกล่าวในช่วงสิ้นปี 63 ถึงช่วงต้นปี 64 นั้นจึงเริ่มเห็นความสนใจของเอกชนหรือหน่วยงานที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจชาร์จจิ้ง สเตชั่น เริ่มขยับกันมากขึ้นโดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นความร่วมมือกันของหลาย ๆ หน่วยงานทั้งเอกชนกับเอกชนเอง หรือรัฐวิสาหกิจกับเอกชนเพื่อพัฒนาปั๊มชาร์จอีวีขึ้นมาในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นปั๊มชาร์จฯในเส้นทางต่างจังหวัดมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้รถอีวีในประเทศตามเป้าหมายของบอร์ดอีวีที่กำหนดไว้ 

 

วอลล์บ๊อกซ์ หนึ่งในตัวเลือกผู้บริโภค 

ปัจจัยการซื้อรถอีวีตอนนี้นอกจากเรื่องราคาที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องนำมาทบทวนเป็นเรื่องแรกแล้วนั้น ในประเทศไทยช่วงที่เหมือนเพิ่งเริ่มจะเดินหน้ารถไฟฟ้า การชาร์จไฟรถก็สำคัญ ตอนนี้ทุกคนคงรู้แล้วเกี่ยวกับอัตราค่าไฟที่จะต้องจ่ายเมื่อนำไปชาร์จไฟตามปั๊มชาร์จต่าง ๆ ซึ่งในตอนนี้หลายที่ยังเปิดให้บริการฟรีอยู่เพื่อเป็นการทดลองระบบและสร้างการรับรู้ แต่ก็ใช่ว่าจะมีอย่างทั่วถึงให้กับในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศ และการจะรอให้เกิดการตั้งปั๊มชาร์จให้เพียงพอในเส้นทางการเดินรถนั้น อาจจะต้องรออีกหลายปี 

รถอีวีในปัจจุบันจึงเป็นเพียงทางเลือกให้กับคนที่ใช้รถภายในพื้นที่ที่มีปั๊มชาร์จไว้รองรับเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ตามหัวเมืองหลัก และในกรุงเทพฯ แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมากแล้ว ตัวเลือกใหม่ของผู้ต้องการใช้รถอีวีก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในนั้นคือวอลล์บ๊อกซ์(Wallbox) หรืออุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน หรือตามอาคารที่สามารถติดตั้งเพื่อให้รถอีวีชาร์จไฟภายในบ้านได้ 

โดยเป็นเครื่องมือใหม่ที่เข้ามาตอบโจทย์การใช้งานและความสะดวกของผู้ใช้รถยนต์อีวี รวมถึงกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในประเทศไทยมีหลายผู้ประกอบการที่นำเครื่องดังกล่าวเข้ามาให้บริการ โดยการทำงานหลัก ๆ คือการติดตั้งเครื่องดังกล่าวเป็นเสมือนตัวแปลงไฟฟ้าภายในบ้านให้สามารถนำมาชาร์จกับรถไฟฟ้าได้ ซึ่งลดโอกาสเกิดเหตุขัดข้องต่าง ๆ ทั้งไฟไหม้ หรือไฟฟ้าขัดข้อง ดีกว่าการชาร์จจากไฟบ้านโดยตรง 

โดยผู้ใช้ไฟในประเทศไทยเองหากต้องการที่จะติดตั้งเครื่องดังกล่าวเพื่อให้สามารถใช้ไฟบ้านชาร์จรถยนต์ได้นั้นจำเป็นจะต้องสำรวจความพร้อมของบ้านตัวเองก่อน อันดับแรกคือความต้องการใช้ไฟที่จะนำมาชาร์จกับรถ โดยแบ่งเป็นรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้า 100% แต่เป็นการสลับใช้กับเชื้อเพลิงน้ำมัน ซึ่งรถแบบดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องใช้ไฟที่มีกำลังสูงมาก ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่ในประเทศสามารถติดตั้งเครื่องนี้เพื่อใช้กับรถดังกล่าวได้เลย แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขขนาดมิเตอร์ที่ 15/45 แอมป์ แบบ 1 เฟส หมายถึงมิเตอร์ขนาด 15 แอมป์ และสามารถใช้ไฟได้มากถึง 45 แอมป์ หรือ 30/100 แอมป์ และไม่จำเป็นจำต้องเปลี่ยนระบบไฟเป็น 3 เฟส  

ขณะที่ผู้ที่ต้องการติดตั้งวอลล์บ๊อกซ์เพื่อนำมาชาร์จไฟกับรถอีวี 100% นั้น แต่มีขนาดมิตเตอร์แบบ 1 เฟสนั้นก็ยังสามารถติดตั้งและใช้ได้อยู่ แต่กำลังไฟฟ้าที่จ่ายไปยังรถยนต์จะน้อยกว่า และใช้เวลาชาร์จไฟมากกว่า จึงอาจจะต้องจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบมาเป็นแบบ 3 เฟส เพื่อให้ชาร์จไฟได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสายเมนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ใหญ่ขึ้นทั้งในทั้ง 2 ระบบ คือขั้นต่ำต้องเบอร์ใหญ่ 65 มิลลิเมตร(มม.) และขนาดลูกเซอร์กิต (MCB) ต้องสอดคล้องกัน 

โดยการติดตั้งวอลล์บ๊อกซ์นั้น จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ใช้ที่ต้องการใช้รถอีวีในพื้นที่ที่ปั๊มชาร์จมีจำนวนน้อย เนื่องจากจะใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทดแทนได้ แต่อัตราค่าไฟต่อหน่วยก็จะจ่ายเท่ากับที่เรียกเก็บในแต่ละงวดเดือน ซึ่งแพงกว่าราคาที่ไปชาร์จในปั๊มชาร์จแน่นอน แต่ก็ยังถือว่าน่าสนใจเนื่องจากต้องยอมรับว่าประเทศไทยนั้นเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศที่เดินหน้าเรื่องรถอีวีแล้ว ไทยมีอัตราค่าไฟต่อหน่วยที่ค่อนข้างถูกที่สุด จึงน่าจะคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เมื่อเทียบกับการใช้รถสันดาปที่หลายคนมองว่าเป็นปัจจัยทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย 

ซื้อรถอีวีแถมสายชาร์จ ใช้ไฟบ้านได้จริงหรือไม่  

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าไปในทิศทางที่ประเทศไทยจะมีสังคมการใช้รถอีวีมากขึ้น และแน่นอนว่าหลายคนหันมาสนใจที่จะเปลี่ยนรถใหม่หรือซื้อรถเพิ่มโดยเล็งเป็นรถไฟฟ้า เอกชนผู้ผลิตรถยนต์ก็จำเป็นจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคมากขึ้น โดยปัจจุบันตอนนี้มีหลายค่ายรถเริ่มทำตลาดและโปรโมชั่นในการสนับสนุนการขายมาอยู่ตลอดเวลา หนึ่งในนั้นนอกเหนือจากการลด แลก แจกของต่าง ๆ แล้ว การซื้อรถแถมสายชาร์จไฟฟ้า ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เกือบทุกค่ายนั้นหยิบยกมาใช้กัน 

 ซึ่งหลายค่ายเคลมว่าสามารถชาร์จกับไฟบ้านได้โดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องจริง โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบใด ๆ  แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ารถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือที่ความต้องการใช้ไฟเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ทั้งนี้การคิดที่จะใช้ไฟบ้านชาร์จรถอีวีตลอดเวลานั้นจะมีแต่สร้างผลกระทบได้ ทั้งนี้ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ขายรถอีวีพร้อมแถมสายชาร์จมาจึงมาการกำชับว่าสายชาร์จดังกล่าวเหมาะสำหรับการชาร์จเพียงชั่วคราวสั้นๆ ในยามฉุกเฉินเท่านั้น อาทิ กรณีที่ ที่แบทรถอีวีหมดกลางทาง แล้วต้องการชาร์จไฟให้เพียงพอที่จะขับกลับบ้าน หรือไปชาร์จไฟเพิ่มที่ปั๊มชาร์จเท่านั้น ไม่ได้ออกแบบสำหรับเสียบชาร์จกับปลั๊กไฟบ้านทิ้งไว้ทั้งคืนเป็นประจำ เนื่องจากอาจเกิดความร้อนสะสมที่เต้าเสียบไฟบ้าน การชาร์จไฟ และยังเอื้อต่อการเกิดเหตุต่าง ๆ อย่างเช่น ไฟไหม้ หรือการเสื่อมของแบตเตอรี่รถเนื่องจากสายไฟบ้านทั่วไปในไทยทนต่อกระแสไฟได้ไม่เพียงพอที่รถอีวีจะดึงไปใช้ซึ่งเกินจากสายไฟบ้านรับได้ 

เห็นได้ว่าถึงเทคโนโลยีหรือเทรนด์การใช้รถอีวีจะเริ่มเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในประเทศไทยแล้ว พร้อมกับยังมีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานชัดเจนอยู่ แต่สำหรับผู้ใช้งานเองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน หนึ่งในนั้นคือความพร้อมปั๊มชาร์จไฟ ทั้งนี้ผู้ใช้จึงจำเป็นต้องศึกษาการเส้นทางการเดินรถให้ดี วางแผนการระยะทางและการชาร์จโดยคำนวนจากรุ่นรถยนต์ที่ใช้อยู่ว่าสามารถวิ่งได้ในระยะทางกี่กิโล และจำเป็นต้องชาร์จไฟในจุดไหน เพื่อที่จะไม่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้น 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"