ส.ว.แจงวุ่นพบ‘ผู้ป่วย’! แค่เด็กเสิร์ฟกาแฟกมธ.


เพิ่มเพื่อน    

 

"เลขาฯ วุฒิสภา" แจงพนักงานเสิร์ฟกาแฟห้อง กมธ. ติดโควิด-19 จากการขับ Grab หารายได้เสริมหลังหยุดสงกรานต์ยาว ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกฯ กำชับดูแลในช่วงเทศกาลถือศีลอดในเดือนรอมฎอน โคราช-เชียงใหม่ยังไม่จบ

    เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา  กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่วุฒิสภาติดโควิด-19 ว่าไม่มีข้าราชการคนใดของวุฒิสภาติดโควิด แต่ในช่วงวันหยุดยาวมีพนักงานเสิร์ฟกาแฟในห้องกรรมาธิการ ซึ่งไปหารายได้พิเศษด้วยการขับแกร็บ เกิดอาการป่วยหนาวสั่น จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลมิชชั่น พบว่าติดเชื้อโควิด และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งพนักงานคนนี้นับตั้งแต่วันหยุดยังไม่ได้เข้าสภา คาดว่าน่าจะติดเชื้อจากการไปทำอาชีพเสริม ส่วนเพื่อนร่วมห้องที่เป็นพนักงานเสิร์ฟกาแฟในห้องกรรมาธิการเช่นเดียวกัน กลับต่างจังหวัดในช่วงหยุดยาว และมีโอกาสได้เจอพนักงานที่ติดโควิดในวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้ก็ไปตรวจหาเชื้อแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่าติดโควิดหรือไม่
    "สำนักงานวุฒิสภามีมาตรการในการดูแล ควบคุมโรค และฆ่าเชื้อทุกวัน ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จึงมั่นใจว่าห้องประชุมสำหรับการประชุมในวันพรุ่งนี้ไม่มีปัญหา ส่วนห้องกรรมาธิการ ที่พนักงานคนดังกล่าวเคยทำงานอยู่ ก็มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อด้วยเช่นเดียวกัน" นายนัฑกล่าว
     น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามการบริหารจัดการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 นับจากวันที่ 1-17 เม.ย. จำนวน 539 ราย พบในจังหวัดสงขลา 179 ราย (ส่วนใหญ่ติดจากสถานบันเทิง), นราธิวาส 348 ราย (ส่วนใหญ่ติดจากเรือนจํา), ปัตตานี 6 ราย,  ยะลา 5 ราย และสตูล 1 ราย ในขณะที่ประเทศมาเลเซียที่มีชายแดนติดกัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มประมาณวันละ 1,500-2,000 ราย ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้อำนวยความสะดวกคนไทยที่จะเดินทางกลับมาจากมาเลเซีย พร้อมปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขในการคัดกรองโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
    สำหรับการดำเนินการเพื่อรองรับการแพร่ระบาด ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานว่า ศอ.บต.ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 12 คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคราชการและองค์กรทางศาสนา โดยแบ่งเป็น 1.การจัดหาเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งเตียงในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel มีจํานวน รวม 1,933 เตียง (ณ 11 เมษายน)
    แยกเป็น จังหวัดนราธิวาส 1,245 เตียง, สงขลา 171 เตียง,  ปัตตานี 218 เตียง, ยะลา 179 เตียง และสตูล 120 เตียง 2.การซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาตามประกาศของสํานักงานจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด เพื่อผู้เกี่ยวข้องจะได้สื่อสารให้ประชาชนได้ทราบและถือปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในช่วงเทศการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และ 3.การดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนด ในระยะแรก แต่ละจังหวัดได้รับ 10,000 โดส รวม 50,000 โดส
    ส่วนการบริหารจัดการด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย ที่ประกอบด้วย ทางบก 7 ด่าน ทางน้ำ 2 ด่าน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน จึงอนุญาตให้คนไทยเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียเข้าทางด่านถาวรทางบกเพียง 4 ด่าน (สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส, ด่านเบตง จังหวัดยะลา, ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา และด่านวังประจัน จังหวัดสตูล) สัปดาห์ละ 3 วัน (วันจันทร์ พุธ และศุกร์) ด่านละไม่เกิน 125 คนต่อวัน ทั้งนี้ การจำกัดการเดินทางเข้าประเทศดังกล่าว ไม่กระทบการค้าชายแดน เพราะยังคงมีการนําเข้าและส่งออกสินค้าเป็นปกติ โดยเฉพาะสินค้าที่จําเป็นในการอุปโภคและบริโภค และดําเนินการตามมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด
    "นายกรัฐมนตรียังได้ส่งความปรารถนาดีไปยังพี่น้องชาวไทยมุสลิมภาคใต้ ที่ปฏิบัติศาสนกิจสำคัญในเดือนรอมฎอน และขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในทุกๆ ด้าน เพื่อความปลอดภัยสุขภาพของพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกคน" น.ส.รัชดากล่าว
โคราชเจออีก 28 ราย
    สำหรับสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดต่างๆนั้น    ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รองประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.นครราชสีมา โดยแจ้งว่าพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเพิ่มอีกจำนวน 28 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนทางระบาดเพิ่มเติมโรค รวมมีผู้ป่วยระลอกใหม่สะสมเพิ่มขึ้นไปอีกจำนวน 246 ราย จำนวน 20 อำเภอ และยังรักษาอยู่ 246 ราย
      "ผู้ป่วยรายใหม่ 28 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยรายก่อนหน้าที่ติดเชื้อมาจากคลัสเตอร์ปาร์ตี้วันเกิดในพูลวิลล่าในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และผู้ป่วยรายใหม่บางส่วนก็ติดเชื้อมาจากตามแหล่งสถานบันเทิงในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา"
        สำหรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดได้กระจายวงกว้างออกไปในพื้นที่ 20 อำเภอ แยกเป็นดังนี้ อำเภอเมืองนครราชสีมา115 ราย, อำเภอปากช่อง 85 ราย, อำเภอชุมพวง 6 ราย, อำเภอสูงเนิน 6 ราย, อำเภอด่านขุนทด 4 ราย, อำเภอสีคิ้ว 4 ราย, อำเภอพิมาย 3 ราย, อ.โนนไทย 3 ราย, อ.ครบุรี 3 ราย, อ.เสิงสาง 3 ราย, อำเภอโนนสูง 2 ราย, อำเภอโชคชัย 2 ราย, อ.บัวใหญ่ 2 ราย, อำเภอปักธงชัย 2 ราย อ.เฉลิมพระเกียรติ 1 ราย, อำเภอห้วยแถลง 1 ราย, อ.โนนแดง 1 ราย, อ.บ้านเหลื่อม 1 ราย, อ.หนองบุญมาก 1 ราย และ อ.เทพารักษ์ 1 ราย
    ด้าน นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 64 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน  21 ราย, อำเภอบางพลี จำนวน 5 ราย,  อำเภอบางบ่อ จำนวน 6 ราย, อำเภอพระประแดง จำนวน 5 ราย และอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จำนวน 5 ราย รับมารักษาต่อในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 22 ราย  
    ทำให้จังหวัดสมุทรปราการมีผู้ติดเชื้อทุกอำเภอแล้วยอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจนถึงปัจจุบันจำนวน 1,021 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่ 547 ราย ผู้ป่วยที่รับมารักษาต่อจำนวน 474 ราย รักษาหายแล้วจำนวน 419 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 602 ราย อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 284 ราย โรงพยาบาลเอกชนจำนวน 318 ราย ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการได้มีการตรวจคัดกรองทางแล็บ จำนวน 63,920 ราย พบผู้ติดเชื้อจำนวน 547 ราย รอผลอีก 338 ราย               
เชียงใหม่เพิ่มอีก 196 คน
    จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนแต่ละแห่งได้มีการขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น บางโรงพยาบาลเตียงเต็มหมดแล้ว และได้มีประกาศงดญาติเยี่ยมผู้ป่วยทุกแห่ง เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
         นพ.ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า พบผู้ป่วยใหม่ 4 ราย ปัจจุบันรวม 16 ราย ทุกรายได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและปลอดภัยในโรงพยาบาลอำนาจเจริญและโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน ไม่มีผู้ที่มีอาการรุนแรงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทุกรายเป็นผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนามาจากพื้นที่เสี่ยงทั้งสิ้น จังหวัดอำนาจเจริญยังไม่มีการติดเชื้อภายในจังหวัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขอให้ทุกท่านที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเข้ามาในจังหวัดอำนาจเจริญ ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง ได้แยกกักตัว (Home Quarantine) อย่างถูกต้อง ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และโปรดให้กำลังใจ เห็นใจ อย่ากล่าวโทษ ประณามผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้วพวกเราชาวอำนาจเจริญจะฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
        ขณะที่ศูนย์?บัญชาการ?สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์?ประจำวันว่า ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง วันนี้พบเพิ่มอีก 196 ราย ตามการตรวจเชิงรุกและกลุ่มเสี่ยง ทำให้ระลอกนี้ตั้งแต่ 5 เมษายนเป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อสะสมถึง 2,233 ราย ทุกรายยังอยู่ในการรักษาพยาบาล อาการปกติ
    กลุ่มผู้ติดเชื้อเป็นผลจากการตรวจทุกช่องทางกับกลุ่มเสี่ยงกว่า 3 หมื่นราย และยังต้องแจ้งให้ผู้อยู่ในข่ายความเสี่ยงตามสถานที่ที่เป็นไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อแต่ละรายให้รับการตรวจ ซึ่งเหลือไม่มากยกเว้นไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อรายใหม่
    พร้อมกันนี้ ให้ทุกอำเภอแจ้งข่าวสารทำความเข้าใจประชาชนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการและประกาศของจังหวัด ที่ล่าสุดออกเพิ่มอีก 3 คำสั่งตามแนวทางของ ศบค.ในฐานะเป็น 1 ใน 18 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสีแดง เช่น ให้ขยายการปิดสถานบริการถึง 30 เมษายน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าเปิดถึง 21.00 น. สถานศึกษาให้งดการเรียนการสอน งดจัดกิจกรรมเกิน 50 คน เป็นต้น โดยในพื้นที่ยังคงมีอำเภอพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดเกิน 50 คน 5 อำเภอเดิมคือ อำเภอเมืองฯ หางดง สารภี สันกำแพง และสันทราย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"