เมื่อพูดถึงราคาค่ารถไฟฟ้าในบ้านเรายังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันร้อนแรง ยกตัวอย่างเช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศอัตราค่าโดยสารสูงสุด 104 บาท และมีแผนที่จะจัดเก็บในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ แต่ต้องชะลอออกไปหลังจากมีเสียงคัดค้านจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าประเทศไทยเท่านั้น แต่ในภายภาคหน้าหากรัฐบาลไม่หาหนทางแก้ไข อนาคตอันใกล้นี้มีรถไฟฟ้ากำลังทยอยแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ก็จะหนีไม่พ้นต้องเผชิญกับปัญหาค่ารถไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
ขณะที่ นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้แสดงความคิดเห็นกรณีการให้สัมปทานรถไฟฟ้าในปัจจุบันว่า โดยส่วนตัวมองว่าสัมปทานรถไฟฟ้าถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตามในการกำหนดเงื่อนไขสัญญาสัมปทานต้องมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เรื่องสัมปทานถือเป็นปกติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการให้สัมปทานในส่วนของโทรศัพท์มือถือ โทรคมนาคม เป็นต้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของรัฐ แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าของเราคือรูปแบบการให้สัมปทานเดิม
และปัญหาที่พบคือ การกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นรายเส้นทางตามสัญญาสัมปทานแยกกัน จึงทำให้ราคาในแต่ละสายสีต่างๆ แตกต่างกัน เมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบ ทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้กับรถไฟฟ้าอีก ดังนั้นควรยกเว้นค่าแรกเข้าทุกโครงการ และคิดคำนวณค่าโดยสารสูงสุดของระบบรถไฟฟ้าทั้งระบบ โดยแยกการกำหนดอัตราค่าโดยสารออกจากสัญญาสัมปทานเดิม ระหว่าง BTS หรือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่ได้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ BEM หรือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ผู้กุมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
แนะถกสัญญาสัมปทานใหม่
นายสุเมธ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ภาครัฐ กำลังจัดทำ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง เพื่อกำกับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า เหมือนที่รถเมล์หรือรถทัวร์ถูกกำกับค่าโดยสารตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก แต่ปัญหาคือมีหลายเส้นทางที่ทำสัญญาสัมปทานไปแล้ว กฎหมายยังไม่ออกมา ดังนั้นในอนาคตก็ต้องใช้เวลาเจรจาและปรับเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งด้านการเชื่อมต่อและการบริหารจัดการ เมื่อเปรียบเทียบกับระบบรถไฟฟ้าในต่างประเทศที่มีหลายเส้นทาง แต่ในด้านการเชื่อมต่อและอัตราค่าโดยสารสามารถเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ไม่ใช่แยกเป็นเส้นๆ
"ปัจจุบันเรามีข้อจำกัดในเรื่องสัญญาสัมปทานเดิม แต่สัญญาใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ควรต้องออกแบบสัญญาให้มีการเชื่อมต่อทั้งในเรื่องการเดินทาง และค่าโดยสารที่ต้องไม่แพงเกินไป และรัฐอาจเข้ามาสนับสนุน เพราะสัญญาเดิมนั้นปล่อยให้สัญญาสัมปทานเป็นตัวกำหนดค่าโดยสาร ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ภาครัฐและเอกชนต้องคุยกัน และนำรายละเอียดมากางดูว่าค่าเฉลี่ยราคารถไฟฟ้าที่มีราคาแพงเกือบทุกระบบ และในอนาคตก็จะแพงมากขึ้น หากมีการเชื่อมต่อกันโดยใช้สัญญาสัมปทานแบบเดิมจะต้องดำเนินการอย่างไร" นายสุเมธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยที่บอกว่าแพงหรือไม่แพงนั้น ต้องดูว่าเปรียบเทียบกับอะไร ถ้าเปรียบเทียบกับค่าครองชีพถือว่าแพง และหากเปรียบเทียบกับฐานรถไฟฟ้าจากต่างประเทศ ก็ถือว่าแพงเช่นกัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบทั้งค่าครองชีพและฐานต่างประเทศแล้ว เป็นประเทศติดอันดับค่ารถไฟฟ้าราคาแพง
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมเริ่มคิดได้ ทั้งที่ควรจะคิดได้มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เริ่มคิดได้ก็ยังดีกว่าไม่ได้คิดเลย เพราะฉะนั้นตอนนี้อัตราค่าโดยสารจึงเริ่มเห็นภาพว่ามีแนวโน้มที่จะกำหนดเพดานในแต่ละระบบของรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่มีกำหนดจะเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการเชิงพาณิชย์ปลายเดือน พ.ย.2564 จะเริ่มเก็บค่าโดยสารอัตราเริ่มต้น 12-42 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนออัตรา 14-42 บาท
อย่างไรก็ตาม อัตราค่าโดยสารดังกล่าวนั้นเป็นผลมาจากที่ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. หารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามหลักสากล ซึ่งอัตราแรกเข้าใช้ตามสูตรที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี กำหนดไว้เมื่อปี 2544 เริ่มต้น 10 บาท ปัจจุบันดัชนีผู้บริโภค (CPI) ปี 2564 พบว่าอัตราแรกเข้าปรับเป็น 11.88 บาท ซึ่งจะปัดขึ้นเป็น 12 บาท และคิดค่าโดยสารตามระยะทาง เฉลี่ย 1.01 บาท/กม.ถือว่ามีราคาค่าโดยสารที่ไม่แพงมากนัก ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ดีในระดับหนึ่ง
เร่งคลอดตั๋วร่วม
ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อร้องเรียนว่าราคาค่าบริการขนส่งในระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่ให้บริการในปัจจุบันมีราคาที่สูงเกินไป และส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชน เรื่องนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมราคาค่าโดยสารได้ ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการคมนาคมขนส่งทุกระบบเนื่องจากยังมีปัญหาด้านกฎหมาย แต่ก็มีความตั้งใจเข้าไปคุมราคาค่า โดยสารรถไฟฟ้าที่ให้บริการในปัจจุบัน รวมถึงโครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้โดยสาร บนพื้นฐานราคาที่ใช้บริการจริงตามระยะทาง หรือที่ 14-45 บาทต่อคนต่อเที่ยว แนวทางที่สามารถคุมราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกระบบได้
โดยการนำระบบตั๋วร่วมเข้ามาใช้กับการบริการขนส่งสาธารณะในทุกประเภท ซึ่งตามกรอบเวลาการใช้ตั๋วร่วมจะเริ่มขึ้นจริงในสิ้นปี 2564 นี้ ในระยะแรกตั๋วร่วมจะใช้กับระบบรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้การกำกับของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ก่อน และในอนาคตจะใช้ในระบบขนส่งโลจิสติกส์ทั้งหมด
“กรณีที่มีคนร้องเรียนผ่านองค์กรผู้บริโภคต่างๆ ว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีราคาแพง ผมจะเข้าไปมีบทบาทอย่างไร ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันรถไฟฟ้าที่ให้บริการมีหลายระบบ หลายสัมปทานผู้ให้บริการ เมื่อผู้โดยสารเดินทาง และมีการต่อรถไฟฟ้าระหว่างระบบผู้โดยสารจะเสียค่าแรกเข้าระบบที่ 14-16 บาท แต่หากเมื่อนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ ปัญหาเรื่องค่าแรกเข้าระบบรถไฟฟ้าจะหมดไปทันที การเชื่อมต่อระหว่างระบบก็จะไม่คิด ค่าโดยสารระบบรางจะถูกลงทันทีกว่า 30%” นายศักดิ์สยามกล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในอนาคตหากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. ... ของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ออกมามีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ในสิ้นปี 2564 นี้ ขร.จะมีอำนาจโดยตรงที่จะเข้าไปกำกับดูแลการบริการคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมด เช่น การกำหนดและวางหลักเกณฑ์ กำหนดการคำนวณ ราคาค่าโดยสาร ความถี่เที่ยววิ่งที่ให้บริการ และจำนวนตู้ที่ให้บริการเหมาะกับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ ทำให้ ขร.สามารถกำกับดูแลค่าโดยสารให้ประชาชนที่ใช้บริการได้ประโยชน์มากที่สุดแบบเบ็ดเสร็จ
ไม่รีบต่อสัมปทาน
สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดที่จะขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางอ่อนนุช-หมอชิต ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลงในปี 2572 ต่อไปอีก 30 ปีเพื่อแลกกับการจัดเก็บค่าโดยสารเฉลี่ยรวมส่วนต่อขยายจากช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-คูคต ในราคาเฉลี่ยที่ 65 บาท นั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ถือว่าไม่ได้เป็นสัญญาสัมปทานเดิม และไม่ได้เป็นสัญญาเดียวกัน หากจะมาบอกว่าเป็นส่วนต่อขยายจากสัญญาเดิมตามความเป็นจริงก็ไม่ใช่ เพราะเป็นคนละสัญญา กรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทยต้องดูข้อกฎหมายให้ดี จะมารวมเป็นส่วนต่อขยายจากสัมปทานเดิมไม่ได้
ดังนั้น เมื่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงอ่อนนุช-หมอชิต จะหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินจะต้องตกเป็นของรัฐทันที จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งต่อสัญญาสัมปทาน ในเมื่อเส้นทางช่วงดังกล่าวถือเป็นไข่แดง หากภาครัฐเปิดประกาศเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มั่นใจว่าจะมีเอกชนเข้ามาลงทุนและทำรายได้ให้กับรัฐจำนวนมหาศาล
“นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นอย่างมาก ก็ได้อธิบายว่า การคำนวณหากในส่วนของกระทรวง ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการ จะคำนวณราคาที่ 1.45 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) ขณะที่กรุงเทพมหานครคำนวณที่ 3 บาทต่อสถานี ทำให้ในส่วนของ รฟม.คำนวณต่ำกว่าก็ยังอยู่ได้ เพียงแต่ต้องทำตามกฎหมายเท่านั้น” นายศักดิ์สยาม กล่าว
เร่งแก้ค่าโดยสารแพง
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยสิ่งที่คำนึงมากที่สุดคือ ความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน และรัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป ขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องช่วยกันแก้ปัญหา เพราะหลายเรื่องปัญหามีความซับซ้อน แต่รัฐบาลก็ต้องแก้ไข เมื่อแก้แล้วก็มีปัญหาอื่นตามมา ซึ่งต้องแก้ให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อรัฐบาลในอนาคตด้วย นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคธุรกิจต่างๆ ด้วย จะทำอย่างไรให้สามารถเดินได้โดยเร็ว และบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน เพื่อให้ราคาต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป
“ถ้าทุกคนจะเอาคนละอย่างสองอย่าง มันก็เดินไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรามีความพร้อมอยู่แล้ว มีการเปิดเดินรถไปแล้วด้วย มีการให้บริการไปแล้วบางระยะ นั่นคือสิ่งที่ประชาชนได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่งไปแล้ว ต้องหาวิธีการที่เหมาะสม แต่ถ้ามัวแต่ทะเลาะกัน ขัดแย้ง จับผิดจับถูกกันอยู่แบบนี้มันก็ไปไม่ได้สักอย่าง ขอฝากไว้ด้วย รัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในทุกเรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |