“บีซีจี”โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว  ตามเทรนด์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


เพิ่มเพื่อน    


ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัยนั้น ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาของเทคโนโลยี ซึ่งผู้กำหนดนโยบายเองจำเป็นต้องนำเรื่องดังกล่าวมาอ้างอิงเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมให้มากที่สุด ที่ผ่านมาจึงเห็นว่าแนวทางการเดินหน้าเศรษฐกิจของไทยมักจะเอื้อประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในด้านต่างๆ ซึ่งทั่วโลกก็มีแนวทางคล้ายๆ กันในส่วนใหญ่

แต่ในปัจจุบันที่การพัฒนาเศรษฐกิจกำลังถูกปรับเปลี่ยนทิศทางเดินหน้าไป โดยไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวแล้ว เนื่องจากความต้องการของหลายๆ กลุ่มที่เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ที่ต้องการให้ในทุกๆ ประเทศเดินหน้าระบบเศรษฐกิจไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย และปัจจุบันการเรียกร้องดังกล่าวก็เริ่มเห็นผลชัดมากขึ้น เมื่อกลุ่มประเทศผู้นำของโลกเริ่มนำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติมาใช้ และมีการการันตีว่าจะเกิดผลดีอย่างไรบ้างให้กับโลก จนหลายประเทศนำเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเป้าหมายหลักอันใหม่

รวมถึงประเทศไทยด้วยที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับประเทศที่เบนเข็มมาด้านนี้ คือการได้รับเอฟเฟ็กต์ที่สะท้อนกลับมาจากธรรมชาติ ทั้งภัยธรรมชาติต่างๆ และภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำให้คนในสังคมปัจจุบันก็เริ่มตระหนักแล้วว่าผลของการไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร และการที่ประเทศไทยเลือกที่จะเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจตามเป้าหมายใหม่นี้ จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการทำงานที่ชัดเจน จนออกมาเป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2569

หลังจากลองผิดลองถูกมาสักระยะก็ทำให้เข้าใจแล้วว่า โมเดลบีซีจีนั้นตอบโจทย์มากที่สุด เนื่องจากมีแผนงานที่ครอบคลุมในทุกมิติ แบ่งออกตามตัวอักษรที่ระบุไว้ โดย “บี” มาจาก ไบโอ อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจชีวภาพ คือการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าหรือประยุกต์การใช้งานและแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรแก่ผลผลิตทางการเกษตร และนำนวัตกรรมมาเพิ่มความเข้มแข็งของภาคการเกษตรในระบบเศรษฐกิจ

โดยครอบคลุม 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.ด้านเกษตรกรรมและอาหารจะขึ้นกับพืชใหม่ๆ และการปรับปรุงกระบวนการผลิตจากความรู้ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ รวมไปถึงการใช้แหล่งโปรตีนในอาหารใหม่ เช่น สาหร่ายและแมลง 2.กลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร/สมุนไพร/บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ เช่น การดูแลสุขภาพไปจนถึงการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุล และชีวเภสัชภัณฑ์หรือยาชีวภาพที่สังเคราะห์ขึ้นมาจากสสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และ 3.กลุ่มพลังงาน เช่น สารชีวมวล เชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอเอทานอล และไบโอดีเซล

 

“ซี” ย่อมากจาก เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คือระบบที่มีการนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้ซ้ำหรือใช้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นำวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย โดยต้องใช้ศักยภาพในการหมุนเวียนเพื่อใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและวัสดุ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การปรับปรุงใหม่ การผลิตใหม่ การแปรใช้ใหม่ การออกแบบกระบวนการ รวมถึงการพัฒนารูปแบบธุรกิจและนวัตกรรม เป็นต้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมีการติดตามผลเพื่อจัดการให้ผลิตภัณฑ์และวัสดุหมุนเวียนอยู่ภายในระบบ
    

และ “จี” มาจาก กรีน อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจสีเขียว คือระบบเศรษฐกิจที่เน้นการลดผลกระทบต่อโลกในระยะยาว แนวคิดดังกล่าวคือ ต้องไม่ให้การกระทำของคนในปัจจุบันไปส่งผลกระทบกับคนในอนาคต เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตควรจะใช้พลังงานเท่าเดิม หรือให้ดีไปกว่านั้นคือลดการใช้พลังงาน รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเน้นไปถึงการพัฒนาการลงทุนและเทคโนโลยีในสาขาการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ การเกษตร การก่อสร้างเมือง พลังงาน การประมง การป่าไม้ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การขนส่ง การจัดการขยะมูลฝอย และการจัดการทรัพยากรน้ำ
    

จึงเห็นได้ว่าโมเดลบีซีจีนั้นครอบคลุมในทุกภาคส่วนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศเลยก็ว่าได้ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มเอาจริงเอาจังกับการเดินหน้าตามนโยบายดังกล่าวไปมากแล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานทั้งนอกและในสังกัดภาครัฐทำโครงการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาครั้งนี้ และมีหลายๆ งานที่ออกมาแล้วประเทศและสังคมเริ่มเห็นประโยชน์ที่แท้จริง รวมทั้งยังเห็นถึงช่องทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตอีกด้วย โดยหลายแผนงานจำเป็นต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน แต่บางแผนงานก็สามารถทำได้เลยเพื่อสร้างผลดีให้กับสังคม
    

หนึ่งในแผนงานหลักๆ ที่จำเป็นต้องเร่งให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อประชาชนในสังคมคือ การดูแลและจัดการเรื่องมลพิษในประเทศ โดยที่ผ่านมานั้นในสังคม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีเหตุการณ์การสะสมของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ได้ หลายหน่วยงานจึงมีแผนการจัดการปัญหานี้ออกมา อาทิ 
    

กระทรวงอุตสาหกรรม กำชับทุกหน่วยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขฝุ่นพื้นที่ กทม.และปริมณฑลในระยะเร่งด่วน โดยสั่งตรวจสอบ-บังคับใช้กฎหมายในโรงงานควบคุมมลพิษ พร้อมกับเดินหน้ามาตรการจูงใจเพิ่มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และให้สินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย โดยเน้นการตัดสดแทนการเผา รวมถึงในภาคส่วนอื่นๆ ก็ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในด้านพลังงานเองดำเนินการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 เพื่อลดการปล่อย PM2.5 จากการปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์ รวมถึงการสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อลดการเผาทิ้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่โล่งแจ้ง และการปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 
    

นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบของประชาชนนอกจากฝุ่นละอองแล้ว ยังต้องดูถึงเรื่องน้ำเสีย ขยะมูลฝอย กากอุตสาหกรรม รวมถึงในกลุ่มอื่นๆ ที่จะไปทำลายสิ่งแวดล้อมอีก โดยก็มีหลายโครงการจากหลายหน่วยงานที่เริ่มทำเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง อาทิ การนำขยะมารีไซเคิล การลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การดูแลแหล่งน้ำและการคุมเข้มการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม การควบคุมการจัดการกากอุตสาหกรรม ตั้งแต่การนำออกจากพื้นที่และการเดินทางของรถขน เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากขยะ
  

 “โมเดลบีซีจี” ที่ตั้งขึ้นไม่ใช่เพียงจะเป็นการดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเท่านั้น แต่ยังมีแนวทางที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันคือ การเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่ตอนนี้มีหลายฝ่ายเริ่มเคลื่อนไหวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านค่ายรถยนต์หรือผู้บริโภคเองก็เริ่มให้ความสนใจเพิ่มขึ้นมาก จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น และยังทำให้รถไฟฟ้า 100% นั้นเริ่มมีราคาถูกลงจนจับต้องได้ด้วย
    

ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าว ช่วยผลักดันระบบเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่ารถอีวีจะเข้ามาสนับสนุนนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมของโลก โดยล่าสุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายเรื่องดังกล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก 
    

ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณาส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย รถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบัสสาธารณะ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของอุปทาน (ผู้ผลิต) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว 
  

 โดยมีเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน แบ่งเป็น รถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็น รถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน 
    

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้วางนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการระยะเร่งด่วนและมาตรการระยะ 1-5 ปี ดังนี้ มาตรการกระตุ้นการใช้รถอีวีระยะเร่งด่วน โดยจะมุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทสองล้อ สามล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า โดยวางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ และการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
  

 จะเห็นได้ว่าหลายแผนงานที่ออกมาบางเรื่องก็สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจังและเห็นผลแล้ว ขณะที่บางเรื่องก็จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการจะทำให้เกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่ประเทศไทยเองก็ถือว่าเตรียมพร้อมไว้ในหลายๆ ด้าน ซึ่งที่หยิบยกมาข้างต้นนั้นยังไม่ใช่ทั้งหมดของโครงการที่จะสนับสนุนให้โมเดลบีซีจีเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง เพราะยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่มีแผนการดำเนินงาน และมีผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นอย่างมาก 
  

 และการรอคอยความสำเร็จจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก็ยังเป็นความหวังที่สวยงามของคนในสังคมต่อไป เพราะใครๆ ก็ไม่อยากได้รับผลกระทบแบบที่เคยเกิดขึ้นอีกแล้ว แต่ทุกอย่างก็ต้องเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ก่อน เพื่อที่จะต่อยอดไปยังภาพที่ใหญ่ขึ้น แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญของการพัฒนาระบบดังกล่าวคือ ความร่วมมือของคนในสังคมที่ตั้งใจจะเริ่มดูแลสิ่งแวดล้อมจากจุดเล็กๆ ไม่ใช่เพียงรอคอยแต่การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว... 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"