สรุปยอด 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ 64 พบเกิดเหตุ 2,365 ครั้ง ตาย 277 ราย ปทุมฯ ครองแชมป์ยอดเสียชีวิต 10 ราย ส่วนนครศรีฯ เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บมากสุด โฆษกศาลยุติธรรมเปิดเผยมีคดีขึ้นสู่การพิจารณารวมทั้งสิ้น 12,664 คดี พิพากษาแล้วเสร็จสูงถึงร้อยละ 99.71
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 17 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ของการควบคุมเข้มข้นเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย 2564 ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” เกิดอุบัติเหตุ 253 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 255 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดของวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ นครศรีธรรมราช 15 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดวันนี้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช 14 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุบลราชธานี 3 ราย
ขณะที่สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย.64 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 277 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,357 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 106 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 109 คน, จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี 10 ราย, กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ 9 ราย, จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01- 20.00 น.
นายนิพนธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ 2564 เปรียบเทียบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับปี 2562 การเกิดอุบัติเหตุลดลง 20 ครั้ง ผู้บาดเจ็บลดลง 22 คน ผู้เสียชีวิตลดลง 4 ราย โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด และดื่มแล้วขับ รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด
ทั้งนี้ จะนำไปวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึก รวมทั้งเน้นย้ำให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัคร ขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนและหมู่บ้าน ใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุ ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะเป็นรากฐานในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ร้อยละ 5 เมื่อเทียบ โดยตั้งความหวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำกว่า 10,000 รายต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
ขึ้นศาล 12,664 คดี
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยสรุปยอดรวมปริมาณคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 (ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2564) ซึ่งรวบรวมข้อมูลสถิติโดยศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม พบว่า กลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง
1.จำนวนคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยแบ่งเป็นจำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณา รวมทั้งสิ้น 12,664 คดี จำนวนคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 12,627 คดี (คิดเป็นร้อยละ 99.71)
2.จังหวัดที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ นครราชสีมา จำนวน 1,410 คดี, ชลบุรี จำนวน 794 คดี, อุบลราชธานี จำนวน 724 คดี, เชียงราย จำนวน 600 คดี, ศรีสะเกษ จำนวน 590 คดี
3.ศาลที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ศาลแขวงนครราชสีมา จำนวน 696 คดี, ศาลแขวงอุบลราชธานี จำนวน 556 คดี, ศาลแขวงเชียงราย จำนวน 436 คดี, ศาลแขวงชลบุรี จำนวน 406 คดี, ศาลจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 386 คดี
4.ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด ได้แก่ ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 12,213 คน ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จำนวน 816 คน, ขับรถขณะเสพยาเสพติด จำนวน 40 คน, ขับรถโดยประมาท จำนวน 34 คน
5.จำนวนจำเลยที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษารวมทั้งสิ้น 13,103 คน โดยแบ่งเป็น เพศชาย 12,827 คน เพศหญิง 276 คน จำนวนจำเลยสัญชาติไทย 12,609 คน จำนวนจำเลยสัญชาติอื่น 494 คน
กลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว 1.จำนวนคำร้องที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 82 คำร้อง
2.จำนวนข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ ขับรถขณะเมาสุรา 63 คน ขับรถขณะเสพยาเสพติด 18 คน ขับรถโดยประมาท 5 คน ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 2 คน
3.จำนวนผู้ต้องหาที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 88 คน แบ่งเป็น เพศหญิง 4 คน เพศชาย 84 คน
4.ผลการตรวจสอบการจับ แบ่งเป็น ชอบด้วยกฎหมาย 88 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 0 คน
โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาปริมาณคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 แล้ว พบว่ามีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง เพิ่มขึ้นจากช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ปี 2564 ที่ผ่านมา จำนวน 3,212 คดี และหากเปรียบเทียบกับปริมาณคดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่าน ๆ มา ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเห็นได้ว่าปีนี้มีปริมาณคดีลดลงกว่าเท่าตัว ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือยกเลิกการท่องเที่ยว
ประกอบกับ ศบค.ได้ประกาศข้อกำหนด ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 19) (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว) ให้ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน 41 จังหวัด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ข้อหาขับรถขณะเมาสุรายังคงเป็นข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดอย่างต่อเนื่องในทุกเทศกาล จึงอยากฝากความห่วงใยถึงประชาชนทุกคนให้เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร อย่างเคร่งครัด ขับขี่ด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอแม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาล เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง ตลอดจนคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ด้านศาลยุติธรรมยังคงใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวดในการป้องกันไวรัสโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรของศาลยุติธรรมและผู้มาติดต่อราชการศาลทุกคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |