เริ่มทรงตัว พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1,547 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุ 4 หมื่นคนแล้ว แต่ยังรักษาอยู่ 11,916 ราย "หมอทวีศิลป์" เผยรอบนี้กระจายมากขึ้น แต่ความรุนแรงยังไม่มากกว่าเดิม เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ใน 7 จังหวัด กรมควบคุมโรคเผยใน 1-2 วันนี้การติดเชื้อจะยังสูงอยู่ ขอให้ระมัดระวัง
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 1,547 ราย จากการตรวจพบระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,316 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 228 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 3 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 40,585 ราย ซึ่งแตะ 40,000 รายเป็นวันแรกตั้งแต่มีผู้ป่วยโควิด รักษาหายป่วยสะสม 28,570 ราย รักษาอยู่ 11,916 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เป็นชายไทย อายุ 38 ปี อาชีพโปรแกรมเมอร์ มีโรคประจำตัว โรคอ้วน ขณะป่วยอยู่ จ.ตาก ประวัติเกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์ทองหล่อ วันที่ 3 เม.ย. มีอาการไอ คันคอ ปวดเมื่อยตัว, วันที่ 4 เม.ย. ผลยืนยันพบเชื้อโควิด-19, วันที่ 11 เม.ย. ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการแย่ลง และเสียชีวิตวันที่ 16 เม.ย. ส่วนอีกราย อายุ 51 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ขณะป่วยอยู่ จ.ปทุมธานี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 10 เม.ย. มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะปนเลือด, วันที่ 12 เม.ย. ผลยืนยันพบเชื้อโควิด, วันที่ 14 เม.ย. มีภาวะหายใจล้มเหลว ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 15 เม.ย. รวมยอดเสียชีวิตสะสม 99 ราย ส่วนสถานการณ์โลก 140,511,425 ราย เสียชีวิต 3,012,007 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยระลอกเดือนเม.ย.64 ตั้งแต่วันที่ 1-17 เม.ย. มีผู้ติดเชื้อสะสม 11,722 ราย เสียชีวิต 2 ราย จึงมีการนำข้อมูลเปรียบเทียบอัตราป่วยและอัตราการเสียชีวิตของโควิด-19 ที่แบ่งเป็น 3 ระลอกคือ ระลอก ม.ค.63 ช่วงม.ค.-14 ธ.ค.63 ระยะเวลา 11 เดือนครึ่ง มีผู้ป่วย 4,237 ราย เสียชีวิต 60 ราย คิดเป็น 1.42 เปอร์เซ็นต์ ระลอก ธ.ค.63 คือระหว่าง 15 ธ.ค.63-31 มี.ค.64 ระยะเวลา 3 เดือนครึ่ง มีผู้ป่วย 24,626 ราย เสียชีวิต 34 ราย คิดเป็น 0.14 เปอร์เซ็นต์ ระลอก เม.ย.64 วันที่ 1-13 เม.ย. ระยะเวลา 13 วัน มีผู้ป่วย 5,712 ราย เสียชีวิต 3 ราย คิดเป็น 0.05 เปอร์เซ็นต์
จากข้อมูลตรงนี้จะเห็นได้ว่าการป่วยระลอก เม.ย.64 จะเห็นผู้ป่วยรอบนี้กระจายมากขึ้น แต่ความรุนแรงยังไม่มากเท่าเดิม เราควรตระหนัก แต่อย่าตื่นตระหนก ใครที่มีอาการป่วยขอให้เข้าสังเกตอาการที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีหลายรูปแบบ ทั้งโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลสนาม ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลสนามจะเป็นคำตอบ เพราะเดิมเมื่อมีผู้ป่วยจะไปแอดมิตที่โรงพยาบาล แต่วันนี้คนป่วยเดินไปไหนมาไหนได้ ดังนั้นเตียงโรงพยาบาลควรให้คนป่วยที่อาการปานกลางถึงอาการหนัก และโรงพยาบาลสนามไม่ได้เลวร้ายอะไร บางคนบอกชอบเพราะได้พูดคุยสังสรรค์ ที่สำคัญโรงพยาบาลสนามจะประหยัดทรัพยากรบุคคลในการดูแลคนป่วย
ขอให้ทุกคนเข้าใจและให้ความร่วมมือ เพราะโรงพยาบาลทุกแห่งมีศักยภาพในการดูแลประชาชน และถ้าเราดูกราฟตัวเลขจะเห็นว่าสัปดาห์นี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 10,000 คน และกระจายตัวไป 77 จังหวัด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เห็นว่าการกระจายตัวของเชื้อรอบนี้กระจายมากขึ้น แต่ความรุนแรงไม่มากเท่าเดิม ป่วยแล้วไม่ได้หมายความว่าต้องไปโรงพยาบาลอย่างเดียว ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามได้ แต่คนที่ป่วยต้องเข้าระบบแยกกัก ก่อนหน้านี้เราใช้โรงพยาบาลมาก่อน ตอนนี้มียอดเพิ่มขึ้นหลายเท่า ยืนยันโรงพยาบาลทั้งหมดคำนึงถึงความปลอดภัยประชาชนทั้งสิ้น” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
เล่นไพ่เพื่อพูดคุยกัน
"โรงพยาบาลสนามเป็นคำตอบในการรับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก และยังลดบุคลากรและทรัพยากรในการดูแล ซึ่งเดิมระบบการให้แอดมิตในโรงพยาบาล เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เยอะ ระบบของโรงพยาบาลยังรับไหว แต่เวลานี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก จึงอยากให้ใช้โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้น ยืนยันว่าโรงพยาบาลสนามไม่ได้แย่ มีการอำนวยความสะดวก และบางแห่งนำนวัตกรรมเตียงกระดาษมาใช้ โดยพิสูจน์มาแล้วที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นยินดีเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะเขาได้พบปะคุยกัน ที่มีการนำไพ่มาเล่น ไม่ได้เพื่อการพนัน แต่เป็นการได้พูดคุยกันบ้าง"
นพ.ทวีศิลป์แถลงว่า กลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ที่พบการระบาดใน 7 จังหวัด กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ในช่วงวันที่ 10-15 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สำหรับคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ที่พบการระบาดใน 7 จังหวัดในช่วงวันที่ 10-15 เมษายน 2564 ประกอบด้วย เชียงใหม่ นครสวรรค์ กาญจนบุรี นครราชสีมา นนทบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.เชียงใหม่ คลัสเตอร์ค่ายอาสา กระจายไปยัง 13 จังหวัด โดยพบผู้ป่วย 34 ราย 2.นครสวรรค์ คลัสเตอร์สถานบันเทิง กระจายไปยัง 2 จังหวัด โดยพบผู้ป่วย 39 ราย 3.กาญจนบุรี คลัสเตอร์โรงเรียน โดยพบผู้ป่วย 28 ราย นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์โรงเรียนในลักษณะนี้อีกที่สมุทรปราการ กระบี่ ชลบุรี และจันทบุรี
4.สงขลา คลัสเตอร์ผับ ที่หาดใหญ่พบผู้ป่วย 16ราย, คลัสเตอร์งานเลี้ยงรุ่น พบผู้ป่วย 8 ราย 5.นครราชสีมา คลัสเตอร์หมูกระทะ อ.เมืองฯ พบผู้ป่วย 14 ราย, คลัสเตอร์สังสรรค์คาราโอเกะพบผู้ป่วย 5 ราย 6.นนทบุรี คลัสเตอร์งานสัมมนาบริษัท ณ รีสอร์ท อ.ไทรน้อย พบผู้ป่วย 19 ราย กระจายไปยัง 8 จังหวัด 7.นครศรีธรรมราช คลัสเตอร์งานฟุตบอลพบผู้ป่วย 20 ราย กระจายไปยัง 3 จังหวัด, คลัสเตอร์งานบวชพบผู้ป่วย 10 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า เมื่อคืนวันที่ 16 เม.ย. ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 20 ที่จะมีผลเที่ยงคืนวันที่ 18 เม.ย. ยืนยันไม่มีการใช้เคอร์ฟิว แต่เราจะจำกัดที่หมายลดการเคลื่อนย้าย หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี และสำหรับ 18 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่มีมาตรการจำกัดเวลาเปิด-ปิดร้านสะดวกซื้อ ก็ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ให้ปิดตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 18 เม.ย. และเปิดอีกครั้งเวลา 04.00 น. วันที่ 18 เม.ย.
ขณะที่มีการถามมาว่างานศพจัดได้หรือไม่นั้น เราเว้นเฉพาะงานรื่นเริงสังสรรค์ งานทางศาสนาจึงไม่อยู่ในข้อกำหนดดังกล่าว จึงทำได้ เพียงแต่ขอให้มีการเว้นระยะห่าง ป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อ สำหรับมาตรการเวิร์กฟรอมโฮมของหน่วยงานภาครัฐ ขอให้ดำเนินการเต็มรูปแบบ แต่นายกรัฐมนตรีห่วงใยการบริการประชาชนต้องไม่ขาดตกบกพร่อง และการบริหารราชการไม่กระทบสัดส่วนนี้ ส่วนกรณีที่ให้อำนาจผู้ราชการจังหวัดออกมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมนั้น ยืนยันว่าผู้ว่าฯ ไม่สามารถออกประกาศเคอร์ฟิวได้ เพราะเป็นอำนาจของผู้อำนวยการ ศบค.เท่านั้น ถ้าจะใช้คงเป็นการปิดสถานที่ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า ฝากว่าหลายครั้งเราต้องมาพูดคุยกันถึงสิ่งที่ภาครัฐออกมาในข้อกำหนดต่างๆ อย่างเต็มที่ เราอยากเห็นภาพผู้ประกอบการร่วมมือร่วมใจกันตามที่ตกลงกันไว้ ขณะที่ภาคประชาชนก็มีความสำคัญ กฎต่างๆ ที่ออกมาเราต้องเข้าใจตรงกัน และถ้าทุกคนร่วมมือกันจะสำเร็จ เรามีเวลา 14 วัน ช่วยกันดึงกราฟให้ลดลงมาด้วยมือประชาชนทั้งกว่า 60 ล้านคน 14 วันข้างหน้าจะเห็นผลอย่างแน่นอน
โฆษก ศบค.กล่าวถึงสถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 830,052 ราย สะสม 140,511,425 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 3,012,007 ราย เป็นรายใหม่ 12,514 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ตอนนี้มากกว่าระลอกก่อนหน้านี้ เมื่อมาดูรายประเทศพบว่า อินเดียน่าเป็นห่วง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 233,943 ราย สะสม 14,521,683 ราย, ฝรั่งเศส 36,442 ราย สะสม 5,224,321 ราย ส่วนประเทศในเอเชีย พบว่า ฟิลิปปินส์ พบรายใหม่ 10,726 ราย, ญี่ปุ่น 4,576 ราย, กัมพูชา 262 ราย จึงต้องเรียนว่าสถานการณ์รอบบ้านเราน่าเป็นห่วงอยู่
1-2 วันยังติดเชื้อสูงอยู่
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019 และประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ประจำวันที่ 17 เมษายน 2564 ระบุว่าคาดการณ์ว่าภายใน 1-2 วันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะยังคงอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ แต่หากประชาชนปฏิบัติตัวมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ก็เชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้าจำนวนผู้ป่วยอาจจะลดลง
ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าโรคโควิด-19 มียาสำหรับรักษาคือยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งผู้ป่วย 1 คน จะต้องใช้ยาในการรักษาประมาณ 70 เม็ด โดยขณะนี้ไทยได้สำรองยาไว้ประมาณ 500,000 เม็ด เบื้องต้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งให้จัดเตรียมหายามาไว้เพิ่มอีก 5 แสนเม็ด ก็จะทำให้มียาไว้รองรับรวมทั้งหมดประมาณ 1 ล้านเม็ด ซึ่งถือว่าเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยประมาณ 14,000 คน
ส่วนกรณีที่ทหารจากกองบิน 41 ที่ จ.เชียงใหม่ จำนวนประมาณ 10 นาย มีการกักตัวที่บ้าน เนื่องจาก รพ.ไม่เพียงพอนั้น เบื้องต้นมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กำลังประสานเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป ซึ่งการกักตัวในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติตัวเฉพาะหน้าได้อย่างถูกต้อง
ผู้ใช้ชื่อเฟชบุ๊ก Gloyta Goi Nathalang ได้โพสต์ภาพและบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการประชุม ศบค.ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ก่อนที่จะมีการแถลงมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือโควิด-19 ออกมา โดยทาง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ช่วยแชร์ข้อมูลดังกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า "ตามนี้เลยครับ ขอบคุณพี่ก้อย พี่แก้ป ช่วยลดความเมื่อยมือจากการพิมพ์"
ทั้งนี้ เฟชบุ๊ก Gloyta Goi Nathalang ระบุว่า วันนี้ (16 เม.ย.) มีประชุม ศบค.ใหญ่ ทีมโฆษกพร้อมหน้า ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง อบอุ่นท่ามกลางวิกฤติ ประชุมเริ่มช้ากว่าที่กำหนดไว้ ทำให้พวกเราต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้สามารถแถลงข่าวได้ทันทีที่ประชุมเสร็จ
ประชุมเสร็จ ท่านนายกฯ มากล่าวเกริ่นนำก่อนแถลงข่าว อาจจะฟังดูรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่สัมผัสได้ถึงความประสงค์ดี ความจริงใจและต้องการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และระหว่างที่ท่านนายกฯ กล่าว ทีมก็รีบปรับเอกสารให้ทันการณ์ที่สุดสำหรับให้พี่หมอแถลง
แล้วก็เห็นข่าวออกมาว่ามีเคอร์ฟิวทั้งๆ ที่ในที่ประชุมนี้ไม่มีการพูดถึงเลย เข้าใจว่าเนื่องจากท่านนายกฯ มีประชุมก่อนหน้า และได้ปฏิเสธข้อเสนอของ สธ. เรื่องเคอร์ฟิวไปแล้ว เพียงแต่เน้นเรื่องการ “ลดการเคลื่อนย้าย” จึงไม่มีการหารือกันเรื่องนี้ในที่ประชุม
เล่นเอาตาเหลือก ข่าวเคอร์ฟิวออกมาไง เดี๋ยวจะตกใจกัน ฉันรีบแจ้งพี่หมอที่กำลังรอแถลงข่าวต่อจากท่านนายกฯ พี่หมอบอกว่าโอเค จะบอกเป็นอย่างแรกเลยว่าไม่เคอร์ฟิว พี่นัท ที่ปรึกษานายกฯ อดีต ผอ.สำนักโฆษกฯ ก็ชูป้าย “ไม่เคอร์ฟิว” ให้ท่านนายกฯ พูดย้ำตอนจบ (ไวท์บอร์ดเล็กๆ ที่ฉันเอามาถ่ายรูปด้วยทีหลังนั่นแหละค่ะ) ยกระดับมาตรการ ไม่เคอร์ฟิว ไม่ล็อกดาวน์นะคะ
ด้วยสถานการณ์ที่เข้มข้นในช่วงนี้ ศบค.จะมีการแถลงข่าวเป็นประจำจากทำเนียบรัฐบาล ทุกวัน เวลา 11.30 น. เบื้องต้นเป็นเวลา 14 วัน
เป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้อง ทีมงานต่างๆ ของ ศบค. ที่กำลังฝ่าฟันกับวิกฤติครั้งนี้นะคะ
พี่หมอเอง ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้แถลงข่าวเองทุกวัน แต่ก็เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เข้าประชุม ศบค.ชุดเล็กตลอดค่ะ ถ้าไม่ได้ไปราชการต่างจังหวัด และยังมีหมอติ๋งและทีมงานกระทรวงสาธารณสุขอีกมากมายที่ประชุมกันทุกวัน วันละหลายๆ รอบ สู้ๆ นะคะทุกคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |