ต้องรื้อ ระบอบประยุทธ์


เพิ่มเพื่อน    

หากระบอบประยุทธ์ไม่ประนีประนอม สักวันหนึ่ง เชือกมันจะขาด

            การเคลื่อนไหวของกลุ่ม Re-Solution ที่เป็นการจับมือ ร่วมกันของคณะก้าวหน้า-กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่ชูแคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์”เพื่อต้องการรายชื่อประชาชน 1 ล้านรายชื่อยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในฉากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบใหม่ ที่จะเกิดขึ้นหลังเปิดประชุมรัฐสภาเดือนพ.ค.นี้ หลังก่อนหน้านี้กลุ่มไอลอว์เคยรวบรวมรายชื่อประชาชนได้กว่าหนึ่งแสนชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วแต่ถูกรัฐสภาโหวตคว่ำตั้งแต่วาระแรก ส่วนรอบนี้ กลุ่ม Re-Solution จะทำได้สำเร็จหรือไม่ ต้องรอติดตาม

ในบทสัมภาษณ์ พริษฐ์ วัชรสินธุ์ หรือไอติม ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า-แกนนำกลุ่ม Re-Solutionครั้งนี้เมื่อเราถามคำถามแรกว่า “ระบอบประยุทธ์”ที่นำมาใช้ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ระบอบประยุทธ์คืออะไร มีจริงหรือไม่เขาตอบกลับมาว่า การพูดถึงเรื่องนี้ ลำดับแรกต้องเริ่มต้นที่การพูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560ที่ใช้อยู่ปัจจุบันที่เป็นกลไกหนึ่งซึ่งระบอบประยุทธ์ใช้เพื่อพยายามสืบทอดอำนาจมาตั้งแต่ยุคคสช.ที่ขัดขวางการกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเราใช้คำว่าระบอบประยุทธ์ เราไม่ได้หมายถึงพลเอกประยุทธ์คนเดียวแต่เราหมายถึงกติกาทางการเมืองโครงสร้างทางการเมืองที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้กติกาห่างเหินจากคำว่าประชาธิปไตย ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยหากเรามองถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ก็จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาตั้งแต่ที่มา-กระบวนการและเนื้อหา เช่นที่มาถูกเขียนโดยคสช.ในยุคที่รัฐบาลมาจากการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนและแสดงความเห็นได้ อีกทั้งตอนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญการทำประชามติช่วงนั้นก็ไม่ได้เสรีและเป็นธรรม เพราะไม่เปิดให้สองฝ่ายรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ไม่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วน

..ส่วนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญทั้ง 279 มาตราก็มีความถดถอยในความเป็นประชาธิปไตย เช่นถดถอยในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเพราะเขียนเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนรัดกุมน้อยกว่าตอนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 เช่นสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ที่เดิมเขียนว่าต้องเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตัดคำว่าได้มาตรฐานออกไป เป็นต้น นอกจากนี้ในอีกมุมหนึ่ง เราก็เห็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่มีการขยายอำนาจของสถาบันทางการเมือง-กลไกทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่เราเรียกกันว่าระบอบประยุทธ์เพราะไปขยายอำนาจให้กลไกทางการเมืองที่คสช.สามารถควบคุมกติกาและบุคลากรได้ ขอยกตัวอย่างมาให้เห็น 3กรณี

..เรื่องแรก คือ1.การขยายอำนาจของวุฒิสภาที่จะเห็นได้ว่าวุฒิสภาปัจจุบันมีอำนาจสูงมากเช่นร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกับสภา-ร่วมโหวตกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ-การร่วมโหวตเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ-โหวตขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ส.ว.ปัจจุบัน 250 คนกลับมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. 194 คนแต่งตั้งโดยตรงเลยจากคสช. และอีก 50 คนแต่งตั้งทางอ้อม คือให้กกต.ไปเลือกมาให้เหลือ 200 คนแล้ว คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน และอีก 6 คนเข้ามาเป็นส.ว.โดยอัตโนมัติในฐานะผู้นำเหล่าทัพ-ผบ.ตร. ทำให้คสช.คุม 250 คนนี้ได้แล้ว ทั้ง 250คนก็เข้ามาขัดขวางทุกอย่างเพื่อให้คสช.สืบทอดอำนาจ

            กลไกที่ 2 คือศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เราเห็นว่าปัญหาของศาลรธน.และองค์กรอิสระที่ทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลไม่มีประสิทธิภาพ ก็เพราะใครที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-กรรมการการเลือกตั้งหรือกรรมการป.ป.ช.ได้ต้องผ่านความเห็นชอบจากการโหวตของส.ว. 250 คน ประชาชนก็ตั้งคำถามว่าเมื่อส.ว.ถูกตั้งโดยคสช. มันจะได้คนที่เป็นกลางจริงหรือในเมื่อคนจะมาเป็นในตำแหน่งต่างๆ ข้างต้นต้องได้รับความเห็นชอบจากส.ว. 250 คน ก็อาจทำให้ประชาชนขาดความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม-ขาดความศรัทธาในกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม-ขาดความศรัทธาในการตรวจสอบการทุจริต ซึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่างก็ชี้ชัดให้เห็นถึงตรงนี้ เช่นการคิดคำนวณจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อหลังการเลือกตั้ง-กรณีความล่าช้าหรือไม่ชัดเจนในการสอบสวนเรื่องนาฬิกาของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ทำให้คนตั้งคำถามได้ในเมื่อกลไก-ที่มาของ องค์กรอิสระเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นกลางทางการเมือง แล้วคนมาทำหน้าที่จะเป็นกลางและกล้าตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกฝ่ายที่ผิดหรือไม่

            ....สำหรับกลไกที่3ของระบอบประยุทธ์คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดยหากมองแบบผิวเผินอาจดูไม่มีพิษมีภัยอะไร อย่างมากคนจะมองว่า เป็นกลไกที่เสียเวลาและเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็นเพราะการไปคาดการณ์อีก 20 ปีเป็นเรื่องยากมากในโลกที่มีความผันผวนและมีการเปลี่ยนแปลงสูง แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปเขียนไว้ว่า หากรัฐมนตรีหรือรัฐบาลไม่ดำเนินการตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถึงแม้นโยบายนั้นจะเป็นสิ่งที่ประชาชนเลือกเข้ามาจากการเลือกตั้ง ก็จะถูกลงโทษได้ เข้าใจว่าโทษสูงสุดสำหรับรัฐมนตรีคือจำคุก 20 ปี ความเลวร้ายของมันคือไปเขียนล็อกแผนไว้ 20 ปี แล้วหากใครไม่เดินตาม จะถูกเล่นงานปลดออกจากตำแหน่งที่หลายคนก็กังวลว่ามันอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของระบอบคสช. ที่แน่นอนว่าเครื่องมือนี้ยังไม่ถูกใช้ เพราะหัวหน้ารัฐบาลและรัฐมนตรี เป็นคนของคสช.แต่หากสักวันหนึ่งมีการเปลี่ยนขั้วขึ้นมาโดยอีกขั้วหนึ่งมาเป็นรัฐบาล มาตรานี้ก็อาจถูกหยิบยกขึ้นมาใช้

            สิ่งเหล่านี้คือที่มาที่ทำให้เรานิยามว่าคือระบอบประยุทธ์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของคสช.พริษฐ์ แกนนำกลุ่ม Re-Solution ระบุไว้

            พริษฐ์-ไอติมกล่าวอีกว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีถนนสองสายโดยสายแรกคือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับมาทดแทนรัฐธรรมนูญปี 2560 สายที่สองคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งทางกลุ่ม Re-solution เห็นว่าต้องทำทั้งสองสายควบคู่กันไป เพราะจะแก้ไขรายมาตราโดยไม่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหา มีความไม่ชอบธรรมเรื่องที่มาและกระบวนการ ซึ่งจะไปแค่ซ่อมประตูหรือหน้าต่างแค่บางบานบางแห่งไม่ได้ แต่ต้องสร้างบ้านหลังใหม่ทั้งหลัง และให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านหลังนั้นเพื่อให้ประชาชนไปร่วมอาศัย แต่หากจะรอร่างฉบับใหม่อย่างเดียวโดยไม่แก้รายมาตราด้วย เราก็เกรงว่าจะไม่ทัน เพราะกว่าจะร่างใหม่ทั้งฉบับได้ต้องใช้เวลาร่วม 1-2 ปี เพราะมีขั้นตอนเช่นการเลือกสมาชิกสภาร่างรธน.-การทำประชามติ

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจึงต้องเดินไปด้วย ทางกลุ่ม Re-solution เราจึงยืนยันว่าต้องทำทั้งสองสาย แต่แคมเปญรื้อระบอบประยุทธ์เป็นแคมเปญของถนนสายที่สอง คือแก้ไขรายมาตรา ในวันที่การร่างใหม่ทั้งฉบับโดนชะลอไว้ เราไม่อยากให้มันเดินไปช้า จึงเดินหน้าต่อเรื่องการแก้ไขรายมาตราไปด้วย โดยมาตราที่เราเสนอแก้ไข ก็เพื่อรื้อระบอบประยุทธ์ หรือเอาอาวุธ-อุปสรรคที่คสช.วางไว้และใช้ในการสืบทอดอำนาจออกไป เพื่อสร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย

พริษฐ์-แกนนำกลุ่ม Re-Solutionย้ำหัวใจสำคัญของการจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์ว่า จะมีด้วยกัน4ข้อเสนอคือ “ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง”

...โดยล้มก็คือ วุฒิสภาเพราะเมื่อวุฒิสภามีอำนาจสูงมากแต่มาจากการถูกแต่งตั้งโดยคสช. เราก็จะปรับระบบรัฐสภาให้เป็นสภาเดี่ยว คือปรับส.ว. 250 คนออกจากการเมือง แล้วใช้ระบบรัฐสภาเป็นสภาเดี่ยว มีแต่สภาผู้แทนราษฏรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 500 คน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นประชาธิปไตยและมีลักษณะเป็น“รัฐเดี่ยว” เหมือนกับเราคือไม่ได้เป็นแบบสหพันธ์รัฐเขาใช้กัน ซึ่งหากเราใช้ ก็จะช่วยประเทศประหยัดงบประมาณได้ปีละพันล้านบาทขั้นต่ำ โดยคำนวณจากแค่เงินเดือนของส.ว.และทีมงาน โดยเป็นรูปแบบของรัฐสภาที่มีความคล่องตัวมากกว่า ถ้าเราต้องการให้ระบบกฎหมายของเรามีความคล่องตัว ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การลดกระบวนการนิติบัญญัติให้เหลือแค่สภาเดียวจะตอบโจทย์มากกว่า โดยหากเราจะให้วุฒิสภายังคงมีอยู่เราต้องตอบให้ชัดว่าเราจะมีไว้เพื่ออะไร อย่างหากจะบอกว่าเราต้องมีส.ว.ไว้เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ผมก็ต้องบอกว่าปัจจุบันส.ว.ไม่ได้ตรวจสอบอะไรเลย เพราะทุกมติที่ผ่านมาจากสภา ทางส.ว.ก็ให้ท้ายมากกว่าจะตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เลยกลายเป็นว่าตอนนี้มันตอบยากแล้วว่า ส.ว.ในประเทศเรามีไว้เพื่ออะไร หากเราตอบคำถามนี้ไม่ได้หรือไม่สามารถออกแบบโครงสร้างที่มาให้มันสอดคล้องกันได้ผมก็คิดว่ามันจะเรียบง่ายกว่าและรวดเร็วกว่าหากเราใช้ระบบสภาเดียว

..เรื่องสภาเดี่ยว ผมคิดว่าประเทศไทยเรามีความพร้อม เพราะหากถามว่าส.ว.เวลานี้เขาให้อะไร เช่นหากเกรงว่า ส.ส.จะไม่มีความเชี่ยวชาญในทุกวิชาชีพหรือไม่ เราก็ต้องมาดูส.ว.ชุดปัจจุบัน ประมาณ 40 เปอร์เซนต์หรือ 108 คนจากส.ว. 250 คน มาจากแค่สองอาชีพคือทหารกับตำรวจส.ว.ปัจจุบันจึงไม่ได้ให้ความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมกับส.ส.อยู่ดี แต่หากเราอยากได้ผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขาวิชาชีพจริงๆ เช่นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย-ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีต่างๆ ก็สู้เอาคนเหล่านี้ไปอยู่ในคณะกรรมาธิการต่างๆ ของสภาเพื่อช่วยงานด้านต่างๆ เช่นยกร่างกฎหมายตั้งแต่ต้นดีกว่าเอาไปไว้ท้ายสุดของกระบวนการร่างกฎหมายในชั้นวุฒิสภาเพื่อมากลั่นกรอง ผมเลยมองว่าหน้าที่ซึ่งเราเคยคาดหวัง ว่าส.ว.จะทำเช่น การเป็นผู้เชี่ยวชาญ-การเป็นตัวแทนของจังหวัด-การตรวจสอบฝ่ายบริหารมันมีวิธีการอื่นที่มันได้ประสิทธิภาพมากกว่าเช่นหากต้องการความเชี่ยวชาญก็ไปเพิ่มโควตาผู้เชี่ยวชาญในกรรมาธิการของสภา หรือหากต้องการเรื่องตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ก็ไปเพิ่มอำนาจฝ่ายค้าน ไปติดอาวุธประชาชน แก้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่มันละเอียดมากขึ้นก็จะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการตรวจสอบรัฐบาล มากกว่าการจะไปพึ่งส.ว. 250 คน

            นอกจากนี้ ทางกลุ่ม Re-solutionจึงเสนอว่านอกจากให้ยุบวุฒิสภาแล้ว ก็จะเพิ่มกลไกตรวจสอบอีกหลายมิติ เช่นเพิ่มอำนาจของสภาในการตรวจสอบนายกฯ โดยเขียนในรัฐธรรมนูญไว้ว่า นายกฯต้องเป็นส.ส. เพื่อนายกฯจะหนีสภาไม่ได้ นายกฯต้องอยู่ในสภาเพื่อถูกตั้งคำถาม โดนตรวจสอบ นอกจากนี้ก็จะเสนอให้เพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายค้านไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นก็ตาม โดยจะเขียนไว้ว่า ให้ตำแหน่งรองประธานสภาฯหนึ่งตำแหน่งเป็นของฝ่ายค้านและให้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการชุดสำคัญๆเช่น กมธ.ตรวจสอบงบประมาณหรือการทุจริต ให้อยู่กับฝ่ายค้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ในอนาคต ฝ่ายรัฐบาลตั้งคนของตัวเองมาควบคุมกรรมาธิการที่ตรวจสอบกระทรวงที่ฝ่ายรัฐบาลบริหารอยู่

            ส่วนโละก็คือการโละศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ อันนี้เราไม่ได้จะยกเลิกแต่จะปฏิรูปเรื่องของที่มา-อำนาจและการตรวจสอบ โดยเมื่อเราเสนอไม่ให้มีวุฒิสภาแล้ว ก็ต้องมาคิดเรื่องที่มาของคนที่จะไปทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระใหม่ที่เราต้องการให้คนมาทำหน้าที่มีความเป็นกลางทางการเมือง กล้าตรวจสอบทุกฝ่าย แต่ยังมีกระบวนการสรรหาที่ยึดโยงประชาชน เราจึงเสนอให้ใช้กลไกของสภามาเกี่ยวข้องในการรับรองคนที่เข้าไปดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ยกตัวอย่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังให้มี 9 คน แบ่งที่มาเป็นหลัก 3-3-3 โดย 3 คนแรกมาจากการสรรหาของ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ที่สองแห่งจะเสนอชื่อมารวม6 ชื่อแล้วสภาก็คัดให้เหลือ 3 ชื่อ ส่วนอีก 3 คนก็มาจากส.ส.รัฐบาลเสนอชื่อมา 6 คนแล้วสภาก็คัดให้เหลือ 3 ชื่อ และ 3 คนสุดท้ายมาจากส.ส.ฝ่ายค้านเสนอไป 6 ชื่อแล้วสภาก็คัดให้เหลือ 3 ชื่อ โดยกระบวนการที่ให้สภาคัดเลือกก็เพื่อให้คนเข้าไปทำหน้าที่ได้รับฉันทามติจากทุกฝ่ายจริงๆ โดยเราจะเพิ่มเงื่อนไขว่า ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนส.ส. เพื่อป้องกันว่าหากรัฐบาลมีเสียงข้างมากก็จะคุมทุกอย่างได้หมด ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ทั้งฝ่ายศาล-ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้เสนอชื่อคนเข้ามา แต่เสนอมาแล้วก็ต้องได้รับการรับรองจากทุกฝ่าย คือส.ส. 2ใน3 ของสภา

            ส่วนเลิกก็คือเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ เพราะมองว่านโยบายต้องมีความยืดหยุ่นและเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองและประชาชนที่จะร่วมเสนอในการเลือกตั้งแต่ละครั้งแทนที่จะล็อกไว้ 20 ปี และเปิดช่องให้คสช.เล่นงานฝ่ายตรงข้ามได้โดยนโยบายต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ

            อันสุดท้ายล้างก็คือการล้างมรดกรัฐประหาร โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 279ที่ให้คำสั่งคสช.ชอบด้วยกฎหมายโดยอัตโนมัติ ก็จะยกเลิกอันนี้เพื่อให้ทุกคำสั่งคสช.ในอดีตต้องมาถูกวัดว่าขัดรัฐธรรมนูญและหลักการสิทธิมนุษยชนหรือไม่

-คาดหวังกับความตื่นตัวของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ที่จะสนใจจะมาร่วมลงชื่อด้วยกับกลุ่ม Re-solution  ที่ต้องการหนึ่งล้านชื่อ?

            ผมคิดว่า หากดูจากปี 2563 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าประชาชนตื่นตัวมากเรื่องรัฐธรรมนูญจนทำให้ไอลอว์สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้กว่า1แสนรายชื่อภายในเวลา1เดือนจนเสนอเป็นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญส่งไปที่รัฐสภาแสดงว่าประชาชนตื่นตัวในประเด็นนี้และเริ่มมีฉันทามติเยอะขึ้นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาจริงๆ

สิ่งสำคัญในการทำงานเคลื่อนไหวกับภาคประชาชนก็คือการที่เราต้องพยายามทำให้เห็นชัดว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เสนอกันหลายฝ่ายตอนนี้เช่น พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ และทาง Re-solution เราก็เสนอ สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้ประชาชนตื่นรู้และเข้าใจว่า หากเราจะออกจากวิกฤติการเมืองนี้ได้จริงและกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงๆมันต้องเป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แตะถึงต้นตอของปัญหาได้จริง  ที่ก็คือระบอบประยุทธ์ไม่ว่าจะเป็นที่มาและโครงสร้างของ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระแต่ที่เราเห็นในปัจจุบันข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของแต่ละพรรคการเมือง ไม่ได้แตะถึงต้นตอของปัญหาเลย อย่างของพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้แตะเรื่องอำนาจของส.ว. ส่วนของประชาธิปัตย์ก็แตะเรื่องอำนาจในการเลือกนายกฯ แต่ไม่ได้แตะเรื่องโครงสร้าง-ที่มาของวุฒิสภา

            ข้อเสนออะไรก็ตาม หากจะให้แก้วิกฤติการเมืองไทยได้จริง และสร้างระบอบที่เป็นกลางกับทุกฝ่ายจริงๆมันจำเป็นต้องรื้อตัวระบอบประยุทธ์ออก ความเคลื่อนไหวและความตื่นรู้ของประชาชนจึงสำคัญมาก เราปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐสภาฝ่ายเดียวไม่ได้ ก็ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของประชาชนนอกรัฐสภา ที่จะส่งเสียงเข้าไปในรัฐสภา

-ตอนที่ไอลอว์เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เข้าไปโดยมีประชาชนกว่าหนึ่งแสนรายชื่อลงชื่อเห็นด้วย แต่ก็โดนคว่ำตั้งแต่วาระแรก เหมือนกับส.ส.-สว. ก็ไม่ได้แคร์กับประชาชนกว่าหนึ่งแสนคน?

            ผมคิดว่าตัวเลขก็เป็นมิติหนึ่งที่สำคัญ ข้อเสนอของไอลอว์ก็ถูกรัฐสภาปัดตกจริง แต่เราก็ต้องมองว่าข้อเสนอครั้งนั้นก็ส่งผลกระทบต่อท่าทีของสมาชิกรัฐสภาเหมือนกัน เพราะหากไม่มีข้อเสนอในวันนั้น ผมไม่มั่นใจว่าพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วยหรือไม่ เพราะก่อนที่ไอลอว์จะขับเคลื่อนก็เห็นมาตลอดว่าฝ่ายรัฐบาลไม่ได้มีท่าทีเอาจริงเอาจังในการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปที่รัฐสภาเลย แต่พอมีการขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่เสนอเข้าไปกว่าหนึ่งแสนรายชื่อ เลยทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องมีปฏิกิริยาตอบรับ จนมีสองร่างแก้ไขรธน.(พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน) ผ่านรัฐสภาในวาระแรกและวาระสองไปได้

ผมจึงคิดว่าพลังของนอกรัฐสภาก็ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของคนในรัฐสภาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเรายิ่งมีจำนวนรายชื่อเยอะเท่าไหร่ประชาชนเข้าใจในเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรียกร้องในเนื้อหาเหล่านี้ ผมว่ามันส่งผลกระทบต่อท่าทีของสมาชิกรัฐสภาแน่นอน

             ผมว่าการทำงานการเมืองเราต้องทำด้วยความหวัง เพราะหากเราอยู่บนพื้นฐานว่า ไม่มีทางหรอกที่ส.ว.จะยอมให้มีการตัดอำนาจของตัวเอง มันก็ยากที่จะขับเคลื่อนอะไรต่อไปได้ แต่ว่าการที่ไอลอว์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปในรัฐสภาวันนั้น ก็เห็นชัดว่าส.ว.ก็เริ่มมีท่าทีซึ่งเปลี่ยนไปบ้าง อย่างร่างที่ให้ตัดอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ก็มีส.ว.ลงมติเห็นชอบด้วยกว่า50 คน จึงไม่ใช่ว่าจะเป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้

            -กรอบการแก้ไขรธน.ของกลุ่ม Re-Solutionไปแตะหลายโครงสร้างอำนาจ แบบนี้คาดหวังไว้แค่ไหนว่าจะสำเร็จ หรือว่าได้สักแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ที่เสนอไปก็พอใจแล้ว?

            เราต้องยืนยันในหลักว่าท้ายที่สุดแล้วโครงสร้างขององค์กรต่างๆ ควรเป็นอย่างไร คือประชาชนดังนั้นถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงสร้างที่เราเสนอ ผมคิดว่ามันก็เป็นสิ่งที่ควรจะถูกผลักดันได้ เพราะเนื้อหาที่เราเสนอมาไม่ได้เป็นการสร้างโครงสร้างที่ทำให้มีความได้เปรียบกับฝ่ายใดฝายหนึ่ง  หลายคนอาจเห็นพอมีผมกับอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล สองคนมาเป็นคนนำเรื่องนี้จะเป็นการสร้างโครงสร้างที่ทำให้ฝ่ายเราได้เปรียบหรือไม่ ก็ต้องขอยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เรานำเสนอเป็นสิ่งที่เป็นกลางกับทุกฝ่ายจริงๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทย เพราะเราแค่ต้องการสร้างสมรภูมิการเมืองที่ทุกฝ่ายแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมเมื่อเรายืนยันในหลักตรงนี้คืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และทุกฝ่ายทางการเมืองที่จะเข้ามาเช่น พรรคการเมืองที่จะเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้แทนต้องแข่งขันบนกติกาเดียวกัน ผมก็ว่าน่าจะทำให้ทุกฝ่ายมีฉันทามติร่วมกันได้ 

            -หากสุดท้ายไม่สามารถรื้อระบอบประยุทธ์ได้ การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร?

            ผมก็กังวล โดยปัจจุบันหากมองภาพรวมผมว่าตอนนี้เราอยู่ในเกมชักเย่อในมุมหนึ่งเรามีประชาชนที่ตื่นตัวต้องการเห็นประชาธิปไตย ต้องการเห็นระบอบที่เป็นธรรม เป็นกลางกับทุกฝ่าย แต่อีกมุมหนึ่งเรามีระบอบ มีระบบที่มีความล้าหลัง มีความถดถอยในความเป็นประชาธิปไตย หรือระบอบประยุทธ์ที่เป็นองคาพยพที่ไม่พร้อมสร้างกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และพยายามฉุดรั้งเราไว้ข้างหลัง

            การต่อสู้จึงเหมือนกับการชักเย่อคือมีสังคมที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง กับระบบที่มันล้าหลังและถดถอย ซึ่งถดถอยไปมากกว่า20ปีเพราะหากเทียบรัฐธรรมนูญ 2560 กับรัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านมา20ปี แต่ประชาธิปไตยเราถดถอยลง มันก็เลยดึงกันอยู่ เลยเกิดสภาวะตึงเครียดขึ้น

            สิ่งที่ผมอยากแชร์ก็คือ ฝ่ายที่เป็นเจ้าของระบบที่ล้าหลัง เขาอาจมองว่าเขาได้เปรียบอยู่ เขามีแรงมากกว่า ยังไงเขาก็ชนะ มีกองทัพในมือ มีกฎหมายในมือ แต่อย่าลืมว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมันพัดไปในทิศทางเดียว และสังคมจะมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีทำให้ประชาชนคนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางขึ้น มันก็มีแต่สังคมจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าระบบตรงนี้ ระบอบประยุทธ์ไม่ประนีประนอมไม่มีความพร้อมที่จะเดินมาพร้อมกับสังคม สักวันหนึ่งเชือกนี้มันจะขาด แล้วผมก็มองว่าการที่เชือกมันขาดมันอาจหมายถึงการที่การปะทะทางความคิดจะกลายมาเป็นการปะทะบนท้องถนนที่เกิดความรุนแรง ซึ่งผมก็หวังว่าคงไม่มีใครอยากจะเห็น หรือหากเชือกมันขาดคนที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็คือตัวเจ้าของระบบที่มันล้าหลัง

ผมก็เลยอยากเชิญชวนว่าแม้คุณอาจจะเป็นคนที่ริเริ่มกติกานี้ขึ้นมา หรืออาจได้ผลประโยชน์จากกติกาตรงนี้ แต่ก็อยากให้คุณเดินมาพร้อมกับสังคมที่มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้คุณไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และใครที่อาจมองว่าตัวเองไม่ได้อยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยังมองว่าตัวเองเป็นกลางอยู่ ผมก็อยากย้ำว่าข้อเสนอของเรามันคือข้อเสนอที่เป็นกลางที่สุด คือข้อเสนอที่พยายามสร้างระบอบที่เป็นกลางกับทุกฝ่าย ไม่ได้เป็นระบอบที่ให้ท้ายกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คุณก็สามารถมาร่วมรณรงค์หรือเห็นด้วยกับข้อเสนอของเราได้

วรพล กิตติรัตวรางกูร

......................................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"