ความวุ่นวายที่ไอร์แลนด์เหนือ


เพิ่มเพื่อน    

เหตุจลาจลเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาในไอร์แลนด์เหนือ (ภาพจาก democracynow.org)

 

             ปลายมีนาคมจนถึง 2 สัปดาห์แรกของเมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดความวุ่นวาย ถึงขั้นก่อจลาจลในหลายเมืองของไอร์แลนด์เหนือ โดยเฉพาะที่เมืองหลวง “เบลฟาสต์” ทั้งขว้างปาก้อนอิฐ ก้อนหิน ระเบิดเพลิง และจุดไฟเผารถยนต์ มีผู้บาดเจ็บทั้งประชาชนและตำรวจเป็นจำนวนมาก ที่ถูกจับกุมก็ไม่น้อย บางคนเป็นเยาวชนอายุเพียง 12-13 ปีเท่านั้น เหตุการณ์นี้ทำให้นึกย้อนไปถึงความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือที่ยืดเยื้อยาวนาน หรือ “The Troubles” ระหว่างปี ค.ศ.1969-1998

                ชนวนเหตุแห่งความรุนแรงครั้งใหม่นี้มาจากกลุ่มผู้ภักดีต่ออังกฤษ (Loyalists) และสหภาพนิยม (Unionists) ซึ่งเป็นผู้นับถือคริสต์โปรเตสแตนต์ ไม่พอใจที่เห็นสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ “อียู” อันทำให้เกิดความยุ่งยากหลายประการแก่ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ปัจจุบันไอร์แลนด์เหนือมีประชากรเกือบ 2 ล้านคน นับถือคริสต์โปรเตสแตนต์ประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ และนับถือคาทอลิกประมาณ 41 เปอร์เซ็นต์ ในอดีตมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง รัฐบาลท้องถิ่นไอร์แลนด์เหนือได้มีการจัดสรรตำแหน่งและเกลี่ยอำนาจให้เป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรอบใหม่อยู่เสมอมา

 

                การเจรจาของสหราชอาณาจักรกับอียูนั้นมีการนำ “ข้อตกลงกูดฟรายเดย์” (Good Friday Agreement) มาพิจารณาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยข้อตกลงดังกล่าวระหว่างสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ประกาศใช้เมื่อ 10 เมษายน ค.ศ.1998 ระบุไว้ข้อหนึ่งว่า จะไม่มีการตั้งจุดตรวจระหว่างเขตแดนของไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เพื่อความรู้สึกว่าเกาะไอร์แลนด์ไม่ได้ถูกแบ่งแยก โดยการไปมาหาสู่ระหว่างกันไม่ต้องใช้พาสปอร์ต

                ไอร์แลนด์เป็นเกาะที่อยู่ทางตะวันตกของเกาะบริเตนใหญ่ (ประกอบด้วย อังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์) แยกจากกันด้วยทะเลไอริช (Irish Sea) ส่วนที่ใกล้เกาะบริเตนใหญ่ที่สุดคือ “ไอร์แลนด์เหนือ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ด้าน “สาธารณรัฐไอร์แลนด์” อยู่ทางใต้ มีพื้นที่ราว 5 ใน 6 ของทั้งเกาะ เป็นประเทศในอียูที่ไม่ได้อยู่บนภาคพื้นทวีปยุโรป การขนส่งสินค้าไปมาระหว่างกันจึงมีเกาะบริเตนใหญ่คั่นกลาง ปัจจัยสำคัญนี้ทำให้การออกจากอียูของสหราชอาณาจักรใช้เวลาเจรจาต่อรองอยู่นาน 4 ปีกว่าจะสำเร็จ มีผลเมื่อ 1 มกราคมที่ผ่านมา

                ข้อเสนอที่อังกฤษนำประเทศออกจากกลุ่มประเทศตลาดเดียวของอียูได้เรียกว่า Northern Ireland Protocol นั่นคือจะไม่มีการตั้งด่านศุลกากรคอยตรวจสอบสินค้าบนผืนเกาะที่เป็นเขตแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Hard border) แต่การตรวจสอบจะเกิดขึ้นที่ท่าเรือของไอร์แลนด์เหนือ เกิดสิ่งที่เรียกว่าด่านทางทะเล (Sea borde) ทำให้ชาวไอร์แลนด์เหนือที่เป็นผู้ภักดีต่ออังกฤษและชาวสหภาพนิยม รู้สึกเหมือนถูกตัดขาดจากอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร

                ก่อนได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี “บอริส จอห์นสัน” ได้ลั่นวาจาไว้ว่า รัฐบาลของเขาจะไม่มีทางทำข้อตกลงใดๆ กับอียู หากว่าต้องตั้งด่านศุลกากรบริเวณท่าเรือชายฝั่งของไอร์แลนด์เหนือ แต่เมื่อได้เป็นนายกฯ เขาก็ผิดสัญญา ฝ่ายผู้ภักดีต่ออังกฤษและสหภาพนิยมเหมือนถูกทรยศ รู้สึกว่าความเป็นคนอังกฤษของพวกเขาเริ่มสั่นคลอน

                กลางปีที่แล้ว อดีตหัวหน้าข่าวกรองของ Irish Republican Army หรือขบวนการไออาร์เอ นามว่า “บ็อบบี สตอรี” เสียชีวิตลง เวลานั้นรัฐบาลได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 แต่ได้มีการจัดพิธีศพสตอรีเสียใหญ่โต และได้เคลื่อนขบวนไปบนถนนในกรุงเบลฟาสต์ด้วย ผู้คนฝ่าฝืนมาตรการการรวมตัวกันในที่สาธารณะมาร่วมแห่ศพราว 2,000 คน ในกลุ่มผู้ร่วมงานมีนักการเมืองของพรรคชินเฟน (Sinn Fein) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมไอริช รวมถึงนางมิเชลล์ โอนีลล์ รัฐมนตรีจากพรรคนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นนางโอนีลล์เป็นผู้กำชับให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดจน “ฝ่ายนิยมอังกฤษ” ยกเลิกงานพาเหรดในช่วงเวลาดังกล่าวไปหลายงาน แต่ตัวนางโอนีลล์กลับฝ่าฝืนกฎเสียเอง นั่นยังไม่เท่ากับที่อัยการสั่งไม่ฟ้องท่านรัฐมนตรี และไม่มีผู้เกี่ยวข้องออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ ส่งผลให้ความขุ่นเคืองก่อตัวขึ้นในหมู่ของฝ่ายนิยมอังกฤษรอวันปะทุ

                กำหนดเริ่มต้นการตั้งด่านศุลกากรที่ท่าเรือของไอร์แลนด์เหนือนั้นคือวันที่ 1 มกราคมปีนี้ ซึ่งเป็นวันที่การถอนตัวจากอียูของสหราชอาณาจักรเริ่มมีผล แต่ได้มีการอนุโลมให้ในช่วง 3 เดือนแรก ในช่วงนี้เจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือเริ่มได้รับการข่มขู่ และปลายเดือนมีนาคมความรุนแรงก็เกิดขึ้น ทั้งโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และปะทะกับฝ่ายชาตินิยมไอริช

กลุ่มไออาร์เอใหม่ยังคงเคลื่อนไหว ภาพฝาผนังจากฝั่งชุมชนคาทอลิกระบุว่าการปฏิวัติยังไม่เสร็จสิ้น (ภาพจาก cisac.fsi.stanford.edu)

 

                ย้อนไปในอดีตนานกว่า 1,000 ปี เกาะไอร์แลนด์มีกษัตริย์อยู่ตามเมืองเล็กเมืองน้อยทั่วเกาะ และมีกษัตริย์สูงสุด (High King) อยู่ 1 องค์ จนกระทั่งปี ค.ศ.1171 “พระเจ้าเฮนรีที่ 2” แห่งอังกฤษบุกเกาะไอร์แลนด์ เพราะเกรงว่ากองทัพนอร์แมนที่เข้ามาก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.1169 (ในนามของพระองค์เอง) จะตั้งอาณาจักรนอร์แมนขึ้น สนธิสัญญาวินเซอร์ ปี ค.ศ.1175 ทำให้ไอร์แลนด์อยู่ภายใต้จักรวรรดิอังกฤษนับแต่นั้น

                มีการต่อต้านการรุกรานและก่อกบฏต่ออังกฤษอยู่เนืองๆ บางครั้งก็มาจากการยุแยงจากชาติบนภาคพื้นทวีปยุโรปเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของอังกฤษ และทำให้อังกฤษต้องส่งกำลังเข้าไปปราบปราม สมัย “พระเจ้าเฮนรีที่ 3” ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1530 ได้ส่งกองทัพเข้าไป เรียกว่า “การพิชิตของทิวดอร์” ทว่ากลับใช้เวลานานกว่า 60 ปี นานกว่าที่ใครๆ คาดการณ์ไว้มาก

                ช่วงที่เรียกว่า “การพิชิตของทิวดอร์” นี้เริ่มในช่วงการปฏิรูปทางศาสนา (Reformation) เวลานั้นมีชาวคริสต์ถอนตัวออกจากคาทอลิกเป็นจำนวนมากเพื่อตั้งนิกายใหม่ๆ เรียกว่าพวกโปรเตสแตนต์ ในตอนต้นพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปศาสนา แต่เมื่อศาสนจักรไม่ยอมประกาศให้การอภิเษกสมรสของพระองค์กับราชินีแคทเธอรีนก่อนหน้านั้นเป็นโมฆะ (ด้วยเหตุผลต้องการอภิเษกสมรสใหม่กับแอนน์ โบลีน) พระองค์จึงตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “แองกลิกันเชิร์ช” หรือ “คริสตจักรแห่งอังกฤษ” และดำรงตำแหน่งประมุขด้วยพระองค์เอง จากนั้นก็ประกาศให้ไอร์แลนด์เป็นชาติแองกลิกันด้วยเหมือนเช่นกับบริเตนใหญ่ทั้งหมด ทว่าในเวลานั้นไอร์แลนด์เป็นชาติที่นับถือคาทอลิกอย่างเคร่งครัดเข้มแข็ง เมื่อขุนนางหรือผู้รับราชการไม่เปลี่ยนนิกายก็ถูกถอนจากตำแหน่ง ส่งผลให้ความแตกต่างของนิกายศาสนาเป็นอีกปัจจัยหลักของความขัดแย้ง

                คำประกาศของอังกฤษไม่ค่อยได้ผล ชาวไอริชไม่เปลี่ยนนิกายเพื่อตำแหน่งการงาน ทำให้อังกฤษต้องแต่งตั้งชาวอังกฤษและชาวสกอตเข้าไป จัดสรรที่ดินและใบอนุญาตต่างๆ ให้กับโปรเตสแตนต์เหล่านี้ ส่วนมากตั้งถิ่นฐานใน “อัลสเตอร์” ซึ่งอัลสเตอร์เป็น 1 ใน 4 ภูมิภาคของเกาะไอร์แลนด์ อยู่ทางด้านเหนือ ใกล้เกาะบริเตนใหญ่มากที่สุด

                อัลสเตอร์กลายเป็นฐานของโปรเตสแตนต์ในดินแดนคาทอลิก ซึ่งฝ่ายไอริชคาทอลิกมองว่าเป็นชาวต่างชาติผู้บุกรุก ก่อเกิดเป็นลัทธิชาตินิยมและความขัดแย้งทางศาสนา ภายในไม่กี่ช่วงอายุคน ลูกหลานของชาวโปรเตสแตนต์ที่บรรพบุรุษย้ายถิ่นฐานมาจากเกาะบริเตนใหญ่ ถือว่าพวกเขาเป็นชาวไอริชเหมือนเช่นไอริชที่อยู่มาก่อน พวกเขาจำนวนมากไม่เคยเดินทางข้ามไปอังกฤษ แต่พึ่งพาการปกป้องคุ้มกันจากอังกฤษสำหรับสิทธิพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิในที่ดิน ในขณะที่ความต้องการทรัพยากรของฝ่ายคาทอลิกมีมากกว่า เพราะพวกเขาเป็นประชากรหลักและอยู่มาก่อน

                การก่อกบฏเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลายร้อยปี ทุกครั้งฝ่ายอังกฤษปราบได้หมด แต่มีจุดเปลี่ยนสำคัญในปี ค.ศ.1798 ซึ่งได้อิทธิพลมาจากการปฏิวัติที่สำเร็จของสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีกองกำลังของฝรั่งเศสได้เข้ามาช่วยฝ่ายไอร์แลนด์ด้วย พวกเขาทำได้ดีในช่วงแรก ชนะในบางสมรภูมิ แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ในสงคราม และผลจากความปราชัยก็ทำให้ถูกอังกฤษรวมสภาแห่งไอร์แลนด์เข้ากับสภาของสหราชอาณาจักร

                เหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งถัดมาคือ Easter Rising หรือ “การลุกฮือเทศกาลอีสเตอร์” เมษายน ค.ศ.1916 ช่วงเวลานี้สหราชอาณาจักรกำลังโรมรันอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 กบฏไอริชรวมตัวกันหลายกลุ่มก้อน เข้ายึดอาคารสำคัญๆ ในกรุงดับลิน และประกาศตั้งสาธารณรัฐไอริช อังกฤษส่งเรือปืนเข้ามา ทหารข้ามทะเลมา 16,000 นายพร้อมปืนใหญ่ ฝ่ายกองกำลังไอริชต้านอยู่ได้ไม่กี่วันก็ถูกกองทัพอังกฤษ และตำรวจไอร์แลนด์สยบการก่อกบฏลงได้ ทหารและพลเรือนเสียชีวิตรวมกันทั้ง 2 ฝ่าย 485 คน กบฏชาวไอริชหลายพันกลายเป็นนักโทษ ผู้ก่อการจำนวน 16 คนถูกประหารชีวิต

                อย่างไรก็ตาม การลุกฮือครั้งนี้ได้ปลุกให้ชาวไอริชเพรียกหาอิสรภาพยิ่งกว่าเดิม และรู้สึกได้ว่าควรเอาการใช้กำลังมานำหน้าการเมือง เพราะการต่อสู้ด้วยความเป็นชาตินิยมภายใต้กฎหมายที่ผ่านมา 50 ปีก่อนหน้านั้นไม่ได้ผล

                การเลือกตั้งเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1918 พรรคสหภาพนิยมของโปรเตสแตนต์ที่มีฐานทางเหนือของประเทศได้จำนวนที่นั่งในสภาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่พรรคชาตินิยมสายกลางที่เคยครองเสียงข้างมากเกือบสูญพันธุ์ ขณะที่พรรคชาตินิยมสุดโต่ง คือ “พรรคชินเฟน” (แปลว่า “พวกเราเอง”) ชนะอย่างถล่มทลาย ได้จำนวน ส.ส. 73 ที่นั่ง จากทั้งหมด 105 ที่นั่ง ในสภาไอร์แลนด์ (ทั้งหมดเข้าไปเป็นผู้แทนในสภาสหราชอาณาจักรด้วย มี ส.ส. รวม 707 คน) ในการประชุมสภาไอร์แลนด์ครั้งแรกเดือนมกราคม ค.ศ.1919 พวกเขาก็ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ และตั้งรัฐบาลแยกออกมา จึงได้นำไปสู่ “สงครามแองโกล-ไอริช” ระหว่าง ค.ศ.1919-1921

                สงครามนี้เรียกอีกชื่อว่า “สงครามไอริชเพื่ออิสรภาพ” นำโดยกองกำลังสาธารณรัฐไอริช (Irish Republican Army) หรือ “ไออาร์เอ” (ตั้งขึ้นปี ค.ศ.1913) สู้กับกองทัพบกอังกฤษ ตำรวจรอยัลไอริช หน่วยกำลังเสริม และกำลังรบกึ่งทหารจากภูมิภาคอัลสเตอร์ ฝั่งไออาร์เอเน้นการรบแบบกองโจร ฝ่ายอังกฤษสูญเสียไม่น้อย โดยเฉพาะในดับลินและคอร์ก แต่ในเบลฟาสต์ชาวโปรเตสแตนต์ที่เป็นสหภาพนิยมและกลุ่มผู้ภักดีตั้งกองตำรวจพิเศษขึ้นโจมตีชุมชนคาทอลิกที่มีจำนวนน้อยกว่าเพื่อตอบโต้การกระทำของไออาร์เอ โดยรวมแล้วในสงครามเกือบ 3 ปี มีผู้เสียชีวิตไปราวๆ 2,000 คน ฝ่ายอังกฤษตายไปมากกว่า แต่ในภูมิภาคทางเหนือ โดยเฉพาะเบลฟาสต์ที่มีผู้เสียชีวิตถึงราว 500 คน ส่วนใหญ่นับถือคาทอลิก

                พฤษภาคม ค.ศ.1921 ไอร์แลนด์ก็ถูกแบ่งออกภายใต้พระราชบัญญัติรัฐบาลไอร์แลนด์ (ของอังกฤษ) เกิด “ไอร์แลนด์ใต้” ซึ่งเป็นการรวม 26 เคาน์ตี จากทั้งหมด 32 เคาน์ตีของไอร์แลนด์ ที่เหลือ 6 เคาน์ตีคือ “ไอร์แลนด์เหนือ” มีการหยุดยิงในเดือนกรกฎาคม

                การเจรจาจบลงที่ “สนธิสัญญาแองโกล-ไอริช” ในเดือนธันวาคม 1921 จากนั้นไอร์แลนด์ก็เกิดขึ้นในชื่อ “เสรีรัฐไอริช” (Irish Free State) ในปลายปี 1922 พวกเขามีอำนาจปกครองตนเอง แต่ยังเป็นชาติในเครือจักรภพเหมือนเช่นแคนาดา ส่วนไอร์แลนด์เหนือยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

                กลุ่มไออาร์เอส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญาดังกล่าว เพราะต้องการให้แผ่นดินไอร์แลนด์ทั้งหมดเป็นเอกราชจากอังกฤษ กลุ่มที่เห็นด้วยกับสนธิสัญญาแยกไปตั้ง Irish National Army หรือ “ไอเอ็นเอ” สนับสนุน “เสรีรัฐไอริช” จากนั้นพวกเขาสู้กันเองในสงครามกลางเมืองไอร์แลนด์ ระหว่างปี 1922-1923 ฝ่ายเสรีรัฐไอริชได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษด้วย ทำให้ไออาร์เอพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง แต่พวกเขาก็ยังคงมีตัวตนต่อไป มุ่งหมายจะล้มทั้งเสรีรัฐไอริชและไอร์แลนด์เหนือ

            ต่อมา “เสรีรัฐไอริช” ออกรัฐธรรมนูญเองและผ่านการลงประชามติในปี 1937 มีชื่อเรียกประเทศใหม่ว่า “ไอร์แลนด์” กลายเป็นสาธารณรัฐ ก่อนจะมีกฎหมายออกมาในปี 1948 ใช้ชื่อ “สาธารณรัฐไอร์แลนด์” เป็นชาติเอกราชเด็ดขาดในปี 1949 และเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 1955

                ฝ่ายไออาร์เอยังคงเคลื่อนไหวต่อ แยกออกไปหลายกลุ่ม แต่ที่ยังฮาร์ดคอร์กว่าใครก็คือ Provisional Irish Republican Army (ไออาร์เอภูมิภาค) ตั้งขึ้นในปี 1969 หรือที่เรารู้จักกันในนาม “ขบวนการไออาร์เอ” ปฏิบัติการในไอร์แลนด์เหนือ ได้รับการสนับสนุนหลักๆ จากชาวไอริชในอเมริกา และ “มูอัมมาร์ กัดดาฟี” ผู้นำลิเบีย

                ขบวนการไออาร์เอคอยซุ่มโจมตีด้วยอาวุธหนักและก่อจลาจลในไอร์แลนด์เหนือ อีกทั้งก่อวินาศกรรมมุ่งทำลายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอังกฤษบนเกาะบริเตนและภาคพื้นทวีปยุโรป ก่อนจะประกาศหยุดยิงในปี 1997 หลังจากพรรคชินเฟน ซึ่งเป็นปีกการเมืองของพวกเขาได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในการเจรจาและลงเลือกตั้งในไอร์แลนด์เหนือได้ และในวัน “ศุกร์ประเสริฐ” ก่อนวันอีสเตอร์ ปี 1998 ก็เกิด “ข้อตกลงกูดฟรายเดย์” ขึ้น เป็นอันสิ้นสุดยุคสมัยที่เรียกว่า The Troubles นำไปสู่ความสงบแบบที่ยังอึมครึม เกิดกำแพงแห่งสันติ (Peace Lines) กั้นชุมชนคาทอลิกและโปรเตสแตนต์นับร้อยแห่ง ยาวรวมกันประมาณ 35 กิโลเมตร

            แต่กลุ่มไออาร์เอก็ไม่เคยตาย มีการแยกตัวออกไปอีก เช่น กลุ่ม Real Irish Republican Army หรือ “ไออาร์เอของแท้” พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการหยุดยิง.

 

**********************

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"