อาเซียนไม่ใช่องค์กรประชาธิปไตย


เพิ่มเพื่อน    

 

ภาพ : การประชุมทางไกลของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ

เครดิตภาพ : https://vietnamnews.vn/politics-laws/891943/asean-foreign-ministers-statement-on-covid-19-recovery-myanmar-issues.html

---------------------------------

       อาเซียนหรือประชาคมอาเซียนไม่ใช่องค์กรประชาธิปไตย ไม่ได้มีเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย อันที่จริงแล้วชาติสมาชิกหลายประเทศไม่ได้ปกครองด้วยประชาธิปไตย เช่น บรูไน เป็นระบอบกษัตริย์ตามแนวทางอิสลาม เวียดนามกับ สปป.ลาว เป็นสังคมนิยม ส่วนที่รัฐธรรมนูญของบางประเทศระบุว่า ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็ต้องพิจารณาว่าเป็นสักกี่ส่วน

วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของอาเซียน :

            การจะเข้าใจอาเซียนควรเริ่มต้นด้วยการเข้าใจวัตถุประสงค์ดั้งเดิมขององค์กรระหว่างประเทศนี้

                แม้ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน 5 ชาติ ประกาศความร่วมมืออย่างครอบคลุม รวมเศรษฐกิจสังคม แต่เหตุผลหลักในช่วงก่อตั้ง คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ต้องการต่อต้านภัยจากสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อสงครามเย็นยุติ การรับเวียดนามเป็นสมาชิกเมื่อปี 1995 เป็นก้าวสำคัญของอาเซียน (ตามมาด้วย สปป.ลาว เมียนมาและกัมพูชา) หวังอยู่ร่วมกันแม้ระบอบการปกครองแตกต่าง  ชาติสมาชิกรู้ดีว่าการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ไม่ถูกมหาอำนาจแทรกแซง กลายเป็นสนามรบทำสงครามตัวแทน (proxy war) คือแนวทางที่ดีกว่า ไม่อยากให้เกิดสงครามอินโดจีน สงครามเวียดนามซ้ำอีก

                เป้าหมายของอาเซียนจึงไม่ใช่เพื่อให้ทุกประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่ให้สมาชิกทุกประเทศอยู่ด้วยกันได้แม้ระบอบปกครองต่างกัน อาจอธิบายว่า “เอกราช”  ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นใคร คือหัวใจอาเซียน ชาติสมาชิกทุกประเทศยึดมั่นร่วมกัน

ขยายการค้าการลงทุน ประชาคมอาเซียน :

            เมื่อชาติมั่นคงไม่เป็นสนามรบเวทีประลองกำลังของมหาอำนาจ เรื่องต่อมาที่ต้องใส่ใจคือให้ประชาชนมีกินมีใช้ บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า จึงเกิดเขตการค้าเสรีอาเซียนด้วยกติกาที่สมาชิกทั้งหมดยอมรับ และล่าสุดเกิด RCEP เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่โตเพราะรวมจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากรเกือบครึ่งโลก รวม 29% ของปริมาณการค้าโลก

                และเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้นำกองทัพเมียนมาจึงเปิดประเทศให้เลือกตั้งแบบประชาธิปไตย แก้กฎหมายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ

                ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นความร่วมมือที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมมากที่สุด ตัวเลขการค้าการลงทุนภายในอาเซียนเพิ่มขึ้นเรื่อยมา

                นโยบายสังคมเป็นอีกด้านที่สำคัญ ให้พลเมือง 10 ชาติรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น ต้องไม่ลืมว่าต่างมีพื้นฐานเศรษฐกิจสังคมแตกต่าง มีประวัติศาสตร์ทำสงครามระหว่างกัน อดีตที่เคยบาดหมางกันซึ่งเป็นเรื่องปกติ ความร่วมมือทางสังคมยังจำเป็นสำหรับความร่วมมือสารพัดเรื่อง เช่น การต่อต้านยาเสพติด การค้ามนุษย์ ฯลฯ

                ถ้าจะเรียกให้ถูกทุกวันนี้ควรเรียก “ประชาคมอาเซียน”  ประชาคมอาเซียนคือการเพิ่มขยายความร่วมมือให้กว้างขึ้นลึกซึ้งขึ้นนั่นเอง วัตถุประสงค์ดั้งเดิมคงอยู่โดยเฉพาะเรื่องอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศ

                นับจากประกาศก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 8 สิงหาคม ค.ศ.1967 จนบัดนี้สมาชิกอยู่อย่างสงบสุข ไม่ทำสงครามกัน นี่คือความสำเร็จที่สำคัญยิ่งของอาเซียน  อันนำมาซึ่งการพัฒนา ประชาชนแต่ละประเทศอยู่กินดีตามอัตภาพ

กรณีประชาธิปไตยเมียนมา :

                หัวข้อบทความนี้คือ “อาเซียนไม่ใช่องค์กรประชาธิปไตย” อาเซียนยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิก จึงเป็นคำถามสำคัญว่าอาเซียนกำลังทำอะไรกับ “ประชาธิปไตยเมียนมา” กำลังละเมิดหรือขัดแย้งหลักการตนเองหรือไม่

                แนวทางของอาเซียนในขณะนี้เทียบเคียงได้กับกรณีโรฮีนจา เป็นสถานการณ์ที่กดดันเนื่องจากหลายประเทศให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การที่โรฮีนจาอพยพไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ประณามประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาว่าไม่ได้ปฏิบัติต่อผู้อพยพโรฮีนจาอย่างเหมาะสม กลายเป็นว่าเรื่องของเมียนมาเป็นเหตุให้เพื่อนบ้านอาเซียนถูกกล่าวโทษด้วย

                กันยายน 2017 อาเซียนมีแถลงการณ์ว่ารู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ในระยะยาวต้องแก้รากปัญหา

                ประเด็นประชาธิปไตยเมียนมาในระยะนี้ ความมั่นคงเป็นประเด็นสำคัญที่สุด หากรัฐสมาชิกมีปัญหาภายใน การเมืองไร้เสถียรภาพ เกิดสงครามกลางเมือง มหาอำนาจแทรกแซง สภาวะเช่นนี้อาเซียนพลอยไม่มั่นคงด้วย เพื่อความมั่นคงของตัวเอง สมาชิกแต่ละประเทศจึงดำเนินนโยบายส่งเสริมให้ชาติสมาชิกอื่นๆ มีความมั่นคง (อย่างน้อยในระดับที่ไม่เป็นอันตราย)

แถลงการณ์อาเซียนต่อสถานการณ์เมียนมา :

                ต้นมีนาคมที่ผ่านมาเหล่ารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศได้หารือ แถลงการณ์ระบุว่าเสถียรภาพทางการเมืองของชาติสมาชิกเป็นเรื่องจำเป็นต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และการอยู่ดีกินดีของประชาคมอาเซียน

                อาเซียนให้ความสำคัญต่อความเป็นเอกภาพ ความเกี่ยวพันในภูมิภาค การเผชิญความท้าทายร่วมกัน ความเข้มแข็งของอาเซียนตั้งอยู่บนการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยเหตุนี้จึงเรียกร้องให้ยึดมั่นกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) รวมถึงการตั้งบนหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ เคารพเสรีภาพพื้นฐาน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

                อาเซียนกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา ขอให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจไม่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงกว่านี้ ขอให้ทุกฝ่ายยืดหยุ่น แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ด้วยการปรึกษาหารือ หาหนทางสมานฉันท์ที่ก่อประโยชน์ต่อทุกคน อาเซียนพร้อมให้การสนับสนุน

                จะเห็นว่าแถลงการณ์นี้ย้ำเตือนหลักการที่มองว่าเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศใดประเทศหนึ่งมีผลต่ออาเซียนทั้งหมด พูดให้ชัดคือเรื่องของเมียนมาไม่ใช่ของเมียนมาเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของชาติสมาชิกอื่นๆ ด้วย

            ในอีกด้านหนึ่งแถลงการณ์ย้ำความสำคัญต่อความคิดเห็นของประชาชน ตั้งบนหลักนิติธรรม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แต่ทั้งนี้หมายถึงการตั้งบนหลักกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย

                ท้ายที่สุดคือขอให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี (ตรงกับการใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกัน แบ่งแยกประเทศ ขอปกครองตัวเอง) หาทางที่ทุกฝ่ายอยู่ได้ ยินดีอยู่ร่วมกัน

                นี่คือจุดยืนของอาเซียน

จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นเรื่องของเมียนมา :

                สำหรับอาเซียนแล้ว เมียนมาจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั่นเป็นเรื่องของเมียนมา (อาเซียนยอมรับการปกครองที่หลากหลายอยู่แล้ว) ที่อาเซียนต้องการคือขอให้ความเป็นไปของเมียนมาไม่กระทบต่อชาติสมาชิกอื่น เช่น ไม่เป็นเหตุให้ภูมิภาคปั่นป่วน ไม่กลายเป็นสงครามกลางเมืองเกิดผู้อพยพหลายล้านคน (อย่างกรณีซีเรีย) ที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องแบกรับภาระ (อย่าให้เป็นเหมือนหลายประเทศในตะวันออกกลางที่ยังวุ่นวายไม่เลิก) ทุกชาติอยากอยู่อย่างสงบทำมาหากิน ลำพังโรคระบาดโควิด-19 ในขณะนี้สร้างปัญหามากพอแล้ว ไม่ต้องการเพิ่มปัญหาจากเรื่องภายในของเมียนมาอีก

                ซึ่งหมายความว่าทั้งฝ่ายกองทัพกับซูจี และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องเห็นด้วยกับความต้องการของอาเซียน ทำอย่างไรทุกฝ่ายจะตกลงกันได้ อาเซียนไม่สนใจว่าเมียนมาจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เป็นเต็มใบหรือครึ่งใบ จะเป็นระบอบกษัตริย์หรือคอมมิวนิสต์ ขอเพียงเมียนมากลับสู่ความสงบ ไม่กระทบเพื่อนบ้านเป็นอันใช้ได้ ชาติสมาชิกพร้อมส่งเสริมให้ความช่วยเหลือ

                ตั้งแต่แรกก่อตั้งอาเซียนจนกลายเป็นประชาคมอาเซียน เป้าหมายขององค์กรนี้ไม่ใช่ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่เป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค ส่งเสริมสันติภาพ ความสงบสุข การพัฒนา การอยู่ดีกินดีของประชาชน และยึดมั่นสิทธิมนุษยชนในระดับหนึ่งตามฉันทามติของชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ.

---------------------------------

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"