รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวนักการทูตหลายรายว่า ชาติอาเซียนกำลังพิจารณาข้อเสนอส่งภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าเมียนมา หวังเป็นก้าวแรกของแผนระยะยาวเพื่อจัดการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายค้าน ขณะ "ฮุน เซน" ออกตัวแรงจะไปร่วมซัมมิตที่จาการ์ตา 24 เม.ย.นี้
แฟ้มภาพ นักกิจกรรมจากกลุ่มสมัครสมานเพื่อเมียนมาและพันธมิตรชานมอินโดนีเซียชุมนุมที่ด้านหน้าสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวเมียนมา เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 (Photo by Dasril Roszandi/NurPhoto via Getty Images)
รายงานข่าวของรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายน กล่าวว่า ข้อเสนอนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาก่อนหน้าจะถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่วางแผนไว้ในเดือนนี้ ซึ่งนักการทูตหลายคนกล่าวว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อาจมาร่วมประชุมด้วย
แม้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนดังกล่าวยังไม่ยืนยันกำหนดที่ชัดเจน แต่ผู้นำคนหนึ่งที่ประกาศแล้วว่าจะมาเข้าร่วมด้วยคือ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ที่เปิดเผยผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันศุกร์ว่า จะจัดในวันที่ 24 เมษายน และตัวเขาจะบินไปกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียเพื่อร่วมการประชุมครั้งนี้
ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งชาติ (ซีอาร์พีเอช) ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารเมียนมา ประกาศจัดตั้งเมื่อวันศุกร์ กล่าวว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติควรมีหน้าที่จัดการความช่วยเหลือที่ได้จากอาเซียน และมิน อ่อง หล่าย ไม่ควรได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมซัมมิต
แม้รัฐมนตรีต่างประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐบาลของบางประเทศในกลุ่มอาเซียนได้พูดคุยกับอดีต ส.ส.เมียนมาในซีอาร์พีเอช แต่ซีอาร์พีเอชไม่ได้รับเชิญจากอาเซียนให้เข้าร่วมซัมมิตด้วย
นักการทูตอาเซียน 2 คนและแหล่งข่าวใกล้ชิดรัฐบาลมาเลเซียเผยกับรอยเตอร์ว่า ข้อเสนอที่กำลังพิจารณาสำหรับที่ประชุมครั้งนี้รวมถึงภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่อาจเป็นการเบิกโรงสำหรับการเจรจาระหว่างกองทัพเมียนมากับรัฐบาลพลเรือนที่โดนยึดอำนาจ
กระนั้น ดูจะมีความเป็นไปได้น้อยที่สองฝ่ายนี้จะเจรจากันในเร็ววัน รัฐบาลทหารกล่าวหาซีอาร์พีเอชว่าก่อการกบฏ ซึ่งมีโทษสูงสุดประหารชีวิต ขณะที่อดีต ส.ส.ก็เรียกมิน อ่อง หล่าย ว่าผู้บัญชาการฆาตกร
ริซาล ซุคมา นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า ข้อเสนอของอาเซียนจะเริ่มต้นด้วยการหยุดความเป็นศัตรู แล้วตามด้วยการจัดส่งความช่วยเหลือ ซึ่งท้ายที่สุดจะสร้างพื้นที่สำหรับการสานเสวนาระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้าน ประการหลังสุดนี้จำเป็นที่กองทัพต้องยอมปล่อยนักโทษการเมือง
นักการทูต 2 คนกล่าวว่า ความคิดเรื่องการแต่งตั้งทูตพิเศษก็กำลังได้รับการพิจารณาด้วย โดยอาจเป็นเลขาธิการอาเซียนเอง หรืออดีตนักการทูตอาวุโส หรือนายทหาร ทูตพิเศษผู้นี้จะทำหน้าที่เจรจากับรัฐบาลทหารและสมาชิกรัฐบาลพลเรือนชุดที่แล้ว
แหล่งข่าวนักการทูตกล่าวด้วยว่า มิน อ่อง หล่าย กำลังชั่งน้ำหนักว่าจะเข้าร่วมซัมมิตที่กรุงจาการ์ตาหรือไม่ แต่ยังไม่มีการตกลงใจที่แน่นอน
อย่างไรก็ดี ดร.ซาซา โฆษกของซีอาร์พีเอช กล่าวว่า การเชิญผู้บัญชาการฆาตกรจะถือเป็นการดูถูกประชาชนชาวเมียนมาผู้กล้าหาญ อาเซียนควรติดต่อเจรจากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติโดยทันที เพื่อยุติความรุนแรงและฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา และความช่วยเหลือไม่ควรส่งผ่านกองทัพเพราะจะโดนขโมย
แต่ซุคมา ซึ่งเป็นอดีตนักการทูตอินโดนีเซีย กล่าวว่า มีความสำคัญที่มิน อ่อง หล่าย ต้องมาเข้าร่วมซัมมิตครั้งนี้ หากการประชุมอาเซียนมีเป้าหมายหลักเพื่อหยุดการเข่นฆ่าโดยกองทัพเมียนมา จะเป็นการดีที่สุดที่จะส่งสารนี้ต่อมิน อ่อง หล่าย โดยตรง และหากซัมมิตครั้งนี้ต้องการเสนอให้มีการหยุดเพื่อมนุษยธรรม ก็ต้องส่งถึงกองทัพเมียนมาโดยตรงเช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |