อย่าให้การทูตไทย หายจากจอเรดาร์โลก!


เพิ่มเพื่อน    

          รัฐบาลโจ ไบเดนของสหรัฐฯ กำลังให้ความสำคัญเวียดนามและสิงคโปร์มากกว่าไทยจริงหรือ?

            ความเห็นของอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำไทยยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นเช่นนั้นจริง

            ไมเคิล จอร์จ เดซอมเบร เขียนบทความลง Wall  Street Journal ตีพิมพ์วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา พาดหัวว่า America’s Oldest Asian Ally, Overlooked หรือ  “พันธมิตรเอเชียเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ กำลังถูกมองข้าม”ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากประเทศไทย

            เหตุผลที่อดีตทูตคนนี้ประกาศเช่นนั้น เพราะแกได้อ่าน แนวทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับชั่วคราว ของรัฐบาลไบเดน

            เอกสารนั้นไม่ระบุชื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรใน Indo-Pacific

            ยุทธศาสตร์นี้กำหนดเป็นนโยบายสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มความเป็นหุ้นส่วนกับอินเดียและทำงานร่วมกับนิวซีแลนด์,  สิงคโปร์และเวียดนาม และ "สมาชิกอาเซียนอื่นๆ"

            ท่านทูตเดซอมเบรตั้งข้อสังเกตว่า ในบรรดา 4  ประเทศที่ได้รับการเอ่ยถึงในเอกสารฉบับนี้ มีนิวซีแลนด์เท่านั้นที่มีสถานภาพเหมือนประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในพันธมิตรนอก NATO ที่สำคัญ (Major non-NATO Ally)

            ท่านทูตบอกว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 25 ประเทศของโลกที่มีจีดีพีสูงสุด

            ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ไม่อยู่ในรายชื่อ 40  ประเทศที่ประธานาธิบดีไบเดนเชิญไปร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงอากาศโลก (Global Climate  Summit) วันที่ 22 เมษายนนี้

            ท่านทูตเตือนความจำว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สหรัฐฯ ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าที่เรียกเป็นทางการว่า Treaty of Amity and  Commerce ในปี 1833

            หลังจากนั้นไทยก็เป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ ในการลงนามข้อตกลง Manila Pact ในปี 1954 และความสัมพันธ์อันแนบแน่นด้านความมั่นคงก็ได้รับการกระชับต่ออีกในปี 2012 และ 2020 ในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยวิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงที่เรียกว่า Vision Statements for the Thai-US Defence Alliance

            นอกจากนี้ สหรัฐฯ กับไทยก็มีส่วนร่วมในการซ้อมรบและกิจกรรมอื่นๆ ปีละไม่น้อยกว่า 400 ครั้ง

            ท่านทูตเดซอมเบรเน้นถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศทางด้านต่อต้านยาเสพติด และไทยเป็นหนึ่งในห้าประเทศทั่วโลกที่ร่วมกับสหรัฐฯ ในการจัดการฝึกมืออาชีพด้านบังคับใช้กฎหมายทั่วเอเชียตั้งแต่การก่อตั้งสถาบัน  ILEA ในปี 1998 ได้ฝึกคนกว่า 22,000 คนแล้วจากทั่วเอเชีย

            ท่านทูตบอกว่าประเทศไทยอยู่ตรงกลางของอาเซียน และอาเซียนเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ของสหรัฐฯ

            เขาเขียนเตือนว่า “ขณะที่รัฐบาลไบเดนกำลังพัฒนานโยบายต่างประเทศและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง  อเมริกาจะต้องไม่ลืมความสำคัญของพันธกรณีต่อประเทศที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย”

            ผมอ่านบทความนี้แล้วก็เห็นว่าสิ่งที่ท่านทูตเดซอมเบรวิพากษ์นั้น น่าจะหมายถึงการทำหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศไทยด้วยที่จะต้องเกาะติดการทำงานของรัฐบาลไบเดนอย่างใกล้ชิด

            เพราะการเปลี่ยนผ่านจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนหนึ่งมาสู่อีกคนหนึ่งนั้น เป็นจังหวะที่เราจะต้องทำให้ทุกกลไกของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับเราได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์อันเก่าแก่กับไทยในทุกๆ มิติ

            การทำหน้าที่ของสถานทูตไทยที่วอชิงตันอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแข็งขันได้

            รัฐบาลและเอกชนกับนักวิชาการจะต้องผนึกกำลังกัน ทำให้ทุกกลไกของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับไทย, อาเซียนและเอเชียได้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของประเทศไทย

            อย่างที่เวียดนามและสิงคโปร์ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิสัยทัศน์และกิจกรรมเชิงรุกทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ถูก "มองข้าม" อย่างที่ทูตเดซอมเบรได้กล่าวถึงในบทความนี้

            อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตันท่านหนึ่งบอกผมว่า บทความนี้น่าจะสะท้อนความจริงที่น่ากังวลประการหนึ่งว่า

                “การทูตไทยหายไปจากจอเรดาร์ของวอชิงตันหรือไม่"?

            การทูตไทยของเราจะมีประสิทธิภาพในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของไทย เราจะต้องทำตัวให้อยู่ในจอเรดาร์ของมหาอำนาจทุกๆ ค่ายอย่างต่อเนื่องและด้วยสาระ

            ที่จะทำให้เขาต้องระลึกถึงด้วยความเคารพในความเป็นมิตร แต่เป็นตัวของตัวเราเองอย่างแข็งขันตลอดเวลา..


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"