16 เม.ย. 2564 นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทตระกูลนักธุรกิจชื่อดัง ขับรถชนตำรวจตาย ว่า จากคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน สรุปผลการตรวจสอบส่งไปยังนายกฯ แล้วเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แจ้งว่า เรื่องนี้นายกฯ ให้ส่งยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ต่อมา เลขาฯ ป.ป.ท. ได้นำฉบับเต็มมาส่งให้ ก.อ. โดยเอกสารและพยานวัตถุทั้งหมดเป็นเอกสารลับ
นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า ส่วนการที่จะสอบสวนบุคคลใดนั้น ความเห็นของคณะทำงานชุดนายวิชาสรุปได้ง่ายๆ ว่า มีอัยการเกี่ยวข้อง 3 คน คือ 1.นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผู้สั่งคดี ถูกกล่าวหาผิดวินัยร้ายแรงและอาญา 2.อัยการสูงสุด ซึ่งถูกกล่าวหาผิดจริยธรรม เนื่องจากทราบว่ามีการสั่งคดีที่ไม่ถูกต้องแล้วไม่ได้ดำเนินการแก้ไข และ 3.บุคคลซึ่งเป็นข้าราชการอัยการ ร่วมกระทำผิดด้วย แต่ไม่ทราบชื่อเสียงเรียงนามอย่างไร มีคลิปเสียงประกอบ
ในที่ประชุมพิจารณาแล้วว่า การที่จะดำเนินการสอบตามที่ตั้งมานั้น จะไปสอบตามข้อกล่าวหาทันทีทั้ง 3 คน ไม่ได้ จะพิจารณาได้เฉพาะนายเนตร แต่ก็จะสอบตามที่ระบุว่ามีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงทีเดียวไม่ได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 ระบุไว้ชัดว่า การที่จะสอบสวนวินัยได้นั้น ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน และการสอบวินัยข้าราชการอัยการได้จะต้องมีหลักเกณฑ์ แล้วหลักเกณฑ์ออกเมื่อปี 2554 เฉพาะข้าราชการอัยการระดับที่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด
“ดังนั้น การจะสอบนายเนตรต้องออกหลักเกณฑ์เสียก่อน ก็เลยมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการสอบระดับรองอัยการสูงสุดเข้าที่ประชุม ที่ประชุมก็เห็นชอบด้วย เมื่อผ่าน ก.อ. แล้วต้องไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะเริ่มสอบได้ ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว หลักสำคัญในการสอบก็คือ จะสอบวินัยได้ก็ต่อเมื่อต้องสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นก่อน ได้ข้อสรุปว่าผิดวินัยหรือไม่ ถ้าไม่ผิดก็จบ แต่ถ้าผิด ผิดวินัยร้ายแรงหรือผิดวินัยธรรมดา”
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า กรณีนี้มีการสอบสวนชั้นต้นโดยตั้งกรรมการจาก ก.อ.ไป ประธานกรรมการในการสอบสวนชั้นต้นนั้นตั้ง ก.อ. ซึ่งมาจากบุคคลภายนอก คือ นายไพรัช วรปาณิ เป็นประธาน ปรากฏว่าสอบไปแล้วก็มีการร้องขอความเป็นธรรมจากนายเนตร ว่าทำไมถึงมีการสอบโดยใช้หลักเกณฑ์สอบรองอัยการสูงสุด เพราะขณะถูกสอบเป็นอัยการอาวุโส น่าจะเป็นหลักเกณฑ์การสอบข้าราชการอัยการที่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด พอเจอปัญหานี้ขึ้นมา นายไพรัชลาออก ก.อ. ก็เลยตั้งประธานคนใหม่คือ นายประสาน หัตถกรรม เป็นประธาน นายประสานกับคณะก็ดำเนินการสอบสวน
“ซึ่งการสอบสวนดังกล่าวนี้ ผมในฐานะประธาน ก.อ. ไม่อาจไปก้าวล่วงได้ เขาก็รายงานให้ทราบว่าสอบสวนยังไม่เสร็จ ขอขยายเวลา ซึ่งปัจจุบันนี้คุณประสานซึ่งเป็น ก.อ. ก็หมดวาระไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม นี้ การสอบสวนยังไม่เสร็จ ปัญหาว่าจะสอบต่อไปได้ไหม ความเห็นส่วนตัวต้องเสนอตั้งประธานกรรมการสอบสวนชั้นต้นขึ้นมาใหม่ คาดการณ์ว่าน่าจะเสนอตั้งวันที่ 21 เมษายน ซึ่งจะมีการประชุม ก.อ. จึงยังไม่ได้ข้อสรุปว่านายเนตรผิดวินัยหรือไม่อย่างไร” ประธาน ก.อ.กล่าวสรุป
ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงการดำเนินการกับอัยการสูงสุดและอัยการที่ไม่ทราบชื่อ นายอรรถพล กล่าวว่า ในที่ประชุมคุยกันแล้ว สอบสวนคนแรกให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะมาสอบอีก 2 ท่าน เพราะว่าคนที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดหลักควรพิจารณาให้เสร็จก่อน นอกเหนือจากนี้ ถ้าจะมีการสอบสวนชั้นต้นอัยการสูงสุด ไม่ว่าวินัยหรือจริยธรรม ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ก่อนจึงจะทำได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว
เมื่อถามว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถทำล่วงหน้าได้หรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า อยู่ที่ ก.อ.พิจารณาว่าควรจะเป็นอย่างไรในการกำหนดหลักเกณฑ์ กรณีเช่นนี้ปรากฏว่าภารกิจในช่วงที่มีการสอบสวนยังไม่เสร็จอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงเดือนมีนาคม เป็นการโยกย้ายอัยการ จึงไปเน้นหนักเรื่องการโยกย้าย ตอนนี้อัยการได้ย้ายกันแล้ววันที่ 1 เมษายน การกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ก่อนกำหนดได้ แต่การพิจารณาที่ยังไม่กำหนด เพราะ 1.เป็นฤดูกาลโยกย้าย 2.ก.อ.เปลี่ยนชุดเลือกตั้งใหม่ 3.อาจจะมีปัญหา ประธาน ก.อ.เปลี่ยนอีก
“ถ้ามีการสอบอัยการสูงสุดจริงแล้ว หลักเกณฑ์ต้องออกมา ที่มองกันว่าทำไมถึงช้า เผอิญยังไม่มีประเด็นสอบอัยการสูงสุดหรือไม่ หลักเกณฑ์จึงไม่ได้เร่งรีบ ที่ไม่มีไม่ใช่ว่าดึงให้ช้า แต่เกิดจากสอบรองเนตรยังไม่เสร็จ เพราะเราตั้งสมมติฐานต้องสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นกระแสสังคม แล้วระบุให้เสร็จเสียก่อนจึงรู้ว่าใครผิดหรือไม่ผิด สมมติถ้ารองเนตรไม่ผิด จะว่าอัยการสูงสุดผิดได้อย่างไร เพราะของ อ.วิชา บอกทำนองรองเนตรผิด รู้แล้วไม่แก้ไข ทำนองนั้น” นายอรรถพล กล่าว
ถามถึงกรอบเวลาในการสอบข้อเท็จจริง หลังตั้งกรรมการสอบชุดใหม่จะใช้เวลานานเท่าไหร่ นายอรรถพล กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะการสอบหลักเกณฑ์ใช้ครั้งหนึ่ง 30 วัน แต่ขอขยายได้อีก 30 วัน ขยายตามความจำเป็น ตั้งกรอบไม่ได้ อยู่ที่ผู้ปฏิบัติว่าจะเป็นอย่างไร อาจจะถามว่าประธานทำไมไม่เร่งรัด ก็เร่งรัดทุกครั้ง พอขอขยายเราก็เร่งรัดไป แต่ถ้าเราไปกำหนดต้องเสร็จภายในเท่านี้ เหมือนกับไม่ให้ความเป็นธรรม จะเกิดปัญหา เนื่องจากว่าถ้าทำไม่เป็นระบบแล้วอาจจะถูกฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งได้ในแง่กฎหมาย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |