ก้าวกระโดดทุกวัน! พบผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง 1,543 ราย ยอดสะสมใกล้แตะ 4 หมื่้นคนแล้ว จำเป็นต้องจัดหาเตียงเพิ่ม 7,000 เตียง ย้ำคลินิกไหนไม่ส่งต่อ-ดูแลผู้ป่วย มีความผิด จับตา!รัฐบาล-กองทัพ กางแผนเตรียมเตียงสนามเพิ่มนับหมื่นเตียง
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1,543 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 1,540 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 3 ราย ผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่ 8,973 ราย มีอาการหนัก 11 ราย ผู้ป่วยที่หายดีเพิ่มขึ้น 61 ราย โดยวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต ทำให้ภาพรวมการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในประเทศไทยอยู่ที่ 37,453 ราย หายป่วยแล้วสะสม 28,383 เสียชีวิตสะสม 97 ราย ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกใหม่เดือนเม.ย.2564 ผู้ป่วยสะสม 8,973 ราย
สถานการณ์จำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 สะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-วันที่ 14 เม.ย. แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 507,360 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 73,948 ราย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มจํานวนผู้ติดเชื้อ พบว่าสัปดาห์นี้มีผู้ติดเชื้อสะสม 5,795 ราย ซึ่งมากกว่าสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับจํานวนผู้ติดเชื้อในวันนี้ 1,543 ราย กระจายใน 72 จังหวัด จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ เช่น ระนอง สตูล ฯลฯ โดยพื้นฐานเดิมคือมีความเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ กลุ่มเสี่ยงยังอยู่ในวัยทำงานที่มีการเดินทางเคลื่อนที่
นพ.เฉวตสรรกล่าวถึงส่วนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ว่าขณะนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ 803,194 ราย สะสม 138,826,004 ราย มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 13,513 ราย สะสม 2,985,425 ราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดยังเป็นสหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล ขณะที่ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ อินเดีย รายใหม่ 199,569 ราย รองมาคือสหรัฐ พบผู้ป่วยรายใหม่ 78,439 ราย เป็นยอดต่ำกว่าแสนมาระยะหนึ่งที่นานพอสมควร บราซิลพบรายใหม่ 75,998 ราย ส่วนประเทศที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือบราซิล รายใหม่ 3,462 ราย สะสม 362,180 ราย รองมาเป็นอินเดีย สหรัฐ และโปแลนด์
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีการประชุมกันทุกวัน เพื่อเตรียม รพ.ในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข สังกัดกองทัพ รพ.มหาวิทยาลัย และ รพ.เอกชน ตอนนี้มีเตียงรองรับ 6,525 เตียง ปัจจุบันใช้ไปแล้วกว่า 3,700 เตียง อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งเก็บไว้สำหรับผู้ป่วยอาการเยอะ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
สำหรับการจัดหาฮอสพิเทลหรือการจัดหาโรงแรมที่ไม่มีผู้พักอาศัยมาทำเป็น รพ.ชั่วคราวเพื่อใช้ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแพทย์ พยาบาล อัตรา 20 คนต่อผู้ป่วย 1 เตียง มีเครื่องมือที่สำคัญ เช่น ปรอทวัดอุณหภูมิดิจิทัล เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ โดยการดูแลจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มไม่มีอาการ แต่ระหว่างนี้หากมีอาการก็จะส่งไปรักษาใน รพ.พี่เลี้ยง กลุ่มที่ 2 กลุ่มมีอาการที่อยู่ใน รพ. 3-5 วัน แล้วอาการไม่ได้แย่ลง อาการปกติ สามารถย้ายมาอยู่ที่ฮอสพิเทลต่อไป
หาเพิ่มอีก 7 พันเตียง
เขากล่าวว่า ขณะนี้มีฮอสพิเทลแล้ว 23 แห่ง รวม 4,900 เตียง มีการครองเตียงแล้ว 2,000 เตียงแล้ว อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์การระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องจัดหาเตียงฮอสพิเทลและ รพ.สนามเพิ่ม 5,000-7,000 เตียง ส่วนค่ารักษานั้น หากมีประกันสุขภาพ ก็ให้เบิกจากประกันสุขภาพส่วนบุคคล หากไม่มีประกันส่วนบุคคล ก็จะได้รับสิทธิตามสิทธิในการรักษาพยาบาลภาครัฐ
ส่วนการย้ายผู้ป่วยเข้ามา จะต้องถูกคัดกรองโดย รพ.หลักก่อน เช่น อายุไม่ควรเกิน 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่คนท้อง ไม่มีผลการเอกซเรย์ที่เปลี่ยนแปลง ก็จะสามารถย้ายมาที่รพ.สนามหรือฮอสพิเทลได้ เพราะฉะนั้นเราจะสกรีนผู้ป่วยที่มีความปลอดภัยสูงเข้ามา รพ.สนาม ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย ที่เจอในหลักพันรายต่อวันนั้น ก็ยังมีการประเมินว่าเตียงที่จัดหานั้นอย่างเพียงพอต่อการรับมือ
นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า ขณะนี้ สบส.ได้รับการแจ้งว่ามีคลินิกหลายแห่งที่ตรวจผู้ป่วยโควิดแล้วให้ผู้ป่วยไปหาเตียงเอง ทำให้เกิดความยากลำบาก และมีการเดินทางต่างๆ ดังนั้น สบส.จึงออก ประกาศว่าคลินิกที่สามารถตรวจโควิดได้ต้องได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเมื่อตรวจผลเป็นบวก จะต้องดูและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคติดต่อ ต้องดำเนินการจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วย หากไม่ดำเนินการตามนี้ สถานพยาบาลหรือคลินิกแห่งนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย มีโทษทั้งจําทั้งปรับ ขณะนี้ในเรื่องของการไม่ส่งต่อนั้น เราพบ รพ.ย่านบางนา จะต้องถูกลงโทษ และขณะนี้มีการพิจารณาที่จะลงโทษ รพ.เอกชนอีกประมาณ 2-3 แห่ง รวมถึงคลินิกเอกชนอีกจํานวนหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกล่าวต่อว่า ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อกำหนดว่าหากเจอผู้ติดเชื้อแล้วต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคทราบภายใน 3 ชั่วโมงคือ ผู้อยู่ร่วมบ้าน สถานพยาบาล ผู้ทำการชันสูตร หรือผู้ประกอบกิจการจะต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบภายใน 3 ชั่วโมง หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ส่วนกรณีฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อ เช่น เจ้าพนักงานสั่งให้ Home quarantine เพื่อรอเตียง หรือสั่งให้ไปรับการรักษาเพื่อลดการติดต่อสู่ผู้อื่น ก็จะมีความผิด โทษค่อนข้างแรง เพราะเสี่ยงที่จะแพร่กระจายของโรค จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท รวมถึงกรณีการปิดบังก็มีโทษ เรื่องการให้ข้อมูลเท็จ เป็นโทษปรับ แต่ทั้งหมดนี้ ขอฝากว่าหากเราช่วยกันให้ข้อมูลการควบคุมโรคติดต่อก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวเราและเพื่อนบ้านของเราก็จะปลอดภัยเพราะระบบสามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว และถ้าเราให้ความร่วมมือกัน ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย
รัฐบาลเพิ่มอีกนับหมื่นเตียง
นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่มีกระแสว่ามี รพ.เอกชนมีการประชาสัมพันธ์ส่งข้อความถึงประชาชนให้มาลงทะเบียนรับวัคซีนทางเลือกนั้น ต้องขอชี้แจงว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแนวทางปฏิบัติ และวัคซีน หากมีการไปโฆษณาเชิญชวนก่อนจะเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง บางกรณีถ้าไปเรียกเงินมัดจําจากประชาชนด้วย เหมือนเอาเงินคนอื่นมาใช้โดยที่ยังไม่มีบริการ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องดูข้อมูลให้ดีๆ ละเอียดด้วย เพราะขณะนี้มี รพ.เอกชนหลายแห่งที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐในการฉีดวัคซีนฟรีอยู่
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก และกรมแพทย์ทหารบก จัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพบกในพื้นที่ค่ายทหารหรือสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อดูแลรองรับประชาชน กำลังพลและครอบครัวที่ติดเชื้อและมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ รวมทั้งผู้ที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลมาและอาการทุเลาลงแล้ว เพื่อเป็นการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลสาธารณสุขในจังหวัดต่างๆ
ล่าสุด โรงพยาบาลสนามกองทัพบกได้จัดตั้งแล้ว 2 แห่งคือ 1. โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (ค่ายธนะรัชต์) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการโดยศูนย์การทหารราบ และโรงพยาบาลค่ายธนะรัชต์ สามารถรองรับผู้ป่วย 69 เตียง ซึ่งเป็นการส่งต่อการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลหัวหิน หรือโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อจาก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
สำหรับแห่งที่ 2 คือโรงพยาบาลสนามกองทัพบก (เกียกกาย) กรุงเทพมหานคร โดยได้ดำเนินการปรับอาคารรับรองเกียกกาย เขตดุสิต เป็นโรงพยาบาลสนาม ดำเนินการโดยกรมสวัสดิการทหารบก และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รองรับได้ 86 เตียง เป็นผู้ติดเชื้อที่อาการไม่หนัก ที่ส่งมาจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อสำรองเตียงในโรงพยาบาลไว้รองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักต่อไป
นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เผยว่า การบริหารจัดการเตียงผู้ป่วย ภาครัฐมีการบริหารจัดการเตียงเพียงพอในการรองรับผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีการจัดเตียงรองรับทั้งจากสถานพยาบาลและโรงแรมแบบฮอสพิเทลรวมกว่า 6,000 เตียง รวมทั้ง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมมีการเตรียมโรงพยาบาลภาคสนาม และกรมการแพทย์เตรียมเปิดฮอสพิเทล ซึ่งจะรองรับได้อีก 450 เตียง และโรงพยาบาลรามาธิบดีเตรียมเปิดฮอสพิเทลอีก 2 แห่ง อีก 100 เตียง สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้มีการเพิ่มโรงพยาบาลสนามที่บางขุนเทียน 500 เตียง, ที่บางบอน 200 เตียง และเตรียมเปิดที่บางกอกอารีนา จะรับได้อีก 1,000 เตียง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจของอนามัยโพล (Anamai poll) ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2564 ต่อประเด็นความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ จำนวนผู้ตอบจำนวน 1,696 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์การระบาดนี้ในระดับมาก ร้อยละ 62.1 ในขณะที่ไม่กังวลเลย ร้อยละ 2.9
โดยเรื่องที่ประชาชนกังวลมากที่สุดคือการปกปิดไทม์ไลน์ของคนที่มีประวัติไปสถานบันเทิง ร้อยละ 27.5 รองลงมาคือ บางจังหวัดยังเปิดให้บริการ ซึ่งอาจเสี่ยงแพร่เชื้อ ร้อยละ 24.4 และกลัวจะติดเชื้อจากคนที่มีประวัติไปสถานบันเทิง ร้อยละ 24.1 ส่วนประเด็นด้านสังคมที่ประชาชนกังวล ได้แก่ ว่างงาน ขาดรายได้ ร้อยละ 6 และเศรษฐกิจซบเซา ร้อยละ 3.8 นอกจากนี้ จากสถานการณ์การระบาดในสถานบันเทิง ผับ บาร์ดังกล่าว พบว่ามีประชาชนร้อยละ 42 ที่จากเดิมไม่อยากฉีดวัคซีนเปลี่ยนมามีความต้องการ ฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 33.3 ยังไม่แน่ใจว่าจะฉีด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |