ชงสีแดง18จังหวัด ปิดสถานบันเทิงห้ามขายเหล้า/ลุ้นศบค.เคาะล็อกดาวน์!


เพิ่มเพื่อน    

  กระทรวงสาธารณสุขชง ศบค.ยกระดับ 18  จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง กทม.และจังหวัดโควิดทะลักโดนถ้วนหน้า    ที่เหลือ 59 จังหวัดเป็นสีส้ม คุมเวลาเปิด-ปิดร้านอาหาร ห้ามขายเหล้า ส่วนสถานบันเทิง ผับ-บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ปิดเรียบ งดกิจกรรมที่มีคนเกิน 50 คน ส่วนยาแรงล็อกดาวน์ยังต้องลุ้น  "วิษณุ" เผยหมอชงยาแรง

    เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ นัดด่วนพิเศษ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ด่วนพิเศษ ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง เพื่อหารือมติจากที่ประชุมในมาตรการรองรับสถานการณ์การระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะนำเอามาตรการเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานในที่ประชุม วันที่ 16 เมษายน 2564 เวลา 13.30 น. เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบและพิจารณาเพื่อประกาศใช้มาตรการต่อไป
    รมว.สาธารณสุขเผยว่า มาตรการหลักๆ จากที่ประชุม ประกอบด้วย 1.ปรับพื้นที่จังหวัดเป็น 2 สี คือพื้นที่ควบคุมสูงสุด จังหวัดสีแดง 18 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น และพื้นที่ควบคุม จังหวัดสีส้ม 59 จังหวัดที่เหลือ
    ซึ่งมาตรการที่สำคัญใน 2 พื้นที่สี คือมาตรการจำกัดเวลาให้บริการร้านอาหาร โดยพื้นที่สีแดง เปิดได้ถึงเวลา 21.00 น. พื้นที่สีส้ม เปิดถึงเวลา 23.00 น.
    นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนมาตรการอื่น ทั้งพื้นที่สีแดงและสีส้ม ต้องปฏิบัติเหมือนกันในทุกจังหวัด เช่น ปิดสถานบริการในลักษณะผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ห้ามจำหน่ายสุราและห้ามดื่มในร้านอาหารทุกจังหวัด งดการเรียนการสอน ซึ่งคาดว่าไม่กระทบมาก เพราะว่าช่วงนี้อยู่ในระหว่างปิดเทอม งดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก งดงานเลี้ยง งานสังสรรค์ทุกประเภท ยกเว้นการจัดในครอบครัว งดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนมากกว่า 50 คน ปิดบริการสวนสนุกและเครื่องเล่นในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะมีรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม ขอให้ติดตามการประกาศภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่
    รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ในเรื่องของการเดินทางนั้น ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณา ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์หรือห้ามเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด แต่ทั้งหมดนี้จะมีการนำเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป
    "หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งวงรอบของการระบาดและควบคุมโรคอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ หากควบคุมสถานการณ์ทั้งหลายได้ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการกระจายของผู้คนมากมายในระยะเวลา 2 สัปดาห์นี้ ก็จะเหมือนกับปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นเราทำเข้มข้นกว่านี้เยอะ”
ลุ้น ศบค.เคาะล็อกดาวน์
    นายอนุทินกล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในมาตรการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ประชาชนยังอยู่ในภูมิลำเนา ถ้าหากเป็นไปได้ ก็ขอให้ทำงานมาจากที่ภูมิลำเนาผ่านเทคโนโลยี ไม่ต้องเคลื่อนย้ายกลับเข้ามา ขอให้ประชาชนลดการเดินทาง ลดการรวมกลุ่มกัน และขอเน้นในเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย 100% โดยเฉพาะในผู้ที่กำลังเดินทางออกนอกเคหสถาน สธ.ยืนยันว่าการสวมหน้ากากคือการการป้องกันการแพร่เชื้อได้ดีที่สุด
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในพื้นที่สีแดง 18 จังหวัด ต้องงดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนดหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้รอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์จะได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 16 เม.ย.นี้ เวลา 13.30 น.
    ทั้งนี้ การประชุมจะมีการรายงานการประชุม ศบค. ครั้งที่ 4/2564 และรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ส่วนที่น่าจับตาคือศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ จะเสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในการระบาดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย.2564 และแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของ ศปก.สธ.
    นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.เตรียมจะออกประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 11) ประกาศเรื่องการให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ ประกาศเรื่องการให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ
    อีกทั้งจะมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ 4/2564 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยจะเสนอแนะแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวชายแดน
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 สามารถที่จะควบคุมการแพร่ระบาดติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ว่า ได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันคน เนื่องจากที่ผ่านมาเคยใช้มาแล้ว เพราะไม่ใช่แค่การประกาศใช้กฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่มีการออกข้อกำหนด สั่งห้าม เพิ่มเติมด้วย ต้องรอผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 16 เมษายนนี้
หมอ-สธ.ชงยาแรง
    ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องประกาศเคอร์ฟิว รองนายกฯ ตอบว่า มีความเป็นไปได้ที่บางจังหวัดจะประกาศเคอร์ฟิว แต่ส่วนตัวยังไม่กล้าที่จะเปิดเผย คงต้องรอที่ประชุม ศบค.ก่อนว่าจะมีการเสนอในประเด็นนี้หรือไม่ แต่มองว่ายังไม่เห็นความจำเป็น เพราะการใช้มาตรการยกระดับพื้นที่สีต่างๆ ยังเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
    "ยอมรับว่าแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขรายงานมายังรัฐบาลให้ใช้มาตรการที่เข้มข้น รุนแรงและเด็ดขาด แต่ฝ่ายเศรษฐกิจขอประเมินผลกระทบ โดยเฉพาะช่วงหลังสงกรานต์ 1-2 วันนี้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับมาตรการที่จะบังคับใช้ใหม่อย่างไร ซึ่งอาจจะออกมาในแนวทางพบกันครึ่งทาง คือการใช้วิธีเพิ่มสีให้เข้มขึ้น โดยบางพื้นที่อาจจะต้องยกระดับจากพื้นที่สีส้มเป็นพื้นที่สีแดง เป็นต้น"
    นายวิษณุยอมรับว่า กังวลต่อการระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ เพราะจุดเริ่มต้นที่เกิดขึ้นที่ทองหล่อมีการเดินทางที่ขยายและกว้างไกลออกไป ไม่เหมือนที่ผ่านมาที่เชื้อติดในพื้นที่กับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งไม่มีการเดินทางที่ขยายออกไป แต่เวลานี้เป็นเรื่องของคนมีเงิน ทำให้มีไทม์ไลน์ในการเดินทางในหลายพื้นที่ ส่วนจะกระทบต่อแผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
    นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากเตือนไปยังกลุ่มม็อบต่างๆ ขอให้หยุดการเคลื่อนไหวชุมนุมไว้ก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการทำกิจกรรมของหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่จะจัดกิจกรรมปาสีใส่ พล.อ.ประยุทธ์และ ครม. เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขอให้เห็นใจบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั้งประเทศด้วย
    เขากล่าวว่า ในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน อยากจะขอความกรุณาหยุดวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ศบค.บ้าง บางคนทำตัวเก่งอย่างกับอาจารย์หมอผู้เชี่ยวชาญ ทั้งที่ตัวเองไม่ใช่หมอ บริหารธุรกิจก็เจ๊ง แต่พอมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง กลับเก่งซะทุกเรื่อง รู้ไปทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องตัวเอง การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรงสร้างความตื่นกลัวในหมู่ประชาชน บั่นทอนกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์ สถานการณ์ตอนนี้อยากให้พรรคการเมืองเพลาๆ เกมการเมืองลงบ้าง ไม่พูดบ้างก็คงไม่ตาย โดยเฉพาะแกนนำพรรคเพื่อไทย มาร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับโควิด-19 ดีกว่า เพราะเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะต้องเอาชนะกันทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ท่านนายกฯ ห่วงใยพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม.
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"