วันที่ 15 เม.ย. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดการขยะหน้ากากอนามัยที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า กรุงเทพมหานครมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และสถานที่สำหรับผู้กักตัว เช่น บ้านพักอาศัย สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63 – 12 เม.ย.64 รวมทั้งสิ้น 1,366.29 ตัน หรือเฉลี่ย 11.48 ตัน/วัน ขณะที่ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกเดือน เม.ย. ตั้งแต่วันที่ 1-12 เม.ย.64 ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 12.92 ตัน/วัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.44 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 12.5 อย่างไรก็ตาม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการทิ้งขยะหน้ากากอนามัย กรุงเทพมหานครได้ตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัยเป็นการเฉพาะ (สีส้ม) พร้อมถุงขยะสีแดงสำหรับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด ประกอบด้วย สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ รวมถึงสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด วัด ชุมชน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และเคหะชุมชนต่าง ๆ พร้อมควบคุมดูแลไม่ให้มีการทิ้งมูลฝอยประเภทอื่น ๆ ปะปน โดยหน้ากากอนามัยและมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 ที่จัดเก็บได้จะนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า กรุงเทพมหานครต้องขอความร่วมมือประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี และไม่ทิ้งปะปนกับมูลฝอยทั่วไปในครัวเรือน โดยทิ้งใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียน หรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ในจุดที่กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด - 19 และความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอย รวมถึงความสะดวกต่อการเก็บรวบรวมนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลต่อไป