บัตรเลือกตั้ง2ใบล่อใจ‘เพื่อไทย’ ‘พลังประชารัฐ’ยังกำหนดเกมรธน.


เพิ่มเพื่อน    

 

            ก่อนหน้านี้สองสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำนองว่า ตนเองไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นนโยบายที่ได้แถลงเอาไว้ต่อรัฐสภา

            ถัดจากนั้นไม่กี่วัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยว่า พรรคพลังประชารัฐจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5 ประเด็น 13 มาตรา 

            สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐที่มีการยื่นต่อประธานรัฐสภา ได้แก่ ประเด็นที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ มาตรา 29 เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม 8 อนุมาตรา, มาตรา 41 ให้ชุมชนมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานรัฐ, มาตรา 47 แก้ปัญหากระบวนการไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง โดยนำรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้แทน

            ประเด็นที่ 2 แก้ไขระบบการเลือกตั้ง มาตรา 83, 85, 86, 90, 91, 92 และมาตรา 94 ให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นแบบบัตร 2 ใบ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และให้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง จากเดิม 60 วัน, พรรคการเมืองที่จะมีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ ต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วไม่น้อยกว่า 100 เขตเลือกตั้ง

            พรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง และไม่ให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวม คำนวณเพื่อหาสัดส่วนจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หากมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แบบแบ่งเขตภายใน 1 ปี ไม่มีการคำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่

            ประเด็นที่ 3 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ มาตรา 144 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งเดิมมีปัญหากระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ แก้ไขโดยให้ใช้ข้อความตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 168 วรรค 5-9 มาใช้แทน

            ประเด็นที่ 4 แก้ไขอุปสรรคในการทำงานของ ส.ส.และ ส.ว. มาตรา 185 แก้ไขอุปสรรคการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้สามารถติดต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ โดยได้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 111 มาใช้แทน

            และประเด็นที่ 5 อำนาจวุฒิสภา แก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ให้ ส.ส.ร่วมมีหน้าที่และมีอํานาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทําและดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จากเดิมที่ให้อำนาจวุฒิสภาดำเนินการอยู่ฝ่ายเดียว

            แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีความจริงใจกับประชาชน เพราะไม่มีการตัดอำนาจ ส.ว. แต่ในทางการเมืองรู้ว่า การที่พรรคพลังประชารัฐเสนอแบบนี้เพราะอะไร

            โดยเฉพาะ 1 ใน 5 ประเด็น ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐ คือ เรื่องระบบเลือกตั้งที่จะกลับไปใช้แบบ 2 ใบ

            ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นเดียวกับของพรรคเพื่อไทยที่เคยยื่นให้มีการแก้ไขมาแล้วในรอบแรก แต่ถูกสภาตีตก และรอบนี้พรรคเพื่อไทยยังยื่นอีกครั้ง

            นี่คือจุดร่วมระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ กับแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะรายหลังที่รู้สึกเหมือนถูกบอนไซจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียวในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 

            แน่นอนว่า การกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาพรรคเล็กที่มีโอกาสได้เข้าสภามาจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม รวมถึงบรรดานักการเมืองที่แยกตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อหวังจะเข้าสภาในครั้งต่อไป เพราะการกลับไปใช้ระบบเดิมจะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ที่มีฐานเสียงและกำลังทรัพย์ได้เปรียบ

            แต่ต่อให้มีพรรคการเมืองใด ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรคจะไม่พอใจอย่างไร แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐและวุฒิสภาจะเอา โอกาสจะแก้ไขก็มีสูงขึ้น

            ยิ่งประเด็นระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ พรรคเพื่อไทยย่อมไม่ขัดขวาง การแก้ไขในประเด็นนี้ย่อมฉลุยได้ง่ายแบบม้วนเดียวจบ 

            เพราะในมาตรา 256 บัญญัติเอาไว้ว่า การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา 

                “โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

            เมื่อพรรคเพื่อไทยเอาด้วย จะทำการแก้ไขประเด็นนี้ไม่เหนือบ่ากว่าแรงของผู้มีอำนาจในการที่จะฝ่าด่านไปได้ บรรดาพรรคเล็กต่างๆ อาจไม่เห็นด้วย แต่ก็ย่อมมีวิธีที่จะล็อบบี้เพื่อให้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ตามรัฐธรรมนูญ

            แต่หากสุดท้ายไปไม่ถึงฝั่งฝันจริงๆ พรรคพลังประชารัฐเองก็ไม่มีปัญหา หากจะยังใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพราะยังกุมความได้เปรียบเรื่องอำนาจและทรัพยากรอยู่

หมากกระดานนี้ยังอยู่ในมือผู้มีอำนาจที่จะกำหนดเกม.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"