“วิษณุ” เผยต่างชาติเตือนไทยตีกรอบกฎหมายคุมเทรด "คริปโตเคอเรนซี" หวั่นเกิดปัญหาการฟอกเงิน-ก่อการร้ายข้ามประเทศ ระบุใกล้เลือกตั้งเสี่ยงเกิดการซื้อเสียงผ่านบิตคอยน์ เลขาฯ ก.ล.ต.ชี้ออกกฎหมายคุมคริปโตฯ เพื่อป้องกันผู้ที่ไม่มีความรู้เข้าลงทุน แนะนักลงทุนทำความเข้าใจก่อน
ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 24 พฤษภาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษในงาน Symposium Thailand 4.0 FINTECH & CRYPTOCURRENCY vs. LAW ENFORCEMENT จัดโดยมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า คริปโตเคอเรนซี (สกุลเงินดิจิทัล) มีข้อดีคือความรวดเร็ว ทันใจ ว่องไว ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของทางการ และอัตราดอกเบี้ย เมื่อมีการยอมรับจากผู้เล่น แต่ก็มีข้อเสียคือ เมื่อผู้เล่นเข้าสู่ธุรกรรมของ 4 คริปโตเคอเรนซีอาจถูกหลอกลวงได้ง่ายๆ เกิดการทุจริต และนำไปสู่การโจรกรรมหรือแฮ็กข้อมูลได้ แม้ที่ผ่านมาในประเทศไทยจะยังไม่พบผู้เสียหาย แต่ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่การโจรกรรมหรือหลอกลวงได้
นายวิษณุกล่าวว่า คริปโตเคอเรนซีเปรียบเสมือนดาบ 2 คม ทั้งประโยชน์และโทษ ซึ่งประโยชน์ถือเป็นระบบการลงทุนที่สร้างสรรค์และเหมาะสำหรับผู้ลงทุนกลุ่มสตาร์ทอัพ ส่วนโทษต้องรู้เท่าทันความเสี่ยง โดยรัฐบาลจะมีกลไกดูแลธุรกรรมชนิดนี้ และจะเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่และข้าราชการทุกส่วนได้รู้จักและศึกษาธุรกรรมชนิดนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกรมบังคับคดีและอัยการ
"ได้รับรายงานจากต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เตือนว่าให้ระวังเรื่องการทำธุรกรรมคริปโตเคอเรนซี เพราะอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการฟอกเงิน การเอาเงินที่ผิดกฎหมายจากการค้ายาเสพติดและต่างๆ มาฟอกเงินผ่านการลงทุนในคริปโตเคอเรนซีได้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง อาจจะมีการนำเงินเข้าใช้ในการซื้อเสียงผ่านรูปแบบของบิตคอยน์ และอีกหลายประเทศมีการแจ้งเตือนว่าคริปโตเคอเรนซีคือการก่อการร้ายข้ามประเทศ"
รองนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ไปศึกษารายละเอียดและรวบรวมข้อมูลทั้งหมด จนนำมาสู่การออก พ.ร.ก.ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการศึกษาโมเดลจากหลายประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีการใช้กฎหมายในการควบคุมดูแลที่แตกต่างกันไป เราต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม เช่น สหรัฐ มีการควบคุมคริปโตเคอเรนซีด้วยกฎหมายฟอกเงิน ขณะที่เกาหลีใต้มีการออกกฎหมายพิเศษขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส่วนจีนก็มีการห้ามยุ่งเกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าวเลย และมีอีกหลายประเทศควบคุมโดยการใช้กฎหมายที่มีอยู่ของธนาคารชาติมาดูแล
“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่ จำเป็นจะต้องมีกลไกในการดูแลป้องกันและปราบปราม ประชาชนที่เข้าไปลงทุนก็ต้องระวังเอง ขณะที่รัฐบาลจะมีกลไกในการดูแลไม่ให้ถูกหลอกลวง รัฐบาลไม่ได้คัดค้านการทำธุรกรรมชนิดนี้ แต่แค่ต้องรู้ให้เท่าทันและมีการควบคุมดูแลให้ถูกต้อง มองว่าคริปโตเคอเรนซีจะมีการพัฒนาอีกเยอะในอนาคต ซึ่งไทยจะต้องมีความพยายามในการรู้กลไกต่างๆ ที่เติบโตมากขึ้น เพื่อนำมาพัฒนากฎหมายที่กำกับดูแลให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ และไม่ให้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกรรมชนิดนี้ และในอนาคต 2-3 ปีต่อไป เราอาจต้องออกเป็น พ.ร.บ.ที่สมบูรณ์ในการดูแลเรื่องนี้ก็ได้” นายวิษณุกล่าว
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวถึงความท้าทายของภาครัฐในการกำกับดูแลฟินเทคว่า ระบบฟินเทคได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์ของภาคการเงิน คือ 1.ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้ให้บริการทางเงินไม่ชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันมีการแบ่งฟินเทคออกเป็นธุรกรรมย่อยๆ เฉพาะส่วนมากขึ้น 2.เส้นแบ่งระหว่างบริการทางการเงินกับบริการอื่นๆ ไม่ชัดเจนเหมือนในอดีต 3.เส้นแบ่งพรมแดนของประเทศมีความไม่ชัดเจนในการกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ส่งผลให้อำนาจการกำกับดูแลของหน่วยงานที่กำกับดูแลมีความไม่ชัดเจน และ 4.การเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ไม่ใช่รูปแบบของสถาบันเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคการเงิน โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานหรือจับคู่ระหว่างผู้ระดมทุนกับผู้ที่ต้องการจะลงทุน
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเงินจากความไม่ชัดเจนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ ทำให้เป็นความจำเป็นในหลายมิติที่จะต้องมีการกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อให้มีการควบคุมดูแลที่ดี และไม่ทำให้เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ สร้างความเสียหายต่อภาคการเงิน” นายวิรไท กล่าว
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กฎหมายที่ออกมาควบคุมนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความรู้เข้าลงทุน เนื่องจากการระดมทุนในคริปโตเคอเรนซีเป็นตลาดเฉพาะ และมีผลตอบแทนที่สูงมาก จากการใช้เทคโนโลยีลงทุนในสตาร์ทอัพที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องมีความเข้าใจว่าเทคโนโลยีคืออะไร และมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถสร้างเงินได้จริง
"แนะนำนักลงทุนว่า ถึงแม้จะมีกฎหมายออกมากำกับดูแลก็ตาม ไม่ได้หมายถึงว่าความเสี่ยงจากความประสบความสำเร็จจะดีขึ้น ที่ผ่านมาพบว่าการลงทุนลักษณะนี้ในต่างประเทศประมาณ 95% ล้มเหลว ส่วนที่ประสบความสำเร็จมีแค่ 5% แต่เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่ใช่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ และวัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายคือ หากมีใครทำผิดมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถเข้าไปกำกับดูแล หรือลงโทษได้ แต่ไม่ได้คุมเข้มมาก เพราะหากเกณฑ์เข้มมากไปจะทำให้การลงทุนออกนอกประเทศหมด" เลขาฯ ก.ล.ต.กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |