14 เม.ย.64 - นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1,335 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 1,326 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 9 ราย ผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่ 7,491 ราย มีอาการหนัก 9 ราย ผู้ป่วยที่หายดีเพิ่มขึ้น 34 ราย โดยวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยรวมพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนถึงปัจจุบัน 7,047 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย กลับบ้านได้แล้วรวม 896 ราย
ในส่วนของจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยรายขึ้นไปโดยนับตามรอบเดือน เม.ย. มีอยู่ทั้งหมด 9 จังหวัด คือกรุงเทพฯ 1,689 ราย เชียงใหม่ 880 ราย ชลบุรี 594 ราย สมุทรปราการ 416 ราย นราธิวาส 304 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 265 ราย สมุทรสาคร 166 ราย ปทุมธานี 124 ราย และสระแก้ว 105 ราย โดยจังหวัดเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมการเคลื่อนที่ของคน ควบคุมจุดเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง หรือว่าการจัดงานปาร์ตี้ระหว่างบุคคลอย่างเข้มงวดเนื่องจากเป็นจุดที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างกว้างขวาง
นพ.โอภาส กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดทั่วโลกว่า อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศอินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา ที่มีการระบาดมากขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงหลายประเทศในยุโรป ผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกอยู่ที่ 138,013,074 เป็นรายใหม่ 735,486 ราย
“ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดลง ฉะนั้นสถานการณ์ยังมีความน่ากังวลอยู่ โดยกราฟผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะยานขึ้นไปอย่างชัดเจน” นพ.โอภาส กล่าวและว่า สถานการณ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยสะสม 579,305 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 505,744 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 73,561 ราย ซึ่งบางคนอาจบอกว่าจำนวนการฉีดยังได้น้อย ก็ต้องเรียนว่า ขณะนี้เรามีวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ที่พร้อมฉีดให้ประชาชน ราวๆ 1 ล้านโดส และวัคซีนจะต้องมีการฉีดซ้ำในเข็มที่ 2 ดังนั้นจะสามารถฉีดในเข็มที่ 1 ได้จำนวน 5 แสนโดส
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส ที่เข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ในระหว่างการตรวจรับรองทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) คาดว่า 1-2 วันจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะมีการส่งมอบให้กรมควบคุมโรค โดยจะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 6 แสนโดส โดยขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉีดวัคซีนดังกล่าวให้ครบถ้วนภายใน 1 เดือน
นอกจากนี้วานนี้ (13 เม.ย.) นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐทำงานที่บ้านตั้งแต่หลังสงกรานต์จนถึงสิ้นเดือนอย่างเต็มรูปแบบ และขอความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย
นพ.โอภาส ยังกล่าวอีกว่า ในภาพรวมการระบาดรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย อยู่ในวัยหนุ่มสาว 20-29 ปี ซึ่งมีกิจกรรมค่อนข้างเยอะ ไปเที่ยวจากสถานบันเทิง ไปเที่ยวอีกจังหวัดหนึ่ง หรือกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ ก็จะมีความเสี่ยงให้ผู้สัมผัสที่เป็นคนในครอบครัวติดเชื้อ จากนั้นก็จะกระจายในคนในชุมชน ดังนั้นจังหวัดไหนที่ยังไม่มีการระบาดในชุมชนก็จะต้องตัดวงจร โดยการติดตามผู้สัมผัส คัดกรอง ลดการเคลื่อนย้ายของชุมชน อย่าไรก็ตามช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเรียนปิดเทอม และก็จะมีกิจกรรมอย่างเช่น การออกค่าย ทัศนศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้โรคแพร่กระจายไปได้ ถ้าเป็นไปได้ขอให้งดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทั้งหมด
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวง และโฆษก สธ. กล่าวว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้หารือกันใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะพบมากกว่าวันละ 1,000 ราย โดยที่ประชุมฯ เสนอมาตรการสำคัญที่นอกเหนือจากการปิดสถานบันเทิง โดยให้เพิ่มมาตรการควบคุมที่เข้มข้น ทั้งการปิดพื้นที่เสี่ยง ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง งดการรวมตัวของประชาชนรวมถึงการทำงานที่บ้าน และขอความร่วมมือประชาชนปรับเพิ่มพฤติกรรมด้านสุขภาพ ประเด็นที่ 2 การบริหารจัดการเตียง ขณะนี้ได้เพิ่มกลไกให้มีการจัดการดีขึ้น รวมถึงเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ และประเด็นที่ 3 วัคซีนป้องกันโควิด-19 สธ.ขอยืนยันด้วยข้อมูลทางวิชาการว่า วัคซีนทั้ง 2 บริษัทที่ประเทศไทยจัดหาเพื่อประชาชน คือ แอสตร้าฯ และซิโนแวค มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ ลดอัตราการป่วยตายได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |