ศาลอาญาให้ประกัน 15 แกนนำผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง กำหนดเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมืองเป็นภยันตรายแก่สังคม "รังสิมันต์" ลั่นยังเดินหน้าเคลื่อนไหวจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง "ศรีวราห์" สั่ง จนท.ที่ถูกทำร้ายแจ้งความดำเนินคดี ขณะที่ทหาร-ตร.จับกลุ่มฮาร์ดคอร์-การ์ด นปช. เตรียมสร้างสถานการณ์ม็อบคนอยากเลือกตั้ง พบอาวุธสงครามอื้อ! คุมตัวเข้า มทบ.11จ่อส่งกองปราบฯ ขยายผลดำเนินคดี
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 25 พฤษภาคม มวลชนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหลายสิบคนได้เดินทางมาเพื่อรอให้กำลังใจแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่พนักงานสอบสวนจะนำตัวมายื่นฝากขังครั้งแรกต่อศาล นอกจากนี้ ยังมีนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เดินทางมาสังเกตการณ์ด้วย
ต่อมา เวลา 12.30 น. พ.ต.อ.รัชพล ชนะศรีขจร คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน บก.น.1 ได้ควบคุมตัว นายรังสิมันต์ โรม อายุ 25 ปี, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อายุ 26 ปี พร้อมพวกแกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ถูกแยกควบคุมตัวไว้ที่ สน.พญาไท 10 คน และ สน.ดินแดง 5 คน รวม 15 คน ผู้ต้องหาคดียุยงปลุกปั่นจากการชุมนุมในวาระครบรอบ 4 ปีรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.-4 มิ.ย.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องสอบพยานอีก 10 ปาก รอผลการตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา
ขณะที่แกนนำและผู้ชุมนุมทั้ง 15 คน ได้ถูกคุมตัวเดินทางมาถึง มวลชนได้นำดอกกุหลาบมามอบให้และส่งเสียงให้กำลังใจ โดยขณะที่พนักงานสอบสวนได้คุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมดังกล่าวมายังห้องเวรชี้และห้องคุมขังนั้น นายรังสิมันต์ได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้ว พร้อมตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ตลอดทาง ด้านเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับมวลชนว่า ผู้ต้องหาไม่สามารถรับมอบดอกกุหลาบเข้าไปในห้องคุมขังได้
ทั้งนี้ ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหาถูกจับกุมและดำเนินคดีในหลายฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูง ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ผู้ต้องหากับพวกได้เคยร่วมกันชุมนุมทางการเมืองและก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองในสถานที่ต่างๆ มาก่อน และถูกจับกุมดำเนินคดีหลายครั้ง เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็พากันมารวมตัวชุมนุมทางการเมืองอีก เป็นการไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองและไม่เข็ดหลาบ และยังน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปจะหลบหนีหรือไม่มาพบพนักงานสอบสวนอีก หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุในประการอื่น นอกจากนี้ การกระทำของผู้ต้องหายังทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย
พนักงานสอบสวนยังระบุอีกว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ขอศาลได้โปรดกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ กำหนดอยู่ให้เป็นหลักแหล่ง ไม่เข้าร่วมหรือยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนห้ามไม่ให้ไปชักชวน ยุยงปลุกปั่นทางการเมืองในสถาบันการศึกษาต่างๆ อีกด้วย
คำร้องฝากขังสรุปพฤติการณ์ผู้ต้องหาแล้วระบุว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3), ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้าหรือมีหน้าที่สั่งการ ตามมาตรา 215 (1) (3), เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกชุมนุมแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 216
ให้ประกัน 15 แกนนำ
ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3 /2558 ข้อ 12, ร่วมกันเดินขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะในลักษณะกีดขวางทางเข้า-ออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐฯ, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะในระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ รวมทั้งยุยงส่งเสริมผู้ชุมนุมให้ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับขัดขวางหรือกระทำการใดอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 8 (1) (3), 15 (2) (4) (5), 16 (1) (4) (7) (9), 19 และความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108, 114
โดยนายรังสิมันต์, นายสิรวิชญ์, นายปิยรัฐ, น.ส.ณัฏฐา, น.ส.ชลธิชา, นายอานนท์ และนายเอกชัย ถูกแจ้งข้อหากระทำการโดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเหตุเกิดที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ถ.ราชดำเนินกลาง และบริเวณด้านหน้าอาคารยูเอ็น ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาทั้ง 15 ประกอบด้วย นายรังสิมันต์ โรม อายุ 25 ปี, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อายุ 26 ปี, นายปิยรัฐ จงเทพ อายุ 27 ปี, นายนิกร วิทยาพันธุ์ อายุ 56 ปี, นายวิเศษณ์ สังขวิศิษฎ์ อายุ 61 ปี, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว อายุ 25 ปี, นายอานนท์ นำภา อายุ 34 ปี, นายเอกชัย หงส์กังวาน อายุ 43 ปี, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา อายุ 39 ปี, นายพุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์ อายุ 61 ปี, นายคีรี ขันทอง อายุ 49 ปี, นายประสงค์ วางวัน อายุ 55 ปี, นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ อายุ 42 ปี, นายภัทรพล จันทรโคตร อายุ 55 ปี และนายวิโรจน์ โตงามรักษ์
ต่อมา เวลา 15.30 น. ศาลได้พิจารณาคำร้องฝากขังและคำคัดค้านฝากขังของทนายความกลุ่มผู้ต้องหาแล้ว ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 15 ราย และยกคำร้องคัดค้านการฝากขัง
หลังจากนั้นทนายความกลุ่มผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอปล่อยชั่วคราวแกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้ง 15 คนระหว่างสอบสวน
ศาลพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 15 คนมีประกันตัวไป โดยตีราคาประกันคนละ 1 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาชุมนุมทำการชุมนุมทางการเมืองอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายแก่สังคม
ก่อนหน้านั้น เวลา 13.00 น.เศษ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เดินทางมายังศาลอาญา เพื่อให้กำลังใจกลุ่มผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้งด้วย โดยนายณัฐวุฒิเปิดเผยว่า มาให้กำลังใจกลุ่มผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้งในฐานะประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ส่วนที่มีฝ่ายข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าก่อนการชุมนุม แกนนำคนอยากเลือกตั้งได้ไปพบกับแกนนำ นปช. ที่สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีซทีวี ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เพราะตนได้ตรวจสอบกับสถานีแล้ว ถ้าหากไม่มีเจตนาที่จะบิดเบือนเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ตนกับรังสิมันต์ โรม อย่าว่าแต่พบปะพูดคุยกันเลย แม้แต่โทรศัพท์หากันก็ไม่เคยมี รู้จักกันก็ในนามนักต่อสู้ ได้มีโอกาสพบเจอกันก็ตามงานหรือกิจกรรมต่างๆ ทักทายสนทนาให้กำลังใจกันก็เป็นเรื่องปกติ ไม่เคยคิดอ่านเตรียมการวางแผน ไม่เคยจับมือกันในทางใต้ดินหรือลับลมคมในใดๆ
ต่อสู้จนกว่ามีเลือกตั้ง
ภายหลังได้รับการประกันตัว นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลให้ประกันตัวทั้งหมดกำหนดวงเงิน 1 แสนบาท มีเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาชุมนุมทางการเมืองอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายแก่สาธารณชน ไม่ได้ห้ามการชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการห้ามการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมาย ไม่เป็นภยันตรายต่อประชาชน ส่วนคำสั่งอนุญาตฝากขังเราจะอุทธรณ์ต่อไป
ด้านนายรังสิมันต์กล่าวว่า สิ่งที่คนอยากเลือกตั้งยืนยันมาตลอดคือการชุมนุมอย่างสันติ ไม่ก่อความเดือดร้อนใดๆ เรามีเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เรามีความปรารถนาดีอยากเห็นประเทศไทยคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย อยากเห็นคนไทยมีโอกาสเลือกตั้งอีกครั้ง มีเยาวชน 7 ล้านที่ยังไม่เคยใช้สิทธิครั้งแรก เราออกมาต่อสู้ทั้งที่ราคาแสนแพง เพราะต้องแลกด้วยสิทธิเสรีภาพของเราเอง ส่วนกรณีคำสั่งยกคำร้องของศาลปกครองนั้น อารยประเทศไม่มีประเทศไหนบอกว่าประชาชนเรียกร้องการเลือกตั้งผิดกฎหมาย มีแต่ประเทศป่าเถื่อนเท่านั้นที่บอกว่าการเลือกตั้งผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป นายรังสิมันต์กล่าวว่า เราดำเนินกิจกรรมตามโรดแมปที่แถลงไว้ 7 ครั้ง และต่างจังหวัดอีกหลายครั้ง เราอาจจะต้องกลับไปเตรียมการอีกครั้งหนึ่ง เราต้องกลับไปคุยกัน แต่ยืนยันว่าไม่ใช่วันสุดท้ายของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะยังคงเห็นการเดินหน้าต่อสู้ต่อไปจนกว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง
ส่วนนายสิรวิชญ์กล่าวว่า ในวันที่ 23 พ.ค. ศาลเปิดทำการแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวเราต่อไป เพราะต้องแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่ม ซึ่งตอนแรกในคืนวันที่ 22 พ.ค. เราถามเจ้าหน้าที่แล้ว บอกไม่แจ้งข้อหา ทำให้เราต้องนอนห้องขัง เพราะต้องรอแจ้งข้อหาอีก คดีอัตราโทษไม่สูงแต่ต้องขังเราเพิ่ม 1 วัน สภาพความเป็นอยู่ก็ไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย สภาพห้องขังย่ำแย่ เราก็อดทนอยู่ สิทธิที่ผู้ต้องขังควรได้รับคือ การถูกควบคุมตัวต้องทำภายใต้ความถูกสุขลักษณะอนามัย ไม่ใช่สกปรกซอมซ่ออย่างที่เป็นอยู่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจะปรับปรุงตรงนี้ เพื่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาทุกคน
ก่อนหน้านั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้ตำรวจที่ถูกทำร้ายร่างกาย ได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย ขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายร่างกายแล้ว และให้ฝ่ายกำลังพลตรวจสอบรายชื่อตำรวจกลุ่มนี้ เพื่อพิจารณาให้เพิ่มเงินเดือน 2 ขั้นเป็นกรณีพิเศษด้วยเพื่อเป็นการให้กำลังใจ
จับฮาร์ดคอร์-อาวุธอื้อ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกลุ่มตรวจสอบสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักเคลื่อนไหวกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายหรือไม่ แต่เราเปิดโอกาสให้มีการชุมนุมอยู่กับที่ แต่เมื่อมีการเคลื่อนที่ก็ต้องดำเนินคดี ส่วนจะมีการให้ประกันตัวหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของตน
ขณะที่นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ออกคำแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐคลี่คลายปัญหาการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างละมุนละม่อม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมทางการเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.
วันเดียวกัน มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ร่วมสนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักผู้ต้องหา นายสุชาติ คอนเล็ก จ.ระยอง พบอาวุธสงครามในพื้นที่เป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ร้านแก้วขนมเปี๊ยะ และบ้านภรรยาผู้ต้องหาบริเวณตรงข้าม สภ.บ้านโพธิ์ ต.บ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา จากการขยายผล พบว่าผู้ต้องหาเคยมีประวัติเป็นการ์ด นปช.
จากการตรวจค้นภายในบ้าน พบอาวุธสงครามและเครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก จำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย 1.อาวุธปืน M16 ทั้งประกอบและไม่ประกอบ หลายกระบอก 2.ลำกล้องปืนพกที่กลึงแล้ว 3.ลำกล้องปืนเล็กยาวที่ยังไม่ได้กลึง 4.กระสุนปืนพกขนาด 9 มม. 5.กระสุนปืนเล็กยาว ขนาด 7.62 มม. 6.อุปกรณ์การดัดแปลงอาวุธปืน 7.กล่องปืนกล็อกและอื่นๆ อีกหลายรายการ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยังร่วมกันตรวจค้นในพื้นที่ จ.อื่นๆ อีกกว่า 10 จุด อาทิ จ.สมุทรปราการ, จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.เชียงราย สามารถจับกุมผู้ต้องหาพร้อมอาวุธสงครามได้อีกเป็นจำนวนมาก ก่อนจะนำตัวทั้งหมดมาควบคุมไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) และเตรียมส่งตัวให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการกองปราบปรามในเช้าวันที่ 25 พ.ค. สอบสวนขยายผลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับใครบ้างถึงได้มีอาวุธสงครามจำนวนมากขนาดนี้
การตรวจค้นดังกล่าวสืบเนื่องจากหน่วยงานความมั่นคงได้พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรง เตรียมอาวุธสงครามเพื่อสร้างสถานการณ์ในการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านจุดตรวจจุดสกัด จึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายอาวุธเข้ามาใน พื้นที่ กทม.ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |