ทำไมผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ควรจะต้องเป็นผู้ได้รับการฉีดวัคซีน โควิด-19 ก่อน


เพิ่มเพื่อน    

 

​เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 ที่ผ่านมานี้ มีข่าวว่า มีหญิงสาวท่านหนึ่งได้เสียชีวิตลงจากโรคโควิด-19 นับเป็นรายที่ 95 ของคนไทย ที่พิเศษคือ เธอเป็นหญิงคนแรกที่เป็นดาวน์ซินโดรม   ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (People with Intellectual Disabilities) ซึ่งนิยามกว้างๆ หมายถึง ผู้ที่มีไอคิว ต่ำกว่า 70-75

​การเสียชีวิตของหญิงสาวผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในประเทศไทยนี้ เป็นการยืนยัน ผลการวิจัยอีกหลายชิ้นในโลกที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ว่า  วิกฤตโควิด-19 กระทบกระเทือนคนแต่ละกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องนี้ก่อให้เกิด วิกฤตความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพ

​แม้ว่าการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะสร้างความหวังในการควบคุมโรคร้ายนี้ไว้ได้ก็ตาม แต่จำนวนวัคซีนที่มีจำกัดเมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการที่มีสูงมาก  สร้างความลำบากใจในการตัดสินกระจายวัคซีนออกไป อย่างไรดีที่ผ่านองค์การอนามัยโลกก็ได้ออกแนวทางปฎิบัติออกมา  โดย Roadmap ขององค์การอนามัยโลก ได้ให้ความสำคัญอันดับต้นต่อ “กลุ่มบุคคลทีมีสภาวะสุขภาพที่มีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิต” มีการให้รายชื่อกลุ่มทางสังคมที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นอันดับแรกไว้ด้วย  ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้คนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาด้วย ซึ่งผลของงานวิจัยจากทั่วโลกนี้  น่าจะเป็นพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ  เพื่อให้ประเทศไทยจัดรวมกลุ่มคนพิการทางสติปัญญานี้ เข้าไปในผู้มีความต้องการอันดับต้นในการฉีดวัคซีน ป้องกันโควิด-19

​ข้อมูลที่เก็บจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา  ต่างก็ยืนยันเหมือนๆกันว่า  อัตราการตายของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นผู้ที่บกพร่องทางสติปัญญา สูงกว่าอัตราการตายของผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้มีความพิการทางสติปัญญาถึง 2 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบด้วยว่า ยิ่งผู้พิการทางสติปัญญาที่มีอายุน้อยลง  โควิด-19 จะส่งผลมากขึ้นทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อ ความหนักหน่วงรุนแรงของโรค และโอกาสที่จะเสียชีวิต นอกจากนั้นจากการเก็บข้อมูลทางอีเล็กทรอนิคจาก 30 ประเทศ พบว่ายิ่งกลุ่มตัวอย่างมีอายุน้อยลง  ยิ่งจะเห็นผลกระทบของโควิด-19 กระจุกอยู่ในกลุ่มผู้พิการทางสติปัญญามากกว่ากลุ่มคนทั่วไปที่มีอายุเท่ากันอย่างเห็นได้ชัด  ยิ่งไปกว่านั้น  ผลการศึกษาล่าสุดที่เก็บมาจนถึงเดือนมกราคม 2564 จากคนไข้ 65 ล้านคน และคนไข้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามากกว่า  128,000 คน  พบว่า ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาจะมีความเสี่ยงสูงกว่าทั้งในแง่โอกาสที่จะเจ็บป่วยและโอกาสที่จะเสียชีวิตเมื่อเทียบกับคนทั่วไป

​ต่อไปนี้คือ สาเหตุบางประการที่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าจากการป่วยหรือเสียชีวิตจากโควิด-19

1. สภาพการอยู่อาศัย: เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เกิด social distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคมในกลุ่มผู้บกพร่องทางสติปัญญา  เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ มักจะอยู่อาศัยด้วยกันเป็นหมู่คณะ  ไม่ว่าจะอยู่เป็นกลุ่มในบ้านหรือเป็นกลุ่มในโรงเรียนประจำ  ผู้ที่บกพร่องทางสติปัญญาจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงครู นักบำบัด ผู้ช่วยและคนในครอบครัวในการสนับสนุนในการดำเนินชีวิตประจำวัน  ดังนั้นจึงจำเป็นที่อยู่กับคนจำนวนมากตลอดเวลา   ยิ่งอยู่ใกล้ชิดกันมากๆโอกาสติดโรคน่าจะมากขึ้นด้วย นอกจากนั้น ในครอบครัวที่ยากจน บางครั้งคนในบ้านหรือสมาชิกในครอบครัว อาจจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่อาจดูแลคนพิการได้ตลอดเวลา ซึ่งพบว่าผู้พิการทางสติปัญญาถ้าไม่ได้รับการดูแลใกล้ชิด จะมีปัญหาในการสวมหน้ากากอนามัย  หรือมักจะไม่เข้าใจว่าจะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม หรือระมัดระวังตัวเองอย่างไร

2. คนที่บกพร่องทางสติปัญญามีโอกาสเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจมากกว่าคนปกติ: แม้สภาพการอยู่อาศัยจะไม่มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาพบว่า ผู้พิการทางสติปัญญามีโอกาสจะเสียชีวิตจากโรคหวัดมากกว่าคนทั่วไป 3 เท่า  แม้จะยังไม่มีโควิด-19 ผู้บกพร่องทางสติปัญญามีโอกาสสูงกว่าคนทั่วไปที่จะเป็นโรคปอดบวม  และยังมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคปอดบวมมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า  การมีโรคปอดบวมแทรกซ้อนเข้ามากับโควิด-19 ย่อมจะทำให้สถานการณ์ของผู้พิการทางสติปัญญาน่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก

3. ผู้ที่บกพร่องทางสติปัญญามักจะเป็นโรคที่ทำให้การป่วยจากโควิด-19 มีความรุนแรงขึ้น: เป็นที่ทราบกันดีว่า กลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ ความดันสูง  โรคอ้วน มีความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงขึ้นเมื่อติดโควิด-19  และผลจากการสำรวจล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า  56.4% ของนักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคซึ่งเป็นผู้พิการทางสติปัญญา เป็นกลุ่มที่มีความดันเลือดสูง นอกจากนั้น มากกว่า 90%ของผู้ที่บกพร่องทางสติปัญญาจะมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ทำให้เมื่อติดเชื้อโควิด-19แล้ว ส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น

4. ผู้พิการทางสติปัญญามักจะมีครอบครัวที่ยากจน: เรื่องนี้อาจเป็นไปได้ทั้งสองทาง คือ ความยากจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญา ในขณะเดียวกันความพิการทางสติปัญญาเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจน ซึ่งไม่ว่าอะไรเกิดก่อนอะไร แต่ในโลกความความเป็นจริง จะพบว่าผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามักจะมาจากครอบครัวที่ยากจน นักวิเคราะห์บางคนถึงกับมองว่า โควิด-19 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจของโลกสูงขึ้น  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ระบบป้องกันโควิด-19เบื้องต้น อันได้แก่ การมีน้ำดื่ม ระบบสุขาภิบาล สุขลักษณะ การอยู่บ้าน และการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่อาจที่จะทำได้ในกลุ่มคนที่มีฐานะยากจน

5. ผู้พิการทางสติปัญญามักจะเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ: แม้ไม่มีโควิด-19  ผู้บกพร่องทางสติปัญญาสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ยากกว่าคนทั่วไป อุปสรรคเหล่านั้นมาจากความรู้ที่จำกัดของผู้พิการทางสติปัญญา และมาจากผู้ให้บริการสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพ หรือผู้ให้บริการทางการแพทย์ มักไม่มีข้อมูลหรือความรู้เพียงพอในการดูแลกลุ่มคนผู้พิการทางสติปัญญา ผนวกกับคนที่พิการทางสติปัญญาไม่มีความสามารถพอที่จะเรียกร้องสิทธิของตน (ต่างจากผู้พิการทางร่างกายที่สมองยังดี)  และสิ่งนี้เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19

บทสรุป: แม้ยังมีเรื่องที่ต้องศึกษาเกี่ยวกับโควิด-19 อีกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดก็คือ โควิด-19 ส่งผลกระทบทางลบต่อผู้พิการทางสติปัญญามากกว่าคนทั่วไป  ในบางประเทศนั้น เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ สหราชอาณาจักร ให้สิทธิในการรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาก่อน  ในบางประเทศเช่น ประเทศชิลี มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนอย่างมาก ซึ่งคาดว่าประเทศจะมี ภูมิคุ้มกันโรคทั้งประเทศก่อนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ   เพราะรัฐบาลประเทศชิลีตระหนักดีว่า ถ้าไม่ให้ความสำคัญของกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาแล้ว โอกาสที่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่กระจายก็จะมีโอกาสูงขึ้น

​สำหรับประเทศไทยนั้น สถิติในปี 2562 พบว่า มีผู้ถือบัตรผู้พิการ 1,995,767 คน โดย 3.01% ของคนจำนวนนี้เป็นผู้พิการทางสติปัญญา  ซึ่งถ้าอาศัยตัวเลขนี้ จะมีผู้พิการทางสติปัญญา คนเรียนรู้ช้าและผู้พิการซ้ำซ้อนราว 150,000 คน ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขขั้นต่ำ  ในความเป็นจริงผู้พิการทางสติปัญญาโดยเฉพาะในชนบทไม่ได้ลงทะเบียนเป็นถือบัตรผู้พิการ  หลายคนมีปัญหาการสื่อสารถึงความต้องการของตัวเอง  บางคนเจ็บป่วยก็บอกไม่ได้ หรือไม่มีความสามารถเพียงพอในการเรียกร้องขอความช่วยเหลือ  และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่พวกเราองค์กรที่ดูแลผู้พิการทางสติปัญญา เช่น สเปเชียลโอลิมปิคประเทศไทย   จึงออกมาเรียกร้องให้มีการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับกลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาก่อน
​​

​​ คอลัมน์เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร.นริศ ชัยสูตร 
นายกสมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"