ช่วงนี้เวลาพบปะเพื่อนฝูง มักจะเจอคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่เสมอว่า "หนังสือพิมพ์เป็นยังไงบ้าง จะอยู่รอดไหม?" นี่คือคำถามของคนที่เขาหวังดี และแสดงความเป็นห่วงว่าอาชีพนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ จะสามารถทำมาหากินเลี้ยงชีพไปได้อีกนานแค่ไหน ในเมื่อถูกรบกวนด้วยสื่อดิจิทัลอย่างหนัก
ด้วยสถานการณ์แบบนี้ จะตอบว่าธุรกิจยังดี หรือว่าเฟื่องฟู คงยากที่จะใครเชื่อ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนักแล้ว ที่เห็นมีการทยอยปิดบริษัท ปิดหัวหนังสือไปหลายเล่ม เพราะพิมพ์ไปก็ไม่คุ้ม มีแต่เข้าเนื้อ แถมรายได้จากโฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งระบบก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 20% ซึ่งปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่ถึง 10,000 ล้านบาทเท่านั้น จากที่เคยมีวงเงินสูงกว่าหลายหมื่นล้านบาท
ฉะนั้น สถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ในขณะนี้ ก็เรียกได้ว่า ประคองตัว และมองหาช่องทางการอยู่รอด ซึ่งในแต่ละเล่ม ซึ่งก็จะมีกลยุทธ์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะต่างกันอย่างไร สิ่งที่เหมือนกันก็คือการปรับตัวเข้าหาสื่อดิจิทัล
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า "คนอ่านอยู่ที่ไหน สื่อต้องตามไปที่นั้น" ตอนนี้คนไทยกำลังสนุกสนานกับการใช้งานสื่อบนออนไลน์ ดังนั้น ทุกสื่อสำนักพิมพ์ ก็ต้องมุ่งหน้าสู่ออนไลน์ เป็นคำตอบสุดท้าย ซึ่งแม้จะเข้าโดยเต็มใจ หรือไม่เต็มใจก็ตาม แต่ สื่อออนไลน์ยังคงเป็น "ความหวัง" ที่จะช่วยรักษาสถานะธุรกิจเอาไว้ได้
แน่นอนว่าการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ เป็นเรื่องยากเสมอ ซึ่งเชื่อว่าทุกสำนักข่าวก็จะต้องเจอการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายๆ กัน แต่ถ้าไม่เริ่มต้น นับหนึ่งก็ได้แต่รอวันตาย เพราะหากดูพฤติกรรมของผู้อ่านยุคนี้ คนใช้เวลากับสิ่งพิมพ์ลดลงมาก เพราะมันมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าอยู่บนจอมือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ โดยจากผลสำรวจล่าสุดของ “We Are Social” ดิจิทัลเอเยนซี และ “Hootsuite” ผู้ให้บริการระบบจัดการ Social Media และ Marketing Solutions ระบุว่าคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนต่อวัน สูงที่สุดในโลก 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน ขณะเดียวกันคนไทยให้เวลาอยู่โลกออนไลน์ และโซเซียลมีเดียที่สูงมาก เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ด้วยเวลาดังกล่าว ก็แทบจะเต็มวันในการใช้ชีวิตแล้ว จะมีเวลาไปทำอย่างอื่นได้อย่างไร
โดยความนิยมของสื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ในมุมของธุรกิจสิ่งพิมพ์ อาจจะเป็นฝันร้าย แต่สำหรับสื่อออนไลน์ ธุรกิจมันเหมือนเพิ่งเริ่มต้น เพราะคาดการณ์ว่าเม็ดเงินโฆษณาในสื่อนี้ จะอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น อันเนื่องมาจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้นยังคงเพิ่มขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 57 ล้านคน หรือเท่ากับ 82% ของจำนวนประชากร ซึ่งก็หมายความว่าคนไทยเคยชินกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้วอย่างดี
ก่อนหน้านี้เอง สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT (Digital Advertising Association Thailand) ร่วมกับกันตาร์ ทีเอ็นเอส (ไทยแลนด์) เปิดเผยข้อมูลการใช้เงินซื้อสื่อดิจิทัล พบว่าในปี 2017 ที่ผ่านมา วงเงินโฆษณาในสื่อออนไลน์ ทะลุ 12,402 ล้านบาท หรือโตกว่า 31% เมื่อเทียบกับปี 2016 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าวงเงินแซงหน้าเงินโฆณษาบนสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งระบบไปแล้ว แถมยังประเมินอีกว่า ในปีนี้เม็ดเงินโฆษณาดังกล่าวน่าจะขยับมาอยู่ที่ 14,330 ล้านบาท หรือโตกว่า 16% เลยทีเดียว
ฉะนั้น ตลาดจึงยังคงเปิดกว้าง สำหรับผู้ผลิตสื่อทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ ที่จะเข้าสู่ยุคการผลิตสื่อออนไลน์
โดยในปัจจุบันนี้หลายสิ่งหลายอย่างเอื้อต่อการผลิตสื่อออนไลน์อย่างมาก ทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ มีราคาที่ถูกลงมาก และมีคุณภาพที่สูงขึ้น สมาร์ทโฟนแค่เครื่องเดียว สามารถผลิตคอนเทนต์ได้ทุกรูปแบบแล้ว
ขณะเดียวกัน ด้วยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เอื้ออำนวยในการกระจายคอนเทนต์ไปสู่ผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูบ หรืออื่นๆ ในอนาคต ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ช่วยส่งเสริมให้เนื้อหาสาระส่งตรงไปยังผู้อ่าน หรือผู้ติดตามได้ง่ายขึ้น
ด้านโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีโครงสร้างอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว และดีขึ้นกว่าในอดีตมาก ขณะที่เครื่องมือในเรื่องของการหารายได้ก็เพียบพร้อม สำหรับแอดเน็ตเวิร์กต่างๆ ที่เข้ามาช่วยในเรื่องการหารายได้ให้กับคนทำคอนเทนต์
อนาคตของสื่อคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องไปสู่ช่องทางออนไลน์ แต่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ และให้สอดคล้องกับรายได้นั้นยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ซึ่งทุกองค์กรจะต้องหาเส้นทางที่ดีที่สุด เพื่อที่จะทำให้ชื่อและคุณภาพงานขององค์กรจะยังอยู่ในใจของผู้อ่านตราบนานเท่านาน.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |