'มหาสงกรานต์' คืออะไร?


เพิ่มเพื่อน    

       วันนี้ "๑๓ เมษายน" เป็นวัน "มหาสงกรานต์"

 

                เรารู้ แบบชินว่า.....

            ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่สากล ส่วน ๑๓ เมษายน  วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย

            แล้วทำไมต้องมีทั้งปีใหม่สากลและปีใหม่ไทย?

            "สากล" คือ ตามสังคมตะวันตกนิยม คล้อยตามเขาเพราะเขามีอิทธิพลคุมโลก

            ขณะเดียวกัน แต่ละประเทศ ก็มีปฏิทินสังคมชาตินิยม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของตนด้วย

            ฝรั่ง มีตรุษฝรั่ง จีน มีตรุษจีน แขก มีตรุษแขก ไทย มีตรุษไทย มอญ มีตรุษมอญ เป็นต้น

            "ตรุษ" ก็คือ วันส่งท้ายปีเก่า-ขึ้นปีใหม่ ตามคตินิยมของแต่ละชาติ

            ทีนี้ มาคุยเฉพาะของเรา พูดแต่ว่าสงกรานต์..สงกรานต์  พอถาม สงกรานต์คืออะไร?

            เซ่อรับประทานเลย!

            ผมก็ด้วย เลยไปค้นตรงนั้น-ตรงนี้ดู ก็สนุกดีแฮะ จะฉกฉวยมาให้อ่านกันพอรู้ พอไม่ให้เสียทีที่เกิดเป็นคนไทย

            จากบางตอนของ "องค์ความรู้เรื่องสงกรานต์"

            รวบรวมโดย "นางสาวทัศนี อุทการ" นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ขอเก็บความ ดังนี้

            คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤตว่า "ส-กรานต"  แปลว่า ก้าวขึ้น, ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น

            การย่างขึ้น คือพระอาทิตย์ย่างหรือเคลื่อนไปสู่ราศีใหม่ ซึ่งใช้เวลา ๓๐ วันต่อการเคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง

            แต่เฉพาะรอบที่พระอาทิตย์ย่างจากราศีมีนเข้าราศีเมษ ซึ่งตกอยู่ราวๆ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายน ของทุกปี

            ไทยถือเอาวันนี้ เป็น "วันมหาสงกรานต์"

            คือ หลักดาราศาสตร์ แบ่งท้องฟ้าเป็น ๑๒ ส่วน ที่เรียก  ๑๒ ราศี

            พระอาทิตย์ยกย้ายทุกเดือน ใช้เวลา ๓๐ วัน จากราศีหนึ่งไปอีกราศีหนึ่ง พอถึงรอบยกย้ายจากมีนเข้าเมษ เท่ากับ  ๓๖๕ วัน

            เป็น ๑ ปี พอดี!

            และวันนี้แหละ "วันมหาสงกรานต์" คือวันขึ้นปีใหม่ตามคติไทย!

            ก่อนที่จะถือวันสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทยนั้น สมัยโบราณ เราถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่     เพราะถือว่าฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตกราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม

            ต่อมา เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติและฤดูการผลิต เป็น วันขึ้น ๑ ค่ำ  เดือน ๕ หรือประมาณ เดือนเมษายน

            ครั้นในปี พ.ศ.๒๔๓๒ สมัยรัชกาลที่ ๕.......

            ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่ ๑ เมษายน

            ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ จอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ จากปี  พ.ศ.๒๔๘๔ จนถึงปัจจุบัน อันเป็นการนับแบบสากล

            อย่างไรก็ดี คนไทยในหลายภูมิภาค ยังยึดเอาวันสงกรานต์เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่

            ซึ่งแต่เดิม แม้จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ก็ไม่ได้ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ดังเช่นปัจจุบัน

            จนเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ เป็นต้นมา จึงได้กำหนดเป็นวันที่  ๑๓ เมษายน ตามปฏิทินเกรกอรี่

            (ปฏิทิน กริกอเรียน เป็นปฏิทินดัดแปลงจากปฏิทินจูเลียน ใช้ในประเทศตะวันตก ประกาศใช้ครั้งแรกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ ๑๓ เมื่อ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๑๒๕-วิกิพีเดีย)

            เอาล่ะ พอรู้เรื่องสงกรานต์ แล้ว "นางสงกรานต์" ล่ะ มาไง-ไปไง?

            อย่างปีนี้ "๒๕๖๔" ปีฉลู

            นางสงกรานต์ ทรงนามว่า "รากษสเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู

            เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังวราหะ หรือ หมู นั่นน่ะ

            มีหลายเวอร์ชัน ขอคัดจาก "ประเพณีไทยดอทคอม" ละกัน

            ท้าวกบิลพรหม หรือ ท้าวมหาพรหม สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ ๓ มหาพรหมภูมิ มีหน้าที่สอดส่องดูแลมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

            มีพระธิดา ๗ องค์ คือ ทุงษเทวี โคราคเทวี รากษสเทวี มณฑาเทวี กิริณีเทวี กิมิทาเทวี และมโหธรเทวี ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก

            ประวัติท้าวกบิลพรหมและพระธิดาทั้ง ๗ เกี่ยวเนื่องกับตำนานสงกรานต์ ได้เล่าขานสืบต่อกันมา

            สมัยต้นภัทรกัลป์ เศรษฐีคนหนึ่ง พบนักเลงสุราโดยบังเอิญ ถูกนักเลงสุรากล่าวเย้ยหยัน ว่า

            ท่านเศรษฐีมีสมบัติก็มากมายมหาศาล แต่จะมีบุตรมาเกิดสักคนไม่ ข้าพเจ้าสิดีกว่าท่านเป็นไหนๆ มีบุตรตั้ง ๒ คน ท่านคงมีเวรมีกรรม ไม่สามารถมีบุตรไว้สืบสกุลอย่างข้าพเจ้าได้

            เศรษฐีมีความละอายใจและน้อยใจตัวเอง เฝ้าแต่คิดว่าจะทำอย่างไร จึงได้จัดเครื่องสังเวยบูชาพระอาทิตย์และพระจันทร์

            วอนขอบุตรเป็นเวลา ๓ ปี ก็มิได้บุตรตามปรารถนา       ครั้นถึงฤดูคิมหันต์ วันสงกรานต์........

            เศรษฐีพาบริวารไปยังต้นไทร นำเอาข้าวสารมาล้างน้ำ  ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชารุกขเทวดา ณ ใต้ต้นไทรนั้น

            พร้อมด้วยโภชนาหารดอกไม้เครื่องหอม และผ้าแพร ๓  สี ตั้งจิตอธิษฐาน ขอบุตรต่อรุกขเทวดา ณ พระไทรแห่งนั้น

            ด้วยความเมตตาสงสาร พระไทรจึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ให้ประทานบุตรแก่เศรษฐี

            พระอินทร์ได้ส่ง "ธรรมบาลเทวบุตร" จุติลงมาเกิดเป็นบุตรเศรษฐี มีชื่อว่า "ธรรมบาลกุมาร" มีสติปัญญาความสามารถฉลาดรอบรู้ศิลปศาสตร์ต่างๆ

            จากคำเล่าลือ "ท้าวกบิลพรหม" ใคร่ทดสอบความสามารถธรรมบาลกุมาร จึงเสด็จมาโลกมนุษย์ พบกับธรรมบาลกุมาร ขอถามปัญหา ๓ ข้อ โดยมีสัญญาว่า

            ถ้าธรรมบาลตอบได้ จะตัดหัวตนเองบูชา ถ้าธรรมบาลตอบไม่ได้ ธรรมบาลจะต้องตัดหัวตนเองขึ้นบูชา และให้เวลาคิดปัญหา ๗ วัน

            ธรรมบาลรับพนันตอบปัญหาท้าวกบิลพรหม ๓ ข้อ

            ข้อที่ ๑ เวลาเช้า ราศีอยู่ที่ใด, ข้อที่ ๒ เวลาเที่ยง ราศีอยู่ที่ใด, ข้อที่ ๓ เวลาค่ำ ราศีอยู่ที่ใด

            ธรรมบาลกุมารเฝ้าขบคิดปัญหา คิดเท่าไรก็คิดไม่ออก  คงเหลือเวลาอีกเพียง ๑ วัน จึงเดินไปพักคิดอยู่ใต้ต้นไทร

            ทันใดนั้น ก็ได้ยินเสียงนกอินทรีผัวเมียพูดโต้ตอบกัน

            นกอินทรีตัวผู้ "พรุ่งนี้เราจะได้กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหารเพราะครบ ๗ วัน ที่ธรรมบาลจะต้องตอบปัญหาท้าวกบิลพรหม ถ้าตอบปัญหาไม่ได้ จะต้องถูกตัดหัว"

            นกอินทรีตัวเมียพูด "ท่านรู้จักแก้ปัญหานั้นหรือไม่"

            นกอินทรีตัวผู้ตอบ "รู้สิ เวลาเช้า ราศีนั้นอยู่ที่หน้า คนทั้งหลายต้องเอาน้ำล้างหน้า

            เวลาเที่ยง ราศีอยู่ที่อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำมาลูบอก     เวลาเย็น ราศีอยู่ที่เท้าคนทั้งหลายต้องเอาน้ำมาล้างเท้า"

            ธรรมบาลกุมารได้ฟัง ก็จดจำคำในการแก้ปัญหานั้น

            ครบ ๗ วัน ท้าวกบิลพรหม ก็ลงมาตามที่นัดหมาย

            ธรรมบาลกุมารแก้ปัญหานั้นได้อย่างคล่องแคล่ว            ท้าวกบิลพรหมได้ฟังคำตอบ ก็กล่าวว่า

            "เจ้าเป็นผู้ชนะเราเป็นผู้แพ้ จะต้องเสียหัวให้เป็นรางวัลตามสัจจะวาจา"

            ท้าวกบิลพรหมเรียกพระธิดาทั้ง ๗ องค์ ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์เข้ามาหา แล้วสั่งความว่า

            ๑.อย่าให้เศียรของเราตกถึงพื้นดินเป็นอันขาด ถ้าตกถึงพื้นดินเมื่อใดจะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก

            ๒.อย่าให้เศียรของเราตกลงไปในมหาสมุทร น้ำจะแห้งขอดตลอดไป

            ๓.อย่าทิ้งเศียรของเราลอยไปในอากาศ จะทำให้ฝนแล้งตลอดไป

            ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้นางทุงษเทวีนำเอาพานทองมารองรับพระเศียร และให้เทพบริษัททำประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ

            แล้วเชิญเข้าประดิษฐานในมณฑลถ้ำคันธธุลี ณ เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ชื่อ ภควดี ใช้เป็นที่ประชุมเทพยดา

            นำเอาเถาฉมูนาคมาล้างในสระอโนดาษ ๗ ครั้ง แล้วแจกจ่ายกันเสวยโดยทั่วกัน

            เมื่อครบกำหนด ๑ ปี ถือกันว่าเป็น "วันมหาสงกรานต์"   เทพบริษัทแสนโกฏิพร้อมด้วยพระธิดาทั้ง ๗ องค์ ผลัดเวรกัน เชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม แห่แหนทำประทักษิณไปรอบเขาพระสุเมรุเป็นประจำทุกปี

            ครับ....

            จบความตามประเพณีไทยดอทคอม แต่จากหนังสือตรุษสงกรานต์อาจารย์ "สมบัติ พลายน้อย" กล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวเนื่องนางสงกรานต์ น่าสนใจว่า

            -ถ้านางสงกรานต์ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้     -ถ้านั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ

            -ถ้านอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข

            -ถ้านอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี

            สงกรานต์ปีฉลู พ.ศ.๒๕๖๔ นี้

                "รากษสเทวี" นางสงกรานต์ "นอนหลับตา" มาครับ!

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"