ปมขัดแย้งแก้รธน. “ยุบสภา”ปลายปี?


เพิ่มเพื่อน    

        กระแสข่าวเกี่ยวกับการยุบสภาพูดกันปากต่อปากในหมู่สมาชิกรัฐสภาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เรื่อยมาจนขณะนี้เริ่มพูดกันมากขึ้น ซึ่งวิเคราะห์กันว่าชนวนที่จะทำให้เกิดการยุบสภา ได้แก่ การแก้รัฐธรรมนูญ

            กระนั้น เมื่อปลายเดือน มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้มีอำนาจในการยุบสภา ออกมาปฏิเสธ โดยยืนยันว่า “ยังไม่มีการยุบสภา แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะมีสิทธิ์ตั้งพรรคการเมืองใหม่”

            เมื่อจับตาท่าทีของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในเรื่องนี้ ภายหลังที่มีความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล้มเหลวไปนั้น พบว่า พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งพรรคที่เป็นฝ่ายค้านทั้งหมด ยังมุ่งมั่นตั้งใจจริงใจแก้รัฐธรรมนูญ เพียงแต่มีวิธีการที่แตกต่างกัน

            ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ฝ่ายค้านมามุกใหม่ ประกาศเปรี้ยงจะขอแก้รัฐธรรมนูญทั้งแบบรายมาตราและแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะเห็นว่าสามารถเดินควบคู่กันไปได้

            อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามว่าฝ่ายค้านต้องการเดิมเกมจัดทำใหม่ทั้งฉบับด้วย จะดำเนินการอย่างไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวิธีการจัดทำฉบับไม่ชัดเจน อย่างน้อยต้องขอมติที่ประชุมรัฐสภา เพื่อส่งประเด็นต่างๆ ที่ยังคงมีความสงสัยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก ใช่หรือไม่

            เหมือนเช่นที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวไว้ในที่ประชุมรัฐสภาก่อนลงมติโหวตแก้รัฐธรรมนูญวาระที่สาม เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ว่า ขอให้ที่ประชุมมีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจและหน้าที่รัฐสภาอีกครั้งใน 4 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง สถานภาพ ว่าเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างจัดทำใหม่กันแน่ ประเด็นที่สอง จากคำวินิจฉัยศาลให้ทำประชามติเสียก่อนนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าจัดทำตอนไหน ระหว่างก่อนโหวตวาระที่หนึ่ง หรือหลังโหวตวาระที่สาม

            ประเด็นที่สาม การทำประชามติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ 2 มาตรา คือ มาตรา 166 ให้ ครม.จัดทำประชามติ ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร และมาตรา 256 (8) ในการแก้ไขเพิ่มเติมหลังผ่านวาระที่สามแล้วให้ทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในการจัดทำประชามตินอกเหนือจากนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตราใด เพราะฉะนั้นต้องอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ากรณีใดจะทำประชามติเมื่อไหร่ อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะนำสู่การถกเถียงกันอีก

            ประเด็นที่สี่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสองหลักการตามข้างต้น ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจะตกทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งจะนำสู่การตัดสินใจว่าจะลงมติในวาระที่สามได้หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังวินิจฉัยยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว

            นอกจากนี้ มีคำถามต่อไปว่าหากรัฐสภามีมติไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเคลียร์อย่างน้อย 4 ประเด็น ฝ่ายค้านจะเดินต่ออย่างไรในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือจะเลือกปิดจ๊อบ ทิ้งให้เป็นฟืนกองใหญ่ไว้สำหรับสุมไฟ

            ขณะที่ซีกรัฐบาลแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ รวมทุกประเด็น โดยมีพรรคพลังประชารัฐเสนอ และไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลลงชื่อให้การสนับสนุน สาเหตุอาจมาจากการกลับไปกลับมาของพรรคแกนนำรัฐบาล เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบแรกเสนออย่างดิบดี ประกาศว่าพร้อมสนับสนุน แต่สุดท้ายก็กลับเป็นฝ่ายยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเอง จนทำให้ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบ

            ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ประกอบด้วย 3 พรรคร่วมรัฐบาลข้างต้น ซึ่ง “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะวิปของพรรคประชาธิปัตย์ที่ประสานเรื่องนี้โดยตรงกับอีก 2 พรรค กล่าวไว้ชัดเจนว่า กลุ่มนี้จะแก้ไข 6 ประเด็น เช่น การแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องทำได้ง่ายขึ้น ยกเลิกมาตรา 272 ที่กำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 88 และมาตราเกี่ยวกับการส่งบัญชีรายชื่อ 3 นายกรัฐมนตรี เราจะแก้ไขว่า หากนายกฯ ที่อยู่ในบัญชี 3 คนนั้นไม่สามารถที่จะเสนอได้ ก็ให้สภาเสนอชื่อ ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยึดโยงให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชน รวมยังจะแก้วิธีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ และถอนถอดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้กลับไปใช้แบบเดิม โดยเสนอผ่านองค์กรอิสระ และส่งให้ประธานศาลฎีกา เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม ประเด็นการแก้ไขหนึ่งที่พรรคพลังประชารัฐ และ 3 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันคือ ระบบการเลือกตั้ง ที่จะกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 เขต เลือกแบบ 1 บัตร 1 คน และมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง ส.ว.เองก็ให้การสนับสนุนเช่นกัน แต่ทั้งหมดต้องรอดูว่าเมื่อถึงเวลาจริง ในชั้นพิจารณาร่วมรัฐสภา ประเด็นดังกล่าวจะได้รับความจริงใจจากทางพลังประชารัฐและ ส.ว.หรือไม่ หรือจะมีแผนเตะถ่วง หรือจะซ้ำรอยเดิม เขียนด้วยมือ ลบด้วยตีนอีก ถ้ายังเดินเกมเช่นนี้ เสมือนขยี้รอยแผลเก่าที่อยู่ในใจของพรรคร่วมรัฐบาล

            ทั้งนี้ เซียนการเมืองคาดว่า เรื่องระบบการเลือกตั้งและการให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เป็นประโยชน์กับฝ่ายผู้มีอำนาจ เป็นตายอย่างไรการแก้ไข 2 เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งเท่ากับว่าจะกลายเป็นเชื้อเพลิงเกรดพรีเมียมไว้เติมพลังม็อบที่ก่อตัวก่อนสงกรานต์แล้ว ที่สำคัญถือว่าม็อบจะมีความชอบธรรมมากขึ้น เพราะรัฐบาลเคยรับปากและประกาศเป็นนโยบายรัฐบาลว่าปัญหารัฐธรรมนูญต้องได้รับการแก้ไข แต่พอถึงเวลาจริงกลับไม่รักษาคำพูด กลืนน้ำลายตัวเอง

            เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวล ความวุ่นวายจากชนวนการแก้รัฐธรรมนูญ จนเกิดความขัดแย้งนำสู่การยุบสภา จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หลายฝ่ายทิ้งท้ายว่าให้นับจากเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ 22 พ.ค.ไปอีก 4 เดือน พ้นการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ อย่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565

                หมายความว่าขึ้นปีงบประมาณใหม่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป อาจได้เลือกตั้งใหม่ กติกาเดิม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"