อนุสรณ์สถาน “โผน กิ่งเพชร” ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ภาพจาก thailandtourismdirectory.go.th)
อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลสงกรานต์อันเป็นปีใหม่แบบไทยเดิม แต่ไหนแต่ไรมาแม้จนกระทั่งปัจจุบันการเฉลิมฉลองสงกรานต์ดูจะเข้มข้นหนักหน่วงกว่าวันปีใหม่สากลที่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม แต่วิกฤติโควิด-19 ได้ทำให้ชาวเราต้องหมองเศร้าเหงาหงอยเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันเข้าไปแล้ว
เพื่อเป็นกำลังใจแด่ท่านผู้อ่าน วันอาทิตย์นี้ผมขอหยิบเอาเรื่องราวแห่งการมีชัยของชาวไทยครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในอดีตมาพูดถึง ซึ่งเกิดขึ้นช่วงเวลาเดียวกันนี้ เพียงแต่ย้อนไปเมื่อ 61 ปีก่อน นั่นคือเหตุการณ์ในวันที่ 16 เมษายน 2503 วันที่ “โผน กิ่งเพชร” ขึ้นชิงแชมป์โลก และคว้าชัยมาครอง ถือเป็นแชมป์โลกมวยสากลอาชีพคนแรกของประเทศ หวังว่าจะปลุกเลือดนักสู้ชาวไทยให้ลุกขึ้นมาร่วมใจเอาชนะโควิด-19 ไปพร้อมๆ กันครับ
หากจะพูดถึงกีฬาสากลระดับโลก แชมป์ชาวไทยคนแรกก็คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือพระนามลำลอง “พระองค์ชายพีระ” ที่ทรงชนะเลิศการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ที่นครรัฐโมนาโก เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2479 หรือวันนี้พอดิบพอดีเมื่อ 85 ปีก่อน
ก่อนหน้านั้น 2 เดือน คือในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2478 ซึ่งหากนับอย่างปัจจุบันก็คือ พ.ศ.2479 “มานะ สีดอกบวบ” ลืมตาดูโลกที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวน 9 คนของครอบครัวนายห้อย-นางริ้ว และเพราะเป็นเด็กผู้ชายไว้ผมแกละ ชาวตลาดหัวหินจึงเรียกว่า “ไอ้แกละ” จนติดปาก และเขาก็รับมันมาเป็นชื่อเล่นอย่างถาวร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรการชกชิงแชมป์ของโผน (เครดิต : Jesada Technik Museum และจียอง ปาร์ค)
ขณะเรียนหนังสือในหัวหินเขาเล่นกีฬาทุกชนิดที่ขวางหน้า แต่ชอบมากกว่าอื่นใดคือหมัดมวย ถึงขั้นพูดกับเพื่อนๆ ว่าสักวันจะเป็นแชมป์โลกให้ได้ เขามีพรสวรรค์อยู่แล้ว เมื่อได้ฝึกปรืออยู่เนืองๆ ก็มีความมั่นใจขึ้นชกบนเวทีสนามมวยหัวหินที่เพิ่งตั้งขึ้นในเวลานั้น เริ่มแรกในฐานะมวยแทน ก่อนจะเป็นมวยในรายการ ปราบคู่ต่อสู้ได้ทุกครั้ง เป็นที่เลืองชื่อลือชาในหมู่ชาวหัวหิน
เมื่อเรียนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนหัวหินวิทยาลัย “สง่า สีดอกบวบ” พี่ชายคนโตพาเขาเข้ากรุงเทพฯ ฝากไว้กับค่าย “กิ่งเพชร” ของ “นายห้างทองทศ อินทรทัต” ผู้เป็นเจ้าของค่ายกิ่งเพชร และบริษัท เทวกรรมโอสถ ผู้ฝึกสอนของแกละ คือ “อาจารย์นิยม ทองชิตร”
ขอกล่าวถึงอาจารย์นิยม ทองชิตร เสียก่อน ท่านผู้นี้ไม่ธรรมดา “ตำรามวยสากล ของอาจารย์นิยม ทองชิตร” เรียบเรียงโดย “ทองทศ อินทรทัต” ในบทนำ กล่าวไว้ว่า “...เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 กระทรวงศึกษาฯ ได้ส่งอาจารย์ไปเรียนวิชามวยสากลที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 5 ปี
ภาพถ่ายโผนเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงพระเยาว์ (เครดิต : Jesada Technik Museum และจียอง ปาร์ค)
ระหว่างการศึกษา ทางโรงเรียนได้จัดให้มีการแข่งขันชกมวยสากลระหว่างนักเรียนพลศึกษาทุกปี อาจารย์ขึ้นชกแข่งขันหลายครั้ง ชนะทุกคน นอกจากนักเรียนพลศึกษาโรงเรียนเดียวกันชื่อยิมมี่ วาย ชกกับอาจารย์ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เมื่ออาจารย์เรียนจบกลับมาประเทศไทยสอนวิชามวยสากลประจำอยู่กรมพลศึกษา ต่อมายิมมี่ วาย คู่ปรับของอาจารย์ก็ได้เป็นแชมป์เปี้ยนโลก
ระหว่างที่อาจารย์เป็นครูกรมพลศึกษา ขึ้นชกมวยไทยสมัยคาดเชือกชนะหลายคนไม่เคยแพ้ใครเลย ครั้งสุดท้ายชกหน้าที่นั่งกับ ทับ จำเกาะ แบบมวยไทยคาดเชือก อาจารย์ชนะน็อก ทับ จำเกาะ ด้วยหมัด แต่ถูก ทับ จำเกาะ เตะที่ชายโครงกระดูกหัก อาจารย์จึงเลิกชกมวย คงสอนวิชามวยสากลกรมพลศึกษาตลอดมาจนกระทั่งเกษียณอายุ จากนั้นก็มาอยู่กับข้าพเจ้าหลายปี…”
โผนก่อนไฟต์การชกเริ่มต้น (เครดิต : Jesada Technik Museum และจียอง ปาร์ค)
นายห้างทองทศตั้งชื่อมวยให้กับแกละว่า “โผน กิ่งเพชร” มาจากชื่อ “โผน อินทรทัต” น้องชายของนายห้างทองทศที่ได้เสียชีวิตไปในเหตุการณ์กบฏวังหลวง ปี 2492
แรกเริ่มโผนขึ้นชกมวยสมัครเล่นก่อน ต่อมาชกอาชีพที่เวทีราชดำเนินและลุมพินี ได้แชมป์ภาคตะวันออกไกล (OPBF) จึงมีชื่อติดเข้าไปในอันดับโลกของสถาบันหลัก และทำอันดับดีขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากชนะมานูเอล อาร์เมนตรอส นักมวยระดับรองแชมป์โลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2502 เขาก็ได้ขับรถชนท้ายรถบรรทุกบาดเจ็บหนัก รักษาอาการอยู่นาน และหยุดชกมวยไปทั้งปี กระทั่งกลับมาชกและเอาชนะนักมวยจากฟิลิปปินส์ได้ ก็ถึงเวลาท้าชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวต (112 ปอนด์) ของสถาบันเดอะริง กับ “ปาสกาล เปเรซ” แชมป์โลกจากอาร์เจนตินา ความพยายามของนักมวยชาวไทยก่อนหน้านั้นคือ “จำเริญ ทรงกิตรัตน์” ที่ขึ้นชิงแชมป์โลก 3 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2497-2498 แม้จะมีความสามารถพอตัว แต่โชคไม่ดีและยังแกร่งไม่พอ แพ้ไปทั้ง 3 ครั้ง
ก่อนขึ้นชิงแชมป์โลกในวันที่ 16 เมษายน 2503 โผนอายุ 24 ปี ชกมา 22 ครั้ง ส่วนเปเรซอายุ 33 ปี ผ่านศึกมาอย่างโชกโชน 55 ครั้ง เคยได้เหรียญทองโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน เวลานั้นครองเข็มขัดแชมป์อยู่นานถึง 5 ปีครึ่งเข้าไปแล้ว มีคนหยามหยันถึงขั้นเอาเปเรซต่อโผน 3 ต่อ 1 บ้าง หรือ 4 ต่อ 1 ก็มี หรือว่าจะถูกน็อกยก 5 ยก 6 หรือไม่ก็ยก 7
สนามลุมพีนีในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จไปทอดพระเนตร โดยมีการจัดที่ประทับบนชั้น 2 ของอัฒจันทร์ หรือเวลานั้นมีคนตั้งฉายาให้ว่า “วิกสังกะสี” ผู้คนเรือนหมื่นเนืองแน่นสนาม บัตรค่าเข้าชมราคา 60, 120 และ 350 บาท จากปกติเก็บกันเพียง 15 และ 30 บาท ในวันที่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 1.50 บาท “พลตรีประภาศ จารุเสถียร” เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เจ้าของเวทีโดยตำแหน่ง ผู้ที่ขึ้นกราบบังคมทูลรายงานการจัดการแข่งขันคือ “พลเอกถนอม กิตติขจร” รมว.กลาโหม
สมัยนั้นยังไม่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ มีเพียงการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุ แต่ก็ได้มีการบันทึกเป็นภาพยนตร์ขาวดำไว้ โดยสำนักงานโฆษณา “สรรพสิริ” บรรยายเสียงโดย “คุณสรรพสิริ วิรยศิริ” สื่อมวลชนนามอุโฆษ
เปเรซนั้นเปิดฉากเดินหน้าตามสไตล์มวยบู๊ หรือที่เรียกว่า “ไฟต์เตอร์” ตั้งแต่ยกแรก และจนระฆังดังลงในยกสุดท้ายก็ยังเดินไม่เลิก ส่วนโผนเป็นมวยเชิง ชกสวย เรียกว่า “บ็อกเซอร์” ได้เปรียบส่วนสูงที่มากกว่าเปเรซเกินคืบ แต่เปเรซนั้นมีช่วงแขนที่ยาวและบึกบึน
ยักษ์แคระจากอาร์เจนตินาเหวี่ยงหมัดได้หนักหน่วง แต่โผนแย็บซ้ายเข้าเป้าดีเหลือหลาย อีกทั้งดักอัปเปอร์คัตระยะประชิดอย่างจังนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อโดนต้อนเข้ามุมหรือติดเชือกก็หมุนวนออกมาแล้วออกอาวุธตามอย่างชาญฉลาด ไม่มีประหวั่นพรั่นพรึ่งต่อผู้เป็นแชมป์ ไม่ตื่นตกใจแม้โดนต้อนหรือโดนต่อยเต็มหน้า หากแต่โต้ตอบกลับไปอย่างไม่ครั่นคร้าม
เข็มขัดแชมป์โลก (2 เส้นล้าง) ขาดไป 1 เส้น คือเส้นที่ชิงคืนจากไฟติง ฮาราด้า (เครดิต : Jesada Technik Museum และจียอง ปาร์ค)
โผนชกได้อย่างสวยงาม น้ำหนักหมัดดีทั้งขวาและซ้าย ตอนต้นยก กลางยกนั้น โผนอาจจะชกตรงพื้นที่ไหนของเวทีก็ได้ แต่ปลายยกก็จะพยายามกลับมาชกที่มุมตัวเอง เพราะเป็นเคล็ดลับว่าระฆังหมดยกปุ๊บก็นั่งเก้าอี้ให้น้ำได้ทันที ส่วนคู่ต่อสู้ต้องเดินอีกหลายก้าว แค่นี้ก็ถือว่ามีผล โดยเฉพาะการชก 15 ยกแบบในอดีต
ยก 3 เปเรซแตกโหนกแก้มซ้าย พอมายก 7 ก็แตกคิ้วขวา ด้านโผนแตกในยกที่ 10 ที่หางคิ้วซ้าย เลือดไหลเป็นทาง ตาขวาก็บวมเป่ง ยก 11 เปเรซปากแตก บ้วนเลือดออกมานองเวที แต่ยังมีลูกฮึดสู้ออกมาตลอดเวลา สร้างความพะวงให้โผนได้เหมือนกัน และเมื่อครบยกก็ถึงเวลากรรมการให้คะแนน
กรรมการบนเวทีชาวอาร์เจนตินาบ้านเดียวกับไอ้ยักษ์แคระให้เปเรซชนะ 145-143 ฝ่ายกรรมการชาวไทยล่างเวทีคือ “อาจารย์วงศ์ หิรัญเลขา” ให้โผนชนะ 148-137 ต้องตัดสินกันด้วยกรรมการเป็นกลาง นั่นก็คือ “แน็ต ฟลายเชอร์” (Nat Fleischer) จาก “เดอะริง” หรือคนวงการมวยเรียกลุงแน็ต ให้โผนชนะ 146-140
เป็นอันว่าเมืองไทยมีแชมป์โลกมวยสากลเป็นคนแรกในวันที่ 16 เมษายนนี้เอง และในเวลาต่อมาก็คือ “วันนักกีฬาไทย” หลังการคาดเข็มขัดแชมป์โลก โผนขึ้นไปรับถ้วยชนะเลิศพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตรัสถามว่า “เหนื่อยไหม” โผนทูลตอบด้วยความตื่นเต้นว่า “เหนื่อย พะยะครับ”
นวมและอุปกรณ์ซ้อมของโผน กิ่งเพชร (เครดิต : Jesada Technik Museum และจียอง ปาร์ค)
อีก 5 เดือนต่อมา “ปาสกาล เปเรซ” ขอแก้มือ การชกมีขึ้นที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ก่อนกำหนดขึ้นชก ระหว่างพักที่โรงแรม “ลุงแน็ต” แห่งเดอะริง ได้มอบความเมตตาให้โดยการนำแชมป์โลก 2 คนที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ได้แก่ “ซูการ์ เรย์ โรบินสัน” และ “ร็อกกี มาร์เซียโน” มาถ่ายทอดลีลาและวิธีชกแก่โผน
“พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร” อดีตนายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย เคยเขียนเล่าไว้ว่า “...ชูการ์เรย์ โรบินสัน เป็นนักมวยแชมเปี้ยนโลกที่มีลีลาและวิธีชกแบบ “บ็อกเซอร์” ซึ่งมีลีลาการชกที่สวยงามมาก ชกได้คล่องแคล่ว ว่องไว รวดเร็ว เป็นผู้มาถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของเท้า (ฟุตเวิร์ก) ให้แก่ โผน กิ่งเพชร
“ส่วนร็อกกี มาร์เซียโน เป็นนักมวยแชมเปี้ยนโลกรุ่นเฮฟวีเวต มีลีลาและวิธีชกแบบ “ไฟเตอร์” เป็นนักมวยที่มีความแข็งแกร่ง ทรหดอดทน ชกดุเดือด หมัดแต่ละหมัดที่ปล่อยออกไปจะเป็นหมัดที่ทรงพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมัดอัปเปอร์คัต เป็นหมัดเพชฌฆาต บุกตะลุยไม่มีถอย”
“...ทำให้โผน กิ่งเพชร สามารถเอาชนะปาสกาล เปเรซ ในประเทศเป็นกลาง คือสหรัฐอเมริกา แค่เพียงยก 8 เท่านั้น โดยที่โผน กิ่งเพชร ไม่ได้รับความบอบช้ำเหมือนเมื่อครั้งเป็นผู้ท้าชิง จากความช่วยเหลือของลุงแน็ต หากจะคิดเป็นค่าจ้างเป็นจำนวนเงินล้านเหรียญสหรัฐก็ไม่สามารถที่จะจ้างนักมวยแชมเปี้ยนโลกที่มีชื่อทั้ง 2 คนนี้ได้…”
โผนป้องกันแชมป์ได้ 3 ครั้ง แล้วก็พ่ายน็อกในยกที่ 11 ให้กับ “ไฟติง ฮาราด้า” นักชกญี่ปุ่นในการชกกันที่กรุงโตเกียว ปลายปี 2505 แต่แล้วเพียงต้นปีถัดมาก็ขอแก้มือ การชกมีขึ้นที่สนามยิมเนเซียม 1 (นิมิบุตร) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2506 คนดูเบียดเสียดยิ่งกว่าวันขึ้นชิงแชมป์กับเปเรซเสียอีก บัตรราคา 60, 120, 150 และ 250 บาท บางคนซื้อบัตรไว้ล่วงหน้าแล้วเข้าดูไม่ได้ ทางสนามต้องประกาศให้มารับเงินคืนในวันรุ่งขึ้น
ภาพโผน กิ่งเพชร ของที่ระลึกจากฝ่ายจัดการแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น (เครดิต : Jesada Technik Museum และจียอง ปาร์ค)
“สว่าง สวางควัฒน์” จากหนังสือพิมพ์ยอดนักสู้ เขียนไว้ในหนังสืองานศพของโผน กิ่งเพชร โดยบรรยายย่อแต่ละยกไว้ ผมคัดมาบางช่วงดังนี้
“ยก 8 โผนเซื่องซึมลงมาก จนคนดูคิดว่าอวสานของขวัญใจชาวไทยจวนจะมาถึงเต็มทีแล้ว ขณะที่ฮาราด้ายังกระปรี้กระเปร่าและเต็มไปด้วยความดุดันเหมือนกระทิงเปลี่ยว เขาควบเข้าใส่โผนอย่างดุดันยิ่งขึ้น ต้อนขวัญใจชาวไทยจากมุมนี้ไปยังมุมโน้น จนโผนเอนและได้แต่ประคองตัวเพียงอย่างเดียว ทุกครั้งที่โดนหมัดขวา ไม่ว่าที่ลำตัวหรือใบหน้า โผนมีอาการซวนเซ เหมือนจะประคองตัวไว้ไม่ได้อีกแล้ว จนสิ้นยก คะแนนเป็นของฮาราด้าใสมาก
“ยก 9 พี่เลี้ยงกระซิบบอกให้โผนทราบว่า...ในหลวงเสด็จฯ แล้ว ความจริงพระองค์ท่านเสด็จฯ ถึงตั้งแต่ชกกันไปได้ 3 ยกแล้ว แต่ไม่มีใครบอกให้เขารู้เท่านั้นเอง โผนก็มีอาการกระปรี้กระเปร่าขึ้นเหมือนถูกโด๊ปด้วยยาวิเศษ เขาใช้ฟุตเวิร์กอันคล่องแคล่วสกัดความมุทะลุของฮาราด้าด้วยหมัดขวาอย่างได้ผล หมัดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคืออัปเปอร์คัตขวาที่โจมตีชายโครง มันทั้งหนักและคมจนฮาราด้าสะอึก และจากวินาทีนั้นเป็นต้นไปโผนก็กลับกลายเป็นโผนคนเก่าที่เต็มไปด้วยความปราดเปรียวและมีชีวิตชีวายิ่ง ทุกหมัดที่ปล่อยออกไปไม่เคยผิดเป้าเลย ฮาราด้าเจอเข้าให้ทั้งซ้ายทั้งขวาจนหัวหมุนทำอะไรไม่ถูก กลายเป็นไก่อ่อนบนสังเวียนไปเสียแล้ว…”
ที่เหลือแทบจะเป็นการสอนมวย และในสายตาคนดูโผนมีคะแนนทิ้งห่างหายห่วง เมื่อครบ 15 ยก กรรมการห้ามบนเวทีคือ “อาจารย์สังเวียน หิรัณยเลขา” ให้โผนชนะ 72-69 กรรมการจากญี่ปุ่นให้เสมอกัน 69-69 และ ”แน็ต ฟลายเชอร์” เจ้าเก่า กรรมการจากชาติเป็นกลางให้โผนชนะ 71-61 เป็นอดีตแชมป์โลกฟลายเวตคนแรกที่แย่งแชมป์คืนมาได้
เสื้อคลุมนักมวยของโผน กิ่งเพชร (เครดิต : Jesada Technik Museum และจียอง ปาร์ค)
สว่าง สวางควัฒน์ เขียนไว้อีกว่า “...โผน กิ่งเพชร ชนะอย่างขาวสะอาดปราศจากข้อสงสัย ช่วงชิงเอามงกุฎโลกที่สูญเสียไปเมื่อห้าเดือนก่อนกลับคืนมาได้ด้วยฝีมืออันเลอเลิศและวิเศษสุด เป็นการชิงชัยที่ดุเดือดเข้มข้นอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การมวย
“เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ชัยชนะครั้งนี้ โผน กิ่งเพชร ได้มาด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ อย่างแท้จริง…”
โผนได้บอกกับ “ราเชนทร์ วัฒนปรีชากุล” เพื่อนของเขาซึ่งต่อมาได้เขียนลงในเดลิมิเร่อร์ว่า “...เอ็งบอกข้าตอนหลังว่า เพราะพระมหาบารมีทำให้เอ็งรู้สึกมีกำลังใจฮึดสู้ตายถวายชีวิต และเหมือนมีเสียงลึกลับอะไรไม่รู้แว่วข้างหูเอ็งว่า โผน เจ้าแพ้ไม่ได้ แพ้เฉพาะพระพักตร์เจ้าเหนือหัวไม่ได้ โน่น พระองค์ท่านทอดพระเนตรเจ้าอย่างปราณี ห่วงใย เจ้าต้องชนะ ต้องชนะ...”
กันยายนปีเดียวกันนี้ โผนได้เสียแชมป์ให้กับ “ฮิโรยูกิ เอบิฮาระ” นักชกญี่ปุ่นอีกคนที่กรุงโตเกียว แต่ต้นปีถัดมาก็ชิงคืนมาได้อีก เท่ากับครองแชมป์ 3 สมัย เป็นนักมวยที่เสียแชมป์แล้วชิงคืนมาได้ทุกครั้ง ต่อมาได้รับการบันทึกไว้ในทำเนียบแชมเปี้ยนผู้ยิ่งใหญ่ของนักข่าว-นักเขียนด้านมวยชาวอังกฤษผู้ลือนาม “กิลเบิร์ต ออดด์” ที่พิมพ์ขายไปทั่วโลก เข้าใจว่าหนังสือชื่อ Boxing, the Great Champions (ค.ศ.1974)
ชีวิตส่วนตัวที่กลับมาเป็นนายมานะ สีดอกบวบ หรือ “แกละ” เขาได้สมรสกับ “คุณมณฑา เพ็ชรไทย” ในปี 2505 มีธิดา 2 คน คือ “โชติมา สีดอกบวบ” และ “สุสุมา สีดอกบวบ” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นพัชรัช) คุณโชติมา เป็นคนโต มีธิดาเพียงคนเดียว ชื่อ “จิตต์ระวี กรีพานิช” (ปัจจุบัน จียอง ปาร์ค) ส่วนสุสุมา ไม่มีทายาท
แชมเปี้ยนผู้ยิ่งใหญ่ของชาวไทยถึงแก่กรรมในวันที่ 25 พฤษภาคม 2525 ด้วยวัยเพียง 46 ปี เรื่องราวชีวิตอันเป็นอีกสังเวียนการต่อสู้มีความโหดร้ายเหี้ยมเกรียมยิ่งกว่าบนผืนผ้าใบหลายเท่า
ขออนุญาตละไว้ ยังไม่กล่าวถึงในวันนี้ครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |