10 เม.ย.64 - นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ระลอก 3 ว่า ตนย้ำมาโดยตลอดว่า “วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ป้องกันโรค แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชนทั้งประเทศ 67 ล้านคน” ซึ่งมีความจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนทางเลือกต่างๆ มาอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมประชากรให้ได้มากที่สุด และดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายตัวไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิต ทำมาค้าขาย ปฏิบัติหน้าที่ประกอบสัมมาอาชีพ ได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติ
“ปัญหาปากท้อง และความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากการระบาดระลอกที่ 3 ที่ประชาชนกำลังประสบอยู่ในทุกวันนี้ คือ วิบากของการไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน คือ ความเสียหายจากการจัดหา และจัดฉีดวัคซีนอย่างล่าช้า ซึ่งรัฐบาลต้องยอมรับความผิดของตนเองได้แล้ว ไม่ใช่ออกมาโต้ ออกมาเถียง ถ้าเถียงแบบนี้ แก้ปัญหาไม่ได้ ระบบสาธารณสุขจะล้มเหลว เศรษฐกิจประเทศจะพังหนักกว่าเดิม”
ประเด็นที่รัฐบาลยังคงออกมาโต้เถียงประชาชนทั้งหมด ผมขออนุญาตชี้แจง ให้ทุกๆ คนเข้าใจในอีกมุมมองหนึ่ง
ประเด็นแรก กรณีที่เอกชนไม่สามารถซื้อวัคซีนทางเลือกอื่นๆ มาฉีดให้กับประชาชน เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันผู้ผลิตวัคซีนแทบทุกรายต้องการจะติดต่อขายวัคซีนกับรัฐบาลเท่านั้น เอกชนรายใดต้องการสั่งซื้อวัคซีน จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลก่อน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยคิดที่จะจัดซื้อวัคซีนทางเลือกอื่นเลย เข้าใจว่า Johnson & Johnson ที่ได้รับ อย. ไปแล้ว รัฐบาลก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนในการจัดซื้อ สิ่งที่รัฐบาลยังคงยืนยันที่จะทำต่อไป ก็คือ การกระจุกความเสี่ยงไปที่การจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca ที่วันนี้ มีข้อสังเกตในการฉีดจากประเทศในแถบยุโรป ออกมาเป็นระยะๆ เช่น ช่วงหนึ่งไม่แนะนำให้ฉีดให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป และล่าสุดประเทศอังกฤษแนะนำให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี รับวัคซีนอื่นแทน AstraZeneca เป็นต้น โดยจะจัดซื้อวัคซีน Sinovac มาเสริมในกรณีจำเป็น ซึ่งข้อสังเกตที่น่ากังวลก็คือ วัคซีน Sinovac นั้นมีประสิทธิภาพไม่สูงนักกับเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้
“กรณีที่รัฐบาลอ้างว่า ไม่ได้ปิดกั้นการขึ้นทะเบียน และการนำเข้าวัคซีนทางเลือกอื่น ผมก็ต้องตั้งคำถามว่า ในเมื่อรัฐบาลไม่มีนโยบายในการสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น ไม่มีนโยบายในการรับรองให้เอกชนไปจัดซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น แล้วผู้ผลิตวัคซีนยี่ห้ออื่น จะมีแรงจูงใจอะไรในการมาขึ้นทะเบียน อย. และถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ ในการเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้ประเทศต้องกระจุกความเสี่ยงไว้ที่วัคซีน AstraZeneca เป็นหลัก รัฐบาลก็ควรมีกระบวนการในการรับรองให้กับเอกชนไปดำเนินการจัดซื้อวัคซีน หรือไม่ก็ไปจัดซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นมาจำหน่ายต่อให้กับเอกชน ไม่ใช่ใส่เกียร์ว่าง ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นสุญญากาศ ทำงานตามระบบธุรการราชการไปเรื่อยๆ แบบไม่มีเป้าหมาย แล้วก็อ้างลอยๆ มาตลอดว่า “ไม่ได้ปิดกั้นๆๆๆๆ” จนเกิดกระแสประณามต่อว่า จากประชาชนอย่างหนาหูอย่างที่เป็นอยู่นี้ “ วิโรจน์ กล่าว.
และแล้วจนในที่สุดวันนี้ (วันที่ 9 เม.ย. 64) แม้ว่ารัฐบาลก็ได้คลานออกมาสารภาพเชิงพฤติกรรม โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานในการจัดหาวัคซีนทางเลือก จำนวน 10 ล้านโดส โดยมีสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เข้ามาร่วมทำงานด้วย โดยตั้งเป้าให้มีความชัดเจนภายใน 1 เดือน แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้พูดสารภาพผิดออกมาเป็นคำพูด แต่การตัดสินใจในวันนี้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลได้ยอมรับความบกพร่องของตนเองไปแล้วโดยปริยาย ทำไมต้องให้ด่า ทำไมต้องให้ประชาชนต่อว่านานขนาดนี้ ถึงจะคิดได้ ผมคิดว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และคุณอนุทิน ต้องเปิดใจให้กว้างกว่านี้ได้แล้ว ถ้ามีสติปัญญาที่จำกัด ก็ต้องรับฟังให้มาก ไม่ใช่หัวรั้นใจแคบ และบังคับให้ข้าราชการออกมาเถียง ออกมาแถ ท่ามกลางระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจที่พังทลายลงไปเรื่อยๆ แบบที่เป็นอยู่นี้
ประเด็นที่สอง ที่มีการกล่าวอ้างกันว่า ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยที่จะจองวัคซีน ซึ่งข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้นเลย คือ ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยที่จะจองวัคซีน แล้วเราร่ำรวยพอที่จะยอมให้เกิดความเสียหายจากการฉีดวัคซีนล่าช้า ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.5 แสนล้านบาทต่อเดือน หรือครับ เราจะใจดำปล่อยให้ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย คนหาเช้ากินค่ำ แบกรับความเสียหายขนาดนี้ได้จริงๆ หรือครับ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้แถลงว่า มีความเป็นไปได้ที่จะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน หรืออาจจะมากกว่านั้น ในการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ที่เกิดขึ้นจากคลัสเตอร์ทองหล่อ 2 เดือน ก็มีมูลค่าเทียบเท่า 5 แสนล้านบาท เราร่ำรวยขนาดที่รับกับความเสียหายได้ขนาดนี้หรือครับ ผมว่าเลิกอ้างได้แล้ว รัฐบาลควรกระจายความเสี่ยง และเร่งจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ มาได้แล้ว แต่เดิมก็อ้างว่าการจองวัคซีนนั้นติดขัดที่ข้อกฎหมาย พอถูกแย้งว่า ก็ขอสภา ออก พ.ร.บ. ได้ หรือจะใช้อำนาจบริหารออก พ.ร.ก. ก็ได้ หรือถ้าอับจนหนทางจริงๆ จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ได้ พอหมดข้ออ้าง ก็มาอ้างเรื่องงบประมาณอีก เชื่อผมเถอะครับ ไม่มีอะไรที่จะแย่ไปกว่าความเสียหายมูลค่า 2.5 แสนล้านบาทต่อเดือน ที่ประชาชนต้องแบกรับอีกแล้ว
ประเด็นสุดท้าย หลังจากเมื่อวันที่ 8 เม.ย. สปสช. ได้แถลงว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยง สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ได้ฟรี ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน หากตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อ โรงพยาบาลจะต้องรับเข้ารักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยให้ส่งเบิกกับทาง สปสช. ตามอัตราที่กำหนด เพียงแค่ 1 วันถัดมา ในวันที่ 9 เม.ย. ก็มีข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนนับสิบรายงดตรวจโควิด และยังมีโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่งทยอยประกาศงดตรวจ โดยอ้างว่าน้ำยาตรวจหมด ทั้งๆ ที่ไม่กี่วันก่อน คุณสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เพิ่งออกมายืนยันว่ามีน้ำยาตรวจเพียงพอ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเพราะโรงพยาบาลเอกชน ไม่อยากจะรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ในกรณีที่ตรวจพบว่าติดโควิด เนื่องจากเคลมค่ารักษาพยาบาลจาก สปสช. ได้ไม่มากนัก ข่าวในทำนองนี้ ยิ่งทำให้สถานการณ์การระบาดระลอกที่ 3 ที่กระจายไปในวงกว้างที่แย่พออยู่แล้ว ยังทำให้ประชาชนมีความตึงเครียด และกังวลเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในกรณีดังกล่าวนี้ กระทรวงสาธารณสุข ควรจะเร่งออกประกาศกระทรวง ให้โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ปันส่วนจำนวนเตียงในสัดส่วนหนึ่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษา โดยอาจกำหนดให้เป็นเงื่อนไขชั่วคราวในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีจำนวนเตียงที่มากพอที่จะดูแลประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะสามารถคลายความตื่นตระหนกของประชาชนลงได้
สุดท้าย สิ่งที่ตนอยากจะบอกกับทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และคุณอนุทิน ก็คือ “ชีวิต และปากท้องของประชาชน 67 ล้านคน นั้นสำคัญกว่าหน้าตาของพวกคุณมาก ดังนั้นอย่าห่วงหน้าตาตัวเองให้มากนักเลย เอาเวลาที่จะเถียง มารับฟัง ยอมรับในความบกพร่อง แล้วเร่งแก้ไขจะดีกว่า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |