หมอลำแบงค์เฮ!ประกันแล้ว


เพิ่มเพื่อน    

 

"ไผ่ ดาวดิน-สมยศ" นอนคุกต่อ ศาลอาญาปล่อยตัว “หมอลำแบงค์” คนเดียว หลังร้องขอทำข้อตกลง หากได้ประกันตัวจะไม่พูดจาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเลยคดีชุมนุม 19 กันยาฯ จับมือกันไม่ลงลายมือชื่อในกระบวนพิจารณาและถอนทนายความ ศาลชี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล ทีมทนายแจงถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ละเมิดสิทธิฯ

    เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2564 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คดีหมายเลขดำ อ.287/2564 ที่นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ จำเลยที่ 3, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 7 จำเลยคดีร่วมกันชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร กรณีชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา ม.112, ยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และอื่นๆ ซึ่งจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยเสนอเงื่อนไขหากได้รับการประกันตัว จะไม่ปราศรัยพูดจาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อีก
    โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลเบิกตัวจำเลยทั้งสามจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาฟังคำสั่ง ขณะที่นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือทนายอู๊ด บิดาของไผ่ ดาวดิน, นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน รวมถึงนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เดินทางมาศาลด้วย
    ซึ่งในส่วนของนางสุรีย์รัตน์ เดินทางมาเตรียมยื่นประกันตัวบุตรชายที่อดอาหารประท้วง เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อหวังว่าจะได้เข้าเยี่ยมลูกชายก่อนที่จะต้องหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต ช่วงเวลาอีก 1 สัปดาห์ กว่าที่ทนายจะได้เข้าเยี่ยม เพนกวินไม่รู้ว่าจะอยู่ในสภาพไหน ในขณะที่คนอื่นๆ กำลังจะได้ไปหยุดอยู่กับครอบครัวฉลองเทศกาล แต่ชีวิตนี้กำลังจะสูญเสียไป
    “เมื่อวานนี้เพนกวินได้บอกว่า หากได้รับการประกันตัวก็จะกลับมาเจอกับครอบครัว แต่ถ้าหากไม่ได้ประกันก็ขอลาแม่และครอบครัวรวมทั้งเพื่อนๆ ทั้งนี้ ในส่วนของแนวทางการประกันตัว ต้องขึ้นอยู่ที่เพนกวินว่าจะยอมรับในเงื่อนไขแบบไหน ปกติแล้วนิสัยของลูกจะเป็นคนมั่นคงและยืนหยัดในอุดมการณ์ที่ตัวเองเชื่อ และจะทำสิ่งนั้นตามที่เคยได้สัญญาไว้ เพราะฉะนั้นแล้วในเรื่องนี้ จึงปล่อยให้ลูกเป็นคนตัดสินใจ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เพนกวินเลือกคือสิ่งที่เพนกวินจะต้องรับผิดชอบ” มารดาของเพนกวินกล่าว
    ด้านนายประจักษ์เปิดเผยว่า ตอนนี้คนที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเพนกวิน เพราะร่างกายทรุดลงเรื่อยๆ จากคำบอกเล่าของแม่ที่ได้พบเมื่อวานนี้ระยะเวลาสั้นๆ เพนกวินไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเองแล้ว สำหรับการพิจารณาคดีนี้ อาจกินระยะเวลายาวนาน และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไรด้วย ระยะเวลาขนาดนี้อาจทำให้นักศึกษาที่ถูกกักขังชั่วคราวจะพ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษา ส่วนกรณีที่จำเลยขอถอนทนายในการทำคดีออกทั้งหมด ยกเว้นนายปติวัฒน์นั้น  เพื่อเป็นการสื่อสารไปให้สังคมได้รับรู้ว่าขณะนี้คดีขาดความยุติธรรมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ทนายไม่สามารถปรึกษาการสู้คดีกับจำเลยได้ ผู้ปกครองหรือผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้ จำเลยจึงมีสถานะเหมือนผู้ที่ถูกพรากสิทธิ์ เมื่อทุกคนได้ร่วมลงความเห็นแล้ว ว่าหลังจากนี้จะไม่ขอมีส่วนร่วมในกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมต่อไป
    ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลอ่านคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวคดีดังกล่าว โดยศาลอาญาได้ไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว มีคำสั่งว่า พิเคราะห์จากคำแถลงและการไต่สวนตามคำร้องของนายปติวัฒน์ หรือหมอลำแบงค์ สาหร่ายแย้ม จำเลยที่ 3 ประกอบกับคำรับรองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 แล้ว น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 จะไม่ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้อีก จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตีราคาประกัน 2 แสนบาท โดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยที่ 3 กระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่จำเลยที่ 3 ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามจำเลยที่ 3 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้จำเลยที่ 3 มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด ก่อนปล่อยตัวจำเลยที่ 3 แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ
    ขณะที่ในส่วนของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 และนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน บุญภัทรรักษา จำเลยที่ 7 แม้จะให้ถ้อยคำในชั้นไต่สวนขอปล่อยชั่วคราวเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลัง ว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ศาลนัดสอบคำให้การตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 287/2564 จำเลยที่ 4 และที่ 7 และทนายจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไม่ยอมลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีเพียงจำเลยที่ 3 และทนายความจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ และรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 8 เมษายน 2564
    ทั้งทนายจำเลยที่ 4 และที่ 7 นำรายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนข้อความเพิ่มเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ระบุว่า "ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 22 ไม่ขอลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา เนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนพิจารณา" กับมีพฤติการณ์จะไม่ยอมไปกำหนดวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความ และยื่นคำร้องขอถอนทนายความ ทำให้การกำหนดวันนัดสืบพยานเป็นด้วยความยากลำบาก ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล ข้อความและคำแถลงของจำเลยที่ 4 และที่ 7 ว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แถลงไว้ต่อศาล จึงไม่น่าเชื่อถือว่าสามารถปฏิบัติตามที่แถลงไว้ต่อศาลได้ ในชั้นนี้ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 4 และที่ 7 ชั่วคราว ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 4 และที่ 7
    ด้าน น.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่จำเลยคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ไม่ลงลายมือชื่อในกระบวนพิจารณาและถอนทนายความ ว่าสาเหตุมาจากบรรยากาศกระบวนการในห้องพิจารณาคดี ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดความผิดปกติ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จำนวนมากเข้ามาในห้องพิจารณาคดี คอยประกบตัวจำเลยห้ามมิให้จำเลยพูดคุยกับทนายความและญาติ เมื่อทนายความจดข้อความลงในกระดาษ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ดึงกระดาษไปดู โดยไม่ขออนุญาตก่อน ส่งผลให้ทางทนายมีการหารือกันว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายการละเมิด และทำให้บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีไม่เป็นมิตร หลังจากการพูดคุยกัน ทางทนายความจึงตัดสินใจถอนทีมทนายออกจากคดีนี้ทั้งหมด และจะทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่ออธิบดีศาลอาญาภายในวันที่ 19 เม.ย.
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มารดาและญาติของจำเลยคดีร่วมกันชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร กรณีชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563 ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยที่ 1, นายอานนท์ นำภา จำเลยที่ 2, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จำเลยที่ 5, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ จำเลยที่ 6 และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือแอมมี่ จำเลยที่ 17 รวม 5 คน ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 คนมาแล้ว โดยอธิบายเหตุผลไว้อย่างชัดเจนในชั้นนี้ จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
    วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้นำสำนวนคดีพร้อมความเห็นสมควรฟ้อง นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่มวีโว่ (Wevo) กับพวก Wevo รวม 45 คน นัดส่งตัวให้อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 พิจารณาสั่งคดี ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ซ่องโจร, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่น โดยผู้ต้องหาได้ทยอยมารายงานตัวกับพนักงานอัยการ ยกเว้นนายปิยรัฐ ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งถูกคุมขังที่ จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ป.อาญา ม.112
    หลังการส่งตัวพร้อมสำนวนแล้ว พนักงานอัยการได้รับไว้เพื่อพิจารณา นัดให้ผู้ต้องหามาฟังคำสั่งอัยการต่อไป ในวันที่ 22  เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"