ผุดรพ.สนามพรึ่บ หลังอ้างเตียงขาด


เพิ่มเพื่อน    

 

“ประยุทธ์” เรียกถกโรงพยาบาลเอกชนด่วน หลังเกิดเหตุไม่รับตรวจโควิด ผวาเตียงไม่พอเพราะแห่ตรวจวันละ 2 หมื่น “สธ.-กทม.” ประสานเสียงเตียงเพียงพอ ทบ.ผุด รพ.สนาม 2,220 เตียงทันควัน

    เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายน เกิดกรณีโรงพยาบาลเอกชนกว่า 10 แห่ง งดให้บริการตรวจโควิด โดยเบื้องต้นพบว่ามีทั้ง รพ.ปิยะเวท,  รพ.พญาไท 1 และ 2, รพ.เจ้าพระยา, รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์, รพ.กรุงเทพ, รพ.รามคำแหง และ รพ.เปาโล เกษตร โดย รพ.เปาโล เกษตร แจ้งงดให้บริการตั้งแต่วันที่ 10-11 เม.ย. และจะกลับมาให้บริการตามปกติในวันที่ 12 เม.ย. ล่าสุด รพ.วิภาราม พัฒนาการ  และ รพ.สินแพทย์ ออกประกาศว่าจะกลับมาเปิดให้บริการตรวจหาเชื้อโควิดได้แล้วจนกว่าน้ำยาจะหมด โดยให้บริการตรวจทั้งไดรฟ์อินและวอล์กอิน
    ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยกล่าวภายหลังหารือว่า วันนี้ต้องลดความแออัดของโรงพยาบาลให้ได้ จึงต้องตั้งโรงพยาบาลสนาม เพราะหากอยู่ในโรงพยาบาลปกติก็จะไปแพร่เชื้อให้คนอื่นอีก ก็ได้มีการหารือกันตรงนี้
“ขณะนี้โรงพยาบาลสนามสามารถตรวจได้แล้ว พร้อมดึงผู้ป่วยมารักษาที่ รพ.สนาม ต้องยอมรับตรงนี้ ไม่เช่นนั้น รพ.ก็จะเต็ม คนที่เป็นโรคอื่นก็ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ แพทย์ก็ยุ่งกันไปหมด การบริหารงานคนหมู่มากต้องเป็นแบบนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
     นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกระแสข่าวว่า รพ.เอกชนไม่สามารถตรวจสวอปได้ เนื่องจากน้ำยาตรวจเชื้อหมด ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงน้ำยาตรวจเชื้อยังมีอยู่ ไม่ได้หมด แต่ตัวแทน รพ.เอกชนที่ร่วมประชุมด้วยชี้แจงว่า ตามหลักเกณฑ์เดิมเมื่อใครตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ต้องนอนรักษาตัวที่ รพ. แต่ปัญหาคือเตียงผู้ป่วยเต็มแล้ว จึงไม่สามารถตรวจต่อได้ ขณะที่ กทม.แจ้งว่าสามารถขยายศักยภาพเตียงได้กว่า 5,000 เตียง และเพิ่มการรักษาในโรงแรมกรณีผู้ป่วยไม่มีอาการหนัก และยังมีความพร้อมเรื่อง รพ.สนามที่ รพ.บางขุนเทียน และบางกอกอารีนา โดยปลัด สธ.รับเรื่องไป จะประสานกับกรมการแพทย์ที่เป็นแม่งานเพื่อปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายกฯ จึงสั่งการให้ กทม. สธ. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประชุมเพื่อจัดการเรื่องนี้  
ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวในเรื่องนี้ว่า ตามปกติมีข้อตกลงว่า หาก รพ.ใดรับตรวจโควิด-19 ต้องรับคนไข้ที่มาตรวจไว้ แต่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนต่อวัน ทำให้เตียงเต็ม จึงนำเรื่องมาปรึกษากับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าหาก กทม.และกองทัพบกเปิด รพ.สนาม ก็จะมีที่รองรับ ซึ่ง รพ.สนามของ รพ.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต จำนวน 470 เตียง จะเปิดรับในเย็นวันอาทิตย์ที่ 11 เม.ย.นี้ และหากกองทัพบก กองทัพเรือ และ กทม. เข้ามาช่วยจะได้ประมาณ 3,000 เตียง น่าจะเพียงพอ เพราะส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อยังอยู่ใน กทม.  
เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่าที่ รพ.ไม่รับตรวจเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนมองภาพรวมว่าสถานการณ์วิกฤติแล้วใช่หรือไม่ นพ.เฉลิมกล่าวว่า ยอมรับว่าการระบาดในช่วงนี้อันตราย มีอัตราการติดเชื้อสูง เพราะเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ถ้าเป็นไปอย่างนี้และการจัดการเรื่องเตียงไม่ดี คนไข้อาจต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งไม่ดี เพราะอาจทำให้ติดคนที่บ้านได้ และขณะนี้คนที่ติดอาจจะเป็นคนที่แข็งแรง ที่อาจจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้หากไม่กักตัวให้ดี
เมื่อถามว่า ขณะนี้สามารถเข้าไปรับการตรวจโควิด-19 ใน รพ.เอกชนได้ตามปกติใช่หรือไม่ นพ.เฉลิมกล่าวว่า ประเด็นหลักคือ รพ.ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยกรณีที่ตรวจแล้วพบเชื้อบวก ไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนน้ำยาตรวจเชื้อ เพราะเท่าที่ทราบ ทั้ง รพ.รัฐและเอกชนขณะนี้มีการตรวจวันละเกือบ 20,000 คน  
    ถามอีกว่า ปัญหาที่ไม่รับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐที่จะนำไปรักษาใช่หรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า เรามีข้อตกลงเมื่อ 2 มี.ค.2563 ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือติดเชื้อเยอะ บางที่มากกว่า 10% ถือว่าสูงมากและไม่มีเตียงรับ ดังนั้นถ้าหยุดบริการเตียงจะโล่ง แล้วค่อยมาเปิดใหม่  
เมื่อถามว่า จะขอความร่วมมือผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและยังไม่แสดงอาการไปอยู่ที่ รพ.สนามด้วยหรือไม่ เพื่อให้เตียงในโรงพยาบาลเพียงพอ นพ.เฉลิมกล่าวว่า คงเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ การติดเชื้อครั้งนี้ต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะใน กทม.บางคนที่มีกำลังจ่ายเห็นว่าไปกักตัวอยู่ในสถานที่รวมอาจไม่อยากไป ดังนั้น ถ้ามีอาการเบาควรไป รพ.สนาม หากอาการหนักให้มาที่ รพ. และ 80% ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษไม่ค่อยแสดงอาการ จึงอยากให้เตรียมสถานที่ใน รพ.ไว้สำหรับผู้มีอาการหนักมากกว่า
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า เตียงใน รพ.เอกชนยังไม่เต็ม โดยยอดเตียงของ รพ.ทั้งหมดในพื้นที่ กทม. 717 เตียง ยังเหลือว่างถึง 293 เตียง ซึ่งมาตรการโควิด-19 ในการตรวจหาเชื้อ เมื่อพบป่วยจะต้องรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน รพ.ของตนเอง หากเกินขีดความสามารถให้ประสานโรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย ซึ่งถือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2563 และตลอดทั้งปี 2563 ยังไม่พบปัญหาเตียงเต็มใน รพ.เอกชน โดยพบว่ามีอัตราการใช้เตียงแค่ 40%
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เครือข่าย รพ.รัฐและเอกชน รวมถึง รพ.สังกัดมหาวิทยาลัยและเหล่าทัพ ได้ประชุมและบริหารจัดการเตรียมกันทุกสัปดาห์ และยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ประสานโรงแรมจัดทำเป็น Hospitel มีเตียงเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ 500-1,000 เตียง และยังประสาน รพ.ธรรมศาสตร์ฯ จัดทำโรงพยาบาลสนามเสริมอีก 450 เตียง คาดว่าเปิดใช้ได้ในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังได้เตียงเสริมอีก 40 เตียง จากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนีด้วย ทำให้มีปริมาณเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยแน่นอน
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. กล่าวในเรื่องนี้ว่า รพ.ในสังกัด กทม. มีเตียงพร้อมรับผู้ป่วย 1,358 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 208 เหลือเตียงรับได้ 1,150 เตียง หากรวม รพ.เอกชนและนอกสังกัดจะมีเตียงรับผู้ป่วยรวม 4,800 เตียง ซึ่งมีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ 1,277 เตียง เหลือรับได้ 3,600 เตียง นอกจากนี้ ยังมีศูนย์กีฬาบางมดสามารถรับได้อีก 200 เตียง และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รับได้อีก 500 เตียง หากไม่เพียงพอ จะเปิด Hospitel เป็นโรงพยาบาลกึ่งสนาม มีโรงแรมพร้อมเข้าร่วมแล้ว 500 เตียง
พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก ในฐานะโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ทบ.ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามระยะที่ 1 ใน 12 พื้นที่ รวม 2,220 เตียง เพื่อรองรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลโดยรอบ ระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ได้แก่ 1.ปตอ.1 กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (แจ้งวัฒนะ) 200 เตียง 2.สนามมวยค่ายบุรฉัตร กองพลทหารช่าง อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี 100 เตียง 3.สนามกีฬากลาง กรมการทหารช่าง อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี 400 เตียง 4.โรงพลศึกษา ศูนย์พัฒนาการกีฬา กรมการทหารช่าง อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี 120 เตียง 5.โรงรถ กองพันทหารช่าง กรมการทหารช่าง อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี 120 เตียง 6. ศูนย์ฯ 8 (วัฒนาแฟคทอรี 2) จ.สมุทรสาคร 1,000 เตียง 7.ศูนย์ฯ 9 (บ.วิท วอเตอร์ฯ) จ.สมุทรสาคร 485 เตียง 8.ศูนย์ฯ 10 (สภาอุตสาหกรรม) จ.สมุทรสาคร 500 เตียง 9.ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จ.ฉะเชิงเทรา 150 เตียง และ 10.รร.การบิน อาคารแผนกฝึก (ทอ.) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 120 เตียง
    มีรายงานว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เดินทางไปตรวจความพร้อมการเตรียมการ รพ.สนามที่กรมพลาธิการทหารบก และกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ด้วย
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณี รพ.เอกชนชนหลายแห่งปิดตรวจโควิด โดยระบุน้ำยาตรวจหมดว่า ขณะนี้น้ำยาตรวจโควิด-19 นั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ที่ รพ.ไม่ตรวจ เพราะมีเงื่อนไขว่าหากตรวจผลเป็นบวกต้องรับผู้ป่วยไว้ใน รพ. ซึ่งทำให้เตียงเต็ม แต่ไม่เกี่ยวกับปัญหาน้ำยาตรวจขาดแคลนอะไร เพราะน้ำยาตรวจในประเทศนั้นมีประมาณ 3-4 แสนชุด ซึ่งไทยไม่เคยประสบปัญหาน้ำยาตรวจหาเชื้อไม่พอ โดยปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ตรวจและใช้น้ำยาไป 3 ล้านชุด ซึ่งช่วงปลายปีที่มีการระบาดของสมุทรสาคร ตรวจไป 1.5 ล้านชุด และการผลิตน้ำยาตรวจกรมวิทย์ได้ร่วมกับ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ทำให้ไม่ปัญหาน้ำยาตรวจไม่พอ.

 

   

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"