‘พม่าจวนเจียนจะหมดเวลาแล้ว...’


เพิ่มเพื่อน    

        ผมเพิ่งได้อ่าน “ผ่าพม่า” ที่เขียนโดยนักวิชาการชื่อดังของพม่า คุณ “ตั้น เมี่ยน-อู” ที่แปลเป็นภาษาไทยโดยคุณสุภัตรา ภูมิประเทศจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ “The Hidden History of Burma” by Thant Myint-U

                เป็นหนังสือเล่าเรื่องพม่าจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่ให้ความรู้และสาระอันดีเยี่ยม       

                พอเกิดรัฐประหารโดยทหารพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และผมได้กลับมาอ่านอีกรอบหนึ่ง คราวนี้เป็นฉบับภาษาไทย ก็ยิ่งทำให้เนื้อหาของหนังสือน่าสนใจยิ่งขึ้นอีก

                เพราะคนเขียน (ซึ่งเป็นหลานของ “อูถั่น” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ) ทิ้งท้ายหนังสือด้วยความหวังในอนาคตของประเทศของเขากับความท้าทายหลายประการที่ทำให้เข้าใจว่าทำไมเขาจึงมีความผิดหวังกับสถานการณ์ในบ้านเขาวันนี้

                ผมอ่านเจอข้อความในทวิตเตอร์ของเขาหลังเกิดวิกฤติครั้งนี้หลายครั้งที่แสดงความผิดหวังและสับสนกับสิ่งที่เกิดในเมียนมาวันนี้

                วันหนึ่งเขาเขียนขึ้นทวิตเตอร์ว่า “ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมากว่า 30 ปี สิ่งที่ผมเคยสัมผัสเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่หนีเข้าป่าเพื่อจับอาวุธสู้เพื่อประชาธิปไตยกลับมาเกิดขึ้นอีกในวันนี้...”

                อีกประโยคหนึ่งที่เขาเขียนขึ้นโซเชียลมีเดียท่ามกลางความรุนแรงและผันผวนของสถานการณ์วันต่อวัน :

                “แม้ว่าผมจะติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ของบ้านผมมายาวนานในฐานะนักวิชาการ แต่ต้องยอมรับว่ามาถึงวันนี้ผมไม่อาจจะทำนายได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอนของผมในวันข้างหน้าได้อีก...”

                สะท้อนว่าแม้จะเข้าใจอดีตของสังคมพม่าลุ่มลึกเพียงใด  ปัจจัยและตัวแปรมากมายที่ถั่งโถมใส่วิกฤติพม่าวันนี้ทำให้ไม่อาจจะพยากรณ์ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอนของเขาได้อีกต่อไป

                ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ เขาเขียนเล่าว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของนักศึกษาต่อต้านเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 8 เดือนสิงหาคม 1988 ...(ที่มาของขบวนการ 8888)

                “....ร่างกุ้งปะทุ นักศึกษาจัดการชุมนุมประท้วงรัฐบาล หลายสิบคนถูกสังหาร แต่แรงกระเพื่อมเพื่อการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น วันที่ 8 สิงหาคม 1988 ผู้ประท้วงเรียกร้องให้นัดหยุดงานทั่วประเทศเพื่อโค่นเผด็จการเนวิน ประชาชนหลายร้อยคนเสียชีวิตในช่วงแรกของการเผชิญหน้ากับกองกำลังความมั่นคง...”

                วรรคต่อไปเขาเขียนว่า

                “ผมไม่อยากพลาดโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ จึงลาออกจากการฝึกงาน (ที่เจนีวา) และบินมากรุงเทพฯ เช้าวันที่ผมต้องบินต่อไปร่างกุ้ง สนามบินร่างกุ้งถูกปิดเพราะการประท้วงหยุดงานทั่วไป...สองสัปดาห์ต่อมา เมื่อการประท้วงกลับกลายเป็นความรุนแรงและพวกผู้นำที่เพิ่งขึ้นมาใหม่ไม่สามารถตกลงกันเองได้ถึงการดำเนินการขั้นต่อๆ ไป...กองทัพก็เข้ามาควบคุม นักศึกษาและคนงานต่อต้านการปราบปรามอย่างรุนแรง หลายพันคนน่าจะถูกยิงเสียชีวิต นี่คือจุดจบของเหตุการณ์ที่กลายเป็นที่รู้จักในนามการลุกฮือปี 1988...”

                ตั้น เมี่ยน-อู เขียนเล่าต่อว่า

                “ผมถูกลอยแพอยู่ในกรุงเทพฯ ภายในไม่กี่วัน คนหนุ่มสาวชาวพม่ารุ่นราวคราวเดียวกับผมเริ่มไปถึงค่ายหลายแห่งในป่าตามแนวชายแดนไทย-พม่าที่มีกลุ่มกบฏชาติพันธุ์กลุ่มน้อยต่างๆ ทั่วพม่าเป็นผู้ควบคุม จากจำนวนไม่กี่สิบ กลายเป็นไม่กี่ร้อย แล้วเพิ่มเป็นมากกว่า 10,000 คน...เมื่อถึงเดือนธันวาคมและตลอดปีต่อมา ผมระดมทุนจากชาวพม่าพลัดถิ่นและนำอาหารกับยารักษาโรคมาส่งให้ ผมอยู่ในกลุ่มสมาชิกผู้ก่อตั้งแนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย หรือ ABSDF ...เป้าหมายคือการปฏิวัติ...”

                ผ่านมา 33 ปี ภาพเก่านั้นกลับมาเป็นฉายซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

                คนรุ่นใหม่ของพม่าวันนี้กำลังเดินทางเข้าป่าเพื่อฝึกอาวุธ มุ่งมั่นที่จะปฏิวัติโค่นระบบเผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง

                เขาจึงได้เขียนในทวิตเตอร์ส่วนตัวหลังเกิดรัฐประหารครั้งหลังสุดนี้ว่าทำไมพม่าจึงวนเวียนอยู่กับวงจรเลวร้ายเช่นนี้อีก

                ในหนังสือเล่มนี้ที่ตีพิมพ์ก่อนวิกฤติเมียนมาครั้งล่าสุดนี้ ตั้น เมียน-อู ทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า

                “...พม่าจวนเจียนจะหมดเวลาแล้ว (Burma is running out of time)

                ประเทศต้องการยาแรงเพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมและเตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศที่จะตามมา

                ประเทศต้องการเรื่องเล่าใหม่ที่จะโอบรับความหลากหลาย เชิดชูทรัพยากรธรรมชาติและส่งเสริมวิถีชีวิตใหม่

                เหนือสิ่งอื่นใด พม่าต้องการโครงการแห่งจินตนาการฉบับใหม่ (new project of the imagination)...”

                บรรจงเขียนประโยคสุดท้ายของหนังสือเล่มล่าสุดของเขาได้ไม่นาน ตั้น เมี่ยน-อู ก็มีอันต้องประสบกับความผิดหวังครั้งใหญ่ในชีวิตอีกครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"