กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เดินหน้า ‘1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา’ ใช้ ‘สมุดพกครอบครัว’ เป็นเครื่องมือช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง


เพิ่มเพื่อน    

พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 12 หน่วยงาน  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ทำเนียบรัฐบาล

เผยประเทศไทยมีผู้เปราะบางกว่า 4 ล้านครัวเรือน รวม 10 ล้านคน  โดยรัฐบาลจะใช้ ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยแก้ไขปัญหา  ขณะที่ จุติ  ไกรฤกษ์’  รมว.พม. เร่งแก้ปัญหาประชากรกลุ่มเปราะบาง  คนด้อยโอกาส  ชูนโยบาย ‘1 กรม  1 พื้นที่พัฒนา โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. คัดเลือกชุมชนที่มีประชากรกลุ่มเปราะบางเพื่อลงพื้นที่สำรวจข้อมูลปัญหา  นำมาวิเคราะห์  และวางแผนแก้ไขปัญหา  โดยใช้ สมุดพกครอบครัวเป็นเครื่องมือ  

ด้านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. คัดเลือก ชุมชนคลองกะจะเขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่พัฒนา  ส่งเจ้าหน้าที่ 200 คนเคาะประตูบ้านสำรวจข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหารายครัวเรือนและชุมชน

รัฐบาลจัดตั้ง ศจพ.แก้ปัญหาความยากจน-พัฒนาคน

ข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง  กระทรวงมหาดไทย   เปิดเผยว่า  ประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั่วประเทศจำนวน 66,186,727 คน  (31 ธันวาคม 2563)  ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า  ประเทศไทยมีครัวเรือนเปราะบาง  4,104,450  ครอบครัว  มีผู้เปราะบาง 10,754,205 คน  รัฐบาลจึงมีนโยบายแก้ไขปัญหาประชาชนกลุ่มเปราะบางดังกล่าวนี้

            โดย พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ได้ลงนามจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ.เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563   ต่อมาได้แต่งตั้งให้ พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี   เป็นประธานคณะกรรมการ  มี รมว.มหาดไทย  และ รมว.พม.เป็นรองประธาน  พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการ 

ส่วนกลุ่มเป้าหมายนั้น  ศจพ.กำหนดเกณฑ์ครัวเรือนเปราะบาง  เช่น  เป็นครัวเรือนที่มีอาชีพเกษตรกรจากข้อมูล จปฐ. และไม่ได้ลงทะเบียนเกษตรกร  มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีและไม่ได้รับเงินสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  มีเด็กยากจนตามเกณฑ์  มีผู้สูงอายุ  ผู้พิการที่ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ  มีผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  ฯลฯ

                ศจพ. มีกลไกขับเคลื่อน 3 ระดับทั่วประเทศ  รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร  คือ 1.ระดับจังหวัด  2.ระดับอำเภอ และ 3.ระดับพื้นที่ปฏิบัติการ  ในระดับจังหวัดจะมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)  แรงงานจังหวัด  สาธารณสุขจังหวัด  ศึกษาธิการจังหวัด  ฯลฯ  ภาคเอกชน  เช่น  ประธานหอการค้าจังหวัด  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด  และตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา  ฯลฯ

ใช้ระบบฐานข้อมูล ‘TPMAP’  เป็นเครื่องมือ

                โดย ศจพ. จะใช้ระบบ TPMAP (Thai  Poverty Map and Analytics Platformซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่  เพื่อนำข้อมูลมาบริหารจัดการพัฒนาคนทุกช่วงวัย  และแก้ไขปัญหาความยากจน  ลดความเหลื่อมล้ำแบบชี้เป้า  โดยระบบ TPMAP จะระบุข้อมูลปัญหาความยากจน  และความต้องการการแก้ไขปัญหาของทุกช่วงวัย  ในระดับบุคคล  ครัวเรือน  ชุมชน  ท้องถิ่น  จังหวัด  ประเทศ  หรือปัญหาความยากจนรายประเด็นได้

นอกจากนี้ TPMAP  ยังเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายแรกของประเทศที่สามารถระบุเป้าหมายการพัฒนาได้ทั้งในครัวเรือนและบุคคล  ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญของครัวเรือนและบุคคลที่มีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและช่วยเหลือเร่งด่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์

ส่วนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานั้น  ศจพ.เริ่มการประชุมครั้งแรกเพื่อขับเคลื่อนโครงการเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา  โดยมีพลเอกประวิตร  รองนายกฯ เป็นประธาน  ขณะที่กระทรวงมหาดไทยจะเร่งรัดการจัดตั้ง ศจพ.ทุกระดับทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18  เมษายนนี้  หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 19 เมษายน-30 มิถุนายน  ทีมปฏิบัติการจะลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน  เพื่อตรวจสอบข้อมูล  และ X-Ray กลุ่มเป้าหมาย  หาสาเหตุปัญหา  ความต้องการ  และให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม 

1 กรกฎาคม-30 กันยายน  ทีมพี่เลี้ยงจะลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องลงในระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย (Logbook)  ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ศจพ.เพื่อให้ความช่วยเหลือ  และบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือ  นโยบายการช่วยเหลือ/การพัฒนาตามสภาพปัญหา 

ทั้งนี้ในช่วง 1 ปีแรก ศจพ.มีเป้าหมายกลุ่มประชาชนที่ต้องให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนประมาณ 980,000 คน  เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจน  หลังจากนั้นจะขยายไปยังกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง  4,104,450  ครอบครัว  ผู้เปราะบาง 10,754,205 คนทั่วประเทศ  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อยู่รอด  พอเพียง  และยั่งยืนต่อไป !!

กระทรวง พม.ใช้ สมุดพกครอบครัว                                                                                                                             นวัตกรรมขจัดความยากจน-แก้ปัญหาครัวเรือนเปราะบาง

                การแก้ไขปัญหาความยากจนและครัวเรือนเปราะบางนั้น  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.) เป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา  เพราะมีหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับประชากรกลุ่มเปราะบางทุกเพศและทุกช่วงวัย  เช่น  กรมกิจการเด็กและเยาวชน  กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว  กรมกิจการผู้สูงอายุ  กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  ฯลฯ  โดยมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) เป็นกลไกขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ

                นอกจากนี้ยังมีการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  พึ่งพาตัวเองได้  รวมทั้งพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง 

ทั้งนี้หน่วยงานทั้งหมดของกระทรวง พม.จะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ รวม 12 กระทรวง และกรุงเทพมหานคร  โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU.) ไปแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ทำเนียบรัฐบาล เช่น  กระทรวงมหาดไทย  พมพาณิชย์  เกษตรฯ  แรงงาน สาธารณสุข ฯลฯ  โดยมีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (..2564-2568)

 

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรี พม. กล่าวว่า   การแก้ไขปัญหาครอบครัวเปราะบางนั้น  จะดำเนินการภายใต้คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ซึ่งมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน   โดยมีเป้าหมายคนจนต้องหมดจากประเทศไทย  ส่วนจะตั้งเป้า หมายไว้กี่ปีนั้นยังไม่ทราบ  แต่ประเทศจีนใช้เวลาแก้ไขปัญหาความยากจน 12 ปี  เพราะมีอำนาจและทรัพยากรมาก             แต่ประเทศไทยจะพยายามใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องความแม่นยำของบริการข้อมูลเพื่อเพิ่มความรวดเร็ว
                การแก้ปัญหาความยากจนจะมีนวัตกรรม สมุดพกครอบครัว’  ซึ่งเป็นนวัตกรรมขจัดความยากจนของหลายประเทศ   เช่น  ประเทศจีนได้นำมาใช้มากที่สุด  คล้ายกับหลักเกณฑ์คนไข้ด้านสังคมในห้องไอซียู   โดยมีแพทย์เฉพาะทางหรือแต่ละกระทรวงมาดูว่าจะรักษาได้อย่างไรให้คนไข้หาย  ให้ยารักษาหรือมาตรการช่วยเหลืออย่างไร  โดยมีพลเอกประวิตร เป็นเสมือนหัวหน้าแพทย์   พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเสมือนผู้อำนวยการโรงพยาบาล

ส่วนกระทรวง พม. เป็นเสมือนแพทย์ประจำตัว  มีหน้าที่เฝ้าระวังดูแลผู้ป่วย  และรายงานผลให้หัวหน้าแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับทราบ  โดยจะมีการปรับการรักษาหรือมาตรการช่วยเหลือให้เหมาะสม”   รมว.พม. กล่าว

 รมว.พม. อธิบายเพิ่มเติมว่า  สมุดพกครอบครัวจะทำเป็นเล่มเก็บไว้แต่ละบ้าน  และมีสมุดอิเล็กทรอนิกส์ที่แต่ละกระทรวงสามารถมอนิเตอร์ได้  เพื่อจะรู้ว่าต้องทำหน้าที่อะไร  โดยจะมีการลงพื้นที่ประเมินครอบครัวว่าเข้าถึงปัจจัย 4  สิทธิและสวัสดิการภาครัฐ  การลดละเลิกอบายมุข   ตลอดจนการมีอาชีพ   และเชื่อว่าหากครัวเรือนยากจนได้เข้าถึงมาตรการรอบด้านจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

ส่วนการจัดเก็บข้อมูลครัวเรือนเปราะบางนั้น  กระทรวง พม.จะให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) ลงไปเก็บข้อมูลเชิงลึก 1 คนต่อ 10 ครอบครัว  แล้วนำข้อมูลมาบันทึกในสมุดพกครอบครัว  หลังจากนั้นจะนำข้อมูลมาบันทึกในสมุดอิเล็กทรอนิกส์  โดยนำข้อมูลไปใส่ในระบบ TPMAP เพื่อให้กระทรวงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 12 กระทรวงรู้ข้อมูลว่าแต่ละครัวเรือนมีปัญหาด้านใดบ้าง  ต้องการความช่วยเหลือเรื่องอะไร  และหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือไปแล้วบ้าง ฯลฯ

เดินหน้า ‘1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา

นอกจากการขับเคลื่อนและบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนและครัวเรือนกลุ่มเปราะบางร่วมกับ 12 กระทรวงและกรุงเทพมหานครแล้ว  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังมีนโยบาย ‘1 กรม  1 พื้นที่พัฒนา’  โดยนายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม. มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด 6 กรม  และ 2 หน่วยงาน (การเคหะแห่งชาติ และพอช.) คัดเลือกชุมชนในกรุงเทพฯ ที่มีครอบครัวเปราะบาง  มีประชาชนที่ด้อยโอกาส  มีฐานะยากจน  ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจข้อมูลรายครัวเรือน  เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปัญหา  และวางแผนให้ความช่วยเหลือเป็นรายครัวเรือนและทั้งชุมชน  โดยใช้ สมุดพกครัวเรือนเป็นเครื่องมือ  เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น  เริ่มดำเนินโครงการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของแต่ละกรมและหน่วยงานจะลงพื้นที่ชุมชนเพื่อบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของแต่ละครอบครัว  เช่น  ชื่อหัวหน้าครอบครัว  อายุ  จำนวนสมาชิกในครอบครัว  อาชีพ  รายได้  รายจ่าย  หนี้สิน  ทรัพย์สิน  เงินออม  สวัสดิการจากรัฐที่ได้รับ  ประกันชีวิต 

ด้านสุขภาพอนามัย  เช่น  ความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว  โรคประจำตัว  ผู้ป่วยติดเตียง  สิทธิการรักษาพยาบาล  การศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลาน  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  สถานะครอบครัว  เช่น  เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว  เด็กถูกทอดทิ้ง  สภาพที่อยู่อาศัย  เป็นของตัวเอง  เช่า  หรือบุกรุก  อาศัยอยู่กับคนอื่น   ปัญหาต่างๆ ในครอบครัว  ความต้องการการช่วยเหลือ  ฯลฯ

เช่น  กรมกิจการผู้สูงอายุ  ลงพื้นที่ชุมชนวัดสุวรรณคีรี  เขตบางกอกน้อย  กรุงเทพฯ  ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่า   ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการได้รับการพัฒนาในด้านที่อยู่อาศัย  รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต  และการสนับสนุนการประกอบอาชีพ  เพราะชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ฯลฯ   ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จากกรมกิจการผู้สูงอายุจะลงพื้นที่ชุมชนวัดสุวรรณคีรีอย่างต่อเนื่อง  เพื่อนำข้อมูลมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนเปราะบางให้ดีขึ้น

พอช.ส่งเจ้าหน้าที่ 200 คนลงพื้นที่ชุมชนคลองกะจะ

ขณะที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. คัดเลือกชุมชนคลองกะจะ  ตั้งอยู่ในเขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่พัฒนา  โดยเจ้าหน้าที่ พอช.สำนักงานกรุงเทพฯ ประมาณ 200 คนเริ่มทยอยลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนและครัวเรือนตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯต้องการให้หน่วยงานต่างๆ  เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่รวดเร็ว  จึงมีโครงการ ‘1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ พอช.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนและช่วยเหลือให้กลุ่มเปราะบางมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ชุมชนคลองกะจะ  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  และเก็บของเก่าขาย   หลายครอบครัวได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด   การแก้ปัญหาเชิงรุกจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลที่เป็นจริงในชุมชน  เครื่องมือสำคัญก็คือสมุดพกครอบครัว ทำให้ได้รู้ปัญหาของชาวบ้าน  ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า   และปัญหาระยะยาว   เช่น  เรื่องที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง

ดังนั้น   ข้อมูลที่เก็บหรือพูดคุยกับชาวบ้านนี้  จะนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนา   โดยมุ่งผลสำเร็จก็คือ  ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็ว   แม้ว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนจะต้องใช้เวลานาน   แต่หากเราเริ่มต้นที่ครอบครัวจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ฐานราก  หากคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมต่างๆ บริการของภาครัฐ ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาสามารถลุล่วงได้ ผอ.พอช.กล่าว  และว่า  ตามแผนงาน พอช.จะนำข้อมูลมาวางแผนการพัฒนาและให้ความช่วยเหลือชุมชนได้ในเร็วๆ นี้  โดยมีแผนดำเนินการช่วงแรกจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564

ผอ.พอช.กล่าวต่อไปว่า  ส่วนปัญหาระยะยาวจำเป็นที่จะต้องใช้ความร่วมมือและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ  ให้เข้ามาช่วยเหลือ  และการช่วยเหลือนั้นจะต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

โครงการ ‘1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบางตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวง พม.คือ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ของการพัฒนา นายสมชาติ  ผอ.พอช.กล่าวย้ำ

                                                               

เสียงจากคนคลองกะจะ

 

            คลองกะจะ   เป็นคลองเล็กๆ  อยู่ในพื้นที่เขตบางกะปิ  มีความกว้างไม่เกิน 20 เมตร  ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังถนนหัวหมาก-กรุงเทพกรีฑา  และไหลไปเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบบริเวณถนนพระราม 9  ในอดีตชาวบ้านริมคลองกะจะจะใช้เรือเป็นพาหนะ  เพราะพื้นที่แถบบางกะปิเป็นทุ่งนาเกือบทั้งหมด   ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  มีลำคลองและลำรางหลายสายเป็นเส้นทางสัญจร  คนที่ค้าขายจะใช้เรือติดเครื่องยนต์แล่นไปในคลองแสนแสบเพื่อซื้อสินค้าจากตลาดประตูน้ำ  ซื้อผักและผลไม้จากตลาดมหานาคนำกลับมาขายที่คลองกะจะ

ย้อนอดีตคนคลองกะจะ

                นิราพร เกาฑัณ  หรือ ป้านัน’  อายุ 62 ปี  ประธานกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนคลองกะจะ   เล่าว่า ป้าเป็นคนกรุงเทพฯ  แต่ย้ายมาอยู่ที่คลองกะจะกับครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก  อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ  ตอนนั้นสนามกีฬาหัวหมากและมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังไม่สร้าง (ม.รามคำแหงเปิดปี 2514)  พื้นที่แถบนี้เป็นทุ่งนาเรียกว่า “ทุ่งบางกะปิ”  ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนอิสลาม  ปลูกสร้างบ้านเรือนไปตามความยาวของแนวคลอง  เวลาหน้าแล้งก็จะเดินตัดทุ่งนา  เพราะตอนนั้นถนนหัวหมากยังไม่มี  รถราก็หายาก

                “เมื่อก่อนยังใช้เรือพายไปไหนต่อไหน  เพราะตอนนั้นยังไม่มีถนน  หมู่บ้านจัดสรรก็ยังไม่ขึ้น  น้ำในคลองยังสะอาด  ใช้ซักผ้า  อาบน้ำ  น้ำกินก็ตักเอาน้ำคลองมาแกว่งสารส้มให้ตกตะกอน  ปลาในคลองก็หาง่าย  แต่ละบ้านจะมียอเอาไว้จับปลา  บางครั้งก็ช่วยกันตีอวน  ได้ปลา  กุ้ง  เยอะมาก  ต้องทำปลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงสี่ทุ่มกว่าจะเสร็จ  เอามาขอดเกล็ด  ผ่าท้อง  ใส่เกลือ ทำปลาแห้ง  ปลาเค็ม  มีทั้งปลาสลิด  ตะเพียน  ปลาหลด  ปลากะทุงเหว  กุ้งก้ามกราม  กุ้งฝอยก็เยอะ”  ป้านันเล่าถึงสภาพคลองกะจะในอดีต

 

                เมื่อมีสนามกีฬาหัวหมาก (สร้างปี 2509 ปัจจุบันคือ ‘ราชมังคลากีฬาสถาน’) และมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว  จึงทำให้ย่านรามคำแหง  หัวหมาก  บางกะปิ  เติบโตและเจริญขึ้น  มีหอพักนักศึกษา  บ้านเช่า  อพาร์ทเม้นท์  บ้านจัดสรร  ตึกแถว  ร้านค้าเกิดขึ้นมากมาย  ที่ดินมีราคาแพงขึ้น  ทุ่งนาจึงค่อยๆ หมดไป 

                ขณะที่ชุมชนคลองกะจะ  จากเดิมที่ชาวบ้านดั้งเดิมเป็นชาวนามุสลิม  มีไม่ถึง 100 ครัวเรือน  เมื่อความเจริญขยายตัว  คนที่มีที่ดินเป็นของตัวเองก็สร้างบ้านให้คนจากข้างนอกมาเช่า  บ้างก็อาศัยพื้นที่ริมคลองปลูกสร้างบ้านอยู่เอง  ส่วนใหญ่ย้ายมาจากต่างจังหวัด   เข้ามาทำงานรับจ้างต่างๆ  เป็น รปภ.  เป็นแม่บ้านทำความสะอาด  เป็นพนักงาน  ลูกจ้างในย่านบางกะปิ  รามคำแหง 

ป้านันบอกว่า  สมัยป้ายังเด็กที่นามีราคาไร่หนึ่งไม่ถึง 1 หมื่นบาท  แต่ตอนนี้ตารางวาหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท  เพราะมีรถไฟฟ้าหลายสายกำลังสร้าง  มีโรงพยาบาลเอกชน  มีถนนมอเตอร์เวย์  มีทางด่วน  มีหมู่บ้านและคอนโดฯ ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย  ทำให้ชุมชนคลองกะจะถูกล้อมรอบ  คนที่มีที่ดินและบ้านเป็นของตัวเองก็ไม่มีปัญหา  และดีเสียอีกที่ที่ดินมีราคาสูงขึ้น  แต่คนที่อยู่บ้านเช่าหรือบุกรุกที่ดินริมคลองสร้างบ้านก็ไม่มีความสบายใจเพราะไม่รู้อนาคต  วันข้างหน้าอาจจะถูกไล่ที่ก็ได้

เสียงจากคนคลองกะจะ

                ข้อมูลจากสำนักงานเขตบางกะปิ  ระบุว่า  ชุมชนคลองกะจะมีบ้านเรือนทั้งหมด 125 หลังคาเรือน  รวม 160 ครอบครัว  ผู้อยู่อาศัยทั้งหมด 521 คน  อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้เจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กำลังสำรวจข้อมูลรายครัวเรือนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

                ป้านัน บอกว่า  ก่อนที่เจ้าหน้าที่จาก พอช.จะเข้ามาสำรวจข้อมูลตามโครงการ ‘1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา’ นั้น  ชาวชุมชนคลองกะจะก็มีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาชุมชนมาก่อนแล้ว  เช่น  มีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  ทำมาตั้งแต่ปี 2546 ตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 50 คน  มีเงินกองทุนกว่า 1 ล้านบาท  ให้สมาชิกกู้ยืมไปใช้จ่าย  ประกอบอาชีพ 

นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมอื่นๆ เช่น  การดูแลสุขภาพชาวชุมชนร่วมกับสำนักงานเขตบางกะปิ  การจัดการขยะในคลอง  การจัดกิจกรรมวันเด็ก  ฯลฯ  รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา   โดยมีคณะกรรมการชุมชนประมาณ 20 คนช่วยกันทำงาน  แบ่งคณะกรรมการออกเป็น 4 โซนตามความยาวของแนวคลองในพื้นที่ชุมชน (ประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ) 

สุกัญญา  อยู่เกิด  กรรมการชุมชนคลองกะจะ  เล่าเสริมว่า  ในชุมชนมีคนที่อยู่บ้านเช่า  และบุกรุกที่ดินริมคลอง (ที่ดินราชพัสดุ  กรมธนารักษ์ดูแล) หลายสิบครอบครัว  ประกอบกับที่ดินในย่านนี้มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ  ชาวบ้านจึงกลัวถูกไล่ที่เธอเองก็เป็นหนึ่งในครอบครัวที่บุกรุกที่ดินสร้างบ้าน  ทำให้ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย 

ช่วงปี 2562 จึงไปเรียนรู้กับชุมชนที่ทำโครงการบ้านมั่นคงแถววัดเทพลีลา  ซอยรามคำแหง 39  รวมทั้งได้ดูข่าวโทรทัศน์เรื่องบ้านมั่นคงในคลองลาดพร้าวที่ พอช.สนับสนุน  จึงเอาเรื่องนี้มาคุยกับกรรมการชุมชน  เพื่อจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เป็นทุนสร้างบ้าน   ใช้ชื่อว่า ‘กลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงริมคลองกะจะ’  จัดตั้งในช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา  ตอนนี้มีสมาชิกที่เข้าร่วม 25 ครอบครัว  เริ่มออมกันเดือนละ 300 บาท  ตอนนี้มีเงินออมรวมกันประมาณ 6 หมื่นบาท

“ช่วงแรกที่เริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อจะทำโครงการบ้านมั่นคง  ชาวบ้านก็ยังไม่เชื่อว่าจะมีโครงการแบบนี้จริงหรือ ?  ใครจะมาช่วยคนจน ?  เราก็เอาข่าวโทรทัศน์เรื่องบ้านมั่นคงในคลองลาดพร้าวที่ลงในยูทูปไปให้ชาวบ้านดู  แล้วเล่าเรื่องบ้านมั่นคงให้ชาวบ้านฟังว่า  พวกเราจะต้องทำอย่างไร  ก็ต้องรวมกลุ่มกันออมทรัพย์ก่อน 

พอชาวบ้านเห็นข่าวโทรทัศน์จึงเริ่มเชื่อ  เราก็ใช้วิธีแจกใบปลิว  และใช้เสียงตามสายด้วย  ชวนชาวบ้านมาประชุม  คนที่สนใจก็มาร่วม  เพราะทุกคนอยากอยู่ที่นี่  ไม่อยากจะย้ายไปไหน  ครอบครัวก็ทำงานอยู่แถวนี้  ลูกหลานก็เรียนที่นี่”       สุกัญญาบอก  และขยายความว่า  ขณะนี้ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ พอช.กำลังร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชนรายครัวเรือน  และจะได้รู้ข้อมูลด้วยว่ามีบ้านเช่ากี่หลัง  บุกรุกกี่หลัง  ใครที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง  เราก็จะชวนมาเข้ากลุ่มออมทรัพย์ 

 

จินตนา  พิมรัตน์  อายุ 52 ปี  บอกว่าครอบครัวเป็นคนกรุงเทพฯ  ย่านตลิ่งชัน  แต่ย้ายมาอยู่ที่คลองกะจะเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนเพื่อมาทำงานแถวนี้  เช่าบ้านอยู่ตั้งแต่เดือนละ 1,000 บาท  ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 2,000 บาท  ไม่รวมค่าน้ำ  ค่าไฟฟ้า  ตอนนี้อยู่กับลูกและหลาน  ตัวเองมีรายได้จากการรับจ้างทำความสะอาดบ้านและออฟฟิศวันละ 300 บาท

“ตอนนี้เศรษฐกิจก็ไม่ดี  อยากจะให้ช่วยเรื่องอาชีพ  เรื่องรายได้  ส่วนเรื่องบ้านก็อยากจะมีเป็นของตัวเองนั่นแหละ  เพราะเช่าอยู่มานานแล้ว หากเจ้าของขายที่  เราก็จะไม่มีบ้านอยู่  ตอนแรกสุกัญญาก็เอาวิดีโอเรื่องบ้านมั่นคงคลองลาดพร้าวมาให้ดู  เห็นว่าบ้านสวยดี  ก็อยากให้ลูกหลานมีบ้านแบบนั้นบ้าง  เพราะเราก็อยู่ริมคลองเหมือนกัน  จึงร่วมออมทรัพย์ด้วย  ถ้าทำกันจริงจังก็เชื่อว่าทำได้”  จินตนาบอกถึงความหวัง

ป้านันบอกในตอนท้ายว่า  จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นในชุมชนพบว่า  มีหลายครอบครัวที่มีความเดือดร้อนยากจนสุดๆ   เพราะตกงาน   บางครอบครัวเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว  มีภาระในการเลี้ยงดู  ไม่มีรายได้  รวมประมาณ 10 ครอบครัว   มีปัญหาครอบครัว  3  ครอบครัว  มีผู้ป่วยสูงอายุติดเตียง  1 ราย  คนพิการ 1 ราย  คนป่วยต้องฟอกไต 3 ราย  ฯลฯ

ทั้งนี้ข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนเปราะบางและประสบปัญหาต่างๆ ในชุมชนคลองกะจะ  พอช.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวง พม. และหน่วยงานอื่นๆ  นำมาจัดทำแผนเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด  ส่วนความหวังในการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงนั้น  ชาวชุมชนคลองกะจะได้เริ่มออมเงินเพื่อเป็นทุนแล้ว   โดย พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันสานฝันของชาวชุมชนให้เป็นจริง...ต่อไป  !!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"