โกษาปานในภาคนักรบก็ปราดเปรื่อง


เพิ่มเพื่อน    


คนไทยรู้จักออกพระวิสุทธสุนทร หรือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ในฐานะราชทูตผู้ปราดเปรื่อง ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส แต่อีกบทบาทหนึ่งไม่ใคร่จะมีการพูดถึงมากนัก นั่นคือ "นักรบ" 

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๐ กล่าวถึงออกพระวิสุทธสุนทรนั้น อาศัยตำนานไทยตำนานฝรั่งประกอบกัน พอเชื่อมเนื้อความให้ติดต่อกันเป็นประวัติขึ้นพอรู้เรื่องได้บ้าง ตั้งแต่วันที่ท่านกลับจากยุโรปจนกระทั่งถึงวันตาย เช่นได้ความจากหนังสือจดหมายเหตุประจำวันของเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์  ราชทูตฝรั่งเศสคนแรกที่ออกมาเจริญพระราชไมตรีในเมืองไทยว่า

 "พอข้าพเจ้าได้พบกับออกพระวิสุทธสุนทรแต่วันแรกที่ปากน้ำ เมื่อเรือของเราไปถึงเมืองไทยแล้วนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่าคนนี้เป็นคนมีสกุลผู้ดีติดอยู่เต็มตัว ทั้งรู้สึกว่าเป็นคนเฉลียวฉลาด อาจเป็นราชทูตไทยไปฝรั่งเศสได้ดีกว่าใครๆ หมด ข้าพเจ้าจึงได้แนะนำเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ให้เลือกเขาเป็นราชทูตส่งไปกับเราเมื่อจะกลับ" 

ตอนเมื่อกำลังโดยสารกลับไป ท่านเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ลงในจดหมายเหตุประจำวันของท่านอีกว่า "สิ่งที่ถูกใจในตัวราชทูตคนนี้ คือไม่ว่าท่านได้ไปพบเห็นอะไรที่ไหนเป็นต้องจับดินสอจดลงในสมุดทันที นิสัยนี้ดีมาก เพราะเมื่อไปเมืองฝรั่งกลับมาคงมีรายงานความเป็นไปจากเมืองฝรั่งเศสถวายพระเจ้ากรุงสยามอย่างละเอียดลออดี ดังนี้พระเจ้ากรุงสยามจะได้ทรงทราบความจริงในเรื่องของเมืองฝรั่งเศสว่าเป็นอย่างไร ดีกว่าปล่อยให้พระองค์ทรงเชื่อแต่คำเล่าลือผิดๆ ถูกๆ ดังที่พระองค์เคยทรงได้ยินมาแต่ก่อน"

ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าปรากฏว่า ออกพระวิสุทธสุนทรเป็นน้องชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี  (เหล็ก) และข้อนี้มีที่อ้างให้เห็นว่าเป็นจริง เพราะตำนานฝรั่งในสมัยนั้นกล่าวเป็นทำนองเดียวกัน ตำนานมาแตกต่างกันก็แต่ในเรื่องออกพระวิสุทธสุนทรกับพระเพทราชา ซึ่งภายหลังได้ราชสมบัติต่อพระนารายณ์ลงมา 

พระราชพงศาวดารย่อลงว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดีหนึ่งออกพระวิสุทธสุนทรหนึ่ง ออกพระเพทราชาหนึ่ง สามคนนี้เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน คือทั้งสามท่านนี้เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมของพระนารายณ์

ในข้อนี้ตำนานเบ็ดเตล็ดของฝรั่งแย้งกับพระราชพงศาวดารย่อถึงกับชวนให้นักโบราณคดีบางท่าน ไม่ค่อยจะปลงใจเชื่อพระราชพงศาวดารย่อได้ บทวินิจฉัยให้เห็นเท็จจริงในเรื่องนี้มีอยู่ไม่สู้มากมายนัก  แต่ออกจะแน่นแฟ้นพอใช้ ดังจะขอยกมากล่าวพอเป็นทางสันนิษฐาน 

เมื่ออ่านแล้วสุดแต่ท่านผู้อ่านจะลงความเห็นเลือกเชื่อเอาตามชอบใจ ข้อหนึ่ง ต่างว่าจะตั้งปัญหาขึ้นถามว่าถ้าพระเพทราชาเป็นน้องชายของออกพระวิสุทธสุนทรจริงแล้ว เหตุใดเมื่อพระเพทราชาขึ้นเสวยราชย์แล้วจึงมิได้ยกย่องออกพระวิสุทธสุนทรขึ้นเป็นเจ้าต่างกรมตามโบราณราชประเพณีนิยมเล่า 

เวลานั้นออกพระวิสุทธสุนทรยังมีชีวิตอยู่ ส่วนเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ไม่มีปัญหา เพราะถึงแก่กรรมเสียก่อนพระเพทราชาได้ราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.๒๒๓๑ 

ส่วนออกพระวิสุทธสุนทรถึงแก่อสัญกรรมภายหลังพระเพทราชาได้ราชสมบัติประมาณ ๑๒ ปี ในราว พ.ศ.๒๒๔๓ ตามที่มีปรากฏแน่ชัดในจดหมายของบาทหลวงโบรลด์เขียนส่งไปยังกรุงปารีสในศกนั้นว่า 

"...ออกพระวิสุทธสุนทรอัครราชทูตเก่าพึ่งตายในเร็วๆ ไม่กี่เดือนนี้เอง ..." 

คำกล่าวนี้ชวนให้นึกว่าออกพระวิสุทธกับพระเพทราชามิใช่พี่น้องกัน หาไม่ออกพระวิสุทธคงได้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าในครั้งนั้น หนังสือลาลูแบร์ยังมาสนับสนุนความเห็นอันนี้ให้เห็นสมจริงตอนเมื่อกล่าวว่า 

"...ออกพระเพทราชาเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ราษฎรชอบพอมาก เพราะใจคอเยือกเย็นและลือกันว่าเป็นคงกระพันชาตรียิงไม่ออก ฟันไม่เข้า ถึงพระนารายณ์เองก็โปรดมาก เพราะเคยไปสงครามมีชัยชนะแก่พระเจ้าตองอูมา...ตามเสียงตลาดที่โจษกันทุกวันนี้ มักนิยมถือกันว่า ถ้าพระนารายณ์สิ้นพระชนม์ลงเมื่อใด ออกพระเพทราชากับลูกชายชื่อออกหลวงสรศักดิ์มีหวังที่จะสืบราชสมบัติยิ่งกว่าใครๆ ..."

มารดาของออกพระเพทราชานั้นเคยเป็นนางนมของในหลวง เดี๋ยวนี้เหมือนกับมารดาของเจ้าคุณอัครราชทูตซึ่งเคยถวายนมแด่พระองค์เหมือนกัน...

ความเข้าใจตามพระราชพงศาวดารย่อ อนึ่ง ลาลูแบร์ยังกล่าวอีกแห่งหนึ่งว่า  

"คราวหนึ่งพระนารายณ์ทรงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนออกยาพระคลังซึ่งเป็นพี่ชายของเจ้าคุณอัครราชทูตหน้าพระที่นั่ง ผู้ที่รับสนองพระราชอาญาเฆี่ยนนั้นคือออกหลวงสรศักดิ์ บุตรชายของออกพระเพทราชา"

ถ้าเป็นจริงตามคำของลาลูแบร์นี้แล้ว จะดูกะไรอยู่ละกระมังที่พระนารายณ์จะทรงจำเพาะใช้ออกหลวงสรศักดิ์ผู้เป็นหลานให้เฆี่ยนตีเจ้าพระยาพระคลังผู้เป็นลุงใหญ่ พระนารายณ์จะทรงหน้ามืดถึงกับมิอาลัยในขนบธรรมเนียมและความเคารพรักใคร่ในระวางวงศ์ญาติบ้างเจียวหรือ ดูๆ จะกะไรอยู่ละกระมัง

ขอกลับมาจับใจความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าต่อไปว่า เมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ทรงปรารภจะขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ จึงโปรดให้ออกพระวิสุทธสุนทร ผู้เป็นน้องเจ้าพระยาโกษาธิบดีที่ถึงแก่อนิจกรรมนั้น เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดีแทน มีรับสั่งว่า 

"ขุนเหล็กพี่ท่านชำนาญในการเป็นแม่ทัพก็มาถึงมรณภาพเสียแล้ว บัดนี้เราจะให้ท่านเป็นแม่ทัพแทนพี่ชายยกไปตีเมืองเชียงใหม่ จะได้หรือมิได้" 

เจ้าพระยาโกษาธิบดีจึงกราบทูลขอรับพระราชทานพระราชอาชญาสิทธิขาดทำการทดลองดูก่อน  ถ้าเห็นจะทำสงครามได้ก็จะขออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่มาถวายให้จงได้ สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงฟังก็ชอบพระราชหฤทัย ทรงโสมนัสตรัสสรรเสริญสติปัญญาเจ้าพระยาโกษาธิบดีเป็นอันมาก แล้วพระราชทานพระแสงดาบต้นพร้อมด้วยพระราชอาชญาสิทธิให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีไปทดลองดู    

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงกราบถวายบังคมออกมาสั่งให้หมายกำหนดการให้นายหมู่นายกองกะเกณฑ์พลทหารสามพันออกไปตั้งค่ายตำบลที่ใกล้เพนียด และให้ตัดไม้ไผ่มาปักเป็นเสาค่าย แต่ให้เอาปลายปักลงดินให้สิ้น ให้ขุดมูลดินถมเป็นสนามเพลาะ และปักขวากหนามตามธรรมเนียมสร้างค่ายพร้อมเสร็จให้สำเร็จในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้า ๙ นาฬิกา 

ฝ่ายท้าวพระยานายหมวดนายกองต่างก็ออกไปกะเกณฑ์แบ่งปันหน้าที่กันทำตามบัญชาทุกหมู่ทุกกรม รุ่งขึ้นได้เวลาเจ้าพระยาโกษาธิบดีก็ออกไปเลียบค่ายพร้อมด้วยอิสริยยศและบริวารยศอย่างกษัตริย์ เห็นไม้เสาค่ายต้นหนึ่งปักเอาต้นลงดิน ก็ให้หาตัวเจ้าหน้าที่นั้นเข้ามา 

เมื่อซักถามได้ความจริงแล้วก็ให้เอาตัวผู้ละเมิดคำบัญชานั้นไปตัดศีรษะเสียบไว้ที่ปลายไม้เสาค่ายลำนั้น มิให้ใครเอาเยี่ยงอย่างต่อไป 

ครั้นแล้วก็กลับมาเฝ้ากราบทูลแถลงพฤติเหตุที่ได้ไปทดลองนั้นให้ทรงทราบทุกประการ แล้วกราบทูลขออาสาเป็นแม่ทัพไปตีเชียงใหม่ได้ดังพระราชประสงค์ 

เรื่องการทดลองอาชญาสิทธิของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ตอนนี้ ถ้าอ่านโดยไม่พินิจพิเคราะห์ก็จะเข้าใจว่าเจ้าพระยาโกษา (ปาน) เป็นคนใจคอเหี้ยมโหดร้ายกาจเหลือเกิน เพราะสมัยนี้การประหารชีวิตมิใช่ของทำง่ายๆ เหมือนครั้งก่อน 

แต่เมื่ออ่านโดยคิดถึงธรรมเนียมโบราณว่าเป็นอย่างไรแล้ว ก็จะกลับอดชมไม่ได้ว่าท่านใจแข็งเคร่งครัดในราชการถูกกาลสมัยน่าชมนัก สมเป็นแม่ทัพผู้เป็นเหมือนแม่เหมือนพ่อของพลทหารตั้งกองทัพในบังคับของตนจริง 

ถ้าเวลานั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดีพูดไม่เด็ดขาด สั่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ แทนที่จะเสียชีวิตคนคนเดียวอาจเสียชีวิตทั้งกองทัพ และทั้งเสียอิสรภาพของบ้านเมืองด้วยก็อาจเป็นได้ 

และหากเป็นไปถึงเช่นนี้แล้วก็หมดโอกาสที่จะแก้ตัวในภายหลัง การสั่งให้ปักเสาค่าย เอาโคนขึ้นเอาปลายลงดินนี้เป็นการลองใจ เจ้าพระยาโกษา (ปาน) เองก็รู้ดีแสนดีว่าผิดแบบ 

แต่เมื่อท่านสั่งดังนี้ก็ต้องทำตาม ถ้าสงสัยว่าสั่งผิดไปหรือสงสัยว่าตัวฟังคำสั่งไม่ถนัดก็ควรสืบดูให้รู้แน่แล้วจึงทำ แต่ถ้าผู้ใดอวดฉลาดบังอาจละเมิดคำสั่ง ถือเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่แล้ว ผู้นั้นก็ต้องรับพระราชอาญาตามโทษานุโทษ จะติเตียนว่านายเหี้ยมโหดไม่ได้เป็นธรรมดา เพราะนายเป็นผู้รับผิดชอบแห่งความดีและความเสียหายทั้งปวง

ถัดจากไปตีเมืองเชียงใหม่มานี้แล้ว เจ้าพระยาโกษาธิบดีได้ดิบได้ดีในราชการประการใดไม่ปรากฏ  แต่ว่าในรัชกาลของพระเพทราชา พระองค์ไม่โปรดเหมือนพระนารายณ์ กลับลงโทษต่างๆ นานา เพราะทรงระแวงสงสัยไม่ไว้พระราชหฤทัยในเจ้าพระยาโกษาธิบดีเลย 

ถ้าจะทรงสำนึกพระองค์ว่ากระบวนความสามารถในราชการแล้ว บางทีพระองค์ทรงสู้เจ้าพระยาโกษาธิบดีไม่ได้ละกระมังจึงทรงอิจฉา มิฉะนั้นคงเป็นที่ได้เห็นราษฎรนิยมนับถือเจ้าพระยาโกษาธิบดี เพราะคุณความดีของท่านที่ได้มีมาแต่ครั้งพระนารายณ์ เกรงพระราชหฤทัยว่าหากทรงพลาดพลั้งลงเมื่อใดอาจเป็นกบฏแย่งเอาราชสมบัติไปเสียเองก็ได้ 

หรือไม่อย่างนั้นบางทีจะเป็นกลอุบายยุยงของออกหลวงสรศักดิ์ก็ว่าไม่ได้ เพราะคนนี้ชำนาญกลอุบายร้อยแปดประการสำหรับป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น หาความชอบมาใส่ตนคนเดียว 

แต่ข้อเหล่านี้ล้วนแต่มาจากการสันนิษฐานอันเกิดจากการอ่านจดหมายของบาทหลวงโบรลด์เขียนส่งไปที่กรุงปารีสเมื่อคริสต์ศักราช ๑๗๐๐ (พ.ศ.๒๒๔๒) ภายหลังที่เจ้าคุณอัครราชทูตกลับมาถึง ๑๒ ปี  ตกอยู่ในตอนปลายรัชกาลของพระเพทราชานั้นเอง ยังจะถือเป็นยุติทีเดียวไม่ได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"