กรมศิลป์เปิดให้ ปชช.สรงน้ำพระธาตุ 23 องค์ และ 9 เทวดานพเคราะห์ ที่พิพิธภัณฑ์พระนคร เสริมสิริมงคลปีใหม่ไทย-พ้นภัยโรคระบาด พร้อมขนโบราณวัตถุในคลังมาให้ชมเฉพาะช่วงสงกรานต์ 12-15 เม.ย. สวธ.จัดรดน้ำขอพรวิถีใหม่ ใช้พวงมาลัยแทน ป้องกันแพร่เชื้อโควิด
วันที่ 8 เม.ย. นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2564 เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้ และเพื่อเป็นสิริมงคลในปีใหม่ไทย พระธาตุที่อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นประธานในพิธีมีทั้งหมด 23 องค์ ประดิษฐานอยู่ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา เดิมทีบรรจุไว้ในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โดยพิธีบวงสรวงสมโภชพระธาตุและเทวดานพเคราะห์จะจัดขึ้นวันที่ 12 เม.ย.นี้ เวลา 07.39 น.
นายประทีปกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประชาชนจะได้สรงน้ำประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ มีพระอาทิตย์ทรงราชสีห์ พระจันทร์ทรงอาชา พระอังคารทรงกระบือ พระพุทธทรงช้าง พระเสาร์ทรงเสือ พระพฤหัสฯ ทรงกวาง พระราหูทรงครุฑ พระศุกร์ทรงโค และพระเกตุทรงนาค ที่อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ ตามระบบทักษาในแผนผังอัฐจักรนี้ สร้างขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย แต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ
"ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทพนพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริง มีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทย และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริง เพราะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก" นายประทีปกล่าว
อธิบดี ศก. กล่าวว่า ในสมัยโบราณคนไทยไม่นิยมนับอายุตามวันเกิด แต่จะนับตามการเถลิงศักราชใหม่ในช่วงปีใหม่ไทย คือ สงกรานต์ หากปีใดมีความป่วยไข้ หรือทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนทักษา โดยเฉพาะเจ้านาย ก็จะขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่กัน เชื่อว่าจะนำพาสิริมงคลมาพร้อมกับศักราชใหม่ พิพิธภัณฑ์พระนครจึงได้อัญเชิญเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์มาให้ประชาชนสักการะและสรงน้ำขอพรปีใหม่ วันที่ 12-15 เม.ย.2564 เวลา 09.00-16.00 น. ปีนี้ได้จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เทวดานพเคราะห์ในวิถีชีวิตไทย” ซึ่งนำโบราณวัตถุในคลังพิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร มาให้ชมในช่วงสงกรานต์นี้เท่านั้น
วันเดียวกัน ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดงานสงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2564 ขอพรศิลปินแห่งชาติ โดยมีศิลปินแห่งชาติ 14 คนเข้าร่วม รูปแบบกิจกรรมมีการมอบพวงมาลัยขอพรศิลปินแห่งชาติแทนการรดน้ำขอพร
นายชาย นครชัย อธิบดี สวธ. กล่าวว่า สวธ.จัดกิจกรรมสงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย เน้นสร้างค่านิยมไทย เพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดและประชาชนยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ สำหรับการสรงน้ำพระจัดให้มีการเว้นระยะห่าง ใช้น้ำอบที่เตรียมมาเอง ลดการสัมผัสกับผู้อื่น ส่วนการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ขอให้สวมหน้ากากอนามัย งดการใช้น้ำ เปลี่ยนเป็นการนำพวงมาลัยมากราบแทน ช่วยลดการสัมผัส ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากผู้สูงวัยมีภูมิคุ้มกันน้อย หากมีผู้ได้รับเชื้อไม่แสดงอาการแพร่เชื้อจะทำให้ผู้สูงอายุติดโควิด ทั้งนี้ สวธ.ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์แนวทางปฏิบัติผ่านสื่อโซเซียลและช่องทางต่างๆ สร้างการรับรู้ความสำคัญในการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
แม่ผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องในวันสงกรานต์ ขออวยพรให้ประชาชนมีความสุข มีอายุมั่นขวัญยืน สมความปรารถนาทุกสิ่ง ปีนี้ลูกหลานบางคนไม่ได้กลับบ้านหาพ่อแม่และผู้มีพระคุณผลจากโควิด แต่สามารถใช้โทรศัพท์และโซเชียลพูดคุยกับครอบครัว แสดงถึงความกตัญญูกตเวที อยากให้ทุกคนรู้จักอดออมเพื่อวันข้างหน้า ส่วนศิลปินทุกสาขา คนทุกอาชีพ ขอให้อดทนกับสถานการณ์นี้
ด้านแม่เม้า-สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ ปี 63 กล่าวว่า ปีใหม่ไทยนี้ขอให้ทุกคนมีความสุข อดทนกับสถานการณ์เช่นเดียวกับปีที่แล้ว เราผ่านมาได้ ปีนี้ก็ต้องพ้นวิกฤติได้เช่นกัน ถ้าคลี่คลายสงกรานต์ปีหน้าก็จัดได้ ฝากถึงทุกคนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม อาจมีเรื่องไม่สบอารมณ์บ้างแต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบส่วนรวม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |