เปิดงานกันไปแล้วเมื่อ 6 เม.ย.2564 เครือข่าย “Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” อันประกอบด้วย คณะก้าวหน้า, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, พรรคก้าวไกล และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดกิจกรรม “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” ล่ารายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ล้ม วุฒิสภา เดินหน้าสภาเดี่ยว 2.โละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ 3.เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ 4.ล้าง มรดกรัฐประหาร หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย
งานนี้ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า หนึ่งในเจ้าภาพ ตั้งเป้าล่า 1 ล้านรายชื่อ สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มากกว่า “ไอลอว์” ที่เคยล่าได้ 1 แสนกว่ารายชื่อเพื่อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อันเป็นการแสดงพลังกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้จับมือ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” ในนามกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า พร้อมทีมงาน “พรรคก้าวไกล” และ “ไอลอว์” ร่วมเป็นแบ็กอัพ ทำให้งานวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นวันรวมญาติสนิทมิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตยค่ายสีส้มกันเลยทีเดียว
สิ่งสำคัญที่ต้องดูกันคือ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 4 พันธมิตรเครือข่าย Re-Solution อันมีชื่อหน้าปกว่า “รื้อระบอบประยุทธ์ หยุดยื้อเวลาเผด็จการ” มีสาระสำคัญอะไรบ้าง จากจำนวนทั้งหมด 76 หน้า 23 มาตรา ที่นำมารณรงค์ล่ารายชื่อกันในครั้งนี้ พบว่า ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แบ่งออกเป็นจำนวน 4 หมวด ประกอบด้วย หมวด 7 สภาผู้แทนราษฎร, หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ, หมวด 12 องค์กรอิสระ และหมวดใหม่อันมีชื่อยาวเหยียดว่า หมวด 16 การลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร
หมวด 7 สภาผู้แทนราษฎร เปลี่ยนแปลงชื่อหมวดจากเดิมคือ “รัฐสภา” และเปลี่ยนแปลงลำดับมาตราใหม่ รวมถึงมีสาระสำคัญบางอย่างที่เพิ่มเติมเข้ามา (ร่างมาตรา 4) อันเนื่องจากร่างแก้ไขฉบับนี้ให้ยกเลิกการมี “วุฒิสภา” หรือ ส.ว.ไปเลย เปลี่ยนระบบให้มีแต่ “สภาผู้แทนราษฎร” หรือ ส.ส. เป็นสภาเดียว จึงแก้ไขไม่ใช้คำว่า “รัฐสภา-วุฒิสภา” อีกต่อไป (ร่างมาตรา 5) พร้อมสอย ส.ว.ชุดปัจจุบันให้พ้นจากตำแหน่งทันทีเมื่อประกาศใช้ (ร่างมาตรา 8)
สาระสำคัญในร่างแก้ไขหมวด 7 อาทิ เรื่องระบบเลือกตั้ง พบว่ายังคงเป็นระบบบัตรใบเดียวดังเดิม โดยมีถ้อยคำเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนเรื่องที่แก้ไข มีอาทิ การกำหนดให้รองประธานสภาฯ 1 คนเป็นฝ่ายค้าน (แก้มาตรา 105) ให้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญที่มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินเป็นฝ่ายค้านอย่างน้อย 5 คณะ (แก้มาตรา 119) ให้สภาฯ แต่งตั้ง “คณะผู้ตรวจการกองทัพ” จาก ส.ส. จำนวน 10 คน อย่างน้อย 5 คนต้องเป็นฝ่ายค้าน (แก้มาตรา 121) รวมถึงให้สภาฯ แต่งตั้ง “คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ” จาก ส.ส. (แก้มาตรา 122) และให้สภาฯ แต่งตั้ง “คณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ” จาก ส.ส. (แก้มาตรา 123) โดยทั้งสองคณะมีจำนวนเช่นเดียวกับคณะผู้ตรวจการกองทัพ
นอกจากนี้ ในร่างมาตรา 10 ปรากฏมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 193 ให้ ส.ส. จำนวน 1 ใน 4 หรือประชาชน 2 หมื่นคน มีสิทธิ์ยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อทุจริต กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการได้ (แก้มาตรา 193/1, 193/2)
สำหรับหมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ และหมวด 12 องค์กรอิสระ พบว่า มีการแก้ไขวิธีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ โดยเปลี่ยนที่มาแบ่งเป็น 3 ส่วน ทำนองเดียวกัน คือ 1.จากบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จำนวน 3 คน (เหลือ 2 คน สำหรับองค์กรที่มีกรรมการทั้งหมด 7 คน) 2.จากบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดย ส.ส.ฝ่ายค้าน จำนวน 3 คน (เหลือ 2 คน สำหรับองค์กรที่มีกรรมการทั้งหมด 7 คน) และ 3.จากผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเสนอชื่อ จำนวน 3 คน โดยใช้เสียง ส.ส. จำนวน 2 ใน 3 ผ่านผู้ได้รับเลือก ขณะที่คุณสมบัติได้ตัดสเปกเทพตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทิ้งไป โดยเขียนเป็นหลักการไว้กว้างๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ ยังการมีเช็กบิลศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ด้วยการกำหนดห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการใดอันมีผลเป็นการขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (แก้มาตรา 215) และให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทันทีเมื่อประกาศใช้ (ร่างมาตรา 12) พร้อมทั้งให้กรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทันทีด้วย (ร่างมาตรา 14-18) โดยในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการบัญญัติให้ยุบรวมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นอกจากนี้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ได้แก้ไขตัดเรื่องเสียง ส.ว.ออก เพราะไม่มี ส.ว.แล้ว รวมถึงจำนวนเสียงในวาระสามให้แก้เป็นเห็นชอบด้วยการใช้เสียง 2 ใน 3 พร้อมตัดเรื่องการเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกไป (ร่างมาตรา 19)
สุดท้าย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้ยกเลิกไป (ร่างมาตรา 20) เปลี่ยนเป็นหมวดการลบล้างผลพวงรัฐประหารฯ (ร่างมาตรา 21) กำหนดให้การนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นโมฆะ (แก้มาตรา 257) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านรัฐประหาร (แก้มาตรา 258) ห้ามมิให้ศาลรับรองการรัฐประหาร (แก้มาตรา 259) ให้ดำเนินคดีคณะรัฐประหารโดยปราศจากอายุความ (แก้มาตรา 260) บทบัญญัตินี้ในหมวดนี้มีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณี (แก้มาตรา 261) และให้ยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. (ร่างมาตรา 23)
จากเนื้อหาทั้งหมด ถือได้ว่าเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เข้มข้น ที่ไม่เพียงล้างบางรื้อถอนระบอบประยุทธ์เท่านั้น ยังได้สร้างระบบการเมืองที่ให้อำนาจ ส.ส. ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก หลังจากนี้จะเป็นไปได้เพียงใด ใช้เวลานานเท่าไหร่ ในการล่าถึง 1 ล้านชื่อ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เช่นนี้.
นายชาติสังคม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |