กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธอย่างน้อย 10 กลุ่มในเมียนมา ได้ประชุมออนไลน์กันเพื่อจับมือกันตั้ง “กองกำลังสหพันธรัฐ” พร้อมเผชิญหน้ากับกองทัพเมียนมา
ยกระดับของความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อในประเทศอย่างร้อนแรง
เจ้ายอดศึก, ประธานสภากู้ชาติรัฐฉาน, (RCSS) บอกนักข่าวว่ากองทัพเมียนมา (Tatmadaw) ได้เปิดสงครามกับประชาชนของตน เป็นการเผยความเป็นตัวตนอย่างแท้จริง นั่นคือ “ความเป็นผู้ก่อการร้าย...”
เขาบอกว่าบัดนี้กองกำลังชาติพันธุ์ทั้งหลายกับฝ่ายประท้วงรัฐประหารมีศัตรูร่วมกันแล้ว นั่นคือกองทัพเมียนมา
“ดังนั้นเราจึงควรจะร่วมมือกันต่อสู้กับกองทัพที่กำลังทำร้ายประชาชน...”
คำประกาศเช่นนี้ของเจ้ายอดศึกต้องถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของฝ่ายติดอาวุธชาติพันธุ์
เพราะในอดีตที่ผ่านมา กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทั้งทางด้านกองกำลังและทางการเมืองเพียงพอที่จะทำให้กองทัพเมียนมาต้องยอมต่อรองเจรจา
เมื่อปี 2015 กลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า National Ceasefire Agreement (NCA) ภายใต้รัฐบาลเต็งเส่ง
แต่ในทางปฏิบัติ ความสงบก็มิได้เกิดขึ้นเพราะความระแวงสงสัยต่อกันและกัน ก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญของการ “รวมชาติ” อย่างแท้จริง
แต่วิกฤติอันเกิดจากรัฐประหารโดยกองทัพภายใต้การนำของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ครั้งนี้กลับสร้างโอกาสสำคัญในอันที่จะนำเอาความฝันอันยาวนานของการรวมประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียว
เพราะเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน จากการประชุมของผู้นำ 10 กลุ่มชาติพันธุ์ เกิดมติให้สนับสนุนการก่อตั้ง “รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ”
ที่มาจากข้อเสนอของ “คณะกรรมการตัวแทนรัฐสภาแห่งชาติ” หรือ Committee Representing the Pyidaungsu Hluttaw (CRPH)
ที่เสนอให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เขียนโดยกองทัพเมื่อปี 2008
เพื่อร่างกฎบัตรประชาธิปไตยแห่งสหพันธรัฐเมียนมาใหม่
กลุ่มชาติพันธุ์ที่มาจับมือกันครั้งนี้มีความเห็นพ้องต้องกันว่ากองทัพเมียนมาได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงนั้น
ไม่เกิดทั้งรัฐบาลผสม, กระบวนการสันติภาพ และการปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกทางการเมือง เพราะกองทัพเมียนมา “เบี้ยว” ข้อตกลงมาตลอด
ความจริง ผู้นำบางคนในกลุ่มชาติพันธุ์เองเห็นว่า อองซาน ซูจี เองก็หลงเชื่อผู้นำกองทัพมากเกินไปในช่วงเวลาที่เธอเป็นผู้นำรัฐบาลหลังชัยชนะการเลือกตั้งในปี 2015
ในหลายช่วงตอนกลุ่มชาติพันธุ์มองว่าเธอไม่ได้ตั้งใจจริงที่จะทำให้เกิดกระบวนการสันติภาพเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะเธอก็ระแวงกลุ่มชาติพันธุ์
และกลุ่มชาติพันธุ์ก็ไม่ไว้วางใจเธอที่บริหารประเทศร่วมกับกองทัพในจังหวะนั้น
อาจจะเป็นเพราะ อองซาน ซูจี เองก็พยายามจะแก้ปัญหาของเธอเองกับกองทัพในเวลานั้นเช่นกัน
จึงกลายเป็นความสงสัยกันและกันสามเส้า...คือฝ่ายชาติพันธุ์, กองทัพและรัฐบาลพลเรือนที่มีพรรค NLD เป็นแกนนำ
เมื่อเกิดวิกฤติครั้งนี้จึงทำให้เกิดการปรับสมการ เมื่อสองในสามเส้าเห็นตรงกันว่า เส้าที่สามเป็น “ศัตรูร่วม” จึงสามารถเดินหน้าตามแผนการ “สร้างชาติใหม่” พร้อมกันได้
มิน อ่อง หล่าย เองก็คงจะมองเห็นอันตรายที่จะเกิดกับตัวเขาและกองทัพ หากไม่ยื่นมือไปให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำท่าจะโอนเอียงไปข้างอองซาน ซูจี
เขาจึงเสนอ “หยุดยิง” 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ
แต่ในทางปฏิบัติ ทหารของกองทัพเมียนมาก็ยังโจมตีกลุ่มกะเหรี่ยงบริเวณใกล้ชายแดนไทยอยู่ดี
ถึงขั้นใช้เครื่องบินถล่มเป้าหมายพลเรือนที่มีผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก
ทำให้คำว่า “หยุดยิง” หมดความหมายไปทันที
และเร่งปฏิกิริยาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะร่วมมือกับกลุ่มผู้ประท้วงที่ได้อารยะขัดขืนเป็นเครื่องมือหลัก (Civil Disobedience Movement หรือ CDM) และ “รัฐบาลคู่ขนาน” ของ CRPH เพื่อต่อสู้กับกองทัพเมียนมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
มาถึงขั้นแตกหัก...ที่อาจนำไปสู่การสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เป็นปีกหนึ่งของ “รัฐบาลพลัดถิ่น” ที่กำลังขอให้ประชาคมโลกรับรองความชอบธรรม
เป็นการต่อสู้ทั้งด้านอาวุธ, การเมือง, การยอมรับของนานาชาติ
เป็นการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของคนเมียนมาทั้งประเทศจริงๆ!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |