ถก "กฎหมายประชามติ" หวิดไม่รอดหลังผวาโควิด แต่ "ประธานชวน" สั่งเดินหน้า ที่ประชุมไม่พลาดเคาะตาม กมธ.แก้ไข ทั้งเรื่อง 5 หมื่นชื่อเสนอโหวต คงอำนาจ ครม.ตัดสินใจ ห้าม “พระ-เณร” ใช้สิทธิ์ อ้างยึดโยงรัฐธรรมนูญ "พปชร." รวบรวม 110 รายชื่อชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตราแล้ว
เมื่อวันพุธที่ 7 เมษายน มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) โดยมีวาระที่สำคัญคือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564
โดยเมื่อถึงเวลา 09.30 น. ตามเวลานัดหมาย พบว่าที่ประชุมไม่สามารถเปิดประชุมได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ลุกขึ้นกล่าวตำหนิสมาชิกรัฐสภาที่ไม่มาประชุม พร้อมเรียกร้องให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สอบสวนสมาชิกที่ไม่มาร่วมประชุม ขณะที่นายชวนประกาศให้สมาชิกทยอยมาลงชื่อจนครบองค์ประชุม ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ส.ส.พรรคการเมืองต่างๆ ลุกขึ้นหารือว่าควรเลื่อนการประชุมออกไปหรือไม่ จากความสุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนมาก โดยเฉพาะ ส.ส.ซีกรัฐบาล ในขณะที่ซีก ส.ส.ฝ่ายค้านยังคงระบุให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งสุดท้ายนายชวนก็ระบุว่า เมื่อองค์ประชุมครบแล้วประธานก็ต้องทำหน้าที่ ไม่สามารถเลื่อนการประชุมได้ ซึ่งหากจะขอเลื่อนการประชุม ต้องไปหารือทั้งหมดเพื่อให้เป็นมติเอกฉันท์
จากนั้นเวลา 10.15 น. ที่ประชุมเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รายงานภาพรวมการนำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปปรับปรุง จากนั้นได้พิจารณามาตรา 10 เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีสมาชิกขออภิปราย ทำให้นายชวนสั่งลงคะแนน ผลปรากฏว่าที่ประชุมเห็นชอบมาตรา 10 ด้วยคะแนน 449 ต่อ 0 เสียง
ต่อมาพิจารณามาตรา 11 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญ เนื่องจากมีการกำหนดว่า ถ้ารัฐสภามีมติเห็นสมควรให้มีการทำประชามติต้องเป็นมติเห็นชอบของแต่ละสภา และให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกฯ ทราบ นอกจากนี้ ยังกำหนดว่าถ้าประชาชนจะเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอทำประชามตินั้น ประชาชนต้องเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน ทั้งนี้ ให้ ครม.พิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรให้จัดทำประชามติในประเด็นนั้นๆ หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166
โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรค พท. ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วยให้ประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นคน โดยเสนอให้เข้าชื่อเพียง 1 หมื่นคนแทน โดยหลังการให้เหตุผลทั้ง กมธ.เสียงข้างน้อยและข้างมากแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 11 ยืนตาม กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 347 ต่อ 154 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
ต่อมาที่ประชุมมีการพิจารณาไล่เรียงตามมาตราต่อเนื่องไป โดยที่น่าสนใจคือ มาตรา 20 เรื่องการกำหนดบุคคลต้องห้ามออกเสียงประชามติ ที่ กมธ.ระบุห้ามพระภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช และผู้อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นผู้ออกเสียงประชามติ แต่ กมธ.เสียงข้างน้อยและ ส.ส.ฝ่ายค้านมีความเห็นว่า ไม่ควรตัดสิทธิ์พระภิกษุ สามเณร ในการออกเสียงประชามติ เพราะพระภิกษุสงฆ์ก็มีความเป็นเจ้าของประเทศ ควรมีสิทธิ์ทำประชามติได้ แต่ กมธ.เสียงส่วนใหญ่มองว่าต้องยึดโยงรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังแต่ละฝ่ายชี้แจง ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับเนื้อหาที่ กมธ.แก้ไขมาด้วยคะแนน 338 ต่อ 105 งดออกเสียง 3
และเมื่อเวลา 19.20 น. หลังรัฐสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติมาถึงมาตรา 42/2 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบตามที่ กมธ.เสนอ ด้วยเสียง 381 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 5 เสียง ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากขณะนี้องค์ประชุมของรัฐสภาเหลือน้อยลง จึงขอปิดการประชุมไปก่อนแล้วมาประชุมกันใหม่ในวันที่ 8 เม.ย. เวลา 09.30 น.
สำหรับสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ มีทั้งสิ้น 736 คน และองค์ประชุมคือ 368 เสียง แต่จากการลงมติมาตรา 42/2 ปรากฏว่ามีผู้แสดงตนทั้งสิ้น 387 เสียง ซึ่งเกินองค์ประชุมมาเพียง 19 เสียงเท่านั้น โดยกฎหมายประชามตินั้นมีทั้งสิ้น 67 มาตรา ซึ่งการลงมติที่ผ่านมาก็เป็นไปตามที่ กมธ.แก้ไข ไม่มีการพลิกโผเหมือนการประชุมครั้งแรกแต่อย่างใด
วันเดียวกัน ยังคงมีความต่อเนื่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อม ส.ส.ของพรรค ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมต่อนายชวน
โดยนายไพบูลย์ระบุว่า พรรค พปชร.รวบรวมรายชื่อ ส.ส.พรรค 110 ชื่อ เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตรา ซึ่งร่างแก้ไขที่พรรคเสนอ ต้องการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ จริงจัง เพื่อให้การแก้ไขเป็นรูปธรรม ขอให้เพื่อนสมาชิกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านได้พิจารณาร่างของพรรค โดยหากบรรจุร่างแก้ไขในช่วงต้นเดือน มิ.ย. การพิจารณาวาระ 1-3 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.
เมื่อถามว่าประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอย่างมากในสังคม เช่น ที่มาและอำนาจของ ส.ว. ไม่มีการแก้ไขใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่แก้ไข อะไรที่ดูแล้วมีข้อขัดแย้ง และดูแล้วอาจไม่สำเร็จ แต่ไม่ได้ห้าม พรรคการเมืองอื่นเสนอแก้ไข แต่เราไม่อยากมีเงื่อนไขในลักษณะเอาประชาชนเป็นตัวประกัน เราไม่เห็นด้วย เห็นว่าควรเอาประชาชนเป็นหลักก่อน
ถามอีกว่า ร่างนี้ได้ผ่านตา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แล้วหรือยัง นายไพบูลย์กล่าวว่า ได้ดูแล้ว และท่านเห็นชอบ โดยประเด็นแรกที่ท่านเห็นชอบคือการเพิ่มเติมในหมวดสิทธิและเสรีภาพให้ประชาชนให้มีกระบวนการยุติธรรม การเพิ่มสิทธิชุมชน การเพิ่มสิทธิให้พรรคการเมือง ฯลฯ
เมื่อถามย้ำว่า หากพรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้มาตรา 256 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พรรค พปชร.จะสนับสนุนหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถาม ส.ว. เพราะกระทบเขา และต้องไปถามฝ่ายค้านด้วย เพราะฝ่ายค้านเขาก็มีสิทธิ์โต้แย้ง และสุดท้ายต้องถามรัฐบาลด้วย เพราะเป็นผู้ใช้งบประมาณในการทำประชามติ เนื่องจากหากเป็นรูปแบบนี้ต้องออกเสียงประชามติ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |