7 เม.ย.64 - ที่ห้องพิจารณา 806 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2043/2562 ที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือช่อ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อดีต ส.ส.และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ หรือเอ๋ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
กรณีเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2562 เวลากลางวัน น.ส.ปารีณา จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวหาใส่ร้ายทำนองว่า น.ส.พรรณิการ์ โจทก์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับเหตุระเบิดในหลายพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งล้วนเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย
ศาลไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา ขณะที่ น.ส.ปารีณา จำเลยให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี โดยนำสืบสรุปว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่โจทก์กล่าวหาไม่ใช่ของจำเลย จำเลยเคยถูกปลอมเฟซบุ๊กและถูกโจมตีใส่ร้ายจนทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า 50 ครั้ง ซึ่งเฟซบุ๊กปลอมจะมีชื่อและนามสกุลที่สะกดถูกต้อง รวมทั้งรูปโปรไฟล์เช่นเดียวกับบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โจทก์นำมาฟ้อง อีกทั้งจำเลยได้โพสต์ให้สื่อมวลชนหยุดลงข่าวที่มาจากเฟซบุ๊กปลอมและขอร้องให้หยุดปลอมเฟซบุ๊กจำเลย ต่อมาภายหลังจากโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแล้ว ขณะเดียวกันจำเลยก็ได้ไปแจ้งความที่ สน.ลุมพินี เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องดำเนินคดีกับจำเลย โดยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า บัญชีผู้ใช้เฟชบุ๊กที่โจทก์นำไปฟ้องนั้นเป็นเฟซบุ๊กปลอม และการที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเคยถ่ายทอดสดผ่านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กตามที่โจทก์ฟ้องนั้น อาจจะเกิดจากการที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กปลอมอัพโหลดวีดีโอการถ่ายทอดสดมาจากเฟซบุ๊กของจำเลย เพราะวีดีโอการถ่ายทอดสดดังกล่าวก็มีสื่อมวลชนไปอัพโหลดจากเฟซบุ๊กของจำเลยเพื่อนำไปเสนอข่าว ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้นำหลักฐานการถ่ายทอดสดในบัญชีเฟชบุ๊กที่อ้างว่าเป็นเฟซบุ๊กของจำเลยมาแสดงต่อศาลแต่อย่างใด
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า มีการโพสต์ข้อความและรูปภาพประกอบผ่านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ"ปารีณา ไกรคุปต์" โดยมีข้อความว่า "ขอให้คนที่ยั่วยุเยาวชนติดคุกทุกคน #อันนี้เหรอที่เรียกว่าประชาธิปไตย #ฝากรัฐบาลจัดการผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนอย่างเด็ดขาด"ในการโพสต์ข้อความดังกล่าวมีการใส่ภาพประกอบโพสต์ทั้งหมด 3 ภาพ พร้อมคำบรรยาย ภาพที่ 1 เป็นภาพโจทก์กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และบุคคลที่สาม ภาพที่ 2 เป็นภาพที่โจทก์ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการใส่ข้อความใต้ภาพดังกล่าวว่า "อีช่อลงไป" ประกอบกับใส่ภาพข่าวผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์วางระเบิดในกรุงเทพมหานคร พร้อมทำสัญลักษณ์วงกลมบริเวณผู้ต้องสงสัยแล้วใส่ข้อความว่า "พวกนี้ขึ้นมา" ภาพที่ 3 มีการได้ถ่ายภาพจากโพสต์ของบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ "จำไว้เลย" ซึ่งมีภาพผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์วางระเบิดในกรุงเทพมหานคร
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยเป็นผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่โจทก์ฟ้องคดีนี้หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และพยานซึ่งเคยเป็นสื่อมวลชนรัฐสภา เบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยเคยถ่ายทอดสดผ่านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ โดยในการถ่ายทอดสดจะปรากฏใบหน้าของจำเลย ซึ่งสื่อมวลชนทั่วไปติดตามข่าวของจำเลยผ่านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว เนื่องจากบัญชีผู้ใช้เฟชบุ๊กที่มีชื่อ ปารีณา ไกรคุปต์ บัญชีอื่นๆ ไม่มีความเคลื่อนไหว ซึ่งหลังจากเกิดเหตุคดีนี้มีสื่อมวลชนไปติดต่อสอบถามข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจากจำเลย จำเลยให้ข่าวทันทีโดยมิได้ปฏิเสธว่าบัญชีผู้ใช้เฟชบุ๊กดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลย
โดยจำเลยปฏิเสธว่า บัญชีผู้ใช้เฟชบุ๊กดังกล่าวเป็นเฟซบุ๊กปลอมภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความยืนยันสอดคล้องกันว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเคยถ่ายทอดสดโดยปรากฏใบหน้าจำเลยผ่านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ อีกทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นสื่อมวลชนเบิกความว่า ภายหลังเกิดเหตุโจทก์แถลงข่าวเกี่ยวกับคดีนี้ สื่อมวลชนได้สอบถามจำเลยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว จำเลยก็มีได้ปฏิเสธว่าบัญชีผู้ใช้เฟชบุ๊กดังกล่าวมิใช่เฟซบุ๊กของจำเลยแต่อย่างใด เพียงแต่ออกมาปฏิเสธภายหลังเมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันเป็นยุคที่สื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลในการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
ดังนั้น การใช้สื่อโซเชียลในการให้คุณหรือให้โทษกับบุคคลอื่นจึงเป็นไปได้อย่างง่ายดาย เมื่อจำเลยดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล มีหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนในการเข้าไปบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมจะต้องดำรงตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน เมื่อมีข่าวทางเสียหายต่อตัวจำเลย จำเลยควรจะออกมาปกป้องรักษาชื่อเสียงของตน เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่กระทบต่อชื่อเสียงและการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยโดยตรง แต่จำเลยกลับไม่ออกมาโต้แย้งในเรื่องดังกล่าว ทั้งที่สามารถทำได้โดยง่าย
อีกทั้งบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวมีสื่อมวลชนติดตามข่าวของจำเลยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากบัญชีผู้ใช้เฟชบุ๊กชื่อ "ปารีณา ไกรคุปต์" บัญชีอื่นไม่มีความเคลื่อนไหว จำเลยจึงย่อมเล็งเห็นได้ว่า บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวนั้นเป็นไปในทางให้คุณหรือให้โทษกับบุคคลอื่นได้ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวนั้นมิใช่เฟซบุ๊กจริง จำเลยถูกปลอมเฟซบุ๊ก โดยจำเลยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลายครั้งถึงกรณีดังกล่าว ก็เป็นเพียงการให้สัมภาษณ์ในกรณีอื่นไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ และที่จำเลยอ้างว่าได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ปลอมเฟซบุ๊กของจำเลยแล้ว ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เพื่อให้พ้นผิดโดยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "ปารีณา ไกรคุปต์" นั้น เห็นว่า การที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวประกอบกับรูปภาพของโจทก์และรูปภาพของผู้ต้องสงสัยในการก่อเหตุวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้อ่านข้อความและดูรูปภาพประกอบกันแล้ว เข้าใจได้ทันทีว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์วางระเบิดในกรุงเทพมหานคร บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นผู้จ้างวานให้มีการวางระเบิด ถือเป็นการใส่ความโจทก์ว่าเป็นคนไม่ดีต่อบุคคลที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะเกิดเหตุ โจทก์ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ส่วนจำเลยดำรงตำแหน่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล
การที่จำเลยใส่ความโจทก์ดังที่กล่าว เพื่อมุ่งประสงค์ให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และภายหลังเผยแพร่ข้อความดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ไม่ได้วิเคราะห์หรืออธิบายข้อเท็จจริงในเฟชบุ๊กของจำเลยให้ประชาชนได้ทราบว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์วางระเบิดอย่างไร จึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความชอบธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อจำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพดังกล่าวผ่านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลย โดยตั้งค่าการเข้าถึงแบบสาธารณะ ย่อมทำให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โพสต์ดังกล่าวได้อย่างไม่จำกัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โพสต์ดังกล่าวมีผู้กดถูกใจ 498 ครั้ง กดแชร์โพสต์ถึง 263 ครั้ง จึงถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวสู่สาธารณชนในลักษณะแพร่หลายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ประกอบ มาตรา 326 จำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท ทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 66,666 บาท ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
ต่อมาภายหลังฟังคำพิพากษา น.ส.ปารีณา จำเลย จ่ายเงินค่าปรับ จำนวน 66,666 บาทต่อศาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางกลับทันทีโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |