การเมืองจีนกับ แบรนด์ดังตะวันตก


เพิ่มเพื่อน    

     จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน บัดนี้กลายเป็น “สงครามวัฒนธรรม” ที่ส่งผลกว้างไกลในหมู่ผู้บริโภค

                สิ่งที่ตามมาจะกลายเป็น “กระแสรักชาติ” ที่อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน หลังโจ ไบเดน ขึ้นมาบริหารประเทศเสื่อมทรุดลงไปอีก

                ล่าสุด เบอร์เบอรีกลายเป็นแบรนด์หรูอีกรายที่ถูกชาวจีนโต้ตอบ เพราะไปกล่าวหาการละเมิดสิทธิ์ชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง

                ผลที่ตามมาคือ “แบรนด์แอมบาสเดอร์” ชาวจีนบอกเลิกสัญญา

                วิดีโอเกมดังเลิกใช้ดีไซน์ตาหมากรุกสัญลักษณ์แบรนด์

                ก่อนหน้านี้แบรนด์ดังอย่าง H&M ของสวีเดน และ Nike กับ Adidas ก็ถูกชาวเน็ตและสื่อกระแสหลักของจีนตอบโต้อย่างรุนแรง

                โจว ตงหยู่ นักแสดงสาวมือรางวัลชาวจีนยุติสัญญาแบรนด์แอมบาสเดอร์กับเบอร์เบอรี

                เกมดัง “Honor of Kings” ของ Tencent ยังประกาศผ่านบัญชีเว่ยปั๋วว่าได้ถอดดีไซน์ลายสกอต สัญลักษณ์ของแบรนด์เบอร์เบอรีออกจากเสื้อผ้าของตัวละครในเกมแล้ว

                ปีก่อนแบรนด์นี้ออกข่าวว่าได้ระงับการใช้ฝ้ายจากซินเจียง เพราะกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน

                ทำเอารัฐบาลจีนสะอึกกับความเคลื่อนไหวใหม่นี้

                เพราะการเมืองเข้ามาพัวพันกับธุรกิจเรื่องแบรนด์แฟชั่นแล้ว

                เบอร์เบอรีเคยทำหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ แจ้งว่า ไม่ได้มีปฏิบัติการใดๆ ในซินเจียง หรือร่วมมือกับซัพพลายเออร์ที่นั่น

                และยืนยันว่าบริษัทไม่ให้อภัยหากพบว่าซัพพลายเออร์ใช้แรงงานทาสยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้แรงงาน ทำงานแบบผูกมัด หรือใช้แรงงานนักโทษโดยไม่สมัครใจ

                ฝ่ายจีนก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้

                สภาเสื้อผ้าและสิ่งทอแห่งชาติจีนออกมาเรียกร้องให้แบรนด์ต่างชาติหยุดพฤติกรรมผิดๆ เช่น ไม่ใช้ฝ้ายซินเจียง เพราะถือว่าการทำเช่นนี้เท่ากับไม่เคารพลูกค้าจีน

                ไม่แต่เท่านั้น ทางการจีนก็ยังประกาศคว่ำบาตรหน่วยงานและบุคคลในสหราชอาณาจักรที่ “โกหกและบิดเบือนข้อมูล” เกี่ยวกับซินเจียง

                ก่อนหน้านี้ H&M ผู้ค้าปลีกแฟชั่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกต้องมีอันต้องปรับตัวกะทันหันเป็นการใหญ่

                เพราะต้องเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากในโลกออนไลน์ของจีน

                ถึงขั้นคนจีนในโซเชียลมีเดียเรียกร้องให้มี ‘การแบน’ ยี่ห้อนี้เป็นการสั่งสอน

                เพราะก่อนหน้านี้ H&M ได้ออกมาประกาศตัดความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์จีน เพราะข้อกล่าวหาบังคับใช้แรงงานในซินเจียงเดียวกันนี่แหละ

                เมื่อปลายปี 2020 แบรนด์นี้ออกข่าวว่ากำลังยุติความสัมพันธ์กับผู้ผลิตเส้นด้ายของจีนด้วยประเด็นเดียวกันนี้

                อีกทั้งบอกว่าจะไม่ทำงานร่วมกับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าใดๆ ในเขตซินเจียง

                และจะไม่จัดหาฝ้ายจากซินเจียง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดของจีนอีกต่อไป

                H&M เคยพูดไว้ในแถลงการณ์ว่า “เรามีความกังวลอย่างยิ่งกับรายงานจากองค์กรภาคประชาสังคมและสื่อที่มีการกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงาน”

                ตอนนั้นไม่ได้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ดุเดือดมากนัก

                แต่ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ออกมาแถลงมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนที่โยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง

                ที่ต้องเดือดร้อนกันหลายฝ่าย เพราะเสื้อผ้าฝ้ายประมาณ 1 ใน 5 ของเสื้อผ้าที่ขายทั่วโลกล้วนใช้ผ้าฝ้ายหรือเส้นด้ายจากซินเจียง

                เมื่อมีการกล่าวหาต่อเนื่องจากตะวันตกว่าทางการจีนได้ส่งชาวอุยกูร์ที่เป็นมุสลิมมากถึง 1 ล้านคน ไปยังค่ายกักกันและบังคับให้ทำงานภายใต้เงื่อนไขที่โหดเหี้ยม ปักกิ่งก็โต้อย่างดุดันเช่นกัน

                จีนบอกว่ากิจกรรมที่ว่านั้นเป็นการฝึกอบรมวิชาชีพและช่วยเหลือคนเหล่านั้นเพื่อต่อสู้กับลัทธิหัวรุนแรงในเขตนั้น

                เมื่อตะวันตกคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน ปักกิ่งก็โต้ตอบด้วยมาตรการแบบเดียวกัน

ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

                ปีกเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ Communist Youth League ซัด H&M ในโซเชียลมีเดียตอนหนึ่งว่า

                “ในขณะที่ต้องการสร้างรายได้ในจีน แต่ก็ยังมีการแพร่ข่าวลือเท็จและคว่ำบาตรผ้าฝ้ายซินเจียงอยู่หรือ”

                ทำนอง “กินในเรือน ขี้รดบนหลังคา”

                และเรียกท่าทีของ H&M ว่า ‘ก้าวร้าวและยโส ’

                นักแสดงชาวจีนหวงซวนที่มีสัญญากับ H&M โพสต์ข้อความประกาศเลิกคบหากับแบรนด์นี้

                เพราะต่อต้าน “การใส่ร้ายและเสกสรรค์ปั้นแต่งข่าวลือ” รวมถึง “ความพยายามใดๆ ที่จะทำให้ประเทศจีนเสื่อมเสียชื่อเสียง”

                นักร้องและนักแสดงหญิง Victoria Song ไม่รอช้า บอกตัดสัมพันธ์กับแบรนด์ทันที พร้อมประกาศว่า

                “ผลประโยชน์ของชาติย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด”

                H&M China แสดงความเดือดร้อน ออกข่าวว่าห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply chain ทั่วโลกของบริษัทมีการจัดวางให้สอดคล้องกับพันธสัญญาด้านความยั่งยืน ไม่ใช่เพื่อสะท้อนถึงจุดยืนทางการเมืองแต่อย่างใด

                และย้ำว่ายังเคารพผู้บริโภคชาวจีน และมุ่งมั่นที่จะลงทุนและพัฒนาระยะยาวในประเทศจีน

                ผลต่อเนื่องไม่ได้มีเพียงแค่นี้

                H&M บน Tmall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Alibaba ถูกปิดตัวลงโดยไม่รู้สาเหตุ

                People’s Daily สื่ออย่างเป็นทางการของจีนบอกว่า การค้นหาผลิตภัณฑ์ H&M บนแพลตฟอร์ม JD.com และ Pinduoduo ไม่พบผลลัพธ์ใดๆ อีกต่อไป

                เรื่องอย่างนี้ย่อมกระทบ H&M เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของแบรนด์นี้

                มียอดขายปีละประมาณ 1.05 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

                สงคราม “ต่างคนต่างแบนซึ่งกันและกัน” ระหว่างจีนกับสหรัฐ และยุโรปยังเดินหน้าต่อหากประเด็นการเมืองยังเป็นหัวข้อขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับมังกรยักษ์ทางตะวันออกต่อไป.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"