ภาชนะดินเผาเขียนสีวัฒนธรรมบ้านเชียง โบราณวัตถุสำคัญ
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงและโบราณวัตถุกว่าหมื่นรายการยังสร้างความตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้พบเห็น เพราะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศที่สำคัญ มีความเป็นมามากกว่า 4 พันปี และยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม
ที่ผ่านมามีการพัฒนางานศึกษาวัฒนธรรมบ้านเชียงไม่หยุดนิ่ง เมื่อกรมศิลปากรจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงขึ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จ.อุดรธานี ตั้งเป้าเป็นสถานที่รวบรวม จัดเก็บโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเชียง และโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียง ในพื้นที่อีสานตอนบนหรือลุ่มน้ำสงครามนั่นเอง
อาคารศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงอยู่ระหว่างก่อสร้างระยะที่ 2
รูปแบบอาคารศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น พื้นที่ 1,440 ตารางเมตร โดยอาคารชั้น 1 ประกอบด้วยพื้นที่คลัง ห้องบริการข้อมูลสารสนเทศ ห้องนิทรรศการถาวร ส่วนปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ และห้องสุขา ส่วนอาคารชั้น 2 ประกอบด้วยพื้นที่คลังจัดเก็บโบราณวัตถุ ห้องปฏิบัติงานสำหรับนักวิจัย และห้องอเนกประสงค์ ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างอาคารระยะแรกไปแล้ว ใช้งบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 43 ล้านบาท รวม 73 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในปี 2566
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมีความสำคัญระดับโลก และมีการศึกษาวิจัยยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพบแหล่งใหม่ จำเป็นต้องศึกษาวิจัยเชิงลึกมากขึ้น การจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง เป็นอาคารเก็บหลักฐานที่พบ ไม่ว่าจะเป็นภาชนะดินเผา เครื่องมือโบราณ โครงกระดูกมนุษย์ที่ได้จากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งไม่ได้จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
" ศูนย์แห่งนี้คล้ายเป็นคลังรวมโบราณวัตถุ ซึ่งนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงนิสิตนักศึกษาด้านโบราณคดีสามารถดึงข้อมูลต้นทางมาศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โบราณวัตถุที่ค้นพบสามารถมาคัดแยก ทำความสะอาด อนุรักษ์ตามขั้นตอนโบราณคดี มีห้องทดลอง ภายในอาคารยังมีห้องสมุดให้บริการค้นคว้าหนังสือและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง" นายประทีป กล่าว
เรียนรู้โครงกระดูกมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ทั่วโลกยังสนใจแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง ประเด็นนี้ อธิบดีกรมศิลปากรขยายความว่า โบราณวัตถุจากบ้านเชียง โครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าครั้งใหญ่ โดยกรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระหว่างปี 2517-2518 ส่วนหนึ่งจะส่งกลับคืนมาไทยอีกหลายรายการ ยังมีตกค้างในต่างประเทศอีกมาก ซึ่งจะนำมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงแห่งนี้ หากจัดสร้างแล้วเสร็จ รวมถึงอนาคตจะมีการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติด้วย
เยี่ยมชมส่วนจัดแสดงบ้านเชียง : มรดกโลก ที่พิพิธภัณฑฯ บ้านเชียง
แม้การสร้างศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงแห่งนี้ยังไม่เสร็จ แต่ผู้บริหารกรมศิลปากรมั่นใจนักวิจัย นักวิชาการ และนักโบราณคดีจะได้ประโยชน์มาก นายประทีปกล่าวในท้ายว่า การศึกษาวิจัยแหล่งศึกษาวัฒนธรรมบ้านเชียงมีคุณค่า องค์ความรู้ที่โดดเด่นมาก อาทิ ภาชนะดินเผาลายเขียนสี เครื่องมือเหล็ก สำริด มีการกำหนดอายุกว่า 5,000 ปี เก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก ศูนย์นี้จะพัฒนานักวิชาการให้มีความสามารถและนำความรู้ไปส่งเสริมงานโบราณคดีระดับสากลได้ต่อไป
สนใจศึกษาโบราณวัตถุบ้านเชียง มีจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จัดเป็นหมวดหมู่น่าสนใจในการหาความรู้ และดูเป็นอาหารสมองก็เพลิดเพลิน เป็นอีกแหล่งเรียนรู้มรดกโลกที่ไม่ควรพลาดชม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |