พปชร.เอาแน่แก้รัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตรา ยื่น "ชวน" 7 เม.ย.นี้ ด้าน "บิ๊กป้อม" ให้ 3 พรรคร่วมรัฐบาลคุยกันเอง "วิษณุ" ชี้นโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ของรัฐบาลไม่บังคับแก้ รธน.เรื่องอะไร ยันไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์ม็อบเพราะประเทศมีหลายโจทย์
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการประชุม ส.ส. โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมและรองหัวหน้าพรรค, นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรค, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเข้าร่วมประชุม เพื่อให้ ส.ส.เตรียมความพร้อมการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 7-8 เม.ย.นี้
นอกจากนี้ ยังได้แจ้งถึงการเตรียมยื่นเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรค พปชร.ใน 5 ประเด็น 13 มาตราต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 7 เม.ย.ด้วย
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับการประสานจากพรรคพลังประชารัฐ เพียงแต่ทราบข่าวจากสื่อมวลชน แต่ก็สามารถยื่นเสนอแก้ไขได้ หรือถึงแม้จะพ้นการประชุมสมัยวิสามัญไปก็ยังสามารถยื่นได้ตามปกติ
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ 3 พรรคร่วมรัฐบาลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราโดยไม่มีพรรค พปชร.เข้าร่วมด้วย ในส่วนนี้จะมีการพูดคุยร่วมกันหรือไม่ว่า "เดี๋ยวให้เขาคุยกันเอง"
เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญของพรรค พปชร.ที่จะเสนอทำไมจึงไม่มีการแก้ไขเรื่องอำนาจของ ส.ว. พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า "เขาส่งไปแล้วหรือ"
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการทบทวนก่อนยื่นญัตติในวันที่ 7 เม.ย.นี้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธตอบคำถามก่อนขึ้นรถยนต์เดินทางกลับ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงความจริงใจ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลว่า ไม่ทราบ แต่ขณะนี้ทราบเพียงว่ามีความเคลื่อนไหวที่พรรค พปชร.เสนอร่างแก้ไขโดยไม่ได้เสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมอีกสองสามพรรคจะไปเสนอกันเองอีกโดยไม่เสนอด้วยกัน เพราะแต่ละพรรคมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันคนละมุม ส่วนรัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้
เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลควรต้องเสนอในนามรัฐบาลหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ถ้าได้จะเป็นการดี เพียงแต่ว่าประเด็นอะไรเท่านั้นเอง เพราะในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไม่ได้ระบุว่าแก้เรื่องอะไร ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเคยคุยกันเมื่อตอนร่างนโยบายใหม่ๆ แต่หลังจากนั้นไม่ได้พูดอะไรกันอีก หรือพูดกันตนก็ไม่ทราบเพราะไม่ได้ไปหารือกับเขาด้วย
ถามว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่ถือว่ารัฐบาลผิดคำพูดที่ให้ไว้กับรัฐสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า "คุณลองไปดูว่านโยบายเร่งด่วนข้อ 12 เขียนว่าอย่างไร เพราะเป็นการเขียนที่พินิจพิจารณากันแล้วว่าจะไม่ทำผิดอันนั้น"
ซักว่า ได้ประเมินกระแสสังคมหรือไม่ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค พปชร.ไม่ตอบโจทย์ของผู้ชุมนุม นายวิษณุกล่าวว่า "ก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์ม็อบ แต่ขอถามว่าทำไมต้องไปตอบโจทย์ม็อบ เพราะโจทย์อื่นๆ ของประเทศมีเยอะและจะต้องพิจารณา ผมถึงบอกว่าถ้ามองกันคนละมุม มันก็ไปคนละมาตราคนละทิศ แต่ใครจะคิดอย่างไรก็เสนอกันไปก็แล้วกัน"
เมื่อถามถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร.ระบุจะไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากที่พรรค พปชร.เสนอ 5 ประเด็น 13 มาตรา รองนายกฯ ตอบว่า ไม่รู้ว่านายไพบูลย์พูดเช่นนั้นจริงหรือไม่ ที่พูดก็คงหมายถึงเขาคนเดียว ถ้านายไพบูลย์แถลงก็เป็นกลุ่มของนายไพบูลย์ ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล ถ้าเป็นร่างของรัฐบาลก็ต้องโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคนแถลง
ถามว่า ผู้ชุมนุมมองว่ารัฐบาลนิ่งเฉยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนทำให้ความขัดแย้งลุกลามมาถึงปัจจุบัน นายวิษณุกล่าวว่า "รับทราบ ไม่รู้ แต่ตอบไม่ถูก จะแย่ลงหรือไม่อยู่ที่การประเมิน อย่างน้อยผมก็ฟังคนหนึ่ง เมื่อฟังแล้วก็ต้องคิด ถาม เขียน หรือ สุ จิ ปุ ลิ ส่วนจะนำไปพูดคุยในครม.ต่อหรือไม่นั้น ผมยังไม่ได้คิด เพราะมาถามกะทันหันจึงยังไม่ได้คิดนึกไม่ออก"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ของรัฐบาลมีเนื้อหาว่า สนับสนุนให้มีการศึกษาการรับฟังความเห็นของประชาชนและการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราใน 6 ประเด็น แยกเป็นแต่ละร่าง เพื่อหากร่างใดร่างหนึ่งตกจะไม่ทำให้ประเด็นอื่นเสียหาย ซึ่งประเด็นสำคัญในการแก้ไข มีอาทิ การขยายเรื่องสิทธิเสรีภาพ, การกระจายอำนาจ, การตรวจสอบการทุจริต, วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 และการให้อำนาจ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรี โดยในช่วงบ่ายวันนี้จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ส.ส.ของพรรค เพื่อหาข้อสรุป ก่อนจะนำไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายตามขั้นตอนของสภาเพื่อแสวงหาจุดร่วมต่อไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีข่าวว่า 3 พรรคร่วมรัฐบาลจะจับมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องในส่วนของการประชุมตัวแทนกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของทั้ง 3 พรรคประชุมร่วมกัน และมอบหมายให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ยกร่าง และสนับสนุนการแก้ไขรายมาตรา ทั้งนี้แต่ละพรรคจะนำไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรในแต่ละประเด็น คาดว่าแต่ละพรรคจะมีความเห็นแตกต่างกันไปซึ่งต้องมาดูอีกครั้ง
เขากล่าวว่า ที่เคยพูดไปว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังต้องใช้เสียงของ ส.ว. หากตัดอำนาจเขาไปแล้วจะต้องฟังเสียง ส.ว.ก่อนว่าจู่ๆ จะไปตัดสิทธิของตนเองมีความเป็นไปได้แค่ไหน เพราะเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคืออยากให้สำเร็จและสัมฤทธิผล หากเสนอเงื่อนไขอะไรไปทำให้รัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ได้คงจะต้องมานั่งหารือกันอีกที
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 6 เม.ย.จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรค เพื่อหารือท่าทีเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้มี 2 แนวทางที่สามารถทำได้ เพียงแต่ยังไม่ได้คุยอย่างเป็นทางการว่าจะเลือกแนวทางใด ตามแนวทางมาตรา 256 พรรคร่วมฝ่ายค้านเคยทำ แต่ไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ครั้งนี้จะเพิ่มความรอบคอบมากขึ้น จะต้องนำมาหารือกันว่าจะแก้ทั้งฉบับผ่านมาตรา 256 หรือเอาเฉพาะบางมาตราที่ตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทยมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น คือ 1.อำนาจหน้าที่ ส.ว. 2.ระบบเลือกตั้งให้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ 3.อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ทั้งที่มาและอำนาจหน้าที่ 4.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่หากยึดตามเดิมบ้านเมืองอาจขาดความยืดหยุ่น ปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์ โดยประเด็นที่กล่าวถึงจะเป็นประเด็นหลักในการนำมาพิจารณาในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |