สู่ยุค ”เสธ.” พับเพียบ อำนวยการรบ ”การเมือง”


เพิ่มเพื่อน    

     อำนาจการเมืองที่มีเสถียรภาพของรัฐบาล 3 ป. ไม่ได้มีองค์ประกอบแค่ ป.ป้อม ป.ป๊อก และ ป.ประยุทธ์เท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งคือต้นทางก่อนเข้ามาเป็นรัฐบาลเรื่อยมาถึง 6 ปีก่อนหน้านี้ ที่มีกองทัพเป็นเสมือนกระดูกสันหลังในการสนับสนุนค้ำจุน “ระบอบลุง” ให้บริหารราชการประเทศได้อย่างเต็มที่

            ในยุคนี้กองทัพกลับไปทำหน้าที่ของตัวเองและพยายามปรับเปลี่ยนบทบาทให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จำกัดบทบาทของตนเองในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมือง และแสดงตนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ในส่วนของผู้นำกองทัพ หรือผู้บังคับหน่วย หลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นทางการเมือง

            มีการริเริ่มปฏิรูปกองทัพเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะการปรับรูปแบบธุรกิจเชิงพาณิชย์ จากการที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายค้าน ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินนอกงบประมาณที่ไร้การตรวจสอบ ถ่วงดุล นอกจากนั้นคือ การให้ความสำคัญของกำลังพลในการใช้อำนาจหน้าที่ไปหาผลประโยชน์ เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย และการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดมากขึ้น

            จึงทำให้เห็นว่าในยุคนี้ไม่ค่อยมี “ทหารมาเฟีย” หน้าใหม่ที่ออกมาเดินในยุทธจักร หรือหากินกับส่วนเกินทางเศรษฐกิจเหมือนเมื่อก่อน

            ในขณะที่ทหารชื่อดังในอดีตต่างก็ผลัดใบไปตามกาลเวลา ทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และหลุดจากวงโคจรเพราะถูกดำเนินคดี เลยไปถึงเลือกเส้นทางเดินในชีวิตที่แตกต่างจากอดีต ไล่ตั้ง เสธ.แอ๊ว พล.อ.อัครเดช ศศิประภา “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต “เสธ.ม่อย หรือ เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย “เสธ.ธม” ธมรัช ยืนยง “ผู้พันตึ๋ง” พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ

            เหลือแค่เพียง “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า น้องรักของ “เสธ.ไอซ์” ผู้ล่วงลับ ซึ่งถือเป็นนายทหารนอกราชการที่ท่องอยู่ในยุทธจักรสีเทาในช่วงก่อนหน้านี้จนเป็นที่เลื่องลือ และปัจจุบันกลายเป็นผู้มีบทบาทสูงยิ่งต่อการเมืองในระบบเลือกตั้ง หนุนส่งให้เป็นรัฐมนตรีที่มี “บารมี” ในยุค “ส.ส.แบ็กแพ็ก” ที่มุ้งกลายเป็นเรื่องของการเมืองในยุคปลาย “บ้านใหญ่”

            จากกลุ่มทหาร “18 อรหันต์” ในรั้วกองพันทหารราบที่  4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน 4 รอ.) ซึ่งเป็น ทม. ยุคเริ่มแรกที่จัดหน่วยแยกเป็น “ทหารมหาดเล็ก” สังกัดหน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัยฯ ช่วง “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คุมกองทัพบก

            ชีวิตสุดพลิกผัน โลดแล่นในเส้นทางนอกกองทัพอย่างโชกโชน เข้าไปเฉียด เฉี่ยวคดีอุกฉกรรจ์ รวมไปถึงเหตุการณ์การเมืองการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ที่มีกระแสข่าวว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่ม “ฮาร์ดคอร์” ที่ก่อเหตุวุ่นวาย เผาเมือง จนถูก ศอฉ. หรือศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ขึ้นบัญชีอายัดทรัพย์ แต่ปรากฏว่าถูกปลดออกจากบัญชีเป็นคนแรก

            หลังจากนั้น “ธรรมนัส” ที่เปลี่ยนชื่อจาก มนัส พชร จนมาถึงชื่อปัจจุบัน ก็ลงไปคลุกคลีกับการเมืองในพื้นที่จังหวัดพะเยา และมีข่าวจะลงสมัครสภาสูง แต่เกิดรัฐประหาร 2547 เสียก่อน และได้เปลี่ยนข้างมาอยู่กับ 3 ป. ออกแบบการเมือง ด้วยความสามารถเฉพาะตัวในการรวบรวม ต่อรอง จัดกลุ่ม รวมไปถึง “แจกกล้วย” ก่อนจะได้เป็นรัฐมนตรีตามการคำนวณตัวเลขคณิตศาสตร์

            จนเกิดกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่ “ธรรมนัส” เป็นแกนหลัก สั่งสมกำลังพลจนมี ส.ส.ในมือ 30-40 คน ที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.อีสานและภาคเหนือ และตั้งชื่อกลุ่มว่า “อีสานล้านนา” ที่ในอนาคตอาจกลายเป็นชื่อพรรคการเมืองใหม่ เลยไปถึง ร่วม “อำนวยการรบ” ในการคิกออฟ กลุ่มการเมืองภายใต้ชื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” “เศรษฐกิจใหม่” และจัดทัพ “พรรคพลังประชารัฐ” เตรียมไว้เป็นแผนสองเพื่อลุ้นการวางรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การสานต่ออำนาจในห้วงต่อไป

            กระนั้น ในยุทธจักร “คนมีสี” ยังมีชื่อ “เสธ.หิ” ดร. หิมาลัย ผิวพรรณ เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 25 ของ ร.อ.ธรรมนัส “นายทหารผู้กว้างขวาง” อีกคนที่ขณะนี้กลายเป็นพลเรือน ก้าวย่างเข้าไปอยู่เบื้องหลังการเมือง หลังชีวิตพลิกผันจากเหตุการณ์รื้อบาร์เบียร์

            นอกจากธุรกิจบริษัทรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นกิจการดั้งเดิมแล้ว ในตลาดช็อป “นักการเมือง” ก็จะเห็น เสธ.หิ ปรากฏตัวอยู่หลายวงหลายพรรคช่วงหาเสียงเลือกตั้งในห้วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังถูกส่งไปช่วย พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ก่อนจะกลายเป็นทีมงานของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่เตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

            จากในวัยเด็กที่ชื่อ “ชลาลัย” ที่แปลว่าสายน้ำ แต่ด้วยความเชื่อ และโชคชะตา รวมไปถึงตำแหน่งหน้าที่ของบิดา เลยต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “หิมาลัย” ที่ไม่ได้ไหลเย็น แต่แข็งเป็นหินผา เส้นทางชีวิตก็เหมือนจะรุ่งโรจน์ แต่ก็เลือกที่โลดโผน เข้าสู่วงการ “มีลูกพี่” ที่ชื่อ “เสธ.แอ๊ว”

            จากเด็ก OSK โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่คอนเน็กชั่นเหนียวแน่น ตีคู่มากับ OV หรือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งกำลังกลายเป็น “ซูเปอร์คอนเน็กชั่น” ในยุคปัจจุบันนี้ ประกอบกับจบเตรียมทหารรุ่นที่ 25 ซึ่งชั้นปีของนายทหารปกครองเป็นเตรียมทหารรุ่น 22 (รุ่นของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน) ทำให้พอเป็นที่รู้จักของแวดวงกองทัพ

            ที่สำคัญ เมื่อจบจาก รร.จปร.แล้ว “เสธ.หิ” ก็เข้ารับราชการในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรี อยู่ในร่มเงาของบ้านทหารเสือ เช่นเดียวกับ 3 ป. การเข้ามาช่วยงานการเมืองในขั้วนี้ โดย “เพื่อนนัส” ส่งเสริม จึงมีส่วนช่วยในการประสาน เจรจา เคลียร์ ร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล

                บทบาท “ทหารมาเฟีย” จึงเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเครื่องแบบและอำนาจหน้าที่ในกรอบกองทัพ ไม่ได้เอื้อต่อการทำกิจการ กิจกรรมในยุทธจักรสีเทาเหมือนก่อน การเข้าไปมีบทบาท และตำแหน่งทางการเมือง โดยใช้ “คอนเน็กชั่น” ซึ่งสั่งสมมาแต่ก่อน ประกอบกับธรรมชาติของผู้กว้างขวางและรู้ทิศทางลม มีความสามารถในการบริหารจัดการปัญหา กระจายผลประโยชน์ให้ทุกกลุ่มพวก และคุณลักษณะพิเศษคือ “เคลียร์ได้”

                จึงทำให้บทบาทของ “เสธ.ผู้กว้างขวาง” กลายเป็น “เสธ.พับเพียบ” ที่คอยอำนวยการรบให้กับรัฐบาล 3 ป. ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการทำหน้าที่ “เทิดทูน ปกป้องสถาบันฯ” อย่างเต็มตัว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"